เนื่องด้วยคำว่า "ทาง" นั้น บางท่านยังสับสนถึงความหมาย ความหลากหลาย และความน่าจะเป็นอยู่มาก และเนื่องจากหนัสือที่ว่าด้วยเรื่องนี้ ค่อนข้างที่จะหายาก หรือยังขาดแคลนในระบบวาระข้อมูลเครือข่ายใยพิภพ ผู้เขียนจึงได้หยิบยกองค์ความรู้ ว่าด้วยเรื่องของ "ทาง" ด้านดนตรีไทยมาพอสังเขป โดยทั้งหมดได้คัดออกมาจากหนังสือ "การดนตรีไทย และการเข้าสู่ดนตรีไทย " ของอาจารย์ สงัด ภูเขาทอง (ล่วงลับ) ซึ่งค่อนข้างจะเข้าใจง่าย ดังนี้
ทางของเพลง "ทางฎ ในที่นี้หมายถึงแบบ หรือวิธีที่นักดนตรีไทยได้กำหนดเอาไว้เพื่อใช้ในการปฏิบัติดนตรีไทย อาจเป็นเครื่องดนตรีหรือบทเพลงก็ได "ทาง" ในดนตรีไทยได้จำแนกความหมายไปในแนวต่างๆ ดังนี้
๑. หมายถึงการดำเนินทำนองเฉพาะเครื่องดนตรีแต่ละอย่าง เครื่องดนตรีแต่ละอย่างย่อมมีวิธีปฏิบัติเพื่อดำเนินทำนองเพลงที่ไม่เหมือนกัน เช่น ปี่ใน ดำเนินทำนองที่โหยหวน คลุมทำนองเพลงบ้าง เดินตามทำนองเพลงบ้าง ระนาดเอกมักบรรเลงยืนทำนองหลัก แต่มีลูดเล่นพิศดารออกไป เช่นมีลูกสบัดบ้าง ลูกขยี้บ้าง ลูกกวาดบ้าง หรือฆ้องวงใหญ่ ต้องบรรเลงให้มีเสียงห่างๆ เก็บเอาเฉพาะแต่ทำนองเพลงที่แท้จริง ส่วนระนาดทุ้มก็ดำเนินทางอิสระ จะพลิกแพลงโลดโผนอย่างไรก็ได้
เครื่องดนตรีชนิดอื่น เช่น ซออู้ ซอด้วง แม้ว่าจะประกอบด้วยสาย ๒ สาย และมีเสียงคู่เหมือนกัน คือ คู่ ๕ แต่มีวิธีปฏิบัติไม่เหมือนกัน ดุจเดียวกับเครื่องเป่า เช่น ขลุ่ยเพียงออ กับขลุ่ยหลิบ แม้ว่ารูปร่างตลอดจนระบบเสียงที่มีอยู่ในตัวขลุ่ยจะเหมือนกัน แต่เวลานำมาบรรเลงร่วมกัน วิธีปฏิบัติหาเหมือนกันไม่
๒. หมายถึงทำนองที่เกิดจากความคิดของกวี อันความคิดของกวีย่อมไม่เหมือนกัน เป็นเหตุให้สำนวนเพลงต่างกัน เพลงบางเพลงอาจมาจากรากฐานของเพลงแห่งเดียวกันแต่เมื่อมาปรุงแต่งแล้วรสชาติมักไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนมีสำนวนไม่เหมือนกัน เราอาจเคยได้ยินคำกล่าวของนักดนตรีไทยบางคนกล่าวในเชิงเปรียบเทียบสำนวนของเพลงไทยระหว่างฝั่งพระนครกับธนบุรีเอาไว้ว่า
"ทางฝั่งพระนครมีสำนวนเพลงหวานเรียบร้อย แต่ทางฝั่งธนนั้นมีสำนวนแข็งกร้าวดุดัน" นี่เป็นเพราะรสนิยมทางการประพันธ์เพลงไม่เหมือนกัน
๓. หมายถึง วิธีการนำเอาเพลงมาบรรเลง เช่น ทางเดี่ยวหรือทางหมู่ จะมีทำนองเพลงไม่เหมือนกัน
๔. ทางที่ใช้เป็นเครื่องนัดหมายของเสียงเพื่อการบรรเลงโดยเฉพาะ ซึ่งนักดนตรีจะต้องรับรู้กัน เช่น ทางเพียงออล่าง หรือทางในลด ทางใน ทางกลาง ทางเพียงออบน ทางกรวดหรือทางนอก ทางกลางแหบ และทางชวา
อันทางที่ใช้เป็นเครื่องนัดหมายของเสียงนี้ ส่วนใหญ่มักใช้กับวงปี่พาทย์ เชื่อว่าลงมีอยู่ ๔ ทาง ดังคำวินิจฉัยเรื่อง "ทางของปี่พาทย์" สมเด็จเจ้าฟ้ากราพระยานริศฯ ในหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ความว่า
"ปี่พาทย์ของเราทำกันอยู่ ๔ ทาง จะว่าไปตามลำดับแต่เสียงต่ำไปหาเสียงสูง คือ
- ทางพงออ หรือพองออ พวงออ อะไรแน่ก็ไม่ทราบ ไม่เป็นภาษา ตัดสินไม่ลง ใช้เล่นมโหรีเป็นยืน เพราะว่ามีเสียงเหมาะแก่เสียงผู้หญิง
-ทางใน ใช้เป็นทางปี่พาทย์โดยสามัญ
-ทางกลาง ใช้ทำหนัง เห็นว่าจะเป็นด้วยทำในกลางหาว ใช้เสียงสูงขึ้นได้ยินไปไกล เพื่อประกาศเรียกคนมาดู
-ทางนอก หรือทางเสภาก็เรียก ใช้ในการทำเสภา เพราะว่าเสียงเหมาะกับผู้ชาย
ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นอีก การเปลี่ยนทางก็เหมือนเปลี่ยนทิศ เปรียบว่าเราหันหน้าไปทิศบูรพา บูรพาก็หน้า ทักษิณขวา ปัจฉิมเป็นหลัง อุดรเป็นที่สุด ถ้าหันไปทักษิณ ทักษิณกกลายเป็นหน้า ปัจฉิมเป็นขวา บูรพาเป้นที่สุด เวียนไปโดยนิยมดั่งนี้จนรอบตัว ก็เหมือนหนึ่งปี่พาทย์ตีเปลี่ยนทางจะไม่มีผลอะไรให้เปลี่ยนแปลกไป เป็นแต่เสียงต่ำลงหรือสูงเท่านั้น ในการเปลี่ยนเสียงนั้น แม้จะไม่ยังผลอะไรให้แก่เพลงก้ดี แต่ทำพิษเอาแก่คนเป่าปี่ยิ่งนัก เพราะการเลื่อนเสียงไปนั้น อาจทำให้นิ้วขัด จึงทำให้เกิดปี่ ๓ ชนิด คือ ปี่นอก เป็นขนาดเล็ก ส่วนทางพงออนั้นไม่มีปี่สำหรับกัน เพราะเป็นเรื่องของมโหรี มโหรีก็มีขลุ่ยเป็นสามชนิด คือ ขลุ่ยพงออ ขลุ่ยรองออ ขลุ่ยกรวด จะอธิบายให้กว้างขวางไปอีกไม่ไหว เพราะรู้ไม่พอ...
ทางที่ใช้สำหรับขับร้องและบรรเลง หรือเรียกว่าทาง รับ - ร้อง ในเพลงไทยส่วนมาก ทำนองร้องกับทำนองดนตรีมักจะเลียนเสียงซึ่งกันและกัน แต่ผู้ที่ฟังทำนองดนตรีไม่เข้าใจเพราะเกิดจากทำนองรับได้ปรุงแต่งเนื้อเพลงออกไปโดยพิศดาร แต่ก็ยังคงรักษาทำนองหลักเอาไว้ ผู้ที่จะเข้าใจได้ดีต้องเข้าใจทางร้องเอาไว้ก่อนแล้วจึงนำเอามาเปรียบเทียบกับทำนองรับ
แต่ยังมีเพลงบางประเภทที่มีแต่ทำนองบรรเลงไม่มีทางร้อง เช่น เพลงหน้าพาทย์ต่างๆ เช่น สาธุการ เสมอ เชิด เป็นต้น แต่ก็มิได้เป็นเช่นนี้เสมอไป เพลงหน้าพาทย์อีกหลายเพลง มีทำนองร้องกำกับไว้ด้วย เช่น ตระบองกัน บาทสกุณี เหาะ เป็นต้น อันที่จริงเพลงหน้าพาทย์ต่างๆ ที่ใช่ในการแสดงโขน ละครนั้น อาจมีเนื้อร้องมาก่อนแล้วก็ได้ แตคนภายหลังไปตัดออกไปเสีย หรืออาจไม่เคยมีมาก่อน แต่คนรุ่นหลังได้คิดแต่งบรรจุเข้ามาเพื่อใช้รำได้ก็ได้ ความเห็นเรื่องนี้ไม่ขอยืนยัน ขอให้ช่วยคิดค้นคว้ากันต่อไป
๖. ทางกรอ คำว่า "กรอ" เป็นคำที่ใช้ในทางปี่พาทย์ หมายถึงการตีด้วยเสียงถี่ๆ อยู่เสียงเดียว แต่เมื่อนำมาใช้ในบทเพลง ก็กลายเป็นวิธีดำเนินทำนองของเพลงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้แต่งได้เว้นจังหวะของเพลงไว้ยาว ผู้บรรเลงก็จะต้องลากเสียงให้ยาวตามจังหวะนั้นด้วย จึงจะฟังไพเราะ เพลงประเภทนี้บางครั้งเรีบกว่า "เพลง กรอ" เช่น เพลงแสนคำนึง เขมรพวง เป็นต้น เพลงประเภทนี้หากบรรเลงให้เป็นเสียงถี่ๆ ขาดความไพเราะไปทันที ไม่ควรกระทำ
๗. ทางโอด - พัน เป็นวิธีการบรรเลงแบบหนึ่ง ส่วนมากมักนำไปใช้กับเพลงเดี่ยวที่เกี่ยวกับเครื่องเป่า และเครื่องสาย การเดี่ยวมักจะสร้างทำนองเพลงเป็น ๒ อย่าง คือ ทางโอด บางครั้งเรียกว่าทางหวาน คือบรรเลงเสียงยืดคล้ายเลียนเสียงทำนองร้อง และจะมีทำนองพัน บางครั้งเรียกว่าทำนองเก็บ คล้ายทำนองบรรเลง เรียกว่า ทางโอด และระดับเสียงต่ำ เรียกว่าทางพันก็ได้
อ้างอิงจาก
สงัด ภูเขาทอง, การดนตรีไทย และทางเข้าสู่ดนตรีไทย, Dr. Sax, กรุงเทพฯ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น