ศาลาไทย ในงานเวิลด์ เอ็กซ์โป ณ ประเทศเยอธมัน สมัยรัชกาลที่ ๕
ศาลาไทย ในงานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2010 ที่เซี่ยงไฮ้(จีน) สะท้อนลักษณะสังคม “หลงอดีต ไร้อนาคต” เพราะมัวแต่เหลียวหลัง ไม่แลหน้า
ศาลาไทยมีลักษณะ “หมุนวนกลับหลัง” มากกว่า “การเคลื่อนที่ไปข้างหน้า” ตามที่ผู้ใช้นาม “คนมองหนัง” ตั้งข้อสังเกตไว้ในข้อเขียนเรื่องไปตามหาความศิวิไลซ์และ ‘เพื่อน’ ที่เซี่ยงไฮ้ : ปฏิวัตินคร และ อาณานิคมกลับด้าน (คอลัมน์นอก“กระแส” คนมองหนัง มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 31 ฉบับที่ 1576 วันที่ 29 ต.ค.-4 พ.ย. 2553 หน้า 85) จะคัดบางตอนมาให้อ่านดังต่อไปนี้
นัยยะที่ซ่อนอยู่ในตัวอาคารศาลาไทย ซึ่งหมุนย้อนเลยผ่านการเข้าร่วมงานมหกรรมนานาชาติครั้งแรกๆ ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ไปสู่ความสัมพันธ์จีน-สยามในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะที่การแสดงอันบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์และอารยธรรมเก่าแก่ของไทย ก็ย้อนกลับไปถึงยุคกรุงสุโขทัย ซึ่งถูกระบุ/เชื่อว่าเป็นราชธานีแห่งแรกของประเทศแห่งนี้ แล้วค่อยๆ ไล่เรียงเรื่องราวมาจนถึงปัจจุบันที่ได้รับมรดกจาก “อดีต” และมีความดีงามลงตัวอยู่แล้ว
ส่วนรูปแบบเทคโนโลยีการนำเสนอที่คล้ายจะไฮเทค ก็ถูกนำมาใช้เพื่อรองรับกับการกล่าวถึง “ความแปลกประหลาดน่าตื่นตาตื่นใจ” ต่างๆ ของเมืองไทย มากกว่าจะเป็นการพูดถึงความทันสมัยในตัวของมันเอง ศาลาไทยแทบไม่ได้พูดถึงเรื่อง “อนาคต” อย่างจริงจังเลย นอกจากการตั้งความหวังไว้ว่า แล้วเราคงเจอกันอีกครั้งที่เมืองไทย เมื่อพวกเธอเดินทางไปท่องเที่ยวที่นั่น
แต่ศาลาไทยก็มิได้ดำรงอยู่โดดเดี่ยวจนเกินไปนัก เพราะเรายังมีพาวิเลี่ยนของเพื่อนบ้าน/คู่แค้นคู่อาฆาตอย่างกัมพูชา พาวิเลี่ยนกัมพูชามีลักษณะภายนอกเป็นกล่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยแต่ละด้านของพาวิเลี่ยนจะมีการนำรูปโบราณสถานลือชื่อ 4 แห่งมาจัดแสดง และ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ส่วนการจัดแสดงภายในพาวิเลี่ยน กัมพูชาก็มุ่งขับเน้นเนื้อหาไปที่โบราณสถาน โบราณวัตถุ และโลกของเขมรยุคเมืองพระนคร หนึ่งในวัตถุจัดแสดงที่น่าสนใจก็คือ แผนที่ของอาณาจักรเขมรโบราณ ซึ่งขยายขอบเขตกว้างขวางมาจนถึงดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ราวกับเป็นการเน้นย้ำว่า ในยุคเมืองพระนคร มีเพียงการดำรงอยู่ของอาณาจักรเขมรเท่านั้น โดยปราศจากอาณาจักรไทย สยาม หรือเสียมใดๆ ทั้งสิ้น
และอาณาจักรเขมรยุคเมืองพระนครอันยิ่งใหญ่นี่เองที่มีความสืบเนื่องตกทอดมายังกัมพูชาในยุคปัจจุบัน ขณะที่ “อนาคต” กลับเป็นสิ่งซึ่งถูกทอดทิ้งไป พาวิเลี่ยนเขมรจึงมีลักษณะ “ย้อน/ถวิลหาอดีต” ไม่ต่างจากศาลาไทย แถมยังอาจมีอารมณ์ชาตินิยมเข้มข้นกว่าเสียด้วยซ้ำ
สุดท้าย ศาลา/พาวิเลี่ยนของสองประเทศเพื่อนบ้านจากอุษาคเนย์ ก็หมกมุ่นให้ความสำคัญอยู่กับ “อดีต” ที่ (เชื่อว่าตนเอง) ยิ่งใหญ่ โดยไม่ใส่ใจถึง “อนาคต” (อันน่าหวาดหวั่นไม่มั่นคง?) สักเท่าใดนัก ทั้งไทยและกัมพูชาในโลกจำลองของงานเอ็กซ์โป 2010 จึงมีสถานะเป็นดัง “นครที่ไร้อนาคต”
ระบบการศึกษาของไทย คงมีอะไรชำรุดหรือขาดตกบกพร่องมานานมาก จึงส่งผลให้ปัจจุบันทุกวันนี้ไทยกลายเป็นสังคม “หลงอดีต ไร้อนาคต” เพราะมัวแต่เหลียวหลัง ไม่แลหน้า
นักศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีมานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ศิลป์ ต้องพินิจพิจารณาจงหนัก เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงจะให้สังคมเป็นอย่างไร? “หลงอดีต ไร้อนาคต” หรือ“รู้จักอดีต รับใช้ปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น