ศาลาไทย ในงานเวิลด์ เอ็กซ์โป ณ ประเทศเยอธมัน สมัยรัชกาลที่ ๕ 

ศาลาไทย ในงานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2010 ที่เซี่ยงไฮ้(จีน) สะท้อนลักษณะสังคม “หลงอดีต ไร้อนาคต” เพราะมัวแต่เหลียวหลัง ไม่แลหน้า

ศาลาไทยมีลักษณะ “หมุนวนกลับหลัง” มากกว่า “การเคลื่อนที่ไปข้างหน้า” ตามที่ผู้ใช้นาม “คนมองหนัง” ตั้งข้อสังเกตไว้ในข้อเขียนเรื่องไปตามหาความศิวิไลซ์และ เพื่อน ที่เซี่ยงไฮ้ : ปฏิวัตินคร และ อาณานิคมกลับด้าน (คอลัมน์นอก“กระแส” คนมองหนัง มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 31 ฉบับที่ 1576 วันที่ 29 ต.ค.-4 พ.ย. 2553 หน้า 85) จะคัดบางตอนมาให้อ่านดังต่อไปนี้

นัยยะที่ซ่อนอยู่ในตัวอาคารศาลาไทย ซึ่งหมุนย้อนเลยผ่านการเข้าร่วมงานมหกรรมนานาชาติครั้งแรกๆ ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ไปสู่ความสัมพันธ์จีน-สยามในสมัยรัชกาลที่ 3  ขณะที่การแสดงอันบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์และอารยธรรมเก่าแก่ของไทย ก็ย้อนกลับไปถึงยุคกรุงสุโขทัย ซึ่งถูกระบุ/เชื่อว่าเป็นราชธานีแห่งแรกของประเทศแห่งนี้ แล้วค่อยๆ ไล่เรียงเรื่องราวมาจนถึงปัจจุบันที่ได้รับมรดกจาก “อดีต” และมีความดีงามลงตัวอยู่แล้ว

ส่วนรูปแบบเทคโนโลยีการนำเสนอที่คล้ายจะไฮเทค ก็ถูกนำมาใช้เพื่อรองรับกับการกล่าวถึง “ความแปลกประหลาดน่าตื่นตาตื่นใจ” ต่างๆ ของเมืองไทย มากกว่าจะเป็นการพูดถึงความทันสมัยในตัวของมันเอง  ศาลาไทยแทบไม่ได้พูดถึงเรื่อง “อนาคต” อย่างจริงจังเลย นอกจากการตั้งความหวังไว้ว่า แล้วเราคงเจอกันอีกครั้งที่เมืองไทย เมื่อพวกเธอเดินทางไปท่องเที่ยวที่นั่น

แต่ศาลาไทยก็มิได้ดำรงอยู่โดดเดี่ยวจนเกินไปนัก เพราะเรายังมีพาวิเลี่ยนของเพื่อนบ้าน/คู่แค้นคู่อาฆาตอย่างกัมพูชา พาวิเลี่ยนกัมพูชามีลักษณะภายนอกเป็นกล่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยแต่ละด้านของพาวิเลี่ยนจะมีการนำรูปโบราณสถานลือชื่อ 4 แห่งมาจัดแสดง และ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ส่วนการจัดแสดงภายในพาวิเลี่ยน กัมพูชาก็มุ่งขับเน้นเนื้อหาไปที่โบราณสถาน โบราณวัตถุ และโลกของเขมรยุคเมืองพระนคร หนึ่งในวัตถุจัดแสดงที่น่าสนใจก็คือ แผนที่ของอาณาจักรเขมรโบราณ ซึ่งขยายขอบเขตกว้างขวางมาจนถึงดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ราวกับเป็นการเน้นย้ำว่า ในยุคเมืองพระนคร มีเพียงการดำรงอยู่ของอาณาจักรเขมรเท่านั้น โดยปราศจากอาณาจักรไทย สยาม หรือเสียมใดๆ ทั้งสิ้น

และอาณาจักรเขมรยุคเมืองพระนครอันยิ่งใหญ่นี่เองที่มีความสืบเนื่องตกทอดมายังกัมพูชาในยุคปัจจุบัน ขณะที่ “อนาคต” กลับเป็นสิ่งซึ่งถูกทอดทิ้งไป พาวิเลี่ยนเขมรจึงมีลักษณะ “ย้อน/ถวิลหาอดีต” ไม่ต่างจากศาลาไทย แถมยังอาจมีอารมณ์ชาตินิยมเข้มข้นกว่าเสียด้วยซ้ำ


สุดท้าย ศาลา/พาวิเลี่ยนของสองประเทศเพื่อนบ้านจากอุษาคเนย์ ก็หมกมุ่นให้ความสำคัญอยู่กับ “อดีต” ที่ (เชื่อว่าตนเอง) ยิ่งใหญ่ โดยไม่ใส่ใจถึง “อนาคต” (อันน่าหวาดหวั่นไม่มั่นคง?) สักเท่าใดนัก ทั้งไทยและกัมพูชาในโลกจำลองของงานเอ็กซ์โป 2010 จึงมีสถานะเป็นดัง “นครที่ไร้อนาคต”

ระบบการศึกษาของไทย คงมีอะไรชำรุดหรือขาดตกบกพร่องมานานมาก จึงส่งผลให้ปัจจุบันทุกวันนี้ไทยกลายเป็นสังคม “หลงอดีต ไร้อนาคต” เพราะมัวแต่เหลียวหลัง ไม่แลหน้า

นักศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีมานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ศิลป์ ต้องพินิจพิจารณาจงหนัก เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงจะให้สังคมเป็นอย่างไร? “หลงอดีต ไร้อนาคต” หรือ“รู้จักอดีต รับใช้ปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต”