อยู่นี่แล้ว


วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เพลง ตับพระนาละ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 ก่อนเสวยราชย์ มีอายุกว่า 100 ปีที่เกือบจะสูญ

เพลง ตับพระนาละ

พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 ก่อนเสวยราชย์  มีอายุกว่า 100 ปีที่เกือบจะสูญ

(พระบรมฉายาลักษณ์นี้ ต้นฉบับมาจากหอสมุดแห่งชาติ ผู้ระบายสีคือ นิธิศ  แปงน้อย -
 หากคัดลอกไปรบกวนให้เกียรติผู้ทำด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง)

1. บทนำ         
                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นปราชญ์ และองค์มหากวีของชาติไทยที่ได้รับพระสมัญญานามด้วยความเทิดทูลว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า หลังจากพระองค์สวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2468 แล้ว บรรดาข้าราชบริพารที่มีความจงรักภักดี และเคยถวายงานใกล้ชิดเมื่อครั้งที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ได้รวมตัวช่วยกันสำรวจงานพระราชนิพนธ์ ที่ทรงไว้ตั้งแต่ก่อนเสวย-ราชย์ จนถึงสวรรคต โดยได้นำมาพิมพ์เผยแพร่เป็นประจำ เช่น ในโอกาสวันวชิราวุธานุสรณ์ คือ วันสวรรคต 26 พฤศจิกายน ของทุกปีและพิมพ์ในหนังสืออื่นอีกมากมาย

จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการค้นพบงานที่ยังกระจัดกระจาย งานบางชิ้นเป็นเพียงลายพระหัตถ์ที่ทรงร่างไว้ บางชิ้นก็จบเป็นตอนสั้นๆในตัว แต่ไม่ได้มีการพิมพ์เผยแพร่มาก่อน ที่สำคัญงานพระราชนิพนธ์ ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นบทเพลง  มีผู้พิมพ์รวบรวมไว้เป็นจำนวนมาก พร้อมกันนั้นยังมีแผ่นเสียง ซึ่งขับร้องบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ไว้อีกจำนวนไม่น้อย  ซึ่งยังไม่ได้รวบรวมไว้เป็นกลุ่มข้อมูลเสียง   เนื่องจากเป็นงานประวัติศาสตร์การดนตรี ทั้งยังขาดผู้สนใจในเรื่องการสะสมแผ่นเสียงเพลงเก่า รวมทั้งขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเพลงเก่าด้วย ที่สำคัญเห็นชื่อศิลปินปรากฏบนแผ่นแล้ว อาจไม่ทราบหรือไม่รู้จักว่าเป็นใคร เนื่องจากเวลาผ่านมานาน ด้วยขาดความรู้เรื่องประวัติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเพลงดนตรีที่บันทึกไว้ในแผ่นเหล่านั้น  เช่นความรู้เกี่ยวกับประเภทของวงดนตรีที่บรรเลง  จึงมิใคร่จะมีผู้นำเรื่องราวของเสียงเพลงเหล่านี้ออกมาเผยแพร่เป็นงานทางวิชาการบ่อยนัก  เมื่อมีโอกาสได้พบเพลงพระราชนิพนธ์จากแผ่นเสียง กว่าจะร้อยเรียงศึกษาถึงที่มาที่ไปจนนำมาเขียนได้ จำต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจหลายประการ ทั้งในด้านวรรณศิลป์ คีตศิลป์ ประวัติศาสตร์การดนตรี และเรื่องของศิลปินที่สร้างงานพระราชนิพนธ์ออกมาเป็นเสียงเหล่านั้นด้วย ทั้งนี้เป็นการยากที่จะรวมเรื่องราวให้สมบูรณ์ได้  

เรื่องตับพระนาละนี้ พูนพิศ อมาตยกุล (2540) เคยเขียนเป็นบทความเผยแพร่ครั้งแรก ในวารสาร HIFI-STERO (1) เรื่องแผ่นเสียงของวังบางขุนพรหม  ในการประชุมวิชาการดนตรีวิทยา ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสเหมาะที่จะแสดงให้ท่านผู้เข้าร่วมประชุมเห็นคุณค่าของวิชา “ดนตรีวิทยา” ซึ่งเป็นหลักวิชาการของเพลงดนตรีโดยที่เพลงตับพระนาละนี้ เป็นงานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 100 ปีแล้ว ปัจจุบันแทบจะไม่มีผู้รู้จักคุ้นเคย แม้ครูดนตรีไทยผู้สอนขับร้อง บางท่านก็ไม่เคยได้ยิน เมื่อแผ่นเสียงเพลงตับพระนาละนี้ ค้นพบโดยอาจารย์ธีระ จุฑานนท์ หลังจากได้ศึกษาค้นคว้าในรายละเอียดแล้ว จึงได้นำผลการศึกษาย้อนอดีต มาเสนอในการประชุม  นอกจากจะเล่าถึงที่มาของพระราชนิพนธ์แล้ว ท่านผู้สนใจจะได้รับทราบเรื่องราวของเพลงตับนี้ลึกไปกว่าเรื่องของเพลงไทยธรรมดา เพราะจะได้พบผู้เป็นทายาทของนักร้องคนแรกที่บันทึกเสียง  และคณะผู้ค้นคว้า ตัวจริง มาเล่าเหตุการณ์ในอดีต  ตามที่ค้นพบนั้น

2. เพลงตับ เรื่องพระนาละ
ประมาณปี พ.ศ. 2535-2536 อาจารย์ธีระ จุฑานนท์(ถึงแก่กรรมแล้ว) อดีตหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ค้นพบแผ่นเสียงเก่าชนิดแผ่นครั่งหนา ความเร็ว 78 รอบต่อนาที ตราพาโลโฟน(Parlophone) เขียนหน้าแผ่นว่า “นครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี”  หน้าแผ่นเป็นสีน้ำเงินเข้ม หมายเลข 18902 I-X (รูปภาพที่ 1) หนึ่งชุดมีทั้งหมด 5 แผ่นบอกชื่อว่า เพลงตับพระนาละ ขับร้องโดย คุณหญิงราชมนู  บรรเลงโดยวงปี่พาทย์ไม้แข็งวังบางขุนพรหม  เมื่อดูหมายเลขแผ่นและสีแผ่นกระดาษวงกลม ก็ทราบว่าอัดเสียงหลังปี พ.ศ. 2471 เพราะว่าในปี พ.ศ. 2471 วงดนตรีวังบางขุนพรหมได้บันทึกแผ่นเสียงไว้กับห้างสุธาดิลก เป็นแผ่นเสียงตราพาโลโฟน มีเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เพลงตับมโหรีของเก่า หลายตับ เช่น เพลงตับนางลอย ตับนาคบาสก์ และตับพรหมมาศตร์ ตับแม่งู เพลงสมโภชน์พระเศวตคชเดชดิลกช้างเผือกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ฯลฯ ) แผ่นที่บันทึกในปี 2471 จะใช้กระดาษวงกลมสีน้ำตาลอมแดงเท่านั้น สำหรับแผ่นที่หน้าตราสีน้ำงินจะบันทึกในปลายปี 2472


อาจารย์ธีระ  จุฑานนท์  เจ้าของแผ่นเสียง ได้คัดลอกลงเทปตลับ แล้ว น.พ.พูนพิศ อมาตยกุลได้นำไปให้คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ฟัง เพราะคุณหญิงท่านเป็นนักร้องของวังบางขุนพรหมมาแต่ยังสาว ขณะนั้นท่านนอนรักษาตัวเพราะเป็นโรคหืด อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ท่านก็อธิบายว่า “คุณหญิงราชมนู ผู้ขับร้องเพลงตับนี้ นามจริงคือ ม.ล.เล็ก อัศวเสนา”  ม.ล.เล็ก เป็นบุตรีของเจ้าพระยาเทเวศวร์วงศ์วิวัฒน์(ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เกิดแต่หม่อมเจริญ กุญชร เมื่อ พ.ศ.2448 ท่านมีอายุมากกว่าคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ 7 ปี  และถึงแก่กรรมด้วยโรคไตที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อปี พ.ศ. 2508 (สิริอายุได้ 60 ปี)  ท่านบันทึกแผ่นเสียงเพลงนี้เมื่อตอนอายุราว 24 ปี ม.ล.เล็ก มีน้องสาวร่วมมารดาคนหนึ่งชื่อ ม.ล.แฉล้ม กุญชร ซึ่งก็อยู่ที่วังบ้านหม้อมาตลอดจนบั้นปลายชีวิต ม.ล.เล็ก หัดร้องเพลงไทยกับหม่อมเจริญซึ่งเป็นคุณแม่  ท่านร้องเพลงดีมากเสียงไพเราะ ร้องชัดถ้อยชัดคำดี จนได้ช่วยงานร้องเพลงกับวงดนตรีของวังบางขุนพรหม โดยมีนักร้องคนสำคัญได้แก่นางเจริญ พาทยโกศล, ม.ล.เล็ก กุญชร, นางเทียม กรานเลิศ, นางสว่าง คงลายทอง, นางสาวทูน พาทยโกศล (ต่อมาคือคุณหญิงไพฑูรย์  กิตติวรรณ) , น.ส.เฉิด อักษรทับ  และนางสาวสอาด อ๊อกกังวาล  เป็นต้น

ต่อมา ม.ล.เล็ก กุญชร ได้ออกเรือนโดยสมรสกับพระยาราชมนูฯ(ถั่ว อัศวเสนา) มหาดเล็กรัชกาลที่ 6 ประจำกรมพระอัศวราช ข้อมูลชั้นต้นแรกเริ่มตีพิมพ์ลงในวารสาร HIFI-Stereo ต่อมาพิมพ์รวมเล่มลงในหนังสือลำนำสยาม (1) ในหัวเรื่องแผ่นเสียงวังบางขุนพรหม ตอนที่ 1 แต่นั้นมาก็พยายามหาบทละครเรื่องนี้ ซึ่งยังไม่เคยได้เห็น จึงต้องหากันต่อไปนานหลายปี จนถึงปี พ.ศ. 2551 จึงได้พบ และนำข้อมูลมาประกอบในบทความฉบับนี้ เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้มีการเสกสมรสระหว่างพระยาราชมนูฯ กับ ม.ล.เล็ก กุญชร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2466 มีบุตรธิดา 4 คน คือ น้อย, นิด, จิ๊ด(ดนุชา), แจ๊ด

       
                  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลายสมัย ทั้งเคยเป็นมหาดเล็กใกล้ชิดในพระองค์รัชกาลที่ 6 มาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ก่อนครองราชย์ ในปี พ.ศ. 2353 ได้ค้นคว้าเรียบเรียงลงในหนังสือชื่อ อธิบายพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หมวด ข เรื่องโขนละคร (2) พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2521 เกี่ยวกับพระราชนิพนธ์บทละครรำเรื่องพระนาละ ว่าพระนลคำหลวงเป็นพระราชนิพนธ์ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. 2457 ม.ล.ปิ่น มาลากุล เขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้เพียง 3 บรรทัดสั้น ๆว่า

                เรื่องพระนาละ ก็คือพระนล นั่นเอง เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์มหาภารตะ (ยาวกว่า  รามายณะ) พระราชนิพนธ์ก่อนพระนลคำหลวง 10 ปี คณะละครเจ้าพระยาเทเวศวร์ฯ จัดแสดงในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา เมื่อ พ.ศ.2448 ก่อนที่จะทรงจัดตั้งคณะโขนสมัครเล่น หลังจากการแสดงครั้งแรก มีแสดงอีกคือ ละครหลวงรุ่นเล็ก แสดงในงานในงานเฉลิมพระชนมายุ เมื่อวันที่ 30-31 ธันวาคม พ.ศ. 2451

                เพียงข้อมูลเท่านี้ ก็ทราบทันทีว่า พระราชนิพนธ์บทละครรำเรื่องพระนาละนี้ เป็นบทละครรำ แสดงครั้งแรก เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในวาระวันประสูติ พระชันษา 25 พรรษา ตรวจดูแล้ว ตรงกับวันที่ 1 มกราคม(ปลายปี) พ.ศ.2448 นับถึงวันที่เขียนบทความนี้ในปี พ.ศ. 2554  เวลาผ่านมาแล้ว 106 ปีเศษ นับว่าเก่าแก่มาก แต่ก็ยังค้นไม่พบตัวบทละคร  ครั้นถึงปี พ.ศ. 2551 จึงได้บทละครเรื่องพระนาละนี้ มาจากหอสมุดแห่งชาติซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่มงานพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ในหอวชิราวุธ ทว่าไปแทรกอยู่ในชั้นรวมบทละครของเก่า ห้องกลาง ชั้นที่ 3 ตึกใหญ่ และประทับตราไว้ว่าเป็นหนังสือที่ ม.จ.พัฒนายุ ดิศกุล(ท่านหญิงเหลือ) ประทานให้หอสมุด จึงได้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่ง ม.จ.ชัชวลิต เกษมสันต์ (3) ทรงนิพนธ์เป็นคำนำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2512 ว่า



บทละครเรื่องนี้เข้าใจว่าเป็นพระราชนิพนธ์บทละครไทยเรื่องแรก แสดงครั้งเดียวในปี พ.ศ. 2448 งานฉลองวันประสูติครบพระชันษา 25 พรรษา แล้วเงียบหายไป แม้การพิมพ์ก็ไม่เคยกระทำ ทั้งไม่มีใครเคยพูดถึงมานานมาก นอกจากพระยาอัศวบดีศรีสุริยพาหน(เล็ก โกมารภัจจ์)  ที่เคยเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม เท่านั้นที่จำได้ ว่าเคยแสดง เวลาผ่านมา จนถึงสมัยรัชกาลปัจจุบัน จึงได้ค้นพบบทพระราชนิพนธ์ละครเรื่องพระนาละ โดยพระยาอัศวบดีศรีสุริยพาหน(เล็ก โกมารภัจจ์) นำส่งเป็นเอกสารโรเนียว พิมพ์ไว้เพียงตอนเดียว มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดพิมพ์ขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาฯ เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญพระกุศลถวาย ในวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงทำประจำทุกปี นำออกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2512

ในบันทึกของ ม.จ.ชัชวลิต เกษมสันต์นั้น ได้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า พระราชทานให้กองโขนหลวง จัดแสดงถวายครั้งแรกและครั้งเดียว ณ ที่ประทับวังสราญรมย์ ในวันประสูติครบปีที่ 25 (วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2448) การแสดงมี 2 คืนต่อกัน สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงเป็นพระราชมารดาในสมเด็จพระบรมฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรละครเรื่องพระนาละนี้ทั้งสองคืนต่อกัน นอกจากนี้ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ยังอธิบายเกี่ยวกับละครเรื่องพระนาละว่า “พระนาละ” เป็นต้นเรื่องของ “โขนสมัครเล่น” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งธนิต อยู่โพธิ์ ได้เขียนไว้ว่า

“โปรดให้ยืมครูโขนผู้มีฝีมือดี มาจากบ้านท่านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เท่าที่ทราบ 3 คน คือ 1.ขุนระบำภาษา(ทองใบ สุวรรณภารต) ซึ่งต่อมาในรัชการที่ 6 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์โดยลำดับ จนเป็นพระยาพรหมาภิบาล เป็นครูยักษ์ 2. ขุนนัฏกานุรักษ์(ทองดี สุวรรณภารต)ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาในราชทินนามนั้น เป็นครูพระกับนาง และ 3. ขุนพำนักนัจ นิกร(เพิ่ม สุครีวกะ) ซึ่งภายหลังได้เป็นพระในราชทินนามนั้น เป็นครูลิง โขนที่โปรดให้ฝึกหัดขึ้นมานี้มีชื่อ(คณะ) ว่า “โขนสมัครเล่น”(2)

บันทึกของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล เมื่อมารวมกับของ ม.จ. ชัชวลิต เกษมสันต์ ทำให้ทราบสถานที่การแสดง และคณะผู้แสดง ว่าตัวละครมาจากบ้านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ขณะนั้นยังรั้งตำแหน่งเจ้ากรมมหรสพ ซึ่งก็คือวังบ้านหม้อ อันเป็นที่ตั้งกรมมหรสพของหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 หมายความว่าตัวแสดง เป็นละครหลวงทั้งโรง น่าเสียดายที่ไม่ได้เห็นสูจิบัตร ซึ่งเชื่อว่างานใหญ่อย่างนี้ ต้องพิมพ์แจกด้วยแน่ๆจากนั้นละครเรื่องพระนาละนี้ได้เงียบไปไม่มีการกล่าวถึงอีกเลย ไม่ได้แสดงอีกเลย อีก ปีต่อมาจึงทรงนำเรื่องพระนาละนี้ มาปรับใหม่ กลายเป็นวรรณกรรมเรื่องยาว ในปี พ.ศ. 2459 มีชื่อว่า พระนลคำหลวง

3. สังเขปเค้าโครงเรื่องพระนาละ
เรื่องพระนาละ หรือต่อมาเรียกตัดสั้น ๆว่า “พระนล” (หมายถึงพระนลคำหลวง)จัดเป็นวรรณกรรมอินเดียโบราณ ประเภทนิทานซ้อนนิทาน ซึ่งเล่าแทรกอยู่ในมหากาพย์ชื่อมหาภารตะ หรือบางทีเรียกว่ามหาภารตยุทธ เพราะเป็นเรื่องสงครามต่อสู้กันระหว่างพี่น้องสองฝ่าย ซึ่งสืบวงศ์มาจากท้าวศานตนุ แห่งราชวงศ์กุรุซึ่งร่วมต้นตระกูลเดียวกัน คือฝ่ายเการพ และฝ่ายปาณฑพ เป็นเรื่องเล่าและเขียนต่อๆกันมานานกว่าพันปีแล้ว ท่านที่สนใจเรื่องมหาภารตะ ที่เขียนและบรรยายครั้งใหม่สุด ในช่วงปี 2550-2551 นี้ อาจจะหาอ่านจากหนังสือฉบับร้อยแก้ว จำนวน 2 เล่ม  หรือจะฟังจากแถบบันทึกเสียงเล่าโดยวีระ ธีรภัทร(4) ก็จะรู้และเข้าใจเรื่องมหาภารตะนี้ได้โดยง่าย งานดังกล่าวนี้มี 3 เล่ม อ่านเพลิน ส่วนที่เป็นแถบบันทึกเสียงก็มีอรรถรสที่สนุกสนานเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องพระนาละเป็นนิทานแทรกเข้ามา ตอนที่เจ้าชายปาณฑพทั้งห้า(คือ ท้าวยุษธิษธีระ ภีมะ อรชุน นกูล และสหเทพ) ต้องจากเมืองอินทปัทซึ่งพวกตนปกครองอยู่ เดินทางออกไปใช้ชีวิตอยู่ป่านานถึง 13 ปี เหตุเพราะทุกคนสิ้นเนื้อประดาตัวเสียบ้านเสียเมือง เสียทรัพย์สิน เสียบริวารทั้งหมดรวมทั้งเสียพระนางกฤษณา(หรือเทราปที) พระชายา เพราะพี่ชายคนใหญ่คือท้าวยุธิษฐิระ(บางครั้งเขียน ยุธิษเสฐียร) แพ้สกาพนันแก่ท้าวศกุนิ ลุงของเจ้าทุรโยชน์ พี่ชายคนใหญ่ของพวกเคารพผู้ครองนครหัสตินาปุระ ทั้งห้าพี่น้องและพระนางเทราปที (ซึ่งเป็นภรรยาของพี่น้องทั้งห้าทุกคน) ต่างก็เป็นทุกข์กันทั่ว เมื่อพระฤๅษี ชื่อพฤหทัศวะไปพบพี่น้องปาณฑพทั้งห้าคนในป่า ก็เล่านิทานให้ทุกคนฟังเพื่อให้เกิดคลายทุกข์ว่า คนที่เคยเสียสกาพนันจนสิ้นเนื้อประดาตัวนั้นไม่ได้มีแต่พวกปาณฑพเท่านั้น ยังมีพระนาละอีกองค์หนึ่ง เคยแพ้สกาพนันสิ้นเนื้อสิ้นตัวมาแล้ว เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนาละนั้นมีว่า“พระนาละ เป็นเจ้าครองแคว้นชื่อนิษัธชนบท ได้ข่าวความงามของพระนางทมยันตี พระราชธิดาแห่งท้าวภีมะราช ผู้ครองนครวิทรรภ์ชนบท(หรือนครวิทรรภ ก็เรียก) พระนาละมีจิตปองรักพระนางทมยันตี อยากให้นางรู้ข่าวของตนเพื่อจูงใจให้นางเกิดความสนใจ แต่พระนาละไม่เคยทราบว่า ข่าวของตนเองเกี่ยวกับความหล่อเหลาและความสามารถของพระองค์นั้น ได้มีการกล่าวขวัญไปไกลจนถึงพระกรรณของพระนางทมยันตีแล้ว  และนางก็รู้สึกพอพระทัยในองค์พระนาละ ใคร่จะได้พบเห็นตัวจริง หากได้พบแล้วคงจะทำให้คลายความเร่าร้อนในพระทัยลงบ้าง





วันหนึ่งพระนาละเสด็จประพาสอุทยานในนครของพระองค์ พญาหงส์ทอง พาพวกลงมาเล่นน้ำจับปลากิน จึงถูกพระนาละจับตัวไว้ได้ ด้วยความกลัวตายพญาหงส์ทองจึงทูลพระนาละว่า จะให้ช่วยทำอะไรก็ยอมทั้งนั้น ขอแต่ชีวิตไว้ พระนาละจึงใช้ให้พญาหงส์ทอง บินไปสื่อข่าวเรื่องที่พระองค์มีจิตหลงรักต่อพระนางทมยันตี โดยหวังว่าเมื่อนางทราบเรื่องพระนาละแล้ว นางจะมีจิตตอบรัก หงส์ก็ไปจัดการจนได้พบกับพระนางทมยันตรี ตามความที่ปรากฏในบทเพลงตับตอนนี้
เมื่อพระนางทมยันตีได้ทราบข่าวพระนาละ โดยพญาหงส์ทองเป็นสื่อแล้ว แทนที่จะทรงสบายขึ้นกลับกลายเป็นเศร้าพระทัยหนักยิ่งขึ้น พระบิดาจึงให้พระโหราธิบดีจัดการแก้ไข โดยจัดให้มีพิธีเลือกคู่ ให้เชิญกษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดนครมา แล้วให้นางเสี่ยงพวงมาลัย เมื่อได้คนที่พระนางทมยันตีเลือกแล้ว ก็ให้จัดงานสยุมพร” หนังสือพระราชนิพนธ์บทละครร้อยเรื่อง ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(5)

ยังมีเรื่องเล่าต่อไปโดยสรุปว่า “เมื่อพระนาละได้ทราบข่าวพระนางทมยันตีจะเลือกคู่ ก็เดินทางไปนครวิทรรภ์ชนบท ขณะเดียวกันเทพจากสวรรค์สี่องค์ มีพระอินทร์ พระอัคนี พระพิรุณ และพระยม ก็ลงมาเพื่อจะไปร่วมพิธีทิ้งพวงมาลัยด้วย ได้พบกับพระนาละที่กลางป่าก่อนเข้าถึงเมืองของพระนางทมยันตี ด้วยความสุภาพอ่อนน้อมอันเป็นคุณสมบัติประจำองค์พระนาละ จึงกล่าวกับเทพทั้ง 4 ว่า ประสงค์สิ่งใดยินดีจะทำถวาย ทั้ง 4 องค์จึงขอให้ พระนาละเป็นสื่อ เข้าไปกระซิบบอกพระนางทมยันตีว่า ให้เลือกเทพองค์หนึ่งในทั้ง 4 องค์นี้ พระนาละทูลว่า ไม่สามารถแฝงกายเข้าไปถึงในที่ประทับของนางได้ เทพทั้ง 4 จึงร่ายมนต์ ยกพระนาละทั้งองค์เข้าไปถึงในปรางที่ประทับของพระนางทมยันตี ทำให้เหล่านางในตกใจวิ่งหนีกันโกลาหล พระนาละจึงอธิบายว่า ตนเป็นทูตมาจากเทวดาทั้ง 4 จะมาพบพระนางทมยันตีเพื่อแจ้งข่าว ไม่ได้มาทำร้ายใคร นางทมยันตีดีใจที่ได้พบพระนาละ เมื่อทราบความประสงค์ของเทวดาทั้ง 4 องค์นางก็ปฏิเสธและว่า ถ้าไม่มีองค์พระนาละเข้ามาในพิธี ก็จะไม่ทิ้งพวงมาลัยให้ใครทั้งสิ้น

                ครั้นได้เวลากำหนด พระนาละไม่เสด็จเข้ามา พระนางทมยันตีก็ไม่ทิ้งพวงมาลัย ท้าวภีมะราชจึงให้ไปตามพระนาละเข้ามา เมื่อมาถึงที่ประชุม เทพทั้ง 4 องค์ก็แปลงกายจนเหมือนพระนาละ นางจึงเห็นพระนาละ เป็น 5 องค์ พร้อมกันก็ไม่สามารถเลือกได้ แต่ด้วยปฏิภาณของพระนางทมยันตี นางได้อธิษฐานว่า เทพทั้ง 4 เป็นผู้ที่นางเคารพนบไหว้ มิใช่มนุษย์ธรรมดา ดังนั้นเมื่อนางจะทำความเคารพ องค์ใดซึ่งเป็นเทพเจ้า ขอให้มีแสงรัศมีกระจายจากองค์เทพนั้นให้เห็นเป็นประจักษ์ การก็เป็นไปตามคำอธิษฐานของนาง คงเหลือแต่พระนาละองค์เดียวที่ไม่มีรัศมีฉายออกจากกาย นางจึงทิ้งพวงมาลัยให้พระนาละได้ถูกต้องสมประสงค์ เทวดาทั้ง 4 องค์ก็อำนวยพรให้ แล้วลากลับไปสรวงสวรรค์ ทั้งสองก็ได้เศกสมรสกัน แล้วกลับมาครองเมืองนิษัธชนบท

                ความสุขหลังการแต่งงานของพระนาละผ่านไปได้ไม่นาน พระกาฬ ผู้มีฤทธิ์ร้าย เคยปองรักพระนางทมยันตีแต่ไม่สมความปรารถนา จึงเข้าสิงองค์พระนาละ ทำให้เกิดไข้และรุ่มร้อนพระทัย และยังดลใจให้น้องของพระนาละชื่อพระบุษกร ชวนพระนาละมาเล่นสกาพนัน รวมทั้งจัดให้ลูกน้องชื่อ ทวาบร ใช้เวทมนต์เข้าไปสิงอยู่ในลูกสกา พระนาละต้องมนต์ของพระกาฬ ก็แพ้พนันพระบุษกร น้องชาย เสียทรัพย์สิน ตลอดจนบ้านเมืองทั้งหมด เหลือแต่พระนางทมยันตีเท่านั้น ซึ่งพระบุษกรก็ท้าทายให้ใช้นางเป็นเดิมพัน

                พระนาละไม่พอพระทัยคำท้าดังกล่าว ก็ตอบกลับไปว่า ภรรยานั้นเป็นเพื่อนใจที่ยั่งยืน ไม่สามารถนำมาเป็นเดิมพันได้ พระนาละจึงยอมแพ้ แล้วทั้งสองสามีภรรยา ก็เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มเป็นฤๅษี ทิ้งบ้านเมือง เดินทางเข้าไปในป่าลึก ที่สำคัญพระนาละไม่โปรดให้มีข้าราชบริพารตามเสด็จเข้าป่าด้วยเลย มีรับสั่งว่า เมืองที่พระองค์เคยเป็นเจ้าครองอยู่นั้น จะต้องร้างไปเพราะไม่มีคนดีปกครองดูแลรักษาไม่ได้ สมควรจะได้ช่วยกันดูแลรักษาเชิดชูเกียรติยศไว้ให้เหมือนแต่ก่อนเก่า” เรื่องของพระนาละก็จบด้วยการที่ทรงแพ้สกาพนัน ต้องเสด็จจากนครไปพร้อมกับพระนางทมยันตีเพียงเท่านี้

4. บทร้องเพลงตับพระนาละ
            เดิมผู้เขียนได้พยายามแกะบทร้อง โดยฟังทุกเพลงจากแผ่นเสียงเก่าตลอดทั้ง 5 แผ่น ปรากฏว่าเป็นตับเพลงที่ใช้เพลงไทยในอัตรา 2 ชั้นตลอดทั้งตับ รวม 7 เพลง ได้เขียนรายละเอียดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ครั้นได้บทละครมาจากหอสมุดแห่งชาติในปี พ.ศ. 2551 นี้ จึงได้นำมาเทียบเคียงกับบทที่แกะมาจากแผ่นเสียง ปรากฏว่าตรงกัน มีที่ต้องแก้ไขถ้อยคำบางคำ บทร้องนั้นเป็นตอนที่พญาหงส์ทอง  แนะนำนางทมยันตีว่าคู่ครองที่เหมาะสมกับนางคือ พระนาละ ซึ่งนางก็เห็นจริงและยิ่งคิดก็ยิ่งมีจิตคลั่งไคล้ในพระนาละ เมื่อพญาหงส์ทองเห็นว่านางมีใจรักพระนาละก็ยินดี จึงบินกลับไปสู่สระ(6)ตามความที่ปรากฏดังนี้

              บทร้องเพลงตับพระนาละ
ร้องสมิงทองมอญ
                        เมื่อนั้น                                      ฝ่ายพระยาหงส์ทองล่องเวหน
บริวารพรั่งพร้อมแวดล้อมตน                    รีบร้นบินถึงแดนพิมาน
ดูไปในราชอุทยาน                                   เห็นนิ่มนงคราญงามสรรพ
พานาละมาแล้วกำชับ                               ขยับปีกร่อนลงกลางสวนพลัน
ร้องสามเส้า
                        เมื่อนั้น                                      นางทมยันตีศรีสันต์
เห็นหมู่หงส์ทองผ่องพรรณ                      พากันบินลงมามากมาย
นางทรงพระสรวลสำรวลร่า                      พลางสั่งเหล่าข้าหลวงทั้งหลาย
ให้เพียรจับหงส์ทองผ่องแพรวพราย           ปีกขยายห้อมล้อมเข้าทันที

ร้องตะลุ่มโปง    
                        เมื่อนั้น                                      ข้าหลวงรับสั่งใส่เกศี
ต่างคนชื่นชมยินดี                                   ทำตามเสาวนีย์พระธิดา
รับลุกขมีขมันพลันไล่                              คว้าไขว่ต้อนหมู่หงสา
ยิ่งหนียิ่งไล่กันโกลา                                 ไปจบกันทันหน้าที่นั่งนาง           เชิดฉิ่ง
ร้องกระบอกเงิน
                            ฝ่ายว่าพญาหงส์รู้ที                      ทำหนีเลี่ยงไปมิให้ห่าง
ยกปีกชูคอล่อพลาง                                  วนอยู่ใกล้นางทมยันตี
เดินนำพระธิดามาให้พ้น                              จากฝูงคนเอะอะอึงมี่
แล้วจึงเปล่งวาจาพาที                               เพ็ดทูลเทวีไพเราะนัก
ร้องจีนต้องเชียง
                        ข้าแต่อรทัยวิไลเลิศ                      ประเสริฐยิ่งนางในอาณาจักร
มีแต่หมู่เทวาสุรารักษ์                               พิศพักตร์นางชมภิรมย์ครวญ
ไฉนนางไร้คู่อยู่เอกา                                แม้นใครได้กัลยาทรามสงวน
ไปเป็นคู่เชิดชูเสน่ห์นวล                          กลิ่นนางโหยหวนชวนชื่นใจ
แต่พิศดูยากนักจักหาคู่                              ที่เหมาะเจาะสมสู่ห้องนางได้
เห็นอยู่แต่ราชานาละไซร้                          อันเป็นใหญ่ในนิษัทชนบท
อันพระนาละนเรนทร์ศูรย์                        บริบูรณ์เลิศสามงามทั้งหมด
งามทั้งรูปทั้งพระทัยทั้งถ้อยพจน์                 เหลือจะจดจำความงามของเธอ
            อีกทั้งงานชาญทางศิลปศาสตร์                       จะหาขัติยราชใดเสมอ
ใครจะคิดทำเทียมให้เลิศเลอ                      จะต้องเก้อยอมแพ้เธอแน่จริง
อันยอดชายเช่นองค์นาละไซร้                   จึงควรได้สรวมกอดแม่ยอดหญิง
ถ้อยทูลตามจริงใจไม่ประวิง                      ขอพระแม่อย่ากริ่งพระทัยเลย
ร้องกาเรียนทอง
                        เมื่อนั้น                                      พระธิดายินคำแสร้งทำเฉย
พระพักตร์ก้มดมบุหงาไม่กล้าเงย                กลิ่นรำเพยรวยรื่นชื่นฤทัย
รำลึกข่าวเล่าลือระบือนาม                         ถึงนาละรูปงามเทียมไถง
ครองนิสัตชนบทอำไพ                             สะพรั่งพร้อมโภคัยสวรรยา
มีวิชาอาคมพอสมศักดิ์                              ยิ่งนึกไปใจรักเป็นนักหนา
ยิ่งได้ยินหงส์ร่ำคำพรรณนา                       กัลยายิ่งต้องฤทัยจินต์

ร้องหงส์ทอง (เวสสุกรรม)                           
                        เมื่อนั้น                                      หงส์ทองเสร็จแจ้งแถลงสาร
นึกเดาเข้าใจว่านงคราญ                                พระทรวงสร้านรักใคร่ในนาละ
นึกกระหยิ่มกริ่มเกษมเปรมปรีดา                    ทูลลากัลยางามแจ่มจะ
เรียกหมู่บริพารการชนะ                                    บินไปสู่สระไพรวัลย์                       เชิด


5. วิเคราะห์ ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเพลงตับที่ได้จากแผ่นเสียง
            ได้วิเคราะห์งานชิ้นนี้ เป็นหลายตอนด้วยกันดังนี้

5.1 ประวัติศาสตร์ของบทเพลงและบุคคลที่เกี่ยวข้อง
จากความที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้บรรยายที่มาของเพลงตับพระนาละไว้แล้ว อันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติ ส่วนเรื่องของพระนาละในแผ่นเสียงนั้นเป็นเพียงตอนต้นเรื่องเท่านั้น มิได้เล่าจนตลอดเรื่องไว้ ซึ่งความโดยตลอดจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ แต่ขอเสนอให้อ่านต่อในพระราชนิพนธ์ พระนลคำหลวง

สำหรับประวัติเรื่องเพลง จากข้อมูลข้างต้น ทำให้ทราบว่า บทที่ว่าหายไปแต่ครั้งแสดงคราวแรก เมื่อปี พ.ศ. 2448 นั้น ความจริงน่าจะได้เก็บรักษาไว้ที่วังบ้านหม้อ อันเป็นที่อยู่ของเจ้าพระยาเทเวศวร์ฯ บิดาของคุณหญิงราชมนู(ม.ล.เล็ก) ผู้ขับร้องในแผ่นเสียงนั่นเอง อีกประการหนึ่งอดีตหม่อมเจริญ กุญชร ณ อยุธยา ผู้เป็นมารดาและเป็นครูผู้สอนขับร้องให้คุณหญิงราชมนู เจ้าของเสียงในแผ่นเสียงนั้น ท่านเคยเป็นนักร้องคนสำคัญของวังนี้มาก่อน น่าจะได้ทำหน้าที่นักร้องต้นบทของละครพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ซึ่งแสดงหน้าพระที่นั่ง โดยศิลปินของวังบ้านหม้อตั้งแต่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2448  ท่านอาจจะได้บทไว้ หรือเคยต่อบทนี้ให้แก่ ม.ล.เล็ก กุญชร ผู้เป็นบุตรีมาแต่เด็ก เพราะตามประวัติหม่อมเจริญมีธิดาเกิดแต่เจ้าพระยาเทเวศวร์ฯ 2 คน แล้วจึงได้ออกจากวังบ้านหม้อไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2452(5) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เจ้าพระยาเทเวศวร์ฯ กราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่เจ้ากรมมหรสพ ในสมัย ปลายรัชกาลที่ 5 จากนั้นท่านเจ้าคุณก็ยังอยู่ที่บ้านเดิมต่อมาจนถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2466 ซึ่งเป็นปีที่หม่อมเจริญและจางวางทั่วไปปรับวงประชันวงปี่พาทย์ครั้งใหญ่ ณ วังบางขุนพรหม

หม่อมเจริญ เมื่ออกจากวังบ้านหม้อแล้วได้ย้ายไปอยู่กับท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี และได้เป็นครูขับร้องประจำวังบางขุนพรหม กับที่กองดุริยางค์กองทัพเรือมาตลอดสมัยรัชกาลที่ 6 และที่ 7 จนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็ยังอยู่กับจางวางทั่วผู้เป็นสามีใหม่ ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตร จนท่านจางวางทั่วถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2481 ท่านก็อยู่กับนายเทวาประสิทธิ์ และคุณหญิงไพฑูรย์ ลูกของท่านจางวางทั่วต่อมาจนถึงแก่กรรม ในปี พ.ศ. 2498 อาจจะสรุปว่า แนวการขับร้องเพลงตับนี้ จะต้องเป็นของเก่าแก่จากวังบ้านหม้อจริง

5.2 การขับร้องที่ฟังได้จากแผ่นเสียง
แผ่นเสียงนี้ อาจารย์ธีระ จุฑานนท์ เป็นผู้ลอกจากแผ่นลงเทปตลับคนแรกที่เชียงใหม่ คุณหญิงไพฑูรย์ก็ได้ฟังจากเทปตลับ ท่านยังชมเชยว่า คุณหญิงราชมนู (ม.ล.เล็ก กุญชร อัศวเสนา) นั้น  เสียงดังฟังชัด มีกำลังในการเปล่งเสียงดีมาก ลีลาดีสมเป็นลูกศิษย์ของแม่ น้อยคำที่ฟังไม่ชัด เสียงไม่เพี้ยน และเพลงในแผ่นทุกเพลงก็ตรงกับที่กำหนดไว้ในบทละครทุกเพลงตามต้นฉบับ ไม่ได้เปลี่ยนเพลงเลยจนเพลงเดียว เป็นที่ยอมรับได้ว่า ทางขับร้องเป็นของวังบ้านหม้อ ที่สืบต่อมาเป็นทางของวังบางขุนพรหมและของบ้านพาทยโกศลโดยแท้ (คือที่เรียกว่าทางฝั่งธนบุรี) ซึ่งเป็นลีลาเก่าแก่ที่สุดของสมัยรัตนโกสินทร์

5.3 ดนตรีที่บรรเลงรับร้อง
เป็นวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ไม่มีรายละเอียดว่าใครเป็นผู้บรรเลงบ้าง ซึ่งก็คือคนในวงวังบางขุนพรหมทุกคน(ศึกษาจากหนังสือ ทูลกระหม่อมบริพัตรกับการดนตรีประกอบ)เสียงดนตรีชัดเจน ทางบรรเลงไพเราะน่าฟังมาก
เนื่องจากสมัยที่บันทึกเสียง(พ.ศ. 2472) จำเป็นต้องบันทึกไปที่ละแผ่น กำหนดเวลาไว้ต้องไม่เกินแผ่นละประมาณ 3.16 นาที ดังนั้นจึงต้องมีการหยุดร้องบรรเลงเวลาขึ้นแผ่นใหม่ เมื่อนำมาบันทึกต่อกันทำให้รู้สึกสะดุดบ้างเวลาฟังต่อติดกัน ซึ่งไม่เป็นการยุติธรรมต่อศิลปินผู้ร้องและบรรเลง แต่ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ เสียงเครื่องดนตรีชัดเจนมาก ทั้งปี่ ฆ้องวงใหญ่ และระนาดเอก นับเป็น ตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการบรรเลงปี่พาทย์ไม้แข็ง ที่ศิลปินเป็นคนของวังบางขุนพรหม ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นเจ้าของ และจัดว่าเป็นวงปี่พาทย์ที่เด่นดังที่สุด เคยชนะการประชันมาแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 6 คุณภาพของการบันทึกเสียง ในปี พ.ศ. 2472 นั้นใช้ไฟฟ้าบันทึกแล้ว เป็นงานที่จัดการบันทึกในกรุงเทพฯ โดยห้างสุธาดิลก(โอดิออน แห่งนครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี) สมัยนั้นไม่มีเครื่องผสมเสียง(Mixer) ใช้ไมโครโฟนเพียงตัวเดียว ตั้งรับเสียงรวมทั้งวง ก็ได้ยินชัด ทั้งเสียงนักร้องและเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญทุกชิ้น นับว่าเอนจิเนียร์ฝรั่งที่ทำหน้าที่บันทึกเสียง เป็นคนมีฝีมือดีมาก
               
5.4 ความเป็นวิชาการของงานชิ้นที่รายงานนี้                             
ถือได้ว่าเป็นงานบันทึกประวัติศาสตร์การดนตรีของสยามประเทศ (พ.ศ. 2448-2473) เป็นงานตัวอย่างด้านดนตรีวิทยา(Musicology) ที่ครบวงจร คือ ทราบความเป็นมาของบทเพลงอย่างละเอียด ทราบวงดนตรี ศิลปินผู้ขับร้อง และครูผู้ควบคุมการบรรเลง ขาดแต่ไมทราบรายละเอียดผู้บรรเลงประจำเครื่องดนตรีเป็นรายชิ้น จึงขาดความสมบูรณ์ไปเล็กน้อย ความสำคัญคือเพลงตับเรื่องพรนาละนี้ เกือบจะสูญไปแล้ว เพราะเวลาผ่านมาถึง 100 กว่าปี การที่ได้แผ่นเสียงกลับมาจึงนับว่าโชคดีและต้องขอบพระคุณอาจารย์ธีระ จุฑานนท์ ผู้ค้นพบ เพลงชุดนี้จึงไม่สูญ อาจจะใช้บรรเลงขับร้องต่อไปได้อีกนานแสนนาน
สำหรับประวัติของคุณหญิงราชมนู หรืออดีตหม่อมหลวงเล็ก กุญชร นั้น ขอให้ฟังเรื่องราวต่อจากอาจารย์ช้างต้น กุญชร ณ อยุธยา ที่มาร่วมเสวนาด้วยในวันนี้





...........................................

เอกสารอ้างอิง
1. พูนพิศ อมาตยกุล, (2540), แผ่นเสียงวังบางขุนพรหม ตอนที่ 1, ตับพระนาละ, หนังสือลำนำ
สยาม, สำนักพิมพ์นิตยสาร HIFI STEREO บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้งฯ, หน้า 175.
2. ปิ่น มาลากุล, (2521), พระนาละ, หนังสืออธิบายพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระ
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หมวด ข เรื่องโขนละคร, หอวชิราวุธานุสรณ์ จัดพิมพ์ โรงพิมพ์คุรุ
สภา ลาดพร้าว, หน้า 18.
3. ชัชวลิต เกษมสันต์, ม.จ., (2512), บทนิพนธ์คำนำ หนังสือบทละครเรื่องพระนาละ, มูลนิธิ
มหามงกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์, หน้า ค-ง.
4. วีระ ธีรภัทร, (2550), เรื่องเล่าจากมหากาพย์ มหาภารตะ เล่ม 1-2 และ สังเขปเอกสารแจก 
เรื่องเล่าจากมหากาพย์ มหาภารตะ, สำนักพิมพ์ โรนิน กรุงเทพฯ, เล่ม1 และ เล่ม 2, (2551),กับเอกสารสิ่งพิมพ์แจก เล่มเล็ก 32 หน้า ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์.
5. คณะกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์, (2526), หนังสือพระราชนิพนธ์ บทละครร้อยเรื่อง
ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว , บทคัดย่อบรรยายบทละครเรื่องพระนาละ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ , ตอนที่ 48 หน้า 131-134.
6. ราชบัณฑิตยสถาน, (2550), สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัติและบทร้องเพลงตับ
ประวัติเพลงหน้าพาทย์และเพลงโหมโรง, พิมพ์ครั้งที่ 1, ราชบัณฑิตยสถานสถานที่พิมพ์, กรุงเทพฯ.
7. เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์, (2554), สัมภาษณ์, ประวัติหม่อมหลวงเล็ก กุญชร, มูลนิธิราชสุดาฯ,
วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น