อยู่นี่แล้ว


วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มี ไม่มี ว่าง ไม่ว่าง ดนตรี หรือไม่



บางครั้งคนเราก็ปฏิบัติ ธรรมได้ยาก เพราะบางครั้งมันก็เหมือนคำเชื้อเชิญให้เราก้าวออกจากสังคมมนุษย์ปัจจุบัน มากเหลือเกิน และไม่ยากเลยที่คนศึกษาจะมีความคิดต่อต้านสังคม ทวนโลก

บางคน อาจขวางโลกไปได้ก็มี หลักปรัชญาทั้งหลายก็เหมือนดนตรี มีจุดกำเนิด จุดจบ ไม่มีเพลงไหนที่ไม่มีวันจบ ไม่มีการแสดงไหนที่จะไม่กล่าวคำอำลา สัจธรรม นั้นอยู่ได้ในทุกสิ่ง มันก็เหมือนสูตรคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ทั่วไป มีเกิด มีขับเคลื่อน หมุน และดับ แต่พลังงานนั้นมิได้หายไปไหน แต่อาจเปลี่ยนแปลงรูปไปบ้างเท่านั้น

สำหรับ บทเพลง บางเพลงอาจจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการตราตรึงใจแก่ผู้ฟัง หรือพลังในการก้าวเดินก็ได้ บางบทเพลง หรือบางกวีอาจมีพลังในการทำลายมหาศาลด้วยเช่นกัน หากจะถามว่า ดนตรีเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ข้าพเจ้าก็คงคิดรวบยอดว่า มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์เท่าๆ กับทุกชีวิตที่บังเกิดมาบนโลกใบนี้

ดนตรี คือสื่อในการแสดงความรู้สึก สามารถสะกด บำบัด ผ่อนคลาย ปลุกใจ หรือทำลายได้ทั้งสิ้น หากจะเปรียบเทียบเชยๆ ก็คงเปรียบเสมือนว่าดนตรีคือภาษาสากล ภาษาที่ทุกคนอาจไม่เข้าใจ บริสุทธิ์ แต่ก็เหมือนกลูโคสที่ฉีดเข้าสู่หัวใจ แล้วสดชื่นทันที

ข้าพเจ้า เชื่อเสมอว่า ดนตรีคือกระจกที่สะท้อนความเป็นไปของสังคม ในยุคอำนาจสื่อครองเมือง ดนตรีก็เปรียบเสมือนอีกหนึ่ง ในอัตลักษณ์บุคคล อีกหนึ่งของหน้าต่างแสดงความเป็นไปของชีวิต หัวใจ เราจะซาบซึ้งเพลงเศร้าเมื่อยามอกหัก เราจะสนุกเมื่อเพลงมีจังหวะเร่งเร้า เฉกเช่นนักประพันธ์ที่แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ทั่วไปเพื่อเร้าอารมณ์ให้ไปใน ทิศทางที่ถูกต้อง

สถาบัน คานอำนาจต่างนำพลังของดนตรีมาผสาน ผสม ให้เกิดอิทธิ-ปาฏิหาริย์ บางครั้งเพลโตอาจจะพูดถูกว่าสิ่งที่สมควรได้รับความควบคุมในรัฐมิใช่เพียง แต่ผู้คนอย่างเดียว แต่ปรากฏดนตรีด้วย ข้าพเจ้าสังเกตแนวโน้มสังคม วัฒนธรรม ที่กำลังเคลื่อนย้ายถ่ายเทอย่างเสมอ โดยเฉพาะวัยรุ่น พวกนี้ดูเหมือนว่าจะยึดดนตรีเป็นสรณะ บางครั้งมันก็เข้ามาควบคุมพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว

สิ่ง หนึ่งของสังคมไทยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยหมอฝรั่งเข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาคือ ดนตรีขับเคลื่อนไปตามอำนาจหลักของสังคม ถึงแม้ว่าสังคมสยามจะมีอิสระเสรีภาพ ณ จุดหนึ่ง แต่ก็ยังมีอีกหลายจุดที่บ่งบอกถึงว่าสังคมที่ยังไม่อาจพังทลายกรอบแนวคิดไป ได้อีกมาก เราไม่มีคำถามเกี่ยวกับศาสนา เรายังไม่กล้าถกเถียง หรือพิสูจน์ความจริงบางอย่าง และอีกหลายอย่างซึ่งเป็นสิ่งน้อยนิดคุณค่ามหาศาล เรากลับลืมไปเสียโดยดื้อ

การ ศึกษาช่วยจรรโลงสมองให้คนฉลาดจริงหรือ ความรู้มีประโยชน์ สามารถแลกเปลี่ยน ถ่ายเท เสมือนทำนองเพลงที่สามารถคัดลอก ตัดวางได้ทั่วทุกหนแห่ง แต่เราทำสิ่งนั้นโดยปราศจากแนวคิดและอารมณ์สุนทรีย์หรือไม่ เมื่อมีคำว่าถูก ย่อมมีคำว่าผิด เรากลัวเขียนโน้ตผิดทฤษฏีเสมอ สิ่งนั้นมันคือกรอบปิดกั้นให้เราห่างออกจากคำว่าสิ่งใหม่ ความคิดสร้างสรรค์เสมอ 

สังคม เปลี่ยน คนเปลี่ยน ดนตรีเปลี่ยน อะไร อะไรก็เปลี่ยน ทุกอย่างวนอยู่ในภาวะการเกิดดับ หามีถูกผิดไม่ ความงามของชีวิตอยู่ที่กำเนิด ดำเนิน จุดหมาย เสมือนการปั่นจักรยาน สุนทรียะอยู่ที่การขับเคลื่อน เคลื่อนที่ เคลื่อนไหว วิวต่างๆ สถานที่ต่างๆ อากาศต่างๆ ทุกอย่างใหม่เสมอ และยังคงสร้างความตื่นเต้นไม่คลาย 

อนาคต ข้างหน้า ไม่ว่าจะแตก ดับ อยู่ หรือไป มนุษย์ที่มีหูสองข้าง ยังจำเป็นต้องรับฟังทำนองเสียงอันจรรโลงจิต เสมือนอิสระเสรีของวิญญาณ ใครหนอที่พูดว่าดนตรีคือเครื่องมือของพวกเต้นกินรำกิน ใครหนอคิดว่าดนตรีคือสิ่งเปล่าประโยชน์ แล้วคุณฟังดนตรีหรือไม่? พลังของดนตรีนั้นมีมากมายมหาศาล บางครั้งก็เหมือนระเบิดที่ไร้สี รูปพรรณ แต่อำนาจนั้นล้ำลึกเหลือคณานับ 


และก็ ดูเหมือนจะยิ่งทวีคูณเมื่อไปสัมผัสกับระบบภาษาของมนุษย์ ดนตรีคือทำนองที่ขับเคลื่อนไปด้วยเส้นกั้นของเวลา เสมือนสายพานลำเรียงความรู้สึกสู่จิตใจ ข้าพเจ้าเชื่อสนิทใจว่า คำถามเกิดขึ้นที่ตัวคำตอบ และคำตอบสามารถหาได้จากคำถามเสมอ ดนตรีคือดนตรี และ ไม่มีอะไรนอกจากเสียง ดับไป แต่กลับทิ้งกลิ่นอันอบอวลไว้ในใจเสมอ บางครั้งเราก็ทำอะไรไปโดยไม่รู้ตัวใช่ไหม? หรือความจริงแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเลย?



Amelie

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น