อยู่นี่แล้ว


วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เมื่ออำนาจวัฒนธรรมดนตรีถูกเพิกเฉย


ฉันไม่กล้ามานั่งเถียง ส่งสายตาจิก ยิ้มระรวยต่อสภาวะสถาบัน การเมือง ความเป็นปึกแผ่นของรัฐ ตามกลไกของสังคม อำนาจย่อมถือครองโดยผู้ใช้กฏ หัวหน้าเผ่า กษัตริย์ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ถูกเลือกเป็นที่ยอมรับโดยสังคม

เมื่อสงครามชนชั้นเริ่มประทุขั้นภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม การถือครองอำนาจโดยทฤษฏีวิทยาศาสตร์ ระเบิด ตลอดจนเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยมีเครื่องมือต่อรองที่ค่าของเงิน สถาบันคานอำนาจในโลกได้พยายามผนวกศูนย์รวมอยู่ที่วัฒนธรรมทุนนิยม รวมถึงวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมที่ใช้รูปแบบอัตลักษณ์ปัจเจกบุคคลเข้ามาแบ่งวัด

กลไกของรัฐพยายามสร้างดนตรีให้เป็นเครื่องหมายประจำชาติ รัฐในอุดมคติ จนเผลอลืมตัวตนของมาตุภูมิสิ้น เมื่อสถาบันสังคม อำนาจถูกเปลี่ยนถ่าย ดนตรีถูกกระแสสมัยนิยมนำไปใช้ในทางเสรีชนมากขึ้น เมื่อขาดการควบคุมอำนาจเหล่านั้นอาจกระเจิงเพราะเกิดจากการชนกับอนุภาคต่างๆ ในสังคมมากขึ้น

วัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านกำลังจางหาย แห้งเหือดไปทุกที เพราะสิ่งเหล่านี้จะตกทอดเหลือเห็นเพียงซากความทรงจำ อันเป็นอนุสรณ์เสียงแห่งประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลเท่านั้น เมื่อคนในรัฐถูกกระแสทุนนิยมชักจูงไปอย่างไร้ทิศทาง คนรุ่นเก่าเหล่านี้ย่อมตายไปพร้อมซากความทรงจำเหล่านั้นเช่นกัน


เมื่อกระบวนการคิด การใช้ชีวิตถูกคุกคามด้วยอำนาจสื่อ การพัฒนาทางด้านสังคมวัฒนธรรมย่อมถูกทลายไปด้วยการปักชำทางวัฒนธรรม หากเมื่อลมแรง พายุจากคาบสมุทรเกาหลีเข้าโจมตี ต้นไม้เหล่านั้นย่อมต้องหักโค่นพังทลายไปไม่เหลือชิ้นดี เพราะขาดซึ่งรากแก้วทางวัฒนธรรม

จะปลูกจิตสำนึกอย่างไร? ใคร? ที่ไหน? จากสงครามทางเศรษฐกิจที่บุกรุกอาณาเขตท้องถิ่น ห้างร้าน แผงลอย โทรศัพท์มือถือ วัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมกำลังบุกบ้านนอกด้วยห้างสรรพสินค้าวัฒนธรรมนอกลอกเลียนแบบ ก็เหมือนฝรั่งพูดไทย พูดยังไงก็ไม่ชัด ตอแหลยังไงก็ดูออก ร้านลุง ป้า คนท้องถิ่นเริ่มห่างหาย จางจาง ไป เหลือแต่เถ้าแห่งสังคมวัฒนธรรมชุมชน ที่มีแต่ตัว ไม่เหลือวิญญาณ--

วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการท่องเที่ยว การขายวัฒนธรรมเริ่มปรากฏขึ้นบนการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง จิตสำนึกของชุมชนเบ่งบาน และเกิดใหม่ภายใต้รั้วหลังคา มากว่าการมีส่วนร่วมของชุมชน คนข้างบ้านเริ่มไม่รู้จักกัน วัฒนธรรมชุมชนโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางเริ่มพังทลาย ตอหม้อแห่งสถาบันกำลังถูกขุดคุ้ยโดยพวกนักการเมืองที่ใช้ความเป็นอนุรักษ์นิยม ถากถางประวัติศาสตร์ ส่งเสริมอำนาจใหม่ที่รวนเร


สุดท้ายแล้วทุกคนก็ลืมรากเหง้าของตนเอง แล้วจะพัฒนาไปได้อย่างไรเมื่อเราไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร? หรือจะเลียนแบบเค้าอย่างไรก็ไม่เหมือนหรอก หรือจะปลูกใหม่ก็ช้าอย่างจะไดโนเสาร์ จะตามก็วิ่งตามไม่ทัน เหนื่อยก็เหนื่อย ลอยไปอย่างกับลูกโป่งสวรรค์ ถ้าไม่แตก ก็ร่วง

ด้วยวิธีเดียวที่สามารถชุบชีวิตสิ่งนั้นขึ้นมาได้คือ การศึกษา และวิจัย อาจดูเหมือนหลอกลวง เชยๆ แต่ความอุดมทางด้านทรัพยากรความรู้ในเหง้า ดนตรี วัฒนธรรมตนเองบ้านเรา และบ้านนอกของฉันยังขาดแคลนมาก ทุกอย่างควรจะกระทำบนพื้นฐานแห่งความจริง เหมาะสม หากไม่แล้ว ก็ควรสร้างสุสานไว้งามๆ แล้วก็ฝังไว้กับ ลุง ปู่ ย่า ทวด ของเราไป

Amelie

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น