อยู่นี่แล้ว


วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

มารยา-ยาตร ในการชมดนตรี

มารยา-ยาตร ในการชมดนตรี

By Amelie Chance



โปรดจะเอ่ย ถึงมารยาทในการฟังดนตรีแสนวิเศษ อย่างเครื่องสายฝรั่งหลวงสักหน่อย หลังจากการชมดนตรีพร้อมหนังสืออันว่าด้วยความซาบซึ้งในสุนทรียรสแห่งดนตรีตะวันตก ฉันเดินเปิดหนังสือที่เสี้ยมด้วยการสร้างภาพมายาในการฟังดนตรีมีหนังสือหลายต่อหลายเล่มได้กรุณาบอกกล่าวพร้อมดักขังจินตนาการที่ว่าด้วยการซาบซึ้งแห่งดนตรีรส แต่กระนั้นหรือหนังสือเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนหมอนแสนวิเศษให้ฉันหลับเคลิ้มซาบซึ้งอย่างมิรู้ร้อนหนาว

            ฉันสะพายกระเป๋า พร้อมคู่มือว่าด้วยความซาบซึ้งในมือก่อนเข้าไปบรรจุสุนทรียรสการชมดนตรี เครื่องสายฝรั่งอย่างเปรมปรี-ดาหลังด้วยบรรยากาศอันสร้างภาพสะท้อนแห่งความมั่งมีและความขลังอย่างประหลาด ห้ามคุยนะคะ! หญิงสาวน่ารักนางหนึ่งเดินมาเตือนสตรีผู้หนึ่งอย่างสุภาพ คิก คิก คัก คัก... เสียงกระซิบกระเซ้า หญิงสาวที่อดหัวเราะไม่อยู่จนแฟนเธอต้องนำเสื้อคลุมแสนไฮโซมาอุดปาก ยิ่งอุดยิ่งหยุดไม่อยู่ เหลียวแล ชะแง้มอง ชะง้อเห็นสภาพเธอช่างเสมือนคนหัวเราะและร้องไห้ ใบหน้าเริ่มแดง เสียงยิ่งคล้ายคนร้องไห้เข้าไปทุกที-ซาบซึ้งยิ่ง

            นักดนตรีทำสีหน้าอยากร้องไห้ บางคนแอบหาว ด้วยความไพเราะสุดพรรณนา ฉันนึกสนุกในใจ แล้วใครบ้างที่แอบงีบ พลันเหลียวหลังแลมอง ภาพความงามในชุดราตรีกำลังจะหมดสิ้นลงเพราะต่างก็สุดพรรณนาความซาบซึ้งในท่านั่งคอพับ หลับครอกฟี้ เขาหลับอย่างมีความสุข และพลันสะดุ้งตื่นขึ้นมาตรบมือด้วยความซาบซึ้งอีกคราเมื่อบทเพลงบรรเลงจบ

            นั่นสินะ เราต่างไม่มีวัฒนธรรมที่ว่าด้วยความซาบซึ้งในรสของดนตรีเหล่านี้ ฉันเพ้อฟังเสียงเหล่าวิญญาณไม้โบราณบรรเลงสอดประสานอย่างจับใจ “เธอว่าเครื่องดนตรีที่โซโล่อีสต์ นำมาแสดงแพงไหม” เสียงเด็กรุ่นเปรยอย่างเรียบง่ายเมื่อถึงเวลาพักปลดทุกข์ “นั่นสิฉันว่าคงจะหลายล้านบาท ทั้งชาติฉันก็คงไม่มีปัญญาจะได้เครื่องเหล่านี้มาอวดโฉมบรรเลงเป็นแน่แท้”

            หลุมพรางความมั่งมีค่อยๆ ดักจับผู้ฟังอย่างช้าๆ ใครสักคนก็คงบอกว่าต้องปีนกระไดฟัง แต่ฉันคิดว่าทุกคนต่างมีความสุขกับการสร้างกระไดนี่เสียจริง บทบรรเลงเริ่มบอกกล่าวท่วงทำนองอีกครั้ง ผู้คนยังคงเปิดอ่านที่มาที่ไปว่าด้วยความซาบซึ้งอุตลุด แกร๊บๆ เสียงเปิดหน้ากระดาษยังดังขึ้นไม่ขาดสาย นั่นสินะเพราะนี้มันเป็นวัฒนธรรมแปลกปลอม ใครเล่าจะมีภาพความทรงจำเกี่ยวกับดนตรีพวกนี้ ฉันพลันนึกถึงแว่วเสียงวิญญาณไม้เมื่อบรรเลงหน้าเตาผิงแสนอบอุ่น ข้างนอกหน้าต่างนั่นคงหนาว หิมะโปรยราวเสกทุกอณูรอบนอกให้เป็นดั่งกระดาษ ทุกคนโขยกตัวไปตามท่วงทำนอง ส่ายหัวพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย หลังมื้ออาหารที่เปรมเปี่ยมสุข ขอบคุณพระเจ้า ใบหน้าที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม การส่งสายตาที่เหมาะเจาะ เราสนุกด้วยกัน ด้วยกันในบทเพลงที่เราได้สร้างขึ้นจากความทรงจำ และท่วงทำนองนี้จะนำเราไปสัมผัสพระเจ้า

            ฉันเพ้อจนสายตาจรดไปที่เพดาน จะเป็นไปได้ยังไง ถ้าภาพความทรงจำของคน(เช่นฉัน)ยังมีควายกลางทุ่งนา เสียงนกเอี้ยงหยอกล้อ พลันคิดถึงเพลงคนดังลืมหลังควาย นั่นสินะ ถ้าพุ่มพวงไม่เคยเห็นควาย ไม่เคยขี่หลังควาย ก็คงไม่ร้องเพลงเกี่ยวกับควายอย่างไพเราะจับใจเช่นนี้ สะดุ้งพลันจากภวังค์ บุรุษข้างๆ ฉันนั่งหลับกรนอย่างเพลิดแพร้ว เธอผู้นั้นหัวเราะอย่างสิ้นโลก ฉันเพ้อคิดอีกครั้งถ้าจะให้คนรักคลาสสิค พลังจินตนาการว่าด้วยพลังของสื่อที่สรรค์สร้างประสบการณ์แปลกปลอมที่เป็นดั่งแรงบันดาลใจให้เหล่านานาอารยธรรมทุนนิยมทั้งหลาย.......#@*&(ฉันนั่งคิดแบบประหลาด)

             ภาพเด็กบ้านนอกที่ชอบเปิดยูทูป-ขี่ควาย ใฝ่ฝันถึงการจะได้เป็นนักดนตรีคลาสสิคก้องโลก ด้วยทางบ้านยากจน ตลอดจนถึงดนตรีเรียนแพง เด็กผู้นั้นจึงได้แต่ใฝ่ และฝันในสิ่งที่วัฒนธรรมบ้านนอกในสิ่งที่ตนไม่เคยสัมผัส พลันนึกถึงถ้อยคำอันเป็นดั่งคำวิเศษ “พรสวรรค์” นั่นสิมันช่างอยู่ถูกที่ถูกทางเสียกระไรกับการจะพร่ำบรรยายพรรณนาถึงข้อดี ความวิเศษของดนตรีเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังได้ฟังและเข้าใจ พรสวรรค์จึงเปรียบเสมือนชุดคำที่ไม่จำเป็นต้องหาถ้อยสันบรรยาย

            “ลูกเดี๊ยะเป็นเด็กมีพรสวรรค์คะ เพราะเขาดีด เพีย อะ โน มาตั้งแต่ 4 ขวบ” เธอเปรยง่ายๆ กับเหล่าสตรีผู้บรรจงตั้งใจกรีดกรายนิ้วระยิบระยับไปด้วยหินเรืองแสง ภาพพรรณนาพลันให้ฉันจิตนาการเพลิดไปถึงเด็กบ้านนอกที่ไม่มีปัญญาได้มานั่งข้างๆฉัน ฉันสงสาร สงสารความด้อยโอกาส สงสารตัวเอง และผู้คนในปะรำพิธีนี้ เพื่อนชาวต่างชาติฉันพร่ำบรรยายถึงความวิเศษของบทเพลงที่ทางวงเล่น ครั้งแรกเขาได้ฟังคุณตาเล่นบรรเลงหน้าเตาผิง กลิ่นขนมปังหอมกรุ่น แม่ผู้ชอบเปิดเพลงคลาสสิคฟัง คุณยายที่เพลาดีดเปียโนรับอรุณจ้า เราไปโบสถ์เพื่อร้องเพลงกันทุกอาทิตย์ และด้วยความสนุกสนานยิ่ง ภาพฝันความทรงจำที่เขาค่อยๆ คลี่บรรยายมันช่างวิเศษสิ้นดี ฉันเพ้อถึงเด็กบ้านนอกที่แอบฝึกลายแคน ดีดซึง สีสะล้อ กดอัดเทปเก่าๆ ทับตามรายการวิทยุพื้นเมือง แม่บรรจงทำแกงกบอย่างเอร็ด และทุกคนต่างเปิดดูลูกทุ่งหมอลำ พร้อมมื้ออาหารที่แสนอร่อย

            ช่างห่างไกลกันสิ้นดี ช่องว่างทางวัฒนธรรมเยี่ยงนี้ใครเล่าจะหาตัวต่อเชื่อมที่เหมาะสม บรรจงประต่อปิดไปอย่างแนบเนียน เทศน์มหาชาติใยขาดเปียโนบรรเลงประกอบ เพลงกล่อมเด็กใยไม่มีไวโอลินสีคลอเคล้าพะนอ ทุนนิยมเท่านั้นที่จะช่วยได้ ถึงแม้จะเป็นชุดคำตอบอันแสนโหดร้าย แต่สังคมนี้ก็ได้ราดไปด้วยเมือกราคะตัณหาลื่นๆ บนกองกระดาษและเหรียญเหล่านี้อย่างดาษดื่น เป็นราดหน้า(เงิน) ที่แสนอร่อย

            เพียงเพื่อรสนิยม และความงามที่ดูเข้าขั้นเพริศแพร้ว คงมีคนชอบทำราดหน้ากันหลายท่าน ฉันอยากให้เด็กฟังเพลงคลาสสิค ชอบไม่ชอบก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยในห้องสมุดบ้านนอกก็คงมีซีดี ง่ายๆ ให้เด็กผู้ด้อยโอกาสทางเสียงเพลงได้ฟังอย่างน้อย เขาและเธอเหล่านั้นจะได้นำไปโม้เวลาโตว่าเคยฟังมาแล้ว และสิ่งนั้นก็คงเป็นตัวต่อที่สวยงามถ้าเขาและเธอได้จินตนาการบนหลังควายขณะยังประทับตราตรึงท่วงทำนองความทรงจำเหล่านั้น จาก ณ ที่ใดสักแห่ง

            ขอได้บุญเยอะๆ นะคะ เจ้าประคุณทูนหัว สาธุ อนุโมทนายิ่ง ยายฉันขอบอกขอบใจ พร้อมยกมือไหว้อย่างนอบน้อม ขณะเจ้าหน้าที่ อบต. นายหนึ่งนำซีดีเพลงซอว่าด้วยสุขอนามัยมามอบให้ ฉันพลันคิดถึงเด็กบ้านนอก พร้อมประสมภาพความทรงจำละเลงกันอย่างสนุก คงไม่ต้องรอให้แก่ถึงต้องมานั่งฟังเพลงพวกนี้ เพราะมันไร้ซึ่งภาพความทรงจำสิ้นดี

            คิดไปก็มากความ การแสดงเพิ่งจบลง ฉันซาบซึ้งยิ่ง ขอบพระคุณนักแสดงทุกท่านในปะรำพิธีนี้ ฉันซาบซึ้งอย่างบอกไม่ถูกในทุกบทเพลงที่ทุกคนได้พร่ำพรรณนา ถึงแม้จะไม่เฉียดขั้นที่ว่าไปด้วยความซาบซึ้งในหนังสือก็ตามที แต่พรุ่งนี้ฉันจะไรท์เพลงคลาสสิคเหล่านี้ไปให้เด็กตัวน้อย ณ บ้านนอกของฉันฟัง ที่นั่นยังมีวัว ควาย ยังมีซอทางวิทยุ และยังมีเพลงที่ฉันมอบให้ด้วยใจ ภาพความทรงจำท่วงทำนองนี้ยังจะตราตรึงไปอีกนาน เพราะมันคือทำนองบันทึกทางความทรงจำที่มีค่ายิ่งกับแกงกบที่แสนอร่อย...



 ใครสนใจเข้าร่วมด้วยช่วยกันได้นะคะ คุณครูเขาฝากขอบอกขอบใจมามากมาย



            โรงเรียนบ้านปงแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ที่ที่ฉันส่งเพลงคลาสสิคไป
         เราอยู่อย่างคนมีเกินไป จนลืมคนที่เขาไม่มีไปเสียหมดสิ้น(ดูทางเข้าหมู่บ้านแม่ลอบ)

ฉันอาจจะเป็นสตรีที่บ้าบอ Coppy เพลงให้โรงเรียนบ้านนอก แต่ฉันทำเพราะความสุขสบายใจ ใครจะทำไม?


วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

บทวิจารณ์ : เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ “ผู้คน ดนตรี ชีวิต

บทวิจารณ์ : เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ
 “ผู้คน ดนตรี ชีวิต

By Amelie Chance



“ดนตรีมีความสัมพันธ์กับหลายสิ่งบนโลกใบนี้ และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรม สังคม วิถีชีวิต ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การศึกษาเกี่ยวกับดนตรีในมิติต่างๆ ได้แสดงให้เราเห็นว่ามนุษย์เรานั้นสามารถหยิบยืมเสียง จังหวะ และเนื้อร้อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัว ต่อรอง หรือแสดงความเป็นตัวตนของแต่ละคนในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ผู้เปิดพรมแดนความรู้ใหม่เกี่ยวกับดนตรี เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงสาขาวิชามานุษยวิทยาไปสู่การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ทางวัฒนธรรมร่วมสมัย ผ่านการศึกษาทางดนตรีซึ่งมิได้มีเพียงนักดนตรี เครื่องดนตรี ตัวโน๊ต และผู้ชม เท่านั้น หากยังมี เสียงที่สามารถบอกเล่าเรื่องราว ความหมาย ความทรงจำและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“เสียง ความทรงจำ ยาพิษ หรือยารักษาขนานเอก” วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมอันก่อตัวขึ้นด้วยเสียง ภาพบรรยากาศด้านเสียงในที่นี้ครอบคลุมไปถึงเสียงที่เป็น “โทษ” มลภาวะ และเสียงที่เป็น “คุณ” การบำบัด สังคมอุดมคติจำต้องมีสภาพแวดล้อมทางเสียงที่ดี? อีกนัยหนึ่งเสียงก็เป็นตัวจารึกเรื่องราวความทรงจำของมนุษย์ อาทิ เสียงพูดคุย เสียงดนตรี รวมถึงเสียงในสภาพแวดล้อมมีทั้งดีและเลว เพราะมันเป็นตัวย้ำการระลึกทราบของมนุษย์ ในวาระ โอกาส เวลา หน้าที่ ในที่นี้รวมไปถึงบทบาทในชีวิตด้วย

“เสียงที่ปราศจากสุนทรียศาสตร์ เปรียบเหมือนเสียงที่เป็นดั่งเช่นประสบการณ์” ตรงข้ามหากมีความซาบซึ้งในเสียงผู้คนอาจเรียกมันว่า “ดนตรี” ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบท ขอบเขตของวัฒนธรรม ประสบการณ์ บรรทัดฐานรายบุคคล ต่างกลุ่มต่างสังคมความเป็นวัฒนธรรมของเสียงย่อมมีค่าไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ถือรวมคุณค่าทางด้านอำนาจของเสียงนั้นๆ ด้วย
“เสียงดนตรี” เป็นอันตรายต่อระเบียบสังคม!!! วิวัฒนาการที่ต่อเนื่องของวัฒนธรรมเสียงดนตรีจาก “ภาษาสากล” สู่อาวุธซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิด วัฒนธรรม ประเพณีตลอดจนการเมือง การปกครอง ในสมัยกรีก เพลโต(427-347 ก่อน ค.ศ.) และอริสโตเติล (384-322 ก่อน ค.ศ.) เห็นว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง เขาเห็นพ้องว่าลักษณะของดนตรีบางประการมีส่วนกระตุ้นให้ประชาคมสร้างความวุ่นวายต่อระเบียบสังคมการเมืองได้ ตรงกันข้ามเพลโตก็ให้ความสำคัญของเสียงดนตรีว่ามีประโยชน์ต่อการศึกษาว่าทรงพลังที่สุด เพราะดนตรีมีศักยภาพเข้าสู่จิตวิญญาณภายในเหนือผัสสะใดใด

“ดนตรีที่ไหลเวียนอยู่ในรัฐ มีความสัมพันธ์กับสภาวะทางศีลธรรมของคนในรัฐ” พูดอีกอย่างดนตรีคือกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนการเคลื่อนไหวประชาคมภาครัฐ ซึ่งนั่นก็หมายความว่ารัฐต้องใช้อำนาจในการควบคุมแนวความคิดที่แฝงเร้นมากับพลังเสียงดนตรี โดยยึดหลักบรรทัดฐานทางจริยธรรม ศีลธรรม ที่มีทางสายใหญ่อยู่ที่ศาสนามาเป็นตัวกำหนด นอกจากมันจะเป็นยาพิษแล้ว ดนตรียังเป็นยารักษาเยียวยาชั้นยอดของสังคม เมื่อคานอำนาจถูกถ่วงไว้ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย บรรทัดฐานทางด้านเสียงจึงจำต้องควบคุมโดย “ส่วนกลาง” หน้าที่ของรัฐจะดำเนินไปโดยควบคุมทุกอย่างอยู่ศูนย์กลาง แล้วกระจายเสียงดนตรีซึ่งแฝงด้วยอำนาจนี้สู่ภูมิภาค

“ดนตรี ไม่สามารถจะสกัดออกจากวิถีชีวิตมนุษย์” โดยเฉพาะ พิธีกรรม ความเชื่อ และสุนทรียภาพ ทั้งหมดแฝงเร้นอยู่ในสำเนียง จิตวิญญาณชาติพันธุ์ ที่สุดแล้วการปะทุผลักจากแรงกดดันทางภาครัฐก็ถูกปลดปล่อยออกด้วยกระแสทุนนิยมอย่างท่วมท้น ในรูปแบบของดนตรีกับการต่อต้าน และดนตรีกับการยืนยันตัวตน-ตนเองในรัฐเสรีนิยม พ่วงท้ายมาด้วยลัทธิความหลากหลาย ภายหลังยุคสงครามเย็น(ค.ศ. 1947-1991)แนวโน้มความเป็นเสรีนิยมมีมากขึ้น ช่วงนี้นี่เองการศึกษาดนตรีต่างวัฒนธรรม-ข้ามชาติ ได้กลายเป็นประเด็นใหม่ในสาขาดนตรีชาติพันธุ์วิทยาของยุคโลกาภิวัตน์(อธิป จิตตฤกษ์, การปะทะต่อต้าน, การควบคุมครอบงำ และวัฒนธรรมเสียง : ว่าด้วยวัฒนธรรมดนตรีในรัฐ, ในโลก และสิ่งเกี่ยวเนื่อง, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“เพราะดนตรีไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว” การแสดงอันสื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึก สารนั้นเรียกว่าบทระบำทางอารมณ์ ดนตรีคืออากาศ การแสดงคือแหล่งกำเนิดของภาพที่สอดคล้องต้องกันกับท่วงทำนอง

 “ภาพวาดภาพหนึ่งหรือดนตรีบทหนึ่ง อาจมีผู้ไม่เข้าใจในตอนแรก และไม่เป็นที่ซาบซึ้งเข้าถึงได้อยู่เป็นเวลานาน บางทีอาจจะนานถึงร้อยปี แต่การแสดงบัลเลต์นั้นต้องได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมในวันนี้และวันพรุ่ง มิเช่นนั้นก็จะถูกลืมเลือนสูญสิ้น”
                                                                             -แชร์เกย์ เดียกีเลฟ

มีการแสดง มีดนตรีบางอย่าง น่าเสียดายที่มันค่อยๆ ถูกลบเลือนออกจากหน้าประวัติศาสตร์ หากไม่มีนักวิชาการช่วยสืบต่อองค์ความรู้นั้น ชนรุ่นหลังคงจะไม่มีแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานเชิงสร้างสรรค์ การแสดงบัลเลต์ก็เหมือนกัน เมื่อถึงทางตันต่างก็ต้องรับนำเอาวัฒนธรรมต่างถิ่น(ต่างชาติพันธุ์) เข้ามาผสมผสานให้เกิดความแปลกใหม่ ดังที่นาฏศิลป์สยามได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย เมื่อสถาบันกษัตริย์ได้ลดบทบาทลง การแสดงอันสืบเนื่องมาจากชนชั้นสูงก็ขาดการอุปถัมภ์ ขาดช่วงระบบการสืบต่อ ตลอดไปจนถึงเจตนารมณ์ อำนาจ และเมื่อเสาหลักเปลี่ยนแปลงโยกย้ายมายังระบอบประชาธิปไตย ภาพวาดนี้ยังจะรอถึงได้ร้อยปีให้ผู้ได้หวัง คอยซาบซึ้งหรือไม่?(บัญชา สุวรรณานนท์, อิทธิพลบางประการของนาฏศิลป์สยามที่มีต่อบัลเลต์สมัยใหม่, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“ที่สุดก็เกิดสภาวะการโหยหาอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์” ท้องถิ่นนิยม สินค้าโอทอป นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 ชนบทเชียงใหม่ได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว จากรากฐานท้องถิ่นนิยมที่ตั้งเค้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าดารารัศมีนุ่งผ้าซิ่น ทรงผมแบบสไตล์ญี่ปุ่น กับชุดล้านนาประยุกต์ในรูปแบบของกิโมโน  อัตลักษณ์ดนตรีล้านนาได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นหลังสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากชนชั้น “กฎุมพี” เริ่มมีบทบาทต่อรองกับรสนิยมของชาวเชียงใหม่อย่างชัดเจน กลุ่มดังกล่าวได้สร้างนิยามความเป็นสมัยใหม่ เพื่อใช้เป็นจุดยืนต่อสู้ ช่วงชิงกับชุดความหมายที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นปกครอง ตลอดจนจารีต ประเพณีทางพระพุทธศาสนา ขณะที่ดนตรีราชสำนักเดิมถูกยกระดับเพิ่มขึ้นสู่สถาบันสูงกว่าพวกชนชั้นกลาง คือ สถาบันเจ้า พระพุทธศาสนา ตลอดจนถึงผี และพิธีกรรมต่างๆ ที่ต้องการความขลัง และศักดิ์สิทธิ์(เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช, เพลงลูกทุ่งคำเมืองกับอัตลักษณ์พันทางของคน “ชนบทใหม่” ของเชียงใหม่, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)
การแย่งชิงอัตลักษณ์จึงเป็นตัวแบ่งดนตรีออกไปตามหน้าที่การใช้สอยอย่างชัดเจน ขณะที่วัฒนธรรมชาวบ้าน(คนเมือง)กำลังเปลี่ยนแปลงคู่ขนานกับความเป็นท้องถิ่นนิยม-ลูกทุ่ง-อีสาน เกิดการผลิตซ้ำเชิงสร้างสรรค์โดยศิลปินพื้นบ้านอย่างรวดเร็ว ซึ่งแบบเรียนกระทรวงจากส่วนกลางยังกระทำไปในทิศตรงกันข้ามกับสัญชาติญาณประวัติศาสตร์ความทรงจำชุมชน ที่สุดความแปลกและแตกต่างก็ดึงดันความเป็นท้องถิ่นนิยมสู่คานอำนาจใหม่ต่อรองกับระบบศูนย์กลางอำนาจ

“ดนตรีเป็นอันตรายต่อระเบียบสังคม?” ใครจะตอบได้ชัดเจนเท่าพี่น้องชาวอีสาน ใช่ไหมพี่น้อง? นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2510 เป็นต้นมาวัฒนธรรมดนตรีอีสานได้กลายมาเป็นตัวอย่างสำคัญ พอๆกับ “วัฒนธรรมส้มตำ” หรือ“วัฒนธรรมสัญจร” รูปแบบวัฒนธรรมที่ก่อรูป ผูกพัน และหลอมรวมตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการเดินทาง เคลื่อนย้ายผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ(พลัดถิ่น) ดนตรีสมัยนิยมเริ่มก่อตัวขึ้นในระบอบความเชื่อท้องถิ่นนิยม และในที่สุดก็ผ่านกระบวนการเคลือบฉาบความหอมหวานของลัทธิทุนนิยมได้อย่างน่าอร่อย

“เราต้องมั่นใจว่าคนนั้นต้องร้องเพลงได้ เสียงดี และรูปร่างหน้าตาท่าทางให้ การที่เราจะลงทุนปั้นนักร้องแต่ละคน เราต้องพิจารณากันมากพอสมควร เราต้องดูหลายอย่างประกอบกัน เช่น มิวสิควิดีโอ บางคนหน้าตาดีมาก แต่พอถ่ายรูปออกมาไม่ได้เรื่องก็มี บางคนร้องก็ดี เต้นก็ดี หรืออะไรก็ดีไปหมด แต่พอยิ้มออกมาหน้าตาเหมือนกับฆาตกรโรคจิต... ไอ้เราก็ไม่เอา”                                                                 -กริช ทอมัส นายใหญ่แห่งค่ายแกรมมี่โกลด์

ทั้งนี้การศึกษาวัฒนธรรมดนตรี-ดนตรีชาติพันธุ์ ในสังคมไทยยังเกิดขึ้น และคงอยู่ภายใต้กรอบประเพณีของ “งานวิชาการเพื่อการสรรเสริญเยินยอ” – Herbert Phillips ซึ่งนักวิชาการทั้งไทยและเทศมักจะติดกับดักลักษณะพิเศษบางประการของสังคมไทย เช่น ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก, สังคมที่มีรากฐานจากการเกษตร, พระพุทธศาสนา ตลอดไปจนถึงสถาบันกษัตริย์ สิ่งดังกล่าวมีผลให้นักวิชาการได้ผลิตผลงานในลักษณะที่ยกย่องชื่นชมสังคมที่ตนศึกษา และมีส่วนให้งานวิชาการขาดพลังในการวิพากษ์-วิจารณ์ถึงความเป็นจริงความขัดแย้งทางสังคม ตลอดจนลืมช่องว่างที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเมืองอย่างชัดเจน
เนื่องด้วยการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาที่มีรากฐานภายใต้กรอบประวัติความเป็นมาจารีตประเพณีเพื่อ “บูชาครู” หรือไม่ก็ถูกครอบงำด้วยมายาคติแบบอนุรักษ์นิยม หรืออำนาจนิยมในระบบราชการ ส่งผลให้งานวิชาการขาดซึ่งพลังในการให้คำอธิบาย จินตนาการที่สร้างสรรค์ในการคิดวิเคราะห์และตีความหมายในที่สุด (พัฒนา กิติอาษา, ดนตรีอีสาน แรงงานอารมณ์ และคนพลัดถิ่น, บทคัดย่อ, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“กระแสโลกาภิวัตน์แบบอำนาจนำ(Hegemonic Globalization)” อำนาจอันมุ่งนำหลอมรวมให้เป็นไปในทิศทาง หรือแบบเดียวกัน ผสานลงตัวกับรสชาติของทุนนิยมผ่านสื่อ สู่นวัตกรรมสมัยใหม่ ที่สุดโทรทัศน์ก็กลายเป็นสถาบันสำคัญ วัฒนธรรมหน้าจอ ที่มีอำนาจชักจูง อบรมบ่มเพาะบุคคลในสังคมที่มีอิทธิพลเหนือกว่าสถาบันอื่นใด
ดังที่ได้กล่าวมา ท้ายที่สุดแล้ว “อำนาจ” ทำงานอย่างไรในโลกแห่งความบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการโทรทัศน์ประเภท “เรียลลิตี้โชว์” ซึ่งพื้นที่ความบันเทิงดังกล่าวล้วนถูกเคลือบไว้ด้วยความสนุกสนาน เฮฮาจนดูราวกับว่าไม่ได้มีการทำงานของ “อำนาจ” นั้นๆ ที่สำคัญผลผลิตเชิงสร้างสรรค์ของวัฒนธรรมดนตรีอันตกผลึก กำลังถูกทยอยมาใช้โดยผ่านระบบสายพานทางทุนนิยมอย่างชาญฉลาด(ณัฏฐชา วงษ์วานิช, แนวคิดเรื่อง Simulation กับปรากฏการณ์แฟนคลับ รายการอะคาเดมี แฟนเทเชีย ฤดูกาลที่ 4, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“เมื่อผลผลึกทางวัฒนธรรมดนตรีที่ตกเทรนด์ กำลังถูกประเมินค่าโดยเหล่าผู้ล่าฝัน AF(พอยิ้มออกมาหน้าตาไม่เหมือนกับฆาตกรโรคจิต หล่อโฮก สวยฮากเป็นเกาหลี) ภายใต้กลยุทธทางการตลาดแบบ Convergence Marketing ที่ผนวกสื่อ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ผ่านรายการที่เรียกว่าเรียลลิตี้โชว์ ได้สร้างเอกภาพให้แก่ภาคประชาคม โดยมิต้องหวังพึ่งอำนาจส่วนกลาง หรือราชการอีกต่อไป(On The Wing) ก่อเกิดเป็นชุดวัฒนธรรมใหม่ในบันเทิงคดีหน้าจอฉบับครอบครัว เพียงท่านกดโหวตคนที่ชอบ
เวทีนี้มีทั้ง หมอลำ ลูกทุ่ง สตริง สากล ฟ้อนรำ บัลเลต์ และลิเก! กระทั่งแม่ยกโลกาภิวัตน์ที่อุปถัมภ์ศิลปินในระบอบ “โทรธิปไตย” ผ่านเครื่องมือสื่อสาร แม้จะเปลี่ยนหน้าตาไปบ้างจากระบบอุปถัมภ์แบบลิเก แต่ก็ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของศิลปะในสังคมไทย ใช่เพียงใช้ระบบนี้เป็นเพื่อพัฒนาศิลปะสร้างสุนทรียะให้สังคม หรือเป็นไปเพื่อการปลุกเร้าพฤติกรรมการบริโภคที่มุ่งตอบสนองต่อระบบทุนนิยม?

“อันทุนนิยมที่แฝงมาด้วยประชาธิปไตยนั้นไม่ได้น่าเกลียดน่ากลัว” เพียงเพื่อผลตอบรับเป็นเม็ดเงินโดยมิได้สนใจต่อคุณูปการที่เกิดขึ้นกับสังคม ทั้งหมดเป็นเพียงแรงกระตุ้นสนับสนุนรายการที่ “ฉาบ” เบื้องหน้าด้วย “ศิลปะการแสดง” และ “ฉวย” โอกาสในการสร้างความนิยมในนามคณะผู้ล่าฝันอย่างนั้นหรือ? เมื่อทุนนิยมได้หยิบใช้ความเป็นศิลปะ และบิดประสบการณ์ทางสุนทรียะมุ่งสร้างความอิ่มเอิบใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เบือนผิดรูปไปด้วยกระบวนการที่สอดแทรกค่านิยม ประชานิยมในระบอบโทรธิปไตย ให้กลายเป็นทุนสำหรับการต่อทุนไม่มีวันสิ้นสุด

“ศิลปะไม่จำเป็นต้องกลายเป็น โสเภณี” ที่ยินยอมบริการทุกระดับด้วยความประทับใจ? คำถามที่ตามมาคือ วิธีคิดต่อระบบคุณค่าของสังคมไทยว่ากำลังทำงานผิดปกติอยู่หรือไม่? เมื่อสื่อเข้าถึงมหาชนทุกครัวเรือน ผู้ทรงอิทธิพล และมีอิทธิฤทธิ์สะกดให้ฝูงชนกลายเป็นฝูงแกะได้โดยง่าย สิ่งนี้เปิดโลกทัศน์แห่งการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง หรือทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงแค่ “รสนิยม” ในคราบเสรีชน?(พนิดา ฐปนางกูร, มองสุนทรียะของสังคมไทยผ่านรายการอคาเดมี แฟนตาเชีย, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“ดนตรีเป็นอันตรายต่อระเบียบสังคม!!!” ซึ่งนั่นก็หมายความว่ารัฐต้องใช้อำนาจในการควบคุมกระชับพื้นที่แนวความคิดที่แฝงเร้นมากับพลังของเสียงดนตรี โดยยึดถือนำเอาบรรทัดฐานทางจริยธรรม ศีลธรรม ที่มีทางสายใหญ่อยู่ที่ศาสนามาเป็นตัวกำหนด ด้วยสิ่งนั้นจึงบันดาลให้เกิดคำสาป “ทรัพย์สินทางปัญญา” ตัวแทน ผู้ผดุงความยุติธรรมในรูปแบบของกฎหมายจากภาครัฐขึ้นมาปราบปรามความเหิมเกริมของทรราชทุนนิยม



แล้วใครหละที่รวยพี่น้อง?
 
เอกสารอ้างอิง
เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 25-27 มีนาคม 2552 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)
-O’ong  Marayono, Pencak Silat : A Brief Introduction.
-Mick Moloney, The Croppies Who Will not lie down : Song of Irish resistance over the past two centuries.
-ปรีดีโดม พิพัฒน์ชูเกียรติ, การศึกษาความคิดเรื่องคาร์นิวัลของมิคาอิล บัคตินในบริบทร่วมสมัย.
-อธิป จิตตฤกษ์, การปะทะต่อต้าน, การควบคุมครอบงำ และวัฒนธรรมเสียง : ว่าด้วยวัฒนธรรมดนตรีในรัฐ, ในโลก และ
สิ่งเกี่ยวเนื่อง.
-บัญชา สุวรรณานนท์, อิทธิพลบางประการของนาฏศิลป์สยามที่มีต่อบัลเลต์สมัยใหม่.
-ณัฎฐชา วงษ์วานิช, แนวคิดเรื่อง Simulation กับปรากฏการณ์แฟนคลับรายการอคาเดมี แฟนเทเชีย ฤดูกาลที่ 4.
-พนิดา ฐปนางกูร, มองสุนทรียะของสังคมไทยผ่านรายการอคาเดมี แฟนตาเชีย.
-สมชาย ปรีชาศิลปกุล, Copyright/ Copyleft.
-สกุณี อาชวานันทกุล, ครีเอทีฟคอมมอนส์ : สู่วัฒนธรรมเสรีที่เคารพสิทธิผู้สร้าง และสนองความต้องการของผู้เสพ.
-Komatra Chuengsatiansup, Sense, Symbol and Soma : Illness Experience in The Soundscape of Everyday
Life.
-เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช, เพลงลูกทุ่งคำเมืองกับอัตลักษณ์พันทางของคน “ชนบทใหม่” ของเชียงใหม่.
-พัฒนา กิติอาษา, ดนตรีอีสาน แรงงานอารมณ์ และคนพลัดถิ่น.

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

กล้าที่จะก้าว โดย การ์ตูน



“ถ้าคนหนึ่งตีกลอง แล้วอีกคนยิ่งเต้น คนตีเขาก็ยิ่งตี 
แต่ถ้าตีแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น เขาก็จะหยุดไปเอง เพราะตีไปก็เหนื่อยเปล่า”

คำพูดบางคำทำร้ายคนฟังได้น่าดู
ถ้าจะให้ไม่แคร์เนี่ย ทำได้ยากแน่นอน
ถ้าเคยรู้สึกแย่ กับคำพูดแย่ ๆ ของคนหลายคน
คำพูดของเขาทำให้เราหมดความนับถือตัวเอง
บางครั้งมันอาจจะถึงขนาดทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป
บั่นทอนสุขภาพกายและใจ
คนพูดทิ้งยาพิษไว้ในใจเรา แล้วก็หนีลอยนวล

คนที่แย่คือคนฟังสิ...
ฉันเลยเปลี่ยนความคิดใหม่
พยายามหาเหตุผลเพื่อเข้าใจพวกเขา
คนที่ชอบติข้อบกพร่อง
ตอกย้ำปมด้อยของคนอื่น เพราะต้องการให้ตัวเองดูดี
คนพวกนี้มีปมด้อยในใจ ชอบสร้างคุณค่าให้ตัวเอง
โดยการติคนอื่น เพื่อลดคุณค่าของคนอื่น
จิตใจเขาขุ่นมัว มองไม่เห็นความดี ความสวยงาม
และสิ่งดี ๆ ในตัวคนอื่น เพื่อนำมาพูดถึง

บ่อยครั้งที่เรามักเจอคำพูดแย่ ๆ จากคนรอบข้าง
ถ้าไม่รู้จักดูแลจิตใจ ความรู้สึกของตัวเอง
เราจะถูกบั่นทอนลงทีละนิด....

ที่สำคัญเราจะต้องหนักแน่น อย่าหวั่นไหว
ที่เขาว่ามา เป็นปมด้อยของเราก็จริง
แต่คนเราเลือกเกิดไม่ได้
ที่เขาติมาเพราะเขามองหาส่วนแย่ ๆ ของเราต่างหาก
ที่ดี ๆ ก็มี แต่เขาไม่พูด
ตัวเราย่อมรู้ตัวเองดีที่สุด
เชื่อในคุณค่าของตัวเอง ไว้ใจตัวเอง


ดูแลหัวใจของเราให้ดี
เรียนรู้ที่จะคิดปฏิเสธคำพูดแย่ ๆ จากคนอื่น
รู้แหล่งที่มาอย่างมีเหตุผล
แล้วจะไม่มีอะไรมาบั่นทอนหัวใจเราได้เลย...

By Cartoon/ กล้าที่จะก้าว-เป็นหนังสือ How to เล็กเล็ก ที่ฉันเริ่มอ่านแรกๆ

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

ลาก่อน ดนตรีวิทยา?


ลาก่อน ดนตรีวิทยา?


บันทึกบน ความแตกต่างกันระหว่างสถาบันการศึกษา : วิจัย ในดนตรีญี่ปุ่น
เรื่อง ฉาก สี และภาพ โดย SEYAMA Toru ขอประทานโทษภาพนี้ แต่งแต้มโดย Amelie Chance

ลาก่อน ดนตรีวิทยา? บันทึกลงบนความลงตัวระหว่างสหวิทยาการ การศึกษาดนตรีญี่ปุ่น
ในวัฒนธรรมดนตรีปฏิสัมพันธ์ กรณีศึกษาความเป็นตะวันออก-ตะวันตก จัดวางองค์ประกอบโดย(MABUCHI Usaburo and YAMAGUTI Osamu. Tokyo: Academia Music): ๑๔๖-๑๕๕.

               
                กาลระยะเวลาที่ผ่านมา จวบจนปัจจุบันคนญี่ปุ่นยังคงพยายามรักษาซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมมาหลายชั่วอายุคน ในขณะที่ยังยินยอมรับการปลุกเร้าจากกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ต่างชาติที่ยังส่งอิทธิพลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรจับตามอง และให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

                ร้อยกว่าปีที่ผ่านมา จากความอุดมสมบูรณ์ ความสลับซับซ้อน และการใกล้ชิดกันของวัฒนธรรม ระหว่างคำว่า เก่า และใหม่ แม้แต่ดนตรีก็ไม่ได้รับการยกเว้น ส่งผลนำมาซึ่งปัญหาอุปสรรคมากมายอันเป็นเหตุผลให้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างทุกวันนี้

                 ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้มีเนื้อหาความเป็นมา มากเกินกว่าที่กล่าวได้อย่างครอบคลุมมิดชิดรัดกุมได้ เพราะมันกว้างไปกว่า ทฤษฏี และระเบียบวิธีการวิจัยที่ไม่สามารถครอบคลุมหมดทุกส่วน(ดนตรีด้วยเช่นกัน)เช่น ความรู้สึก นึกคิด และสัญชาติญาณธรรมชาติ ความเป็นวัฒนธรรมคนญี่ปุ่นที่มีจุดเด่นสามารถประยุกต์ เลือกรับและปรับเปลี่ยนความเป็นดนตรีวิทยาจากโลกตะวันตก เข้ากับส่วนผสมระหว่าง ประวัติศาสตร์ และมานุษยดนตรีวิทยาในแบบฉบับวัฒนธรรมชาวอาทิตย์อุทัยได้อย่างลงตัว แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการครุ่นคิดพิจารณาในความไม่ลงรอยกัน ระหว่างวัฒนธรรมตะวันตก และญี่ปุ่น เป็นผลให้นำมาสู่การถอยร่นของวัฒนธรรมดนตรีวิทยาดั้งเดิมจากตะวันตกที่สามารถนำไปสู่การนำเสนอความหมายในทุกความหมายของสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน ในสังคมญี่ปุ่น ไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่สำคัญ หากต้องมีการเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในตัวตนดนตรี ของคนในสังคมญี่ปุ่นอย่างแท้จริง
                 
บทนำ
                การดำรงอยู่ของความเป็นญี่ปุ่น บางครั้งมันก็น่าพิศว งง งวย ในการคลี่คลายวัฒนธรรมจากสิ่งแปลกปลอม นำมาสู่ตัวตนที่แท้จริง ในพื้นที่ระหว่างวัฒนธรรมเดิม เอกลักษณ์ความเป็นตะวันออกที่มีชีวิตและลมหายใจอยู่ยาวนานหลายพันปี จนถึงปัจจุบันทุกวันนี้ท่ามกลางจิตวิญญาณโลกสมัยใหม่ ถูกนำเสนอผ่านสิ่งวิเศษที่เรียกว่าเทคโนโลยี ระบบคอมพิวเตอร์กำลังเตรียมจัดส่งวิญญาณโบราณคล่ำครึนี้ไปตามโลกไซเบอร์ให้ทุกคนได้แสวงหาเก็บเกี่ยวในสิ่งซึ่งตนต้องการ อย่างรวดเร็ว นั่นก็เป็นทำนองเดียวกันกับดนตรี จะว่าไปก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าสู่ความลึกซึ้งในภาพลักษณ์ที่แท้จริงของดนตรีญี่ปุ่น

                แต่กระนั้น กระนี้ ยังมีอีกหลากหลายเรื่อง ของเรื่องขี้ประติ๋ว ในความเป็นสภาวการณ์อันสามารถรู้ทราบโดยปราศจากความเข้าใจอย่างแท้จริง เป็นเรื่องยากที่จะโกหกท่ามกลางเรื่องต่างๆ อีกมากมายซึ่งยังจริงอยู่แท้ในสามปัจจัยที่ส่งผลแก่วัฒนธรรมสังคมดนตรี ได้แก่ ๑.ความมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน ๒.ความซับซ้อน ๓.การเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างของสารพัดชนิดดนตรีที่ปรากฏในสังคมเมืองปลาดิบ
                ความมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วนนี้ เชื่อว่าคุณเคยรับฟังดนตรีญี่ปุ่นมาแล้วไม่มากก็น้อย ไม่ว่าเวลาจะเปิดทีวี หรือพบเห็นในกระดาษห่อของที่ผ่านตาไปมา เลือนรางหรือยังจำได้อยู่ ความซับซ้อน ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีความเป็นมา มีรากฐานวัฒนธรรมที่มั่นคงยาวนาน สิ่งเหล่านี้ถูกกำไว้ในมือข้างหนึ่งข้างใดอย่างเหนี่ยวแน่น แต่ก็ยังมีมืออีกข้างที่พร้อมจะจับคว้าความเป็นตะวันตก และนานาอารยะธรรมไว้อย่างมากมาย ส่วนการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่าง ในส่วนนี้อย่างไรก็ตามความแตกต่างทั้งหมดนั้นมีมากมายหลากหลาย แต่อย่างน้อยมันก็ยังยินยอมไว้ซึ่งกันและกัน ให้มนุษย์ทุกคนในที่ดินแดนอันสวยงามแห่งนี้ได้รับฟังถึงตัวตน เพียงแค่ผิวเผิน ก็ยังดี
               
๑. เขา หรือใคร เหนื่อย และเบื่อ เกี่ยวกับดนตรี?
                “When a man is tired of London, he is tired of life; for there is in London all that life can afford.”
                                -Samuel Johnson (๑๗๐๙-๑๗๘๔)
๑.๑ ยุคฟื้นฟู ในสมัยจักรพรรดิ มัตซุอิโต (ค.ศ. ๑๘๖๗-๑๙๑๒)
                ในยุคที่ญี่ปุ่นยังไม่ปรารถนาที่จะยอมรับสิ่งต่างๆเข้ามา บางครั้งก็ดูเหมือนเป็นประเทศที่น่ารำคาญ เรื่องมาก ทางด้านดนตรีก็เป็นแบบนี้เช่นกัน ในความเป็นจริงแล้วมันหนีไม่ได้ที่จะต้องยอมรับถึงสภาวะที่ถูกบีบบังคับจากกระแสแห่งโลกสมัยใหม่ที่ถาโถมเข้ามามากเกินที่จะต้านทานไว้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว จากจุลภาค สู่มหภาค บิดเบือนวัฒนธรรมเดิมให้ไปสู่วัฒนธรรมใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้
                ในช่วงเวลาระหว่างกลาง ค.ศ. ๑๙ ประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่โลกสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว ยุคฟื้นฟูสมัยเมจิ การปกครองภายหลังการแปลกแยกออกมาอย่างโดดเดี่ยวจากโลกภายนอก ประเทศนี้ดูเหมือนจะกระตือรือร้นที่จะเริ่มต้นใหม่ในทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเด็กเพิ่งได้ของเล่นใหม่ เป็นอารยะธรรมดนตรีในโลกตะวันตก(ก็ไม่เว้น) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมานับเป็นเวลานานนับหลายสิบปีที่ดนตรียังถูกบังคับจนนำไปสู่การกีดกันแบ่งแยก(ออกจากห้องเรียนจากสายตาแห่งความเป็นสาธารณชน) ของระบบการศึกษา นั่นเป็นสาหัสปัญหาที่สร้างความยุ่งยากน่ารำคาญแก่นักวิจัยอาทิตย์อุทัยดนตรีวิทยาส่วนใหญ่ เพราะความเป็นสมัยใหม่ที่ถาโถมเข้ามาทั้งหมดทั้งมวล นำไปสู่ความหลากหลายที่ผิดปรกติ ไม่ธรรมดาของมรดกทางด้านดนตรีจากยุคก่อนหน้าเมจิ (สมัยจักรพรรดิ มัตซุอิโต) จนมาถึงปัจจุบัน

๑.๒ พิพิธภัณฑ์ หรือโกดังเก็บสินค้า?
                ความเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่น ชาวอาทิตย์อุทัยมีแนวโน้ม เอียง ในการทำเนื้อหาสาระให้มีความซับซ้อนและยังมีมากขึ้น นั่นก็คือความมีกมลสันดานในการเก็บรักษา ถนอมไว้ซึ่งทุกสิ่ง ดังเช่นในบททดสอบหัวข้อประวัติดนตรีญี่ปุ่น ในความเป็นดนตรีดั้งเดิม ทุกอย่างที่ผู้วิจัยปรารถนา สามารถเรียงร้อยออกเป็นลำดับรายการ และมันก็สามารถหาสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายซะเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นในโรงภาพยนตร์ การ์ตูน  ในวัด ศาลเจ้า แหล่งเคารพบูชา สถูป หรือปูชนียสถาน หรือจะเป็นรายการทีวี ซึ่งผิดแผกแตกต่างไปจากอิตระเดีย จีนหนีหง่าวแผ่นดินใหญ่ และเมืองไทยสวัสดี คนชอบกินปลาดิบ จิ้มวาซาบิ ชอบใจที่จะแสวงหา สืบเสาะร่องรอย และสงวนสิ่งดั้งเดิมเหล่านั้นไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง เสมือนเพิ่งพบกันใหม่ๆ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็พยายามทำให้ได้มากกว่านั้น(สงวน) สิ่งดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และทัศนะคติ ในการอนุรักษ์ที่อาจจะนำไปใช้กับทุกๆ สิ่ง นั้นก็อีกหนึ่งที่นำไปใช้กับ ประเทศญี่ปุ่น! ซึ่งนี่เป็นอีกปรากฏการณ์ แห่งความมอดม้วย ของนักวิจัยที่ม้วยมอดพอได้สดับ รับฟังดังว่า  เกิดคำถามฉันจะทำเยี่ยงไร และที่ไหน จะเริ่มต้นยอมตาม หรือขัดขืน อยู่ด้วยกันกับทั้งหมดทั้งมวลแห่งความเมตตา กรุณา ในความมากมายนี้ ดนตรีนี้ สืบยาวจากโบราณมาโข สู่นำสมัยเกินจะตามทัน จากตะวันตกสู่ อาทิตย+อุษา+อาคเนย์ หรือ? นั้นเองเป็น ญี่ปุ่น ที่ยังยืนตื่นเต้น ดีใจกับพิพิธภัณฑ์ หรือเพียงแค่โกดังเก็บสินค้า เก็บทุกประเภทของวัฒนธรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ในโลกา และนั้นก็เป็นประเด็นหนึ่ง ที่ควรได้รับการใคร่พิจารณา ครุ่นคิดว่า พิพิธภัณฑ์ กับโกดังเก็บของ มีความแตกต่างกันเยี่ยงไร

๑.๓ การขาดซึ่งทัศนคติ มุมมองทางประวัติศาสตร์
                อะไรหรือ สำคัญที่สุด ในความเป็นประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอันแสนยาวนาน ในมุมมองด้อยน้อย ต่อทัศนคติด้านประวัติศาสตร์ เพราะว่าบางส่วนมันคือ สภาพการณ์ยินยอมให้กับ Geopolitical(การเมืองซึ่งอาศัยภูมิศาสตร์ เขตแดนเป็นหลัก) ถ้า ๑ ในนิยามทางประวัติศาสตร์ เป็นดังเช่นการผูกมัดร้อยเรียงซึ่งเหตุการณ์สำคัญในอดีตเท่านั้น นั่นก็คือ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แน่นอนอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ถ้าจะเกิดความคาดหวังต่อทัศนะคติในมุมมองทางประวัติศาสตร์นี้ คำตอบก็จะกลายสภาพเป็นข้อสงสัย เคลือบแคลงใจ อะไรหละที่จะมากระตุ้น ผลักดัน เคลื่อนย้ายดนตรีให้ออกไปจากช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สืบเสาะ ปรึกษาแลกเปลี่ยนปัญหากันแค่ในญี่ปุ่น สิ่งที่กล่าวมานั้นก็พอจะเป็นภาพที่ชัดเจน ในข้อเท็จจริงของข้อมูล โดยมีต้นฉบับ คัดลอกออกมา จากรุ่นสู่รุ่น และก็ยังเหมือนเดิม(น่ากังวล) ซึ่งก็ทำให้เรียกไม่ถูกเลยว่านี่เหรอ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ดนตรี
                ฉันไม่มีแผนการ จุดมุ่งหมายที่จะปฏิเสธความอยากได้ใคร่รู้ที่จะเรียน ตรงกันข้าม ฉันเชื่อว่านั่นก็คือความสำเร็จในทัศนะที่มีต่อประวัติศาสตร์ในระดับหนึ่ง ถ้ามีบ้างก็ขึ้นอยู่กับการลงทุนลงแรงอย่างมากเพื่อให้ได้ผลสำเร็จเฉพาะเพียงพื้นที่นั้น แต่ก็ไม่ควรลืมเลือนความสำคัญของประวัติศาสตร์ ในมุมมองของดนตรีที่จะเชื่อมต่อองค์ความรู้อันอุดมสมบูรณ์เพื่อการแลกเปลี่ยน ต่อยอดต่อไป อย่างไรก็ตาม คำแดกดันของประวัติศาสตร์ที่มีความแข็งแกร่งด้านความซับซ้อนในลำดับเหตุการณ์ ซึ่งก็ยากจะแก้ไขให้เข้าใจ ผลจึงมีวิวัฒนาการใหม่โผล่มาเป็น Ethnomusicology(เมืองไทยแปลว่า ดุริยางคศาสตร์ชาติพันธุ์, มานุษยดนตรีวิทยา)

๒. ความต้องการ กระหาย ด้านข่าวสารในหน้าหนังสือพิมพ์
                A sign is not only something which stands for something else; it is also something that can and must be interpreted. - Umberto Eco (๑๙๓๒- )
๒.๑ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี
                ความเป็นเทคโนโลยีที่กว้างไกล ทันสมัย สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยนักมานุษยดนตรีวิทยา ให้กระเด็นออกจากเส้นทางที่ควรจะเป็น จากความช่วยเหลืออันมหาศาลของเทคโนโลยีสูงส่ง-ผลให้ปัจจุบันนักมานุษยดนตรีวิทยาเชื่อมั่นจิตว่าไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาจะทำไม่ได้ ในความรู้สึกลึกๆ ก็คงคิดเหมือน นโปเลียน
                ปัจจุบันอำนาจทางเลือก ทางเทคโนโลยีก็ยังขยายไปอย่างกว้างขวาง จากม้วนวีดีโอ สู่การวิเคราะห์ ช่วยเหลือของมันสมองกล, อะไรหละที่เคยเป็นไปไม่ได้เมื่อวาน วันพรุ่งนี้แหละมันจะเป็นจริง! ดนตรีญี่ปุ่นภาคสนามอันแสนทันสมัยในปัจจุบัน มันเป็นธรรมชาติ ธรรมดาที่จะเห็น พวกนักดุริยางคศาสตร์ชาติพันธุ์ ศาสตราวุธ พร้อมยุทธโทปกรณ์ทันสมัย หลายสตางค์ แต่ถึงอย่างไรรางวัลที่เป็นผลงาน ลัพธ์ออกที่มาไม่ได้เป็นไปตามที่วาดฝันไว้? (ฝันสลาย)

๒.๑ นักมานุษยดนตรีวิทยา หรือนักข่าว?
                ขอกราบขอบพระคุณนักชาติพันธุวิทยา นักมานุษยดุริยางควิทยา และนักชาติพันธุดนตรีวิทยา ที่ช่วยประทานหนังหน้า ข่าวดนตรี Around the World !  Steven Feld อธิบายให้เรารู้สึกประทับใจ ตราตรึงจิต ในทฤษฏี หลักการ ท่ามกลางดงคน Kaluli ใน ปาปัวนิวกีนี(Feld ๑๙๘๑, ๑๙๘๒), เรื่องเล่า นิทานปรัมปรา ของ T' boli of Mindanao ในฟิลิปปินส์ บรรยายบอกเล่าผ่าน Manoleta Mora (Mora ๑๙๘๘), Shimeda Takashi's รายงาน สด เนื้อร้องเพลง และเนื้อคำพูดดั้งเดิม ของชาวปีนัง ซาลาวัค ในมาเลเซีย (Shimeda ๑๙๘๖).
                นี่อาจเป็นรายงานการสำรวจทางมานุษยดนตรีวิทยา สำรวจโลก ที่น่าตื่นเต้น หรือผจญภัยไปกับชาติพันธุ์ ดุริยางค์ ที่น่าตื่นใจ (เปิดโลกแห่งความฉลาด และเรียนรู้ ไปกับเราสิค๊ะ) บางครั้งสิ่งพวกนี้ก็ทำให้เราหวนรำลึกนึกคิดระหว่างความคล้ายคลึงที่ว่า ตกลงจะเป็นนักข่าวบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์กันหรือไร? กับการส่งลูกน้องออกไปปฏิบัติงานโดยหัวหน้างานที่รับผิดชอบคิดปฏิบัติการ เพียงเพื่อสำรวจพื้นผิวโลกอย่างนั้นหรือ? ส่วนนักข่าว และผู้รายงานข่าว คอยรายงานสถานการณ์ปัจจุบัน เหมือนเด็กที่คอยจดสมุดบันทึกประจำวัน นี่หรือคือสิ่งที่พวกเขาทำกัน ออกภาคสนามกันเถอะ!  นักมานุษยดนตรีวิทยา(เหล่านี้) ได้บรรจงเขียนสิ่งเหล่านี้ ส่งข่าวแก่พวกเขาท่านหัวหน้าหย่าย ผ่านสู่มหาวิทยาลัยสังกัดที่รักยิ่ง (ป.ล ขอให้จบไวไว นะจ๊ะ)
                ไม่ว่าจะอะไร ใดใดก็ตาม บทความที่กลั่นกรอง ลักลั่นจากพวกนี้ อาจจะเรียกว่า วิทยานิพนธ์ฉบับรายวันหรือวิทยานิพนธ์ฉบับ ล้วง เด็ด ๗ สี ก็เป็นไปได้ อะไรหละที่พวกเราลำพังสามารถ สดับ Reading เกี่ยวเก็บ ผลิตผลองค์ความรู้ที่สุกงอมจากพวกเขา หรืออาจจะเป็นการตั้งใจที่จะสร้างภาพลักษณ์พื้นๆ เพียงแค่นี้ก็ได้ ก็อาจเป็นไปได้(เป็นลูกตะขบดองเกลือ ตุ๊บ ตั๊บ เค็ม เค็ม)

๒.๒ ความแตกต่างกันระหว่าง วัฒนธรรม ๒ วัฒนธรรม หรือมากกว่านั้น
                ทรัพยากรดนตรี มันมากมายมหาศาล(เหมือนมนุษย์) และก็ถึงเวลาที่เราจะต้องมาเรียนรู้กันในความหลากอย่างมากมายของดนตรีที่ปรากฏบนพื้นผิวโลกา พิภพนี้ ใช่สิ มันช่างกว้างใหญ่ มากมาย และหลากหลายวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เยอะพอที่จะทำให้เราสับสน ลุกรนจนไม่สามารถหาทฤษฎี ดีดี ใดใด ที่เข้าใจมาอธิบาย ชนิดของดนตรีในมือเราได้และมันก็ไม่น่าประหลาดใจเลย ที่ยังทำงานดนตรีโลก ไม่เสร็จ จนตาย(ก็ยังไม่เสร็จ)
                การศึกษาหาความรู้ในดนตรีญี่ปุ่น ก็เป็นอีกหนึ่งจากหลายภาคตอนชนิดดนตรีในโลกของเรา นักมานุษยดนตรีวิทยาบางคนชอบที่จะเขียนงานในความงามยุบยับเหล่านี้ ให้ออกมาวุ่นวาย น่าเบื่อ ด้วยบทสรุปที่ชี้ว่าเขาเจ๋ง ซึ่งก็ไม่น่าจะนำพาพวกเขาไปสู่ที่ไหนและเพื่ออะไร(ไร้แก่นสาร) เว้นเสียแต่แนวความคิดทั่วไปนี้จะตกผลึก ดลใจพวกเราให้สำนึกถึงความแตกต่างเชื่อมโยงอย่างน้อยระหว่าง ๒ วัฒนธรรม(เป็นทางเลือกที่ดี) จงสนุกกับความแตกต่าง และรู้จักที่จะเชื่อมโยงความแตกต่างเหล่านั้นให้ สนุก ขณะที่มันยังเดินหน้า ในขบวนรถไฟ โบกี้ โป้ง โป้ง ฉึ่ง
                "The way in which the world of music divided into musics, and the criteria for the divisions," as Bruno Nettl put it, "are major issues that have perhaps not been given sufficient explicit recognition" (Nettl 1983:51).
               
๓. จากนิ้วแสน สุดวิเศษ สู่ตรรกวิธี ของหู  (Gossip)
                But in history, as in nature, birth and death are equally balanced. - Johan Huizinga (๑๘๗๒-๑๙๔๕)
๓.๑ ฉันเกิดที่ยุโรป ยะ
                นาง ดนตรีวิทยา หล่อนเกิดโลกฝังตะวันตก แถบ แถบ ยุโรป เทือกนั้น ได้รับการชุบเลี้ยงเติบใหญ่ในบ้านหลังม่านวัฒนธรรมตะวันตก ไฮโซ ผู้ดี ชั้นต้นหล่อนได้ถูกมอบหมายหน้าที่ให้รับผิดชอบงาน ภายใต้อิทธิพลแม่เลี้ยงใจร้าย แม่สมัยใหม่ที่มีหัวคิดนำสมัยของวัฒนธรรมแบบ Modern, นับจากนั้นมาหล่อนก็ถูกผูกติด กักขัง อยู่กับปมด้อยของวัฒนธรรมตะวันตกสมัยใหม่ ศิลปะสมัยใหม่ และดนตรีตะวันตกสมัยใหม่ ในบ้านหลังเก่าๆ นั่นแหละเป็นงานแรกในชีวิตของเธอ(อยากได้ผัว!)
                ต่อมาเธอก็มีลูกหลายเยอะขึ้น สายตระกูล มุ สิ โค๊ะ โล๊ะ จิ เริ่มกระจายกันแพร่พันธุ์ ลูกเธอได้ดีทุกคน! และภายหลังจากการโผล่ขึ้นมาของสายตระกูล เอ๊ะ โน๊ะ - มุ สิ โค๊ะ โล๊ะ จิ ในไม่ช้า ด้วยการเน้นกระจายพันธุ์ที่กว้างใหญ่หลากหลายเชื้อชาติของตระกูลใหม่นี้ เป็นนโยบายหลักในการปกครองอำนาจ เนื่องจากปัจจุบันเขารู้ว่า นางดนตรีวิทยา มีหน้าที่รับผิดชอบศึกษาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับดนตรี และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับดนตรี(คล้ายงานแรกของเธอ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไกลมากกว่าจะตะโกนเรียกสายตระกูลใหม่ที่ยังหลงลืมตน แหละคิดว่าตนเองหละดีแน่แท้(Ethnocentrism) ลืมชาติกำเนิดตน ชอบดูถูกคนอื่น ให้กลับมาย้อนคิดถึงความสัมพันธ์ที่เคยลึกซึ้งนั้นที่เพิ่งจะผ่านมาได้ไม่กี่สิบปี(วันวาน ยังหวานอยู่)

หวนกลับไปคิดสู่วันวานที่ยังหวานหอม รำลึกอดีตที่ยังแสนหวาน แล้วกลับมาตรองดูอีกที
---แล้วกรูเป็นใคร มาจากไหนฟะ?

๓.๒ แล้วฉันหละคือใคร What is music? Who am I?
          ถึงแม้ว่า นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงจะออกมาอวดบทสรุป แก่พวกเราให้เห็นถึงงานศิลปะอันงดงามของโลกแห่งดนตรีวิทยา(โลกแห่งหิมพานต์ มีสัตว์แปลกประหลาดมากมาย อันหลืบลับ) เช่นเดียวกับ Charles Seeger ใครหละที่วาดโครงร่างนั้น เพื่อที่จะแต่งแต้มผืนผ้าใบนั้นด้วยถ้อยคำและเสียงเพลง(งดงาม) หรือ Geoge List จะเสนอให้เป็นรูปแบบของแผนภาพอนุบาล ของเส้นเขตแดน คำพูดและเสียงเพลง (List ๑๙๗๑ : ๒๖๑)
                แล้วอะไรหละ คือ ดนตรี? แล้วฟังดนตรี ทำไมหละ? ---มันก็แปรผัวผวนผันกันกับพวกวัฒนธรรมนั่นแหละ เสียงของสังคมในวัฒนธรรม คนนั่นแหละคือผู้ตะโกน ผู้ใดหละแบกรับมันไว้?  เอ๊! แล้วดนตรีมันคืออะไร? พวกมนุษย์ล้วนชอบ เสพย์สุขกับนางทั้งสิ้น--------!!!!!!! นักวิชาการพวกนั้นโอด คราง

๓.๒ ดนตรีในสังคม คนญี่ปุ่น
                จากนี้ไป อะไรคือลักษณะเฉพาะของดนตรีญี่ปุ่น? ดูเหมือนจะเป็นคำถามไม่ยาก แต่ก็จำเป็นต้องตอบ
วัฒนธรรมดนตรีในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เกิด ส่งผล และขึ้นอยู่กับเนื้อร้องทำนองเพลง ไม่ใช่เพียงแค่ใน คาบูกิ หรือ โน ซึ่งเป็นฐานรากของมหรสพแดนปลาดิบ แต่ยังกว้างกระจายออกไปที่อื่นอีก เช่น โซเคียวคุ ที่ปรากฏในบทกวี ที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์ น่านับถือ ขับร้องคลอเคลีย ผ่อนผ่านเสียงเครื่องดนตรีพิณ ๑๓ สาย และก็ที่น่าสังเกต กับ ซาคุฮาซิ ฮอนเคียวคุ ที่ได้รับการยกเว้นเพราะขณะเป่าจะพูดด้วยไม่ได้(แต่นั่นคือ คำพูด)
                ขอเพิ่มเติมอีกนิดเรื่องรสของเสียงที่หูได้ชิม รสของเสียงดนตรีญี่ปุ่น อาจไม่มีความเหมือนกับรสชาติของดนตรีตะวันตก ขืนรับประทานอยากรวดเร็วอาจอาเจียนออกมาได้ และฉันก็เชื่ออย่างยิ่งว่า ซาคุฮาซิ ฮอนเคียวคุ ถูกครองงำด้วยเพียงพลังนิ้ว และทิศทางของนิ้ว เหนือสิ่งอื่นใดอะไรก็ไม่น่าตื่นเต้นเท่าปิ๊กไม้พายเหลี่ยม บรรจงกระชาก ลากดีดลงไปบนสาย ซามิเซน : กากากุ นู้น นี่ นั่น นับเป็นกิ่งยอดสาขาจากวัฒนธรรมจีนโบราณ นับเป็นแนวคิด ทฤษฏีที่เชย เพราะชอบหยิบยกใช้กันจนขายดี และรับประทานต่อกันหลายมื้อมิได้  เลี่ยน
                แล้วก็บังเกิดความสงสัยระหว่าง ดนตรีวิทยาว่าใช้ได้ประโยชน์ในการศึกษาวิเคราะห์ ศิลปะดนตรีตะวันตก โลกสากล ได้เท่านั้นเหรอ เพราะอะไร? สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมืออันมีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ดนตรีญี่ปุ่น เพราะว่าพวกเราต้องการมุมมองใหม่ๆ แสงใหม่ ฉากใหม่ ในตัวละครตัวเดิม บนหลักฐานเดิมว่าดนตรีสามารถวัดออกมาเป็นค่าความมาตรฐานโดยเครื่องวัดที่มาตรฐานของสากล ได้ออกมาเป็นตัวอะไร?
                นอกจากนี้ยังไม่มีผู้ศึกษาวิจัยดนตรีญี่ปุ่นคนใดที่กระตือรือร้น ที่จะสร้างแนวคิด ทฤษฏีแสง ฉากใหม่ ตัวแสดงเดิม ช่างห่างไกลในสังคมดุริยศิลป์อาทิตยอุทัย มากไปกว่าทฤษฎีการจูงใจให้เชื่อเรื่องราวของความซับซ้อนในระบบ Tonal Systems(แสงเดิม ตัวเดิม ฉากเดิม ใช้สะแตนอิน)                

๔. ดนตรีวิทยา หมากเตะ
                A standardized theory of a tonal system throughout Japanese traditional music has never quite been established. - Koizumi Fumio (๑๙๒๗-๑๙๘๓)   
๔.๑ เกือบใกล้ละที่จะถึงความเข้าใจ
                ในวัฒนธรรมดนตรีญี่ปุ่นคงไม่มีอะไรน่าสนใจเท่ากับ Texture of Strings of Patterns มันก็น่าจะเป็นไปได้ถ้าหันหน้ามามองการวิเคราะห์ พิจารณาโดยใช้ Melodic Lines หรือ Musical Construction บทสรุปที่ออกมาเหมือนมากกว่าการเก็บสะสมถูกไล่เรียงข้อมูลตามลำดับเวลา สิ่งเหล่านี้ฟังเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีในการศึกษาวัฒนธรรมดนตรีวิทยาญี่ปุ่น และต้องทราบไว้ว่ามันเป็นการวิเคราะห์ วิจัย อันยากยิ่งที่จะเข้าใจวัฒนธรรมดนตรีญี่ปุ่นอย่างแท้จริง โดยปราศจากความเข้าใจที่ยังคงความเชื่อมโยงแน่นหนากันกับบริบททางสังคม สิ่งเหล่านี้ได้ผูกติดแน่นไว้กับมรดกทางวัฒนธรรม อันสวยงาม
                วัฒนธรรมดนตรีญี่ปุ่นก็ดูเหมือนศิลปะทั่วไป ที่มีเยอะแยะมากมายในญี่ปุ่น หลังจากการเพ่งพินิจศิลปะแขนงนั้นเพียงหนึ่งเดียวอย่างน่าสนใจ ทำให้คุณเหลือบมองบริบทรอบข้างอย่างเหมาะสมโดยไม่ละทิ้งความสนใจนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดที่ดี หรือแม้แต่การสัมมนา ขั้นตอนขององค์ประชุมในสภาก็ดูเหมือนการแสดงมากกว่าการปรึกษาหารืออย่างแท้จริง และนั่นก็เป็นบริบท ของดนตรีญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
               
๔.๒ ฟุตบอล กับคนญี่ปุ่น
                ดนตรีญี่ปุ่น เป็นอะไรที่มากกว่าศิลปะการแสดง นางดนตรีวิทยาถึงแม้เธอจะเกิดในโลกตะวันตก เธอคุ้นเคยสนิทกับสามีเก่า นักเตะในทีมฟุตบอลที่เป็นหมากไปตามโค้ช ตามเกมส์ ถึงอย่างไรเขาก็เป็นคนแรกของเธอ(หล่อนกล่าวโม้) แต่สามีใหม่ของเธอ ที่เธอเลือกเขาไม่ใช่นักเตะแข้งทอง อาจจะเตี้ยไปหน่อยแต่ก็เป็นคนรักเพื่อนฝูงมาเป็นที่หนึ่ง พี่หยุ่นของหล่อนชอบทำงานเป็นทีม แถมยังมีอิสรเสรีในตัว นี่แหละที่หล่อนชอบอวดนักอวดหนาว่า ฉันหลงรักใน ความไม่เจ้าชู้ จริงใจนี่แหละคะ (ที่แท้พี่หยุ่นชอบเบสบอล ย่ะ!)
                ถึงแม้ว่าน้อยครั้งที่นักวิจัยหยุ่นจะประสบผลสำเร็จในการออกเก็บข้อมูลดนตรีภาคสนาม แต่ก็ยังมีเหตุผลที่ดี ในการศึกษาที่ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่มุ่งหวังดนตรี เพียงอย่างเดียว เพราะญี่ปุ่นจะไม่มีวันวิ่งหนีออกจากความอุดมสมบูรณ์ ความซับซ้อน การเทียบเคียงกันระหว่างวัฒนธรรมสังคม นี่คือความจริง ความจริงที่ยังรอคอยการตรวจสอบโดยตัวพวกเขาเอง

๔.๓ การเพิกถอน แผนการ และยุทธวิธี
                Leonard Bernstein ๑๙๑๘-๑๙๙๐ ครั้งหนึ่งเขาเคย เฟลี้ยงบรรยาย และการสอนที่มหาวิทยาลัย Harvard เหตุจากความเหนื่อย และเซ็งที่จะจดจ่อ อธิบายรูปแบบโครงสร้างของดนตรี หลังจาก Avram Noam Chomsky ๑๙๒๘-  คิดค้นแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับภาษาศาสตร์เรียบร้อยไปแล้ว นี่มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าแปลกสำหรับดนตรี?  ทั้งที่มีข้อมูล ต่างๆ ตั้งเยอะแยะ หรือถ้าเขาอยากจะประสบผลสำเร็จในการบรรยาย แล้วทำไมไม่มาศึกษา บรรยาย ดนตรีญี่ปุ่นหละ?
                จะอีกทางเลือกหนึ่ง ขอแนะนำว่า การศึกษาดนตรีวิทยานี้ ควรจะเพิกถอนกองกำลังชั่วคราวจากคำว่าญี่ปุ่น เพียงจุดเดียว ซึ่งอาจจะเป็นการเพ็งเล็งพิถีพิถัน เพียงจุดเล็กๆ ที่ประเสริฐ ดีเลิศ การเพิกถอยสายตาออกจากความเมื่อยล้าแห่งการเพ่ง เพียงแค่คุณหันมองสิ่งรอบข้างเพื่อผักผ่อนสายตาว่ารอบๆ ข้างจุดเล็กๆนี้ มีอะไร จุดอื่นใดบ้าง สิ่งแวดล้อมมันสวยงามเพียงใด เหมือนกับการศึกษาดนตรีอาจไม่ใช่เพียงแค่ ดนตรี เพียงจุดเดียว แต่ควรจะมีการศึกษาแบบสหวิทยาการ เพื่อละคลายสายตาแห่งการเพ่งพินิจลงบ้าง ไม่งั้นตาคุณอาจบอดเร็วกว่าวัย ผลซึ่งชีวิตที่มืดบอดตามมา
                แนวทางการศึกษาดนตรีวิทยา หรือดนตรีอื่นใดในโลกหล้านภากาศ อาจจะไม่ต้องมานั่งถอยถามว่าดนตรีนี่หรือคืออะไร? เพียงแค่ลองเพิกถอนสายตา ออกจากคำว่า ดอ โอ นอ+ ตอ อี เท่านั้น คุณก็จะเห็นได้ในสิ่งที่ ดอ โอ นอ+ ตอ อี อยากให้เห็น ไม่ใช่เพียงการบ่งเพาะจ่อจดคำว่า เป็นอะไร? ใช่มันเป็นแค่ชื่อไม่ใช้ตัวตนแท้จริง ฉะนั้น อำลามันซะ!
                ลองพักสายตาสักนิด พักจากกระแสจิต คิดว่าดนตรีคืออะไร? มาจากไหน ลองหันดูดอก ว่ายังมีอีกหลากหลายดอกในสวนไม้งาม ดอกไม้จะงาม ย่อมมีลำต้น กิ่งก้าน ใบที่งาม ดินอุดม น้ำท่าพอดีบำเลอเลิศ รังสรรค์ปลูก ฝัง โดยเงื้อมมือมนุษย์ผู้สรรค์เสก และที่สำคัญ ดนตรีนั้น(ดอกไม้นั้น ความงามนั้น)มีความสำคัญต่อฉันเยี่ยงไร ดอกไม้ที่หล่อน(นางดนตรีวิทยา)ได้ปลูกมอบให้ ไม่ว่าเธอจะมาจากไหน เคยเป็นของใคร เธอมอบมาซึ่งดอกไม้งาม  ฉันปลื้ม ในดอก ดิน กลิ่น น้ำ สร้างฉัน มาพบเธอ 



ลา ล้า ลา จาก ลา ไม่ ลาจาก
ก่อน จาก พราก  จาก จร สมร ฉวี
ดน ใจ ใหม่ ได้  หยุ่น เป็น สามี
ตรี- เบรส บรอล  น้องนี สะ บี ดาย

วิทยา สายหลัก มักมีจุด
แสนจะ ขุด จุด จุด ให้มีหมาย
บ้า จุด จุด ขุด ขุด ให้เมื่อยกาย
บอ ลงบ่อ ผ่อนคลาย กับนวล นาง(ดนตรีวิทยา)