ในมติชนรายวัน(๑๑ ก.พ. ๔๘) คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอว่า กระทรวงวัฒนธรรมไม่ควรมี
ท่านให้เหตุผลดังนี้
กระทรวงวัฒนธรรมไม่ควรมีขึ้นมาตั้งแต่ปฏิรูประบบราชการคราวที่แล้ว แต่รัฐบาลสมัยแรกไม่ฟัง เลยดันทุรังตั้งขึ้นมาดูเล่นเป็น "ของแปลก" แต่บางคนบอกว่าเป็น "สิ่งแปลกปลอม" ของสังคม
ขอทบทวนแล้วปรับความเข้าใจให้ชัดเจนว่า วัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมตั้งแต่ระดับหมู่บ้านถึงชุมชนจนเป็นท้องถิ่น แล้วกว้างขวางเป็นประเทศ และเป็นโลกทั้งโลก ฉะนั้น วัฒนธรรมมีอยู่แล้ว เป็นอยู่แล้วตามธรรมดาๆ ธรรมชาติๆ มีทั้งสิ่งหยุดนิ่งแล้วเป็นทั้งสิ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสาระสำคัญว่ารู้เขา รู้เรา รู้โลก
คนในสังคมเป็นผู้สร้างสรรค์ แล้วเลือกสรรวัฒนธรรมด้วยวิถีและวิธีของคนหมู่นั้นๆ เอง ไม่ต้องมีใครมา "บงการ" เหมือนประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการฟาสซิสม์ที่ล้าหลัง-คลั่งชาติ เมื่อความจริงมีอย่างนี้ กระทราวงวัฒนธรรมไม่จำเป็นต้องมีขึ้นจึงเป็นความจริง แต่รัฐบาลสมัยแรกคราวที่แล้วยังไม่หยั่งลึกถึงความจริง เลยให้มีกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นมาเป็น "ของแปลก" และ "สิ่งแปลกปลอม"
ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับคุณสุจิตต์ ว่ากระทรวงวัฒนธรรมนั้นเหลวไหลสิ้นดี คนไทยมีวัฒนธรรมอยู่แล้ว เป็นเจ้าของวัฒนธรรมที่ดี เช่นเดียวกับทุกชาติทุกภาษาในโลก หน่ายราชการที่ไหนจะบังอาจเล่นตัวเป็นเจ้าของวัฒนธรรม? ใครที่ไหนจะอวดตัวเป็นพระอาจารย์ชี้ขาดว่าวัฒนธรรมนี้ดี, นั่นชั่ว? ชาวสยามไม่มีวัฒนธรรมอยู่ในตัวหรือ? ถึงต้องมีข้าราชการเสือกสอนสังฆราชให้สวดมนต์? สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ? สอนปลาทูให้ถีบจักรยาน?
แล้วในวันเดียวกัน(๑๑ ก.พ.) มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับต่างชวนให้ผมคิดใหม่ว่า เมืองไทยจำต้องมีกระทรวงวัฒนธรรมให้ได้ ข่าวนั้นคือ มีสาวแก่(ทั้งเพศหญิงและเพศชาย)จำนวนมากต่างประท้วงป้ายโฆษณากางเกงในยี่ห้อ Jockey ว่าเป็นการประเจิดประเจ้อ ไม่สุภาพเรียบร้อย ยั่วยวนกามารมณ์ และละเมิดวัฒนธรรมไทย
หนังสือพิมพ์ The Nation, 11 Feb. 05, หน้า 4A มีความว่า
"ADVERTISEMENTS for an underwear company may be removed from Bangkok billboards if the Consumer Protection Board acts on public complaints about the ads being obscene. "Social advocates say they can't bear the sight of the signs, which feature a cople lounging together on a bed wearing nothing but underwear.
"The Cultural Watch Centre's chief, Ladda Thangsupachai, said the agency has received numerous complaints from people who were offended by the billboards, which tower above several streets in the city, including Sukhumvit and Vibhavadi Rangsit roads.
"Ladda said the ad, which includes the tagline, 'The next best thing to being naked', might be unsuitable for Thai society and harmful to Thai culture."
ป้ายโฆษณานี้ประกอบด้วยสองคนชายหญิงสวมชุดชั้นในนอนอยู่บนเตียง หญิงถือถ้วยชา(หรือกาแฟ?) วางบนท้อง ชายกำลังอ่านหนังสือ ผมเข้าใจว่าเป็นผัวเมียนอนเล่นกันตามสิทธิอัธยาศัย บรรดาสาวแก่สงสัยว่าไม่ใช่ผัวเมียกันก็เป็นได้ แต่ท่านเอาหลักฐานที่ไหน? ผมดูแล้วดูเล่าไม่เห็นป้ายโฆษณาเซ็กซี่ตรงไหน ชะรอยบรรดาสาวแก่ทั้งชายหญิงคงมีญาณวิเศษ(หรือจิตมัวหมอง?) ถึงมองอะไรก็เห็นเป็นเรื่องเซ็กซ์ๆ กันทั้งนั้น แล้วท่านเชื่อจริงๆ หรือว่า "วัฒนธรรมไทย" จะพังทลายเพราะ "กางเกงใน?"
ในสายตาผม โฆษณาป้ายนี้บกพร่องทางศิลปะ ไม่มีรสนิยม และขาดคุณค่าทางกามศิลป์(Erotic) มันยั่วยวนพอๆ กับโฆษณาผ้าอ้อมทารก จึงไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อ "วัฒนธรรม" ของใคร และไม่น่ากระเทือนใจใคร นอกจากใครคนนั้นเป็นโรคจิตแฝงอยู่แล้ว ดังนี้ ผมเห็นว่าเมืองไทยจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีกระทรวงวัฒนธรรมไว้ปลอบใจบรรดาผู้ดีขวัญอ่อน
กระทรวงวัฒนธรรมและบทบาท
หากกระทรวงวัฒนธรรมของไทยจะมีบทบาทที่มีความหมายสำหรับสังคมปัจจุบัน และหากจะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ก็จำเป็นที่กระทรวงจะต้องมีหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน กระทรวงจะได้ส่งรถพยาบาลไปเยียวยาหอมให้บรรดาสาวแก่(ทุกเพศทุกวัย) ที่เห็นภาพกางเกงในแล้วเป็นลมชักกลางถนน
หากท่านผู้อ่านเห็นว่ากระทรวงวัฒนธรรมควรมีบทบาทหรือประโยชน์นอกเหนือที่เสนอนี้ กรุณาเขียนมาแจ้ง จะได้เป็นอุปการคุณต่อประเทศชาติ
ไมเคิล ไรท
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๘-๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น