อยู่นี่แล้ว


วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ครู "เพศที่สาม" ต้นแบบของสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย - ไพศาล ลิขิตปรีชากุล

ครู “เพศที่สาม” ต้นแบบของสังคม
ที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย

โดย 
ไพศาล ลิขิตปรีชากุล 

โครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

ทำไมถึงมี “เพศที่สาม” 


ภาพจาก http://www.straight.com

คนส่วนใหญ่จำนวนมากมี “อัตลักษณ์ทางเพศ”(ความรู้สึกส่วนลึกภายในว่าตนเองเป็นเพศหญิงชายหรืออื่นใด)ที่ตรงกับลักษณะเพศตามร่างกายของตน แต่ในสังคมและวัฒนธรรมมากมายในทุกยุคสมัย ยังมีประชากรส่วนน้อยส่วนหนึ่งที่มีความรู้สึกส่วนลึกภายในไม่ตรงกับเพศตามร่างกายของตน ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะความหลากหลายตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่มีความแตกต่างกันในทุกๆ เรื่อง รวมถึงรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ ความแข็งแรง บุคลิกนิสัย สติปัญญา ฯลฯ  หากจะถามว่า ทำไมคนส่วนน้อยนี้จึงมีความรู้สึกส่วนลึกไม่ตรงกับเพศตามร่างกาย ก็อาจจะต้องนึกย้อนถามว่า ทำไมเราจึงมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นหญิงหรือเป็นชาย ความรู้สึกนี้มาจากที่ใด เช่น หากลองสมมติว่าเราเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไป ทั้งตัว เราจะยังมีความรู้สึกเหลืออยู่หรือไม่ว่าตนเองเป็นเพศใด

ความรู้สึกว่าตนเองเป็นเพศใดนี้เป็นพัฒนาการด้านจิตใจที่เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากเพศตามร่างกาย จึงย่อมไม่เป็นเรื่องแปลกที่คนจำนวนหนึ่งจะมีความรู้สึกส่วนลึกไม่ตรงกับร่างกาย เป็นความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติเฉพาะตน ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่า ความรู้สึกนี้ก่อตัวขึ้นชัดเจนอยู่ภายในจิตใจของเด็กแล้วตั้งแต่อายุยังน้อย โดยมีปัจจัยทางชีววิทยา เช่นพันธุกรรม ระดับฮอร์โมนที่ได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา รวมไปถึงสิ่งกระตุ้นภายนอกในช่วงเป็นทารกหลังคลอดไม่นานนัก  มนุษย์เราให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับตัวตนและการปรับปรุงตนเองทั้งภายนอกและภายในเพื่อให้มีความสุข การปรับเปลี่ยนเช่นนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ความสำคัญที่มนุษย์ให้ต่อลักษณะภายนอกจะเห็นได้จากการออกกำลังกาย ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก เครื่องสำอาง หรือศัลยกรรมต่างๆ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่า สังคมยังไม่ให้การยอมรับอย่างเต็มที่ต่อการปรับเปลี่ยนร่างกายของผู้ที่รูปลักษณ์ภายนอกไม่ตรงกับความรู้สึกความเป็นตัวตนภายใน

ครู “เพศที่สาม” มีความเหมาะสมที่จะเป็นครูได้หรือไม่ 

คุณค่าของความเป็นครูน่าจะอยู่ที่ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ และเป็นแบบอย่างความประพฤติให้กับนักเรียน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นครูผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศใด

ในต่างประเทศก็มีการถกเถียงกันว่า ครูที่แปลงเพศสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนได้หรือไม่ แม้จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในตอนแรก แต่ในที่สุดครูเหล่านี้ก็ได้รับการตัดสินว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นครูต่อไป ตัวอย่างเช่นในกรณีของคุณครูแม็คเบ็ธที่เปลี่ยนจากชายเป็นหญิง และนักเรียนคนหนึ่งให้ความเห็นว่า “หนูไม่เห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาอะไรจริงๆ เพราะเค้าเป็นครูที่มีความสามารถและหนูไม่เห็นว่าข้อนี้จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปได้”[1] หรือในกรณีคุณครูเว็บสเตอร์ที่เปลี่ยนจากหญิงเป็นชาย[2] และครูใหญ่ให้การสนับสนุนเต็มที่ ถึงขนาดเขียนจดหมายแจ้งให้นักเรียนและผู้ปกครองทราบ[3]

แม้ว่าจะมีผู้ปกครองส่วนน้อยต่อต้าน แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่า อัตลักษณ์ทางเพศของคุณครูทั้งสองนี้มีผลในทางบวกต่อชีวิตลูกๆ ของตน โดยเป็นต้นแบบเพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับต่อความหลากหลาย ผู้ปกครองคนหนึ่งกล่าวว่า “แทนที่จะเอาลูกไปเรียนห้องเรียนอื่น นี่เป็นโอกาสดีที่สุดให้พ่อแม่ได้สอนลูกเกี่ยวกับความแตกต่างหลากหลาย โลกนี้เต็มไปด้วยผู้คนและความเชื่อที่เราทุกคนคงไม่เห็นด้วยไปเสียทั้งหมด เราไม่อาจสอนลูกว่าถ้าไม่ชอบก็ไปที่อื่น แต่เราต้องสอนลูกว่าไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับความเชื่อคนอื่นแต่ต้องเคารพความเชื่อของเค้า นี่คือสิ่งที่ทำให้ประเทศนี้เป็นประเทศที่ดี” [4]

ครู “เพศที่สาม” จะทำให้เด็กเลียนแบบอยากเปลี่ยนเพศหรือไม่ 

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า อัตลักษณ์ทางเพศนั้นก่อตัวขึ้นอยู่ภายในจิตใจของเด็กตั้งแต่ยังแบเบาะและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจจากการลอกเลียนแบบหรืออิทธิพลภายนอก มีกรณีศึกษาที่เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องนี้[5] เด็กทารกเพศชายคนหนึ่งอวัยวะเพศเสียหายจากอุบัติเหตุทางการแพทย์เมื่ออายุแค่ 8 เดือน พ่อแม่จึงไปหาแพทย์มีชื่อเสียงคนหนึ่งที่เชื่อว่าอัตลักษณ์ทางเพศเปลี่ยนแปลงได้จากการเลี้ยงดู และให้แพทย์ทำการผ่าตัดให้กลายเป็นอวัยวะเพศหญิง จากนั้นก็ให้ฮอร์โมนและเลี้ยงดูเป็นผู้หญิงมาตลอดในชื่อเบรนด้า แต่เมื่อเด็กนั้นเติบโตขึ้นกลับไม่เคยรู้สึกว่าเป็นผู้หญิง และกลับมาใช้ชีวิตเป็นชายในชื่อเดวิด ตั้งแต่อายุ 14 ปี จนตลอดชีวิต

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่การเลี้ยงดูปลูกฝังอย่างตั้งใจรวมถึงการให้ฮอร์โมนก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความรู้สึกส่วนลึกข้างในที่มีอยู่เดิมได้ ดังนั้นความรู้สึกว่าตนเองเป็นเพศใดนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากการเลียนแบบได้ ลองคิดดูว่า หากอัตลักษณ์ทางเพศเกิดจากการลอกเลียนแบบในโรงเรียนได้จริง ก็ไม่น่าที่จะมีเด็กที่เติบโตขึ้นเป็น “เพศที่สาม” เพราะที่ผ่านมาไม่มีต้นแบบให้ลอกเลียน ธรรมชาติของเด็กสามารถเลียนแบบได้แต่พฤติกรรมการแสดงออกภายนอกเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่มีอยู่แล้วในเบื้องลึกของจิตใจ

ครู “เพศที่สาม” จะทำให้เด็กสับสนหรือไม่ 

ทุกครั้งที่ครูสอนเรื่องใหม่ต่อเด็กย่อมทำให้เด็กสับสนในตอนเริ่มต้น ความสับสนเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การเรียนรู้และส่วนหนึ่งของชีวิต จึงไม่ใช่สิ่งไม่ดี ในทางตรงกันข้าม ความไม่เข้าใจในเรื่องอัตลักษ์ทางเพศของครูเป็นโอกาสในการสอนเด็กเกี่ยวกับเรื่องการยอมรับ ความเมตตากรุณา ความเคารพในความแตกต่างของมนุษย์ แท้จริงแล้ว เด็กๆ ยอมรับและรับมือกับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ง่ายกว่าและมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กยังมีอคติน้อยกว่า นอกจากนี้ ครู “เพศที่สาม” ยังสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนที่มีความรู้สึกภายในไม่ตรงกับเพศกำเนิดให้สามารถแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศของตนได้อย่างเหมาะสม

ทำไมสังคมไทยจึงควรยอมรับครู “เพศที่สาม” 

วงการศึกษาน่าจะสามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสังคมวงกว้างได้ในเรื่องของการให้ความเคารพต่อความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในสังคม

ระบบการศึกษาของสยามประเทศในอดีตนั้นมีแต่ในวัดและในวังและถูกผูกขาดโดยผู้ชาย การศึกษาของเจ้านายฝ่ายหญิงก็เป็นไปแต่เฉพาะเรื่องของความเป็นกุลสตรี จนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 “การเกิดอาชีพครูผู้หญิงนั้นเป็นผลพวงจากการขยายตัวทางการศึกษาฝ่ายสตรี ที่เป็นกระบวนการเชื่อมโยงมาจากการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก”[6] แต่ถึงกระนั้นก็ยังประสบอุปสรรคปัญหาความไม่เท่าเทียมในเรื่องเงินเดือน บำเหน็จบำนาญ วิทยะฐานะและบรรดาศักดิ์ จนมีคำตัดพ้อเรียกร้องความเสมอภาคในนิตยสาร “สุภาพสตรี” ว่า “สตรีเราคงไม่อาภัพเหมือนแต่ก่อน ซึ่งมีผู้เข้าใจกันว่าผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน มาสมัยนี้เราได้รับความเสมอภาคต่อการศึกษาแล้ว ความคิดความอ่านก็เท่าเทียมกับเพศตรงข้ามเท่าๆ กัน” จนเมื่อมีการออกพรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2479 จึงได้รับความเสมอภาคตามกฎหมาย

การยอมรับให้ครู “เพศที่สาม” มีส่วนร่วมในวิชาชีพครู ก็ไม่ต่างกับการเรียกร้องให้ครูผู้หญิงได้รับการเคารพเสมอภาคกับครูผู้ชายในอดีต และสอดคล้องกับแนวทางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดำเนินสืบเนื่องมาเกือบร้อยปี เพื่อนำไปสู่การให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่ม เป็นสังคมตัวอย่างและต้นแบบให้นักเรียน ผู้ปกครอง และสังคมวงกว้างได้เรียนรู้ในเรื่องนี้อีกด้วย อนึ่งในช่วงปีพ.ศ. 2539-40 ก็มีกรณีที่สถาบันราชภัฏประกาศไม่รับผู้มีความ “เบี่ยงเบนทางเพศ” เข้าศึกษา แต่ต้องเลิกล้มกฎนี้ไปเมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมวงกว้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยแม้แต่เมื่อสิบห้าปีที่แล้วก็ไม่ยอมรับต่อการเลือกปฏิบัติเช่นนี้

“เพศที่สาม” ผิดศีลธรรมหรือไม่ 

ในพระไตรปิฎกมีเรื่องราวที่น่าสนใจของพระโสไรยยะเถระ ที่เคยสลับเพศจากชายกลายเป็นหญิงแล้วกลับมาเป็นชายอีกครั้ง แต่ก็สามารถบรรลุอรหันต์ได้ในที่สุด[7]จึงเห็นได้ว่าในพุทธศาสนาไม่ได้มีอคติต่อเรื่องนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้มีผู้ถามว่า การเกิดมาเป็นผู้หญิงแล้วชอบผู้หญิงด้วยกัน เป็นลักษณะทอมดี้ หรือผู้ชายชอบผู้ชายด้วยกัน เป็นเกย์ตุ๊ด ผิดหลักศีลธรรมที่บัญญัติไว้ในพระพุทธศาสนาหรือไม่ ถ้าผิดจะเป็นบาปมากไหม พ่อแม่และผู้ปกครองควรวางตัวและวางใจอย่างไร

พระไพศาล วิสาโล ตอบไว้ในเรื่องนี้ว่า “ไม่มีบัญญัติที่ไหนในพุทธศาสนาว่าการชอบคนเพศเดียวกันนั้นเป็นบาป สิ่งที่เป็นบาปหรือผิดศีลก็คือ การละเมิดศีลข้อ 3 ซึ่งหมายถึงการล่วงละเมิดคนที่มีเจ้าของแล้ว... สำหรับผู้ที่เป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เป็นธรรมดาที่ย่อมไม่สบายใจเมื่อพบว่าลูกของตัวชอบคนเพศเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกรงว่าคนอื่นจะไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับ หาไม่ก็เกรงว่าลูกของตนจะมีชีวิตคู่ที่ไม่ราบรื่น แต่ก็ไม่ควรมองว่าลูกของตนทำบาปหรือมีความวิปริตผิดเพี้ยน หรือปฏิเสธลูกของตัว ทางที่ถูกคือยอมรับสิ่งที่เขาเป็น และช่วยเหลือให้เขาไม่เป็นทุกข์ในสิ่งที่เขาเป็นตราบใดที่ไม่ได้ทำสิ่งที่ ผิดศีลผิดธรรมหรือเบียดเบียนผู้อื่น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เขาสามารถพัฒนาตนให้มีความเจริญงอกงามเท่าที่จะทำได้”[8] 

“เพศที่สาม” เป็นโรคจิตหรือไม่ 

ประเด็นนี้มีกรณีศึกษาจากการที่สาวประเภทสองคนหนึ่งเข้ารับการเกณฑ์ทหารและถูกระบุในใบผ่านการคัดเลือกว่าเป็น “โรคจิตถาวร” จึงฟ้องร้องกระทรวงกลาโหมต่อศาลปกครอง โดยศาลมีคำตัดสินว่า การระบุดังกล่าวนั้น “เป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดศักดิศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ฟ้อง” โดย “ผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงผู้มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด หาได้เป็นโรคจิตแต่อย่างใด...คำว่า “โรคจิต” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง “ผู้ที่มีความผิดปกติของความรู้สึก ความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมอย่างรุนแรงถึงขนาดควบคุมสติไม่อยู่ เช่น มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน วิกลจริตก็เรียก (อ. Psychosis)” สอดคล้องกับในทางการแพทย์ซึ่งได้ให้ความหมายของอาการ “โรคจิต” ในทำนองเดียวกันว่า หมายถึง คนบ้า หรือวิกลจริต โดยจะมีความผิดปกติด้านความคิด อารมณ์ การแสดงออก และการรับรู้ เช่นหลงผิดคิดว่ามีคนมาทำร้าย หัวเราะร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล อาละวาดทำร้ายคน พูดคนเดียว หูแว่ว หรือเห็นภาพหลอนเป็นต้น”

สภาวะทางจิตใจใดๆ จะถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิตก็ต่อเมื่อทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทางร่างกายหรือจิตใจ คนที่เป็นกะเทยแต่ไม่ได้รู้สึกทุกข์ทรมานในทางการแพทย์ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิต ความทุกข์ของกะเทยส่วนใหญ่นั้นแท้จริงแล้วเกิดจากการไม่ได้รับการยอมรับ การถูกเลือกปฏิบัติหรือตีตราจากครอบครัว หรือสังคม และจากอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถแสดงออกอัตลักษณ์ตามเพศที่ตนรู้สึกภายในได้

กฎหมายไทยมีกำหนดไว้ว่าอย่างไรเกี่ยวกับสิทธิความหลากหลายทางเพศ 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุแห่งเพศ โดยคำว่า “เพศ” นั้นในเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “ความแตกต่างเรื่อง “เพศ” นอกจากหมายถึงความแตกต่างระหว่างชายหรือหญิงแล้ว ยังหมายรวมถึงความแตกต่างของบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual Identity) หรือเพศสภาพ (Gender) หรือความหลากหลายทางเพศ (Sexual Diversity) แตกต่างจากเพศที่ผู้นั้นถือกำเนิดอยู่ด้วย จึงไม่ได้บัญญัติคำดังกล่าวข้างต้นไว้ในมาตรา 30 เนื่องจากคำว่า “เพศ” ได้หมายความรวมถึงคำดังกล่าวอยู่แล้ว และจะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ” ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลต่างๆ ที่ห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุอัตลักษณ์ทางเพศ

มาตรานี้ยังถูกใช้อ้างอิงโดยศาลปกครองเชียงใหม่ในการยกเลิกคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่ห้ามกะเทยนั่งขบวนรถบุปผาชาติในงานไม้ดอกไม้ประดับ 2553 หลักการยอกยาการ์ต้า ซึ่งเป็นการประมวลการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศได้กล่าวถึงสิทธิในด้านการศึกษาไว้ดังนี้  ทุกคนมีสิทธิด้านการศึกษาโดยได้รับการคำนึงถึงแต่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุวิถีทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ

รัฐจัก :

1)ใช้มาตรการทางนิติบัญญัติ ทางปกครองและอื่นๆ ทั้งหมดที่จำเป็น เพื่อรับประกันความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา และการปฏิบัติอย่างเสมอภาคต่อนักเรียน นิสิตนักศึกษา คณาจารย์และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในระบบการศึกษา โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติจากสาเหตุวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ

2)ให้การศึกษามีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลิกภาพ ความสามารถพิเศษ สมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจของนักเรียนนิสิตนักศึกษาทุกคนอย่างเต็มศักยภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนนิสิตนักศึกษาทุกคนไม่ว่าจะมีวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศรูปแบบใด

3)ให้การศึกษามีทิศทางในการพัฒนาการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และความเคารพต่อพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา และค่านิยมของเด็กแต่ละคน ด้วยจิตวิญญาณของความเข้าอกเข้าใจ สันติสุข ความอดทนอดกลั้น และความเสมอภาค โดยคำนึงถึงและเคารพต่อวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย

4)ให้วิธีการศึกษา หลักสูตรและ สื่อการเรียนการสอนต่างๆ มีบทบาทในการยกระดับความเข้าใจและความเคารพต่อวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย รวมถึงความจำเป็นเฉพาะของนักเรียน นิสิตนักศึกษา พ่อแม่ และสมาชิกครอบครัวที่เกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

5)ให้มีกฎหรือนโยบายสถานศึกษาที่ให้ความคุ้มครองเพียงพอต่อนักเรียน นิสิตนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่มีวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศแบบต่างๆ จากการถูกแบ่งแยกกีดกันทางสังคมและการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษาทุกรูปแบบ รวมถึงการกลั่นแกล้งและรังควาน

6)รับประกันว่านักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ถูกแบ่งแยกกีดกันทางสังคมหรือเผชิญความรุนแรง จะไม่ถูกลดบทบาทหรือกันออกไปเพื่อการคุ้มครอง และให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาผู้นั้นมีส่วนร่วมในการหาทางออกที่ดีที่สุดซึ่งได้รับความเคารพจากทุกฝ่าย

7)ใช้มาตรการทางนิติบัญญัติ ทางปกครองและอื่นๆ ทั้งหมดที่จำเป็น เพื่อให้การใช้กฎระเบียบต่างๆ ในสถานศึกษาสอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติหรือลงโทษด้วยสาเหตุวิถีทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ หรือการแสดงออกในเรื่องดังกล่าว

8)ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรในการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสาเหตุวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติดังกล่าวในระบบการศึกษามาก่อน

จัดทำโดย โครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ติดต่อ ผู้จัดการโครงการ คุณสุพีชา เบาทิพย์ 085 324 6482 

[1] http://abcnews.go.com/GMA/story?id=1682922
[2] http://abclocal.go.com/wtvd/story?section=triangle&id=5620082
[3] http://www.wral.com/news/local/page/1757482/
[4] “Transgender Teachers as Role Models for a Tolerant Society” เป็นการศึกษาผลของทัศนคติสังคมต่อการเลือกปฏิบัติในการจ้างครูที่เป็นกลุ่มคนข้ามเพศในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความน่าสนใจหลายประการ ดาวน์โหลดได้จาก http://www.kentlaw.edu/academics/plel/Ashton%202nd%20place%20winner%202008-09%20LJWC.pdf
[5] http://www.cbc.ca/news/background/reimer/
[6] เปรมสิรี ศักดิ์สูง, “อาชีพครูผู้หญิง: ความไม่เสมอภาคทางเพศในวิชาชีพ พ.ศ. 2456-2479” http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOH/article/view/1254/1262
[7] http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=13&p=9
[8] https://www.facebook.com/photo.php?fbid=212160302144628


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น