อยู่นี่แล้ว


วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผู้ชายสีม่วง

ผู้ชายสีม่วง
 



'เกย์' 'กะเทย' และอีกสารพันถ้อยคำ ถูกสรรหามาเรียกขาน เหล่าผู้ชายสีม่วง ไม่ว่าคำใด ล้วนแฝงไว้ด้วยสำเนียงเย้ยหยัน อยู่หลายส่วน ความไม่เข้าใจ ในความแตกต่าง สร้างความแปลกแยกให้เกิดขึ้น ทั้งที่ไม่ว่าแวดวงใด ในเมือง หรือบนยอดดอย ล้วนมีชาวดอกไม้เหล่านี้แทรกตัวอยู่ ชาธิป สุวรรณทอง รวบรวมบางผลงานวิจัยและมุมมอง เพื่อทำความเข้าใจผู้ชายสีม่วงในหลายสังคม

อคติ ทางเพศที่ผู้คนร่วมสังคมมีต่อชนชั้นเพศที่ 3 เพียงเพราะความแตกต่างทางพฤติกรรมการแสดงออก เป็นประเด็นบางส่วนที่ได้รับการหยิบยกมานำเสนอในการเสนอบทความทางวิชาการใน การประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 4 'วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง' จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งผลการศึกษาเหล่านี้อาจทำให้ได้รับรู้บางแง่มุมในชีวิตของผู้ชายชาว ดอกไม้ในหลายบริบท

ชาวดอกไม้ในสังคมมุสลิม

บทความเรื่อง 'กะเทยมุสลิม : ความรุนแรงในเพศที่สาม' นำเสนอโดย สมฤดี สงวนแก้ว ระบุว่า สังคมคนไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี มีคำที่ใช้เรียกผู้ชายที่แสดงพฤติกรรมแบบผู้หญิงว่า 'ปอแน' เป็นคำภาษามลายูที่หมายถึงคนที่แสดงพฤติกรรมทางเพศเบี่ยงเบนไปจากกรอบของ ศาสนาอิสลาม ซึ่งกำหนดว่า ไม่ว่าชายหรือหญิงที่มีพฤติกรรมผิดเพศเป็นสิ่งที่ผิดไปจากบทบัญญัติทางศาสนา และถือว่าเป็นบาป ควบคู่กับคำไทยว่า 'กะเทย' ที่มีใช้เช่นกัน แต่ไม่ว่าจะถูกเรียกว่า 'ปอแน' หรือ 'กะเทย' ก็ล้วนแฝงไว้ด้วยความหมายในแง่ลบ สร้างความรู้สึก 'เป็นคนอื่น' และนำไปสู่ความรุนแรงต่อคนกลุ่มนี้ในที่สุด

เมื่อตัวตนที่เป็นอยู่ ถูกตีค่าว่าเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบน การตอบรับจากคนรอบข้างจึงอาจออกมาได้ทั้งในรูปของการด่าทอ เสียดสี ทำร้ายร่างกาย จนถึงระดับสุดท้ายที่การฆาตกรรม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสถานที่ หากพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่แสดงต่อคนในครอบครัวของตัวเอง คนกลุ่มนี้อาจจะได้รับคำพูดล้อเลียนหรือด่าทอ แต่หากนำพฤติกรรมแบบนี้ไปแสดงออกในที่สาธารณะ หรือสถานที่ทางศาสนา เสียงสะท้อนกลับมาอาจรุนแรงกว่านั้น อาจเป็นได้ตั้งแต่คำพูดที่แสดงออกมาด้วยความไม่พอใจ การเยาะเย้ยถากถาง การปฏิเสธไม่คบค้าสมาคม

และอาจก้าวไกลไปถึงการทำร้ายร่างกายในรูป แบบต่างๆ เช่น การขว้างปาด้วยก้อนหิน การรุมทำร้ายร่างกาย จนถึงการพยายามฆ่า จากการเก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่าง 4 ใน 8 คนกล่าวว่าเคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย และ 3 คนระบุว่าเกือบจะถูกฆ่าด้วยมือของชายคู่นอน

ทางรอดของกลุ่มชายรัก ร่วมเพศในสังคมมุสลิมจึงอยู่ที่การพยายามลดและกดกลั้นความเป็นหญิงเอาไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กรอบประเพณีทำงานอย่างเข้มงวด เช่น ในครอบครัว หรือในสถานที่ทางศาสนา รอเวลา และโอกาสที่เหมาะสมและปลอดภัย จึงจะแสดงความเป็นหญิงในตัวออกมา

การระวังตัวจากการถูกทำร้าย จะเป็นเรื่องสำคัญที่ปอแนรุ่นพี่ถ่ายทอดให้สมาชิกใหม่ แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดจากคนในครอบครัว ชุมชน หรือแม้แต่กลุ่มคนที่นิยมมีเพศสัมพันธ์กับปอแนเหล่านี้ก็ตาม เพราะพฤติกรรมของพวกเขาถูกมองว่าเป็นการละเมิดหลักศาสนา สังคมจึงไม่รับรองสิทธิใดๆ ที่ทำได้ คือ การพยายามหาวิธีปกป้องตนเองทุกคราวที่ปรากฏตัวในสังคม

บู๊ลี : ผู้ชายใจสาวแห่งขุนเขา

ความ เป็นไปของเหล่าผู้ชายหัวใจสาวชาวอาข่าในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย เป็นประเด็นที่ ปนัดดา บุณยสาระนัย เลือกศึกษาและนำเสนอผ่านบทความเรื่อง 'เพศที่สามในสังคมอาข่า' กล่าวถึงกระบวนการกลายเป็นเพศที่สามของชายชาวอาข่า และการแสวงหาที่ยืนในสังคมท่ามกลางการปะทะกันของความต้องการรักษาวัฒนธรรม ดั้งเดิม และการไหล่บ่าเข้ามาของวัฒนธรรมภายนอก

โดยพื้นฐาน สังคมอาข่าเป็นสังคมที่สืบตระกูลตามบรรพบุรุษฝ่ายชาย นับถือผู้ชายว่าเป็นใหญ่ในบ้าน เป็นตัวแทนของครอบครัว เป็นสังคมวัฒนธรรมที่มีการแบ่งแยกบทบาทระหว่างชายและหญิงอย่างชัดเจน

ใน อดีตแม้จะมีบ้างบางชายที่มีลักษณะเรียบร้อยอ่อนโยนแบบหญิง แต่ก็ไม่นับว่าเป็นเรื่องแปลก แม้จะมีชายอาข่าบางคนที่มีนิสัยคล้ายหญิง ทำงานบ้าน ไม่ถือปืนหรือหน้าไม้ไปล่าสัตว์ ชอบช่วยภรรยาทำงานบ้าน มากกว่าจะออกไปสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนผู้ชาย อาข่าจึงไม่มีคำว่า 'กะเทย'

แต่ ด้วยความเป็นไปในปัจจุบัน คนอาข่ารุ่นหลังลงดอยไปใช้ชีวิตในเมืองกันมากขึ้น ทั้งไปเรียนหนังสือและทำงาน ทำให้ได้พบปะกับคนกลุ่มเดียวกันมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการเสริมสร้างความเป็นผู้หญิงในตัวมากขึ้น บางเวลาก็แต่งกายเป็นผู้หญิง รวมถึงเปลี่ยนความคิดจากการแต่งงานมีภรรยาสู่การหา 'แฟน' ที่เป็นผู้ชาย

คำ ว่า 'บู๊ลี' จึงเป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นและถูกนำมาใช้เรียกผู้ชายหัวใจอ่อนหวานแห่งอาข่า ปนัดดา พบว่า ทั้งบู๊ลีที่อาศัยในหมู่บ้าน และที่โยกย้ายไปทำงานต่างถิ่นต่างก็ใช้พื้นที่ในเทศกาลปีใหม่ของหมู่บ้าน เป็นที่เปิดเผยตัวตน โดยการจัดการแสดงต่างๆ ที่เปิดเผยความเป็นหญิงในตัวตนออกมา เช่น การเต้นประกอบเพลง การประกวดบู๊ลี ซึ่งนอกจากบู๊ลีในหมู่บ้านที่ลงไปศึกษายังมีบู๊ลีจากหมู่บ้านใกล้เคียงเดิน ทางมาร่วมงานด้วย

บทความของปนัดดากล่าวถึง นิดา (นามสมมติ) เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกสังคมมอบตำแหน่งบู๊ลี ก่อนหน้านี้ เขาเคยใช้ชีวิตเยี่ยงชายชาตรีชาวอาข่าทั่วไป เคยใช้ชีวิตเรียนและทำงานในเมืองหลายปี เคยผ่านชีวิตแต่งงานกับสาวอาข่าต่างหมู่บ้าน แต่แยกทางกันในเวลาต่อมา

หลัง จากเลิกรากับแฟนสาวชีวิตก็เริ่มเปลี่ยน ด้วยนิสัยที่เรียบร้อยราวหญิงสาว และฝีมือทำงานประดิษฐ์ต่างๆ ที่เหนือกว่าผู้หญิงหลายคน จนเป็นที่สนใจของผู้ชายแท้ๆ บางคน มีทั้งแบบแอบสืบหาเบอร์โทรศัพท์แล้วโทรมาคุย กับอีกบางคนที่เลือกการเดินเข้ามาหาตรงๆ

นิดา บอกว่า ผู้ชายในหมู่บ้านมีหลายแบบ มีทั้งพวกที่ถือตัวเป็นใหญ่แล้วเอาเปรียบผู้หญิง และมองว่า งานบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิง ผู้ชายไม่ต้องแตะ อีกแบบคือผู้ชายที่มีนิสัยเรียบร้อยมาแต่เด็ก ซึ่งนิดาจัดตัวเองอยู่ในกลุ่มนี้

"คิดว่าตัวเองไม่ใช่กะเทย คนมองว่าเป็นกะเทย แต่สำหรับตัวเองยังคิดว่าเป็นผู้ชายทั้งแท่ง เป็นผู้ชายเรียบร้อยมากกว่า คิดว่าเป็นแบบนี้ก็ดีนะ เพราะผู้ชายกลุ่มนี้จะเป็นคนที่รับผิดชอบงานบ้านมาก ชอบทำงานของผู้หญิงแต่ก็ไม่ใช่กะเทย แต่งงานมีครอบครัวมีลูกมีเมียกันหมด ผู้หญิงคนไหนได้เป็นแฟนถือว่าโชคดี ไม่ต้องทำงานบ้านผู้ชายทำให้หมด"

ขณะ ที่มีผู้ชายอีกกลุ่มที่เปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการกลายเป็นกะเทยเต็มตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไปใช้ชีวิตในเมือง รัชนี (นามสมมติ) อาจนับเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เธอเป็นสาวประเภทสองชาวอาข่าที่จากบ้านไป และใช้พื้นที่ในเทศกาลปีใหม่ประกาศจุดยืนโดยขึ้นเวทีในชุดหญิงอาข่าเต็มตัว รัชนีจดทะเบียนแต่งงานกับสามีชาวยุโรป และได้เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่กับสามีในต่างประเทศมาหลายปีก่อนกลับมาเยี่ยม บ้าน

"รู้สึกว่าตัวเองก็เหมือนผู้หญิงคนหนึ่ง เพียงแต่เราไม่ได้แปลงเพศ ซึ่งก็ไม่สำคัญเพราะในต่างประเทศเขาให้อิสระเรื่องนี้ ความสัมพันธ์แบบชายกับชายก็เป็นเรื่องเปิดเผยรับรู้กันทั่วไป" ปัจจุบัน รัชนีใช้ชีวิตอยู่กับสามีที่เป็นตำรวจในยุโรป เธอทำงานเป็นกุ๊กร้านอาหารไทยแห่งหนึ่ง และรู้สึกมีความสุขดีกับชีวิต

ปนัดดา ปิดท้ายบทความว่า การตอบสนองต่อบู๊ลีมีทั้งการยอมรับและการมองอย่างแปลกแยก บางคนมองว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรม ขณะที่บางคนก็มองว่าน่าเห็นใจ เพราะนอกจากจะไม่มีพิษมีภัยกับใครแล้ว คนกลุ่มนี้มักจะมีความขยันขันแข็งและชอบช่วยเหลือคนอื่น

ชายชาวดอกไม้ในโลกวรรณกรรม

เปรม สวนสมุทร นำเสนอบทความ 'การศึกษาภาพลักษณ์ของตัวละครที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศและตัวละครแวด ล้อมในนวนิยายของชายชาวดอกไม้ในปัจจุบัน' โดยจับประเด็นที่ว่า แม้ในทางประวัติศาสตร์ วรรณคดี หรือจิตรกรรมฝาผนังจะปรากฏการดำรงอยู่ของเพศที่สามในสังคมโลกและสังคมไทยมา เนิ่นนาน แต่จนปัจจุบันคนกลุ่มนี้ก็ยังเป็นคนกลุ่มน้อยที่ยากจะหาที่ยืน

แม้ ว่าในแวดวงวรรณกรรมร่วมสมัยของไทยจะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องราวของคนรัก ร่วมเพศมานำเสนอทั้งในรูปแบบของเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกวีนิพนธ์ แต่ส่วนใหญ่มักจะมุ่งที่การใช้พฤติการณ์ของคนกลุ่มนี้มาเพิ่มสีสันให้กับ เรื่องราวส่วนใหญ่มากกว่าจะแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิต ค่านิยม ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติของพวกเขา

ช่วงปี พ.ศ.2527 เริ่มมีนิตยสารเกย์ออกมา ซึ่งจุดประสงค์สำคัญ คือ การทำให้คนที่เป็นเกย์ยอมรับการเป็นเกย์และใช้ชีวิตการเป็นบุคคลรักร่วม เพศอย่างถูกต้องและถูกวิธี รวมถึงเปลี่ยนมุมมองของความสัมพันธ์แบบเกย์รักเกย์ว่าไม่ใช่เรื่องผิดแปลก แต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม เปรม มองว่า สื่อที่นำเรื่องราวของกลุ่มรักร่วมเพศมาตีแผ่อย่างชัดเจนที่สุด คือ นวนิยาย ที่ได้นำเรื่องราวชีวิตของเพศที่สามออกสู่การรับรู้สาธารณะพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของนวนิยายในไทย เช่น 'ประตูที่ปิดตาย' ของกฤษณา อโศกสิน 'ทางสายที่สาม' ของ กีรติ ชนา หรือ 'ลูกรัก' ของสุวรรณี สุคนธา ซึ่งเรื่องที่ปรากฏในนวนิยายยุคแรกมักมุ่งแสดงความเห็นอกเห็นใจคนกลุ่มนี้ รวมถึงแสดงถึงความรู้สึกเก็บกดในใจและการถูกกระทำจากสังคม

จน กระทั่งนวนิยาย 'ซากดอกไม้' ของ วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ ตีพิมพ์ออกมาในปีพ.ศ.2540 ถือว่าเป็นยุคใหม่ของนวนิยายเพศที่สามในสังคมไทย ชายรักชายในวรรณกรรมยุคใหม่นี้พลิกบทบาทจากที่ตกอยู่ในฐานะผู้ถูกสังคมกระทำ มาเป็นฝ่ายกระทำต่อสังคมบ้าง

จากการศึกษาวรรณกรรมเกย์ยุคใหม่ 5 เรื่อง ได้แก่ 'ซากดอกไม้' และ 'ด้ายสีม่วง' ของวีรวัฒน์ 'เส้นทางที่ว่างเปล่า' ของภาตา 'นกแปลกฟ้า' ของมธุริน อาร์ม สมิทธิ์ และ 'เสียงเพรียกจากซีกชีวิต' ของวิสรรชนีย์ นาคร ทำให้ได้เห็นเกย์ตัวร้ายว่ามีอยู่มากมาย ขณะที่เกย์ดีๆ ก็มีอยู่มาก เพราะปัจจุบันคนเพศที่สามมีอยู่ในทุกกลุ่มชน ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ ซึ่งนวนิยายเหล่านี้ ทำให้คนภายนอกเรียนรู้และเข้าใจผู้ชายชาวดอกไม้มากยิ่งขึ้น

ขณะที่ พิเชฐ แสงทอง เคยนำเสนอประเด็นนี้ในบทความเรื่อง 'ร่างกาย ร่างเกย์' คอลัมน์อ่านออกเสียง นิตยสารเนชั่น สุดสัปดาห์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 572 วันที่ 19-25 พ.ค.2546 ตอนหนึ่งว่า การที่วรรณกรรมเกย์ไม่นิยมสร้างตัวละครขี้เหร่ เป็นสิ่งตอกย้ำว่าร่างกายแบบเกย์เป็นสิ่งที่วาทกรรมเกย์ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบ สนองการบริโภคเซ็กซ์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงพบว่าในวรรณกรรมเกย์ วงจรชีวิตของเกย์จะสัมพันธ์อยู่กับกลุ่มเกย์ด้วยกันมากกว่าความสัมพันธ์กับ สังคมภายนอก ศักยภาพของเกย์ที่วรรณกรรมเหล่านี้แสดงออกคือศักยภาพทางเพศมากกว่าศักยภาพ เชิงสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

ในอีกทางหนึ่งร่างกายที่เกย์สร้าง สรรค์ขึ้น เพื่อการบริโภคเซ็กซ์ก็ส่งผลต่อโครงเรื่องของวรรณกรรมด้วย โดยกลายเป็นโครงเรื่องของการชิงรักหักสวาท การแสวงหาความพึงพอใจในเพศรส ไม่ต่างจากนิยายพาฝันระหว่างหญิงและชายที่มีอยู่ทั่วไป

แม้ว่า เนื้อหาของวรรณกรรมเกย์ในทศวรรษที่ 2540 จะเปลี่ยนแปลงไปในเชิงพัฒนาการเมื่อเปรียบเทียบกับวรรณกรรมเกย์เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน แต่การที่นักเขียนสร้างแบบของร่างกายเกย์ให้เป็นเพียงร่างกายที่ตอบสนองความ รักและกามารมณ์ก็ทำให้โลกของเกย์เป็นโลกที่ยังน่ารังเกียจอยู่ต่อไป 'ตัวตน' เกย์ซึ่งเปิดเผยผ่าน 'ร่างกาย' จึงเป็นตัวตนที่ไม่มีทางสร้าง 'มูลค่า' หรือ 'ความพึงพอใจ' ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมได้

เกย์ในวรรณกรรมจึงจะเป็นเกย์ที่สังคมรังเกียจต่อไปอีกนาน

ความรู้บนความไม่เข้าใจ

ผู้ จัดการโครงการชายรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย สำนักงานภูมิภาคล้านนา พงศ์ธร จันทร์เลื่อน มองในฐานะคนวงในว่า แม้จะนับได้ว่าเป็นเรื่องดีที่ประเด็นเกี่ยวกับชายรักชายได้รับความสนใจจาก สังคมวิชาการ แต่หากมองภาพรวมแล้วยังเป็นการนำเสนอที่มีแต่เพียงรูปแบบขณะที่เนื้อหายัง จำกัด

"รู้สึกว่าเนื้อหาที่ได้ยังจำกัด ประเด็นของการเชื่อมโยงระหว่างผู้นำเสนอกับผู้ฟังยังเข้าไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่จะมีแต่คนที่เรียนทางด้านมานุษยวิทยาเข้ามาฟัง แต่ถ้าเวทีตรงนี้เปิดให้ผู้ถูกวิจัยเข้ามาร่วมด้วย ยกเคสจริงๆ ไม่ใช่ผู้วิจัยมานำเสนออย่างเดียว อาจจะมีเวทีแยกออกมาเพื่อเปิดโอกาสคุยประเด็นที่ยังไม่พูดถึง"

จาก มุมของคนรักเพศเดียวกัน มองว่า แม้การศึกษาวิจัยที่เกิดขึ้นจะพยายามทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ แต่ขณะเดียวกัน ภาษาในการเขียนบทความทางวิชาการอาจเป็นการตีตราคนกลุ่มนี้โดยไม่ตั้งใจ ซึ่งในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้มีภาษาเฉพาะตนเอง ผู้วิจัยต้องศึกษาพื้นฐานของคนกลุ่มนี้ก่อนจะเข้าไปศึกษา

"อย่างการ ใช้คำว่ารักร่วมเพศ ซึ่งคำนี้มีมุมมองลบหลายประเด็น อาจจะเปลี่ยนเป็น รักเพศเดียวกัน หรือชอบเพศเดียวกัน จะดูนุ่มนวลกว่า รู้สึกว่าผู้วิจัยบางคนยังไม่เข้าถึงกลุ่มผู้ถูกวิจัยมากพอ บางทียังเป็นการได้ข้อมูลทุตยภูมิเอามาเขียนอีกที ทำให้ข้อมูลดูแล้วมันขัดแย้งกันเอง หรือพอไปคุยกับผู้วิจัยถามแล้วตอบว่าไม่ได้ลงลึก นานๆ ไปที หรือได้ข้อมูลจากการฟังมาอีกต่อ"

พงศ์ธร เสนอว่า ประเด็นความรุนแรงต่อกลุ่มชายรักชายยังมีอีกมาก ภายในกลุ่มคนหนึ่งอาจมีการแสดงความรุนแรงที่หลากหลาย

"จริงๆ แล้วมันถูกทำให้แปลกแยกมานาน การวิจัยที่ออกมาทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มน้อยที่มีปัญหาแล้วคนเข้า ไปค้นหามันก็ยังวิจัยอย่างแปลกแยก จริงๆ แล้วกะเทยอาข่า หรือมุสลิมก็เป็นหนึ่งเดียวกับสังคม แต่กลับถูกมองอย่างแปลกแยก ไม่ได้ถูกมองในภาพรวมหลายๆ มิติ เป็นการศึกษาแค่ช่วงเวลาหนึ่ง พอมีประเด็นน่าสนใจก็เข้าไปเล่นเหมือนประเด็นของแรงงาน หรือเรื่องผู้หญิง หรือประเด็นสังคมชาติพันธุ์ที่กลายเป็นเครื่องมือหรือเหตุจูงใจของนักวิจัย โดยไม่มองทั้งหมดทั้งมวลว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร"

เขามองว่า ไม่อยากให้เรื่องของชายรักชายกลายเป็นกระแส แต่อยากให้เป็นการจุดประกายให้เกิดการคิดต่อว่าในบางมุมของสังคมยังมี พื้นที่ยังถูกกีดกันและมีความรุนแรงอยู่มาก

"เราก็มองว่าคนยอมรับมาก ขึ้น เปิดเผยได้มากขึ้น แต่เราลืมว่ายังมีคนอีกส่วนที่ยังไม่มีโอกาสในการแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา งานวิจัยทำให้มองเห็นว่าต่อไปแล้วคนกลุ่มนี้ควรได้รับโอกาสจากคนอื่นอย่างไร ต่อไปด้วย ต้องคิดต่อไปว่าจะช่วยเขาอย่างไรต่อไปด้วย"

คราวต่อไปที่มองชายชาวดอกไม้ หากเป็นการมองด้วยสายตาที่เข้าใจและเป็นมิตรมากขึ้นก็คงทำให้ได้รับความขอบคุณจากเพื่อนร่วมโลกกลุ่มนี้

อ้างอิงจาก http://www.lady2boy.com/b7.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น