“ชนหยิบมือหนึ่ง” ขโมยเพลงดนตรีไทยไป
จาก มติชนรายวัน ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2553
ดนตรีไทยในวัฒนธรรมป๊อป ของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12-18 พฤศจิกายน 2553 หน้า 20) อ้างถึง จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนเตือนว่าดนตรีไทยกำลังเสื่อมสูญ ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 (ราว 56 ปีมาแล้ว)
ด้วยเหตุผลที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงทั้งเครื่องดนตรี, ระบบเสียง, วิธีแต่ง ไปจนถึงการปฏิบัติของนักดนตรีก็ต้องเป็นไปตามขนบอย่างเคร่งครัด แทนที่ชาวดนตรีไทยจะสำรวจตัวเองเพื่อพิจารณาหาสาเหตุ แล้วเสาะหาช่องทางแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดนตรีไทยมีชีวิตชีวาขึ้นมาร่วมสมัย แต่กลับตรงข้ามชาวดนตรีไทยสมคบกับผู้ชอบแอบอ้างรักความเป็นไทย กลับโทษคนอื่นแล้วพร้อมใจกันก่นด่าประณามประชาชนทั่วไปว่าไม่ฟังดนตรีไทย ทำให้ดนตรีไทยเสื่อม
จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ในบทความชื่อ “ดนตรีไทยเดิมนั้น เรามิได้ละทิ้ง ชนหยิบมือหนึ่งขโมยไปต่างหาก” (พิมพ์ครั้งแรกใน ไทยใหม่ ฉบับวันที่ 27 สิงหาคม 2497แล้ว พิมพ์ซ้ำในสูจิบัตรแจกงานเปิดตัวกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 29-30 พฤษภาคม 2547) จะคัดตอนจบมาให้อ่านดังนี้
“นักดนตรีไทยถือตนว่าเป็นผู้มีภูมิปัญญาเหนือสามัญชน พะวงแต่ความ โอ้อวดฝีไม้ลายมือมากเกินไป….. เพลงไทยจึงยุ่งยากขึ้นทุกขณะ ละเลยผู้ฟังเสียสนิท ทั้งผู้เล่นก็มักจะเป็นคนในสำนักชั้นสูงต่างๆ ช่องว่างระหว่างศิลปะของดนตรีไทยกับประชาชนก็เกิดกว้างขึ้นทุกที
จนในที่สุดก็กลายเป็นศิลปะที่ฟังกันได้อยู่แต่ในชนกลุ่ม เดียว พวกประชาชนทั่วไปนับล้านๆที่ฟังไม่ออกก็กลายเป็นพวกหูต่ำ เป็นพวกละทิ้งสมบัติของชาติ
แต่ทว่าคำกล่าวหานั้นจริงละหรือ? เรามิได้ละทิ้งสมบัติของเราเลย หากมีชนกลุ่มหนึ่งบังอาจมาขโมยสมบัติของเราไปเสีย และกระทำแก่มันตามพลการเพื่อประโยชน์ของเขาเพียงหยิบมือนั้น และทั้งยังกีดกันมิให้เราเข้าไปแตะต้องถึง อย่างนี้มิใช่หรือ?”
จิตร บอกว่า “มีชนกลุ่มหนึ่งบังอาจมาขโมยสมบัติของเราไปเสีย”—“ทั้งยังกีดกันมิให้เราเข้าไปแตะต้องถึง” ใครคือ “ชนกลุ่มหนึ่ง”? มีพยานหลักฐานประวัติศาสตร์ หลัง พ.ศ. 2400 (แผ่นดินรัชกาลที่ 3-4) “ชนกลุ่มหนึ่ง” คือคนชั้นนำ“ผู้ดี”กระฎุมพี สร้างแบบฉบับเพลงดนตรีไทยเพื่อความเป็นไทย มี 3 อย่างเท่านั้น คือ วงปี่พาทย์, วงมโหรี, วงเครื่องสาย
แล้วกำหนดว่าต้องเป็นเพลงเถาสามชั้น-สองชั้น-ชั้นเดียว, ร้องเอื้อนมากลากยาว, ชื่อเพลงขึ้นต้นด้วยชื่อชาติพันธุ์อย่างดูถูกเหยียดหยาม เช่น ลาว, เขมร, มอญ, พม่า, แขก, จีน, ฝรั่ง, ฯลฯ ถ้าผิดจากนี้ไม่ใช่เพลงดนตรีไทยเพื่อความเป็นไทยแท้ๆ
ฉะนั้น เพลงดนตรีสะล้อซอซึงของล้านนา, แคนและโปงลางของอีสาน, โนราชาตรีของปักษ์ใต้ จึงไม่ใช่เพลงดนตรีไทยเพื่อความเป็นไทยในทัศนะของคนชั้นนำ“ผู้ดี” กระฎุมพี นับแต่บัดนั้น สืบจนบัดนี้ และบัดหน้า
อ้างอิงจาก: http://www.sujitwongthes.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น