อยู่นี่แล้ว


วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

ว่าด้วยเพลงนกแลที่แท้ก็คือเพลงต้อยตริ่ง - พูนพิศ อมาตยกุล

    บทความนี้ตีพิมพ์ใน สยามรัฐ ฉบับวันที่ 23 กรกฎาคม พ.. 2529
   หน้า 13

   สยามสังคีต
     พูนพิศ  อมาตยกุล



         ว่าด้วยเพลงนกแลที่แท้ก็คือเพลงต้อยตริ่ง

                ฝรั่งจากอเมริกา เขาเป็นศาสตราจารย์ทางดนตรี มาอยู่เมืองไทยเดือนกว่า ๆ ทุกวันเปิดวิทยุฟังได้ยินเพลง นกแลก็คือนกแก้ว เสียงแจ้วๆ เป็นจังใดจา” เท่านั้นยังไม่พอ ตอนที่ออกจากโรงแรมเวียงใต้ อันเป็นที่พักไปเดินเล่นซื้อของที่ตลาดบางลำพู ทุกร้านขายเทปตลับ ก็จะเปิดเพลง นกแล”  ชินหูหนักเข้าก็เลยซื้อมาฟัง สนใจมากก็เอาติดกลับไปอเมริกา มาบัดนี้ทราบความว่า เพลงนกแลนี้ ลูกสาวของท่านศาสตราจารย์ร้องได้แล้ว และภาคภูมิใจมาก ฝรั่งเรียกเพลงนี้ว่า เพลงสำหรับเด็ก

นั่นก็คือความจริงเกี่ยวกับ นกแล”  เพราะวงนกแลเป็นวงดนตรีเด็กเล็ก ๆ น่ารัก น่าเอ็นดู  เจริญเติบโตในด้านการดนตรี ร้องเพลงจนได้ไปทัวร์สหรัฐอเมริกามาแล้ว น่าชื่นชมยินดี และส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กเหล่านี้มีชื่อเสียง ได้สนุกสนานชีวิตในบ้านสะดวกสบายขึ้น ก็คือ เพลงนกแล” นี่เอง เป็นธรรมชาติของคนทั่วไปว่า เมื่อฟังเพลงไพเราะแล้ว จะร้องได้ก่อนหรือจำเนื้อทำนองได้ก่อนที่จะเอ่ยปากถามเพลงนี้ใครเป็นคนแต่ง ดังนั้นนักแต่งเพลงทุกยุคทุกสมัย จึงเป็นผู้ปิดทองที่หลังพระมานานและก็จะเป็นเช่นนี้ตลอดไป

เหตุที่จะเขียนเรื่องนี้ก็เพราะมีแฟนเพลงและการแสดงที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ  เดินเข้ามาทักทายผู้เขียนเหมือนเป็นญาติสนิท น่าจะเรียกได้ว่าคุณป้าหรือคุณน้า พอเห็นหน้ากันก็โบกมือหยอยๆ แล้วยิ้มร่าเข้ามาหาบอกว่า  แหม อยากพบมานานแล้ว จะถามเรื่องเพลงนกแลน่ะ เถียงกับเพื่อนเขาหาคนตัดสินไม่ได้”  ไม่ทราบว่าต้องกลายเป็นตุลาการตัดสินข้อพิพาทเรื่องเพลงมาตั้งแต่เมื่อใด  คุณป้าเธอบอกว่า เพลงนกแลนี้ เป็นเพลงลาวเก่าแก่  ส่วนเพื่อนคุณป้าว่าเพลงนี้เป็นเพลงเขมรเก่า แถมบอกชื่อเสียงโก้เก๋ว่าเดิมชื่อเพลง เขมรทุบมะพร้าว” โดนเข้าแบบนี้ก็เลยต้องนิ่งคิด แล้วร้องอยู่ในใจเบาๆ สักครู่ตุลาการก็บอกได้ ทั้งนี้เพราะในจิตสำนึกมองเห็นหน้าท่านอาจารย์มนตรี ลอยอยู่ในความจำว่าท่านเคยเล่าเรื่องเพลงต้อยตริ่งให้ฟัง ว่าเป็นเพลงแรกในชีวิตที่ท่านคิดเป็นเพลงเถา 


เพลงต้อยตริ่งนี้แหละคือเพลงนกแล  ส่วนเขมรทุบมะพร้าวนั้นเป็นคนละเพลงเลยทีเดียว ได้ตอบคุณป้าแฟนเพลงไปว่า ที่คุณป้าว่าเป็นเพลงลาวเก่าแก่นั้น ถูกนิดเดียว ถ้าจะให้ถูกจริงต้องพูดว่า เป็นเพลงไทยสำเนียงลาวของเก่า”  เพราะเพลงนี้เป็นไทยแท้ ๆ มีมานานแต่สมัยโบราณ ชื่อก็เป็นไทยว่า ต้อยตริ่ง” แต่เนื่องจากหางเสียงไปทางลาว ก็เลยจัดเข้าพวกสำเนียงลาวไว้ บางคนเลยเรียกว่า ลาวต้อยตริ่ง”  ในสมัยรัชกาลที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบรรจุทำนองเพลงนี้ไว้บทละครเรื่องหนามยอกเอาหนามบ่ง ร้องว่า

"สูเอยจะสนุกจะได้เป็นสุขสบายใจ
สิ้นโศกวิโยคไซร้ ดวงหฤทัยจะเปรมปรีดิ์

จะชื่นหนักหนา จะซ่านกายา
จะแลดูตากับคู่ชีวี

ชม้อยคอยมอง ชม้อยคอยมอง
จะจ้องดูที จะจ้องดูที"

น่าเสียดายที่ไม่ทราบว่าท่านผู้ใดแต่งเอาไว้  เนื่องจากเป็นเพลงไพเราะ  ร้องง่ายจำง่าย  ก็เลยติดใจคนมาช้านานร่วมร้อย ๆ ปี ครั้นถึงสมัยนิยมเพลงเถา อาจารย์มนตรี ตราโมท  ขณะนั้นท่านยังเป็นหนุ่มน้อยอยู่ คิดจะลองทำเพลงเถา คือหาเพลงเก่าอัตราสองชั้นมายืดเป็น 3 ชั้น  แล้วตัดลงชั้นเดียว  จนเป็นเพลงเถา ท่านก็ทดลองเอาเพลงต้อยตริ่งนี้มาลองทำดู โดยมีหมื่นประคมเพลงประสานซึ่งเป็นผู้ใหญ่ขณะนั้นรับทราบด้วย และเนื่องจากสมัยโน้น ใครคิดทำเพลงใหม่ขึ้นมา ถ้าเป็นผู้เยาว์เขาก็ไม่ค่อยจะเชื่อถือนัก อาจารย์มนตรีจึงใช้ชื่อหมื่นประคมเพลงประสาน ว่าเป็นผู้ประพันธ์เพลงต้อยตริ่งเถานี้ เป็นเพลงไพเราะน่าฟังมาก ยังร้องมาจนทุกวันนี้  สมัยสงครามโลกครั้งที่  เลิกได้ไม่นาน สนามม้าก็แข่งม้า  ผู้ชายชาตรีสมัยนั้นก็นิยมไปเล่นม้ากัน เสียม้าไม่มีเงินก็ไปหาเงินจากที่อื่นมาเล่น จึงมีเพลงตลก ๆ เกิดขึ้นเพลงหนึ่ง  ใช้ทำนองต้อยตริ่งดังนี้


สาวเอยจะบอกให้                                 อยู่ไปทำไมเอ้กา
อยู่เดียวเปลี่ยววิญญา                           เชิญแก้วตามาหาคู่ครอง
ฉันรักสาว ๆ แส้ ๆ                                 คนแก่ฉันไม่อยากมอง
ถ้าคนแก่มีเข็มขัดทอง                         ฉันจะปองรักเธอคนเดียว
สนามม้าจะพาแม่โฉมฉิน                    ไปเพลสวินสักหกเจ็ดเที่ยว
ไม่ให้พลาดเลย                                    แต่สักนัดเดียว
จะขอเที่ยวกับน้อง                               ไม่หมองมัว
รับรักตัวพี่สักหน่อย                               ยอดสร้อยเจ้าอย่าถือตัว
รับรักตัวพี่เป็นผัว                                 พอทองหมดตัวแล้วเราเลิกกัน

ผู้เขียนร้องเพลงนี้เล่นมาแต่เด็ก ๆ แต่ต้องระวังอย่าให้คุณย่าท่านได้ยินเด็ดขาด เพราะท่านจะเอ็ดตะโรทันทีว่าร้องเพลงน่าเกลียด บัดสีบัดเถลิง เรื่องเล่นม้า  เรื่องมีผัวปอกลอกทองผู้หญิงเป็นเรื่องราวทราต่ำช้าเพลงขี้ข้าไม่น่าจะเอามาร้อง ใฝ่ต่ำเพลงดี ๆ มีมากมายไม่คิดเอามาร้อง เลว เลว เลว…… ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ลับหลังก็ร้องดังลั่น ร้องเล่นเป็นประจำเสียจนจำได้มาจนบัดนี้ พอร้องเพลง สาวเอจะบอกให้”  ให้คุณป้าผู้ถามปัญหาฟังท่านก็ร้อง อ๋อ  ….ยืดยาว ใช่แล้ว ใช่แล้ว ฉันก็จำเพลงนี้ได้ พวกเราเรียกว่า เพลงสาวเอยจะบอกให้” ท่านยังสำทับต่อไปอีกว่า เพราะว่าหยาบคายด้วยเรื่องเล่นม้าและหลอกปอกลอกทองคน

เป็นอันว่าเพลงนกแล ก็คือเพลงต้อยตริ่ง (ชื่อแท้ของเก่าและบางที่ก็เรียกว่า เพลงสาวเอยจะบอกให้ ส่วนเพลงเขมรทุบมะพร้าวนั้น มีเค้าคล้าย ๆ กันอยู่ แต่คนละสำเนียง แต่ก่อนนี้เราร้องเพลงเขมรทุบมะพร้าวกันด้วยบทร้องดังนี้

สาวสาวแสนสุดจะสวย  รูปร่างสำรวยเอวกลมสมหน้า
รักน้องจนต้องแลหา  โปรดหน่อยขวัญตาหันมาทางพี่
……………………………………….
                               ฯลฯ

เพราะเหตุว่าเนื้อร้องเกี้ยวสาวเหมือนกันหรือไรไม่ทราบคนจึงหลงว่าเป็นเพลงเดียวกันแท้จริงไม่ใช่เพลงเขมรทุบมะพร้าวนี้ คุณสุวิทย์ บวรวัฒนา อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหภาพพม่า  ได้แต่งเป็นเพลงเถา แล้วอาจารย์เจริญใจเป็นผู้ประดิษฐ์ทางขับร้อง ให้ชื่อใหม่ว่าเพลง สาวสุดสวยเถา”  คุณจันทรา สุขะวิริยะ หรือคุณจ้อ เป็นผู้ร้องอัดแผ่นเสียงชุดสมบัติของชาติไทยผลิตออกโดยคณะวัชรบรรเลงโดยหมอวรห์ วรเวช  เป็นผู้ทำออกเผยแพร่  นับเป็นแผ่นเสียงที่มีคุณค่ายิ่งยักเพราะมีเพลงไพเราะอยู่มากมายหลายเพลงทั้งเพลงเดี่ยวและเพลงเถา เช่น เพลงจินตหราวาตี เพลงโยสรำเถา เพลงมะลิซ้อนเถา เพลงเดี่ยวนกขมิ้น พญาโศก หกบท สุดสงวน องเชียงสือเถา และพญาสี่เสา เป็นต้น

ก่อนจบนึกขึ้นมาได้ว่า เพลงเขมรมะพร้าวนี้คณะสุนทราภรณ์เคยเอามาทำเป็นเพลงเนื้อเต็ม ร้องอย่างสากลโดย คุณเลิศ  ประสมทรัพย์ และ ครูศรีสุดา  รัชตวรรณ ใช้เนื้อร้องเก่า สาว ๆ แสนสุดจะสวยนี่แหละเป็นเพลงยอดนิยมอยู่สมัยหนึ่ง ยิ่งบรรเลงเป็นสังคีตประยุกต์ด้วยแล้ว ยิ่งไพเราะมาก ตอนนี้ก็ได้ทราบข่าวว่าคุณเลิศ ประสมทรัพย์ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ว่าเป็นเบาหวานจนต้องตัดขา  ใครเป็นแฟนคุณเลิศก็น่าจะได้ไปเยี่ยมเยียนกันบ้าง



                          (เพลงนี้มาจากเพลง สาวเอยจะบอกให้ ซึ่งคุณเลิศแต่งไว้ก่อนแล้ว และบันทึกแผ่นเสียงกับสถิตตราคนคู่ ต่อมาวงดนตรีกรมโฆษณาการได้ไปบรรเลงที่บ้านหม่อมกอบแก้ว อาภากร เมื่อ ๕ เมษายน ๒๔๙๙ คุณเลิศได้พบสาวน้อยหน้าหวานคือ หม่อมหลวงปราลี ประสมทรัพย์ เกิดรักแรกพบ จึงเปลี่ยนเนื้อร้องบางวรรคจากเพลงสาวเอยจะบอกให้ แล้วให้ชื่อเพลงว่า “สาวก้อนแก้ว” และต่อมาบันทึกเสียงเพลงนี้กับวงดนตรีกรมโฆษณาการข้อมูลจากหนังสือ 80ปี เลิศ ประสมทรัพย์ อันทรงคุณค่า)

เป็นอันว่าเรื่องเพลงนกแลนี้ ก็ได้ไขความออกให้กระจ่างแล้ว น่าสังเกตว่าผู้แต่งเพลงนกและจริง ๆ ไม่ได้นำเพลงต้อยตริ่งทั้งเพลงไปทำเป็นเพลงนกแล  คงนำเพียงตอนต้นเท่านั้นไปใช้ แล้วแต่งใหม่ต่อไปอีก เพลงของเก่าเรานี้ เป็นสมบัติอันทรงคุณค่ามหาศาล ใช้เท่าไรก็ไม่หมด มีมากมายเป็นพัน ๆ เพลงเสียดายที่คนไทยเราไม่ชอบจด และที่จำได้ก็ไม่จดเลยไม่รู้ประวัติเพลงเก่า ๆ อีกมากมายหลายเพลงมาจนทุกวันนี้


* หมายเหตุจากผู้เขียนบล็อค  ทำนองเพลงต้องตริ่งนี้ ยังนำมาเป็นทำนองเพลง "สาวเชียงใหม่" ขอบร้องโดน จรัล มโนเพ็ชร อีกด้วย โดยเค้าเดิมน่าจะนำมาเฉพาะเค้าของสำเนียงลาว ที่ขึ้นต้นเพลง มิได้นำเอาท่อนที่มีลูกล้อมาใช้ในทำนองเพลงแต่อย่างใด 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น