เนื้อหาแนวความคิดของบทความนี้ส่วนใหญ่มาจากแนวคิดของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เรื่องของ บ้านดนตรี (บ้านนักดนตรี) วัด (เวทีของนักดนตรี และพีธีกรรมที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านและวัง) วัง (แหล่งสนับสนุนนักดนตรี เจ้านายที่ชื่นชอบดนตรีมักแสวงหานักดนตรีมือฉกาจประจำวงของวังตน)
ความสัมพันธ์ระหว่าง บ้าน วัด วัง คือดุลยอำนาจของสังคม ที่สถาบันกษัตริย์ใช้ดนตรีในการประชาสัมพันธ์ สรรเสริญพระเกียรติยศ ในพิธีกรรม สร้างความศักดิ์สิทธิ์ ขณะอีกด้านสถาบันสงฆ์ก็เจือปนด้วยบรรดาศักดิ์แห่งวรรณะ ดนตรีจึงถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ โดยรับความคิดมาจากพราหมณ์ สถาปนาเทพเจ้าต่างๆ ให้อยู่ภายใต้พุทธอำนาจ ในขณะที่สถาบันกษัริย์ยังเหนียวแน่นในความเชื่อการอวตารของพระราม หรือพระนาราย ฉะนั้นดนตรีไทยจึงรับใช้สองความเชื่อทั้งพุทธ และพราหมณ์ ในสองสถาบันอย่างเหยี่ยวแน่น โดยสองสถาบันนี้เชื่อมต่อกันด้วยความเป็น "ธรรมราชา" คือกษัตริย์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์พระศาสนา
พอมองออกมานอกรั้ววัง ชาวบ้านก็มักมีความฝัน วาสนา อยากเป็นอยู่ใช่น้อย การดนตรีในวัง จึงถูกสื่อออกมาเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของกษัตริย์ เจ้านาย หรือเสมือนดนตรีเจ้านาย เล่นเรื่องของเจ้านาย เกิดเป็นละครน้ำเน่ายุคแรกๆ ที่ตัวนางเอก พระเอก ตกระกำลำบาก ถูกตราหน้าในฐานะต่ำต้อย จนกระทั่งโชคดีที่ทราบว่าตนเป็นลูกกษัตริย์ หรือได้อภิเษก แต่ก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ นาๆ
นี่คือความฝันของชาวบ้าน ความฝันเล็กๆ ที่ช่วยเติมเต็มความหรรษาในชีวิตด้วยตัวตลก มุขหยาบโลน แต่ละครบ้าน เช่นละครนอก ก็ยกย่องสรรเสริฐ บูชาในสถาบันกษัตริย์มิเสื่อมคลาย เปรียบเสมือนพุทธอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ที่ควรเคารพบูชาอย่างนั้น มิผิดเพี้ยน ดนตรี จึงถือเป็นเครื่องเติมแต่งพิธีกรรม หรือเฟอร์นิเจอร์ของผู้มีอันจะกิน เสมือนไอพอต ไอโฟน ของผู้คนสมัยทุนนิยมพัฒนาปัจจุบัน
ฉะนั้นกฏกติกาสังคมสมัยก่อน ถึงรัชกาลที่ ๕ มีประเด็นสำคัญอยู่ที่ ยังมิได้มีการเลิกทาส ส่งผลให้ชายทุกคนต้องมีเจ้านาย มีสังกัด ที่อยู่ และที่ทางของตน นักดนตรีด้วยก็เช่นกัน ควรได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้านาย เพราะไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ หรือต้องได้รับการชุบเลี้ยง ดูแลมาจากวัด เพราะเหล่านักดนตรีเหล่านี้ตางเติบโตมาพร้อมกับพระพุทธศาสนา ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม
ทั้งนี้ผู้เขียนใคร่ขอเสนอถึงความเกี่ยวเนื่องของดนตรีโดย "การประชัน" ในความเกี่ยวเนื่องของทั้ง ๓ สถาบัน คือ บ้าน วัด วัง และอีกหนึ่งคือสถาบันการศึกษาที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในยุคหลัง หากผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขออภัย มา ณ ที่นี้ด้วย และรบกวนท่านผู้รู้กรุณาชี้แจง สั่งสอน ได้อย่างเต็มใจ
ลำดับเหตุการณ์ วิวัฒนาการ การประชัน ประกวด และประลองดนตรี ในกรุงรัตนโกสินทร์ จากอดีตจนมาถึงปัจจุบัน
พ.ศ.๒๔๒๖
มโหรีประชันถวายหน้าพระที่นั่ง วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๒๖ ในงานโสกันตร์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาค ที่พระที่นั่งจักรี และต้อนรับ ดยุ้คออฟแมคมูคเลนเบอร์ก พระราชอาคันตุกะ มโหรีประชันหน้าพระที่นั่ง ๔ วง
๑.วงหลวง (กองพิณพาทย์มหาดเล็ก)มีพระยาเสนาะดุริยางค์(ขุนเณร) และพระสำอางค์ดนตรี (ภักดิ์ อังศุวาทิน) และนาย แช่ม สุนทรวาทิน ปรากฏอยู่ด้วย
๒.วงสมเด็จฯกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร(ทูลกระหม่อมแก้ว, ทูลกระหม่อมปราสาท) วงหญิง ล้วน ควบคุมวงโดย ครูถึก ดุริยางกูร บุตรครูมีแขก
๓.วงกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์ พระราชโอรสรัชกาลที่ ๔
๔.วงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (วงหญิงล้วน) มีหม่อมสุ่น สีซอสามสาย
พ.ศ.๒๔๔๒
ประชันปี่พาทย์หน้าพระที่นั่งที่ทุ่งเขางู เมืองราชบุรี ตุลาคม ๒๔๔๒ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุพันธ์วงศ์วรเดชทรงเป็นแม่กองบัญชาการ รับสด็จรัชกาลที่๕ ประชันวงปี่พาทย์วังบูรพาฯ(เครื่องใหญ่ คนหนุ่ม) กับวงปี่พาทย์ชาวบ้าน(ชาวเมืองสมุทรสงคราม เครื่องคู่คนแก่) งานนี้คนหนุ่มสู้คนแก่ไม่ได้ สมเด็จวังบูรพาฯ ขอตัวจางวางศร
พ.ศ.๒๔๔๙
ประชันปี่พาทย์ในงานขึ้นตำหนักใหม่ วังบางขุนพรหม ของ ทูลกระหม่อมบริพัตร เมื่อ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๔๙ มีประโคมพิณพาทย์มโหรีเครื่องใหญ่ ๑ พิณพาทย์เครื่องใหญ่ ๑๕ วง พิณพาทย์เครื่องคู่ ๑ เครื่องสาย ๓ พิณพาทย์รามัญเครื่องใหญ่ ๒ เครื่องสายรามัญ ๑ รวม ๒๓ วง โดยมีการเกณฑ์ขอแรงจากเจ้านายวังต่างๆ ในปีเดียวกัน ก็มีการประชันปี่พาทย์ในงานวันประสูติสมเด็จฯ วังบูรพาฯ วันที่ ๑๑, ๑๒, ๑๓ มกราคม ๒๔๔๙ วันที่ ๑๒ มีประชันปี่พาทย์รุ่นใหญ่ วันที่ ๑๓ มีประชันปี่พาทย์รุ่นแก่
พ.ศ.๒๔๕๑
ปี่พาทย์ประชันวงที่วังท่าเตียน ในงานทำบุญขึ้นตำหนักของ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม มีการประชันปี่พาทย์ ๓ วง คือ
๑.วงวังบูรพา จางวางศร(หลวงประดิษฐไพเราะ) เป็นผู้ตีระนาดเอก
๒.วงสมเด็จพระบรม นายโสม(พระเพลงไพเราะ) เป็นผู้ตีระนาดเอก
๓.วงพระองค์เพ็ญ นายขลิบ ชำนิราชกิจ เป็นผู้ตีระนาดเอก
เล่ากันว่า ในรอบของเพลงเสภาหรือเพลงเถา กำหนดให้ต้องบรรเลงรับร้องต่อท่อนกันทั้ง ๓ วง วังบูรพาฯเป็นวงแรก จางวางศร ( ศิลปบรรเลง) ตีเร็ว ไหวมาก นายขลิบ วงพระองค์เพ็ญรับไม่ทัน ดีที่นายโสม (วงหลวงของสมเด็จพระบรมฯ ต่อมาคือรัชกาลที่ ๖) มาช่วยไว้ได้ทัน จึงต่อได้ทัน ไม่เสียหน้า ในครั้งนั้น
พ.ศ.๒๔๖๖
ประชันปี่พาทย์ครั้งใหญ่ ณ วังบางขุนพรหม ๙ มกราคม ๒๔๖๖ ในงานฉลองพระอัฐฺสมเด็จฯ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีนัตนโกสินทร์ มีประชันกันทั้งหมด ๓ วง
๑.วงบางขุนพรหม (จางวางทั่ว พาทยโกศล)
๒.วงวังบูรพา (จางวงศร ศิลปบรรเลง)
๓.วงของวังหลวง (หลวงเสนาะดุริยางค์ แช่ม สุนทรวาทิน)
เพลงที่บรรเลงมีโหมโรงต่างเพลง (ตามถนัด) ต่อด้วยเพลง พม่าห้าท่อน สี่บท บุหลัน ทยอยนอก จนถึงเดี่ยวกราวใน ปิดท้ายด้วยพระอาทิตย์ชิงดวง การประชันครั้งนี้ มีเงินรางวัล ๑๒๐ ๑๐๐ และ ๘๐ บาท ตามลำดับ (ดูรายละเอียดในหนังสือทูลกระหม่อมบริพัตรกับการดนตรี)
พ.ศ.๒๔๗๓
ประชันปี่พาทย์ที่วังลดาวัลย์ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓ ในงานฉลองพระชันษาครบ ๔ รอบสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เป็นการประชันระหว่าง
๑.วงพาทยโกศล (จางวางทั่ว)
๒.วงบางคอแหลม (หลวงประดิษฐไพเราะ)
กำหนดเพลงคือ โหมโรงไม่จำกัดเพลง พม่าห้าท่อนเถา บุหลันเถา ทะแยเดี่ยวรอบวง แขกลพบุรี ๓ ชั้น อาเฮียเดี่ยว ๓ ชั้น รอบวง ทยอยในเถา กราวในเดี่ยวต่อกันทุกเครื่องทุกวง และอาทิตย์ชิงดวงเป็นเพลงลา กำหนดให้ปรับเพลงบุหลัน และทำทางเปลี่ยนตามถนัด ผลที่ติดตามมาถึงทุกวันนี้คือเพลงบุหลันอัตรา ๒ ชั้น ที่จางวางทั่ว ทำทางเปลี่ยนเป็นสำเนียงเขมร ต่อมาได้ชื่อว่า “เขมรชมจันทร์” เป็นเพลงแตรวงเป่านำหน้ากระบวนแห่ที่นิยมมากมาจนบัดนี้
พ.ศ.๒๔๗๕
ประกวดปี่พาทย์ ๒ ฝั่งแม่น้ำในโอกาสงานฉลองเปิดสะพานพุระพุทธยอดฟ้า โดยทางการแบ่งกลุ่ม ออกเป็น ๒ กลุ่มคือ ฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี วงบางกะปิของนายชาญ ภักตร์ผ่อง (ฝั่งพระนคร) โดยมีครูสาลี่ มาลัยมาลย์เป็นผู้ควบคุมวง ไม่มีรายละเอียดเพลงที่บรรเลง
พ.ศ.๒๔๘๔
ประชันปี่พาทย์ที่บ้านบาตร ๓ สิงหาคม ในงานทำบุญวันเกิดครบ ๕ รอบ ครูหลวง ประดิษฐไพเราะที่บ้านบาตร มีการประชัน ๒ คืน คืนแรกมีนักดนตรีครูผู้ใหญ่ประชัน ๓ วง
๑.วงของหลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์)
๒.วงครูลาภ ณ บรรเลง
๓.วงครูพุ่ม โตสง่า (พุ่มใหญ่ แห่งวัดบวรนิเวศน์ บางลำพู) ไม่มีรายละเอียด
คืนวันหลังมีประชัน ๒ วง เป็นวงรุ่นลูกศิษย์ ๒ รุ่น คือ
๑. ศิษย์รุ่นใหญ่ได้แก่ ครูเผือด นักระนาด เป็นผู้ตีระนาดเอก
๒. ศิษย์รุ่นเล็กได้แก่ นายประสิทธิ์ ถาวร เป็นผู้ ตีระนาดเอก
พ.ศ.๒๔๙๒
ประกวดขับร้องเพลงไทย โดยสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ( กรมโฆษณาการ) เพลง นกขมิ้น 3 ชั้น ลมพัดชายเขาเถา บุหลันเถา และ แขกมอญ 3 ชั้น ผู้ชนะการประกวดฝ่ายหญิง คือ นางสาวเจริญใจ สุนทรวาทิน นางสาวทัศนีย์ ดุริยประณีต และนางสาวสุดจิตต์ ดุริยประณีต ตามลำดับ ฝ่ายชายมีนายเชื้อ นักร้อง กับ ปลัดฟ้อย ทองอิ่ม ผู้ชนะที่ ๑ ทั้งสองท่าน ได้บันทึกแผ่นเสียง กับห้างกมล ศุโกศล ในปีต่อมา
พ.ศ.๒๔๙๔
ประกวดขับร้องเพลงไทย ระดับนักเรียน ประถมและมัธยมศึกษา ในงานศิลปะหัถกรรม เดือนธันวาคม ของกระทรวงศึกษาธิการ ประทุกปี ผู้ชนะเลิศฝ่ายหญิงมาอาทิ สุรางค์ ดุริยพันธ์ และ และ ฝ่ายชาย คือนฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ เป็นต้น
พ.ศ.๒๕๐๖
การประกวดขับร้องเพลงไทย โดยสถานีวิทยุ ว.ป.ถ. (ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี) ผู้ชนะเลิศฝ่ายหญิง คือ นางสาวประชิตร มะกล่ำทอง (ต่อมาใช้นามสกุล ขำประเสริฐ) ฝ่ายชายคินายอภัย คล้ายสีทอง (ต่มาใช้นามว่า แจ้งว คล้ายสีทอง (ศิลปินแห่งชาติ)
พ.ศ. ๒๕๑๓
ที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพฯ มีพิธีไหว้ครูนาฎศิลป์ (ลิเกและละคร) ต่มมาตอนค่ำ มีการบรรเลงในลักษณะแสดงฝีมือและความสามารถ ไม่ได้เป็นการประชันหรือการประกวด ในปีต่อ ๆ มา จึงมีการประชันกันอย่างจริงจัง วงที่เคยเข้าประชันเช่น วงครูสมภพ ขำประเสริฐ วงดุริยประณีต วงศิษย์ครูโม ญาติพระประณีตวรศัพท์ (ระนาดเอกชื่อนายทะนง แจ่มวิมล) วงของกรุงเทพมหานคร (เทศบาล) ควบคุมโดยครูพินิจ ฉายสุวรรณ เป็นต้น
พ.ศ.๒๕๒๒
ปี่พาทย์ประชัน ในรายการดนตรีไทยพรรณนา บรรเลงเพลงปี่พาทย์ไม้แข็งประชันวงระหว่าง โรงละครแห่งชาติ ครู เสรี หวังในธรรมจัด (ต้นปี)
๑. วงบ้านใหม่หางกระเบน อยุธยา (นายสังเวียน เกิดผล ควบคุมวง) มาลี เกิดผล ร้อง
๒. วงครูรวม พรหมบุรี (ครูรวม หัวหน้าวง) ทองม้วน เพิ่มสิน และ วิมล เผยเผ่าเย็น ร้อง
เพลงที่กำหนดได้แก่ เพลงโหมโรง, เพลง(ตามถนัด), เขมรราชบุรีเถา หรือทยอยเขมรเถา(จับฉลากเอา), เดี่ยวเครื่องมือด้วยเพลง พญาโศก, เพลงแต่งใหม่กับเพลงเก่า ถึงเดือนเมษายน ปีเดียวกันนี้ อาจารย์ภาวาส บุนนาค ขอให้ครูรวม ยกวงไปบรรเลงขับร้องถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข หัวหิน นักร้องคู่เดิม ทองม้วน ร้องเพลงแขกมอญเถา
ครูเทียบ คงลายทอง นำปี่ในที่สร้างขึ้นใหม่ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วงครูรวมได้พบกับวงเสริมมิตร ทั้งสองวงได้บรรเลงหน้าพระที่นั่ง จึงบรรเลงสลับเพลงกัน เป็นเชิง “ประฝีมือ” ไม้ได้ประชันกันอย่างแท้จริง
วง เสริมมิตร (นายประสงค์ พิณพาทย์ ระนาดเอก ครูเฉลิม บังทั่ง ระนาดทุ้ม) นักร้องมีสุรางค์ ดุริยพันธุ์ และ สำเนียง ฟักภู่ เพลงที่วงนี้บรรเลง คือทยอยเขมรเถา ฯลฯ ในปีเดียวกันนี้ ก็มีดนตรีไทยพรรณนา จัดปี่พาทย์ประชัน ณ โรงละครแห่งชาติ ระหว่าง
๑.วงนายสุพจน์ โตสง่า กรุงเทพฯ (วงกรุงเทพนฤมิต) บรรเลงเพลงโหมโรงแขกมอญ, ทยอยในเถา (ขับร้องโดยสุรางค์ ดุริยพันธุ์) , เดี่ยวสารถี
๒.วงนายประเสริฐ สดแสงจันทร์ สุพรรณบุรี (วงทศทิศนฤนารถ) โหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง, เดี่ยว แขกมอญฯลฯ (ขับร้องโดยกัญญา โรหิตาจล)
พ.ศ.๒๕๒๓
ปี่พาทย์ประชันวง ชุด “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” ๑๘ ตุลาคม จัดในรายการดนตรีไทย พรรณนา ครั้งที่ ๑๑ ณ โรงละครแห่งชาติ มีวงดนตรีร่วมประชัน ๔ วงได้แก่
๑.วงสุพจน์ โตสง่า กรุงเทพฯ
๒.วงสุรเดช กิ่มเปี่ยม นนทบุรี
๓.วงพัฒน์ บัวทั่ง นนทบุรี
๔.วงเมธา อยู่เย็น ปทุมธานี
โดยจับฉลากเลือกเพลงบรรเลงก่อนหลัง รอบที่๑ เพลงโหมโรง ได้แก่ เพลงมหาชัย, เพลงไอยเรศ, เพลงครอบจักรวาล ๓ ชั้น ออกเพลงม้าย่อง และเพลงประสานเนรมิตร ออกเพลงขยะแขยง รอยที่ ๒ บรรเลงเพลงเถา เพลงใดเพลงหนึ่ง ในนี้ได้แก่ เพลงบุหลันเถา, เพลงสี่บทเถา, เพลงเทพรัญจวนเถา, เพลงเฉลิมพิมานเถา รอบที่ ๓ บรรเลงเพลงแขกมอญเถา ๓ ชั้นทุกเครื่องมือ (จับฉลาก) รอบที่ ๔ บรรเลงเพลงลา(ปลาทองเถา) มีเดี่ยวชั้นเดียว ต้องบรรเลงทั้ง ๔ วง
พ.ศ.๒๕๒๓
ประกวดการขับร้องเพลงไทยฆ้องทองคำครั้งที่ ๑ โดยมีบุญเสริม ถาวรกุลเป็นผู้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายและดำเนินการรายสำคัญ มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ (นายกำจัด กีพานิช) อธิบดีกรมศิลปากร นาย(เดโช สวนานนท์) พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร นายจำนง รังสิกุล และ พันตำรวจเอกพจน์ บุณยะจินดา ฯลฯ เป็น หัวหน้าดำเนินการ อาจารย์มนตรี ตราโมท เป็นประธานกรรมการตันสิน พร้อมด้วยกรรมการอีกกว่า 10 ท่าน แบ่งผู้ประกวดเป็นรุ่นเล็ก (อายุ 13-25ปี) ร้องเพลงแขกสาหร่าย ๒ ชั้น หกบท ๒ ชั้น รอบชนะเลิศ ร้องแขกลพบุรี ๓ ชั้น กับรุ่นใหญ่ (อายุ 26-45 ปี) รอบแรกร้องนกขมิ้น ๓ ชั้น สารถี เถา รอบชนะเลิศ ร้อง เขกมอญ ๓ ชั้น
รุ่นเล็กฝ่ายชาย ได้รับรางวัลตามลำดับคือ นานฐานันดร์ กัมพลพันธ์ ที่ ๑ ตามด้วย นายมณเฑียร แสง โชติ และ ด.ช.ดนัย น้อยชื่น ฝ่ายหญิงที่ ๑ ได้แก่ นางสาวสาทิพย์ น้อยศิริ ตามมาด้วยน.ส. สุกัญญา ทัพพร และ น.ส.อุดมทรัพย์ เสณีย์พงศ์ รุ่นใหญ่ที่ ๑ ได้แก่ นางสาวยมโดย เพ็งพงศา ตามมาด้วยนางบุหงา นาคพลั้ง และ น.ส.พจนีย์รุ่งเรือง ฝ่ายชายที่ ๑ ได้แก่ นายสมบัติ สังเวียนทอง ตามมาด้วย นายณรงค์ แก้วอ่อน (รวมบรรเลง) และ นายสมศักดิ์ อ่อนจาก ตามลำดับ
ประกวดดนตรีไทยเพื่อความมั่นคงของชาติ จัดโดยมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงของภายใน(กอ.รมน.) ชิงถ้วยพระราชทานามเด็จพระเทพรัตนฯ โดยมุ่งเสริมเยาวชนไทยตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงระดับอุดมศึกษา
พ.ศ.๒๕๒๗
ปี่พาทย์ประชัน วงดุริยประณีต กับวงประคองศิลป์ ๖ เมษายน จัดในรายการดนตรีไทยพรรณนา ครั้งที่ ๑๒ ณ โรงละครแห่งชาติ มีวงดนตรีปี่พาทย์ไม้แข็ง ร่วมประชัน ๒ วงได้แก่
๑.วงดุริยประณีต กรุงเทพฯ (นางสุตจิตต์ ดุริยประณีต ควบคุม, ทัศนัย พิณพาทย์ ระนาด เอก)
๒.วงประคองศิลป์ สุพรรณบุรี (นายประคอง วิสุทธิวงศ์ ควบคุม, สมนึก ศรประพันธ์ ระนาดเอก)
เพลงที่บรรเลงได้แก่ โหมโรงแขกมอญ ๓ ชั้น ไม่มีเดี่ยวท้ายเพลง, บรรเลงเพลงเลือก หน้าทับปรบไก่ไม่จำกัดจังหวะออกภาษา, เพลงเขมรราชบุรี วงที่ได้ท่อนคู่ลงลูกหมดเสมอ, เดี่ยวกราวใน ๓ ชั้นต่อเครื่องมือ, เพลงลาด้วยแขกลพบุรีเถาวงใดบรรเลงท่อนสุดท้ายออกลูกหมด ในปีเดียวกันนี้ก็มีประชันปี่พาทย์ที่วัดหนัง ในงานไหว้ครูชมรมศิลปินฝั่งธนบุรี ๑๐ พฤษภาคม คู่แรก
๑.วงวัดเขมาภิรตาราม (นายสุพัตร แย้มทัพ ควบคุมวง, ด.ช.ไกรสันต์ แย้มทัพ ระนาดเอก) ๒.วงส่งเสริมสังคีต (สุชาติ ดนตรี ควบคุมวง, ด.ช.สายชล พุทธฤทธิ์)
เพลงที่ประชันได้แก่ โหมโรงกัลยาณมิตรออกเดี่ยวเชิดใน, พม่าเห่, สี่บท, บุหลัน, แขกมอญ, ทยอยใน, บังใบ, เดี่ยวพญาโศก, เดี่ยวการเวกคู่หลังที่ขึ้นประชันวง
๑.วงพ.นักระนาด (วีนัส แก้วกนก ควบคุม, ดนัย มุ่งเยียวยา ระนาดเอก)
๒.สามัคคีดนตรีไทย (บุญเลิศ ปิ่นช้าง ควบคุม, ประสิทธิ์ สิทธิชัย ระนาดเอก)
เพลงที่ประชัน ตับพรหมาสตร์ออกตัวรำ(ควบคุมฝ่านนาฏศิลป์ โดยสมยศ เปี่ยวลาภ), โหมโรงสามสถาบัน, โหมโรงมหาชัย, ใบ้คลั่ง, เขมรใหญ่, โอ้ลาว, ทยอยเขมร, เขมรราชบุรี
พ.ศ.๒๕๒๘
เดือนตุลาคมปีนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลจัดประกอดดนตรีไทยฆ้องทองคำ ครั้งที่ ๒ โดยมีคุณบุญเสริม ถาวรกุลเป็นผู้ให้การสนับสนุนรายใหญ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัล ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลได้แก่
ขับร้องฝ่ายหญิง บรรจง สุขสวัสดิ์ บ้านดุริยประณีต
ขับร้องฝ่ายชาย นายชัยภพ ทัพวาทิน กรมประชาสัมพันธ์
จะเข้ นายดุษฏี สว่างวิบูลย์พงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซอด้วง นายธีระ ภู่มณี ขลุ่ย นายรังษี เกษมสุข
ระนาดเอก ไม่มีผู้ได้รางวัลชนะเลิศ
เสร็จพระราทานรางวัลแล้วเสวยพระกระยาหารค่ำพร้อมประทับทอดพระเนตรการประชันปี่พาทย์ ครั้งใหญ่
๑.วงดนตรีบ้านบางกะปิ (ครูพินิจ ฉายสุวรรณ)
๒.วงบ้านบางลำภู (ครูสมชาย ดุริยปราณีต)
เป็นการประชันปี่พาทย์ไม้แข็งหน้าพระที่นั่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ครั้งแรกของสมัยประชาธิปไตย เพราะขาดการประชันหน้าพระที่นั่งมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ ประชันบรรเลงเพลงโหมโรงไปจนถึงเดี่ยวเรียงตัว เพลงกราวใน และเพลงอำลา ซึ่งใช้บทร้องเพลงลา พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาทั้งสองวง วงบ้านบางกะปิ บุหงา นาคพลั้งร้อง เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง วงบ้านบางลำพู สุรางค์ ดุริยพันธ์ร้อง เพลงเต่ากินผักบุ้ง ประทับทอดในงานตั้งแต่ หกโมงเย็นจนหลังเที่ยงคืนจึงเสด็จกลับ
ในปีเดียวกันนี้ คอลัมสยามสังคีต ได้จัดประกวดมหกรรมดนตรีไทยภาคใต้ ครั้งที่๕ มีโรงเรียนเข้าร่วม ๑๕ โรงเรียน ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ แบ่งการประกวด ๒ ประเภท คือ วงเครื่องสายเก่าที่เคยส่งมาแล้วปีก่อน กับวงใหม่ที่เพิ่งส่งประกวด วงที่ชนะเลิศคือวงประเภทเก่า โรงเรียนปากผนัง
พ.ศ.๒๕๓๐
ประกวดเดี่ยวเครื่องดนตรีไทย รางวัลศรทอง ครั้งที่๑ วันที่ ๕ สิงหาคม โดยมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ “รางวัลศรทอง” บรรเลงเดี่ยว “ดีด สี ตี เป่า” ๕ เครื่องมือ จะเข้ ซอด้วง ซออู้ ขิมสาย และขลุ่ย ประกวด ๒ ระดับ คือ ระดับประถม และมัธยม จัด ณ ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ
ในปีเดียวกันนี้มีการประลองปี่พาทย์งานไหว้ครูชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย พระนครศรีอยุธยา วันที่ ๑๓ สิงหาคม ที่วัดช่างทอง แม่งานคือนายสุพจน์ โตสง่า เชิญครูบุญยัง เกตุคง เป็นพิธีกร และมีครูบุณยงค์ เกตึงเป็นผู้ควบคุมการบรรเลง กลางคืนมีปี่พาทย์ทั้งในจังหวัด และจังหวัดอื่นๆ จับคู่บรรเลงถวายมือจำนวน ๑๒ คณะ
พ.ศ.๒๕๓๐
ประลองเพลงประเลงมโหรี ครั้งที่ ๔ วันที่ ๑ ธันวาคม โดย สวช. ธนาคารกรุงเทพ ณ ศูนย์สังคีตศิลป์ โดยมีอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน และอาจารย์ อุดม อรุณรัตน์ เป็นประธานตัดสิน ในระดับ ประถม และมัธยมศึกษา มีแต่เด็กในกรุ่งเทพฯ ที่ได้รับรางวัล
พ.ศ.๒๕๓๕
ปี่พาทย์ประชันวงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ วันที่ ๒๗ มิถุนายน เนื่องในวโรกาสมหามงคลครบ ๕ รอบ ณ ศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประชันกัน ๒ คู่ คู่แรกได้แก่
๑. คณะสามัคคีดนตรีไทย กรุงเทพฯ (นายรักษ์ ปิ่นช้าง ควบคุม, นายชัยชนะ เต๊ะอ้วนบรรเลงระนาดเอก
๒. คณะศิษย์ครูรวม พรหมบุรี จากราชบุรี (นายประมวล ครุฑสิงห์ ความคุม, วิภาตครุฑสิง ระนาดเอก)ในเพลงเดี่ยวพญาโศก ส่วนคู่ที่ ๒ คือ
การประชันคู่ที่ ๒
๑. คณะศิษย์ สุพจน์ โตสง่า (นายชัยยุทธ โตสง่า ระนาดเอก)
๒.คณะนายสมนึก ศรประพันธ์ (นายสมนึก ศรประพันธ์ ระนาดเอก)เดี่ยวเพลงอาเฮีย
ในปีเดียวกันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดการประกวดดนตรีไทยที่วังบางขุนพรหม ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ประเภทปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ ๕๐ ปี แห่งการดำเนินของธนาคารฯ เพื่อรำลึกถึงสมเด็จฯเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต วงจุฬาวาฑิตได้รางวัลชนะเลิศ โดยกติกา ให้ใช้เพลง โหมโรงเสภา ๓ ชั้นตามถนัด เพลงแขกสายเถา และเพลงเต้ากินผักบุ่ง ๒ชั้น เนื้อร้องของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในปีเดียวกันนี้มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประกวดแสงทิพย์ประลองปี่พาทย์ ครั้งที่๑ โดย ดร.สุกรี เจริญสุข เพื่อแต่งเพลงขึ้นมาใหม่สำหรับบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ วงที่ชนะเลิศ คือ วงบ้านบางกะปิ บรรเลงเพลงกบเต้นเถา แต่งโดยครูพินิจ ฉายสุวรรณ หัวหน้าผู้ควบคุมวง
พ.ศ.๒๕๓๗
ปี่พาทย์ประชันวงที่ทุ่งภูเขาทอง วัดบำรุงธรรม อ.บางบาล จ.อยุธยา ในงานบำเพ็ญกุศลอัฐิบรรพบุรุษ เจ้าภาพคือ กำนัลสำราญ เกิดผล หัวหน้าวงดนตรีไทยคณะพาทยรัตน์ โดยต้องการให้มีการบรรเลงปี่พาทย์เครื่องไทยประชันวงแบบโบราณประโคมงานให้ครึกครื้น ประชัน ๒ วงคือ
๑.วงลูกศิษย์ ครูประเสริฐ สดแสงจันทร์ สุพรรณบุรี
๒.วงลูกศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง กรุงเทพฯ กติกาให้บรรเลงเพลงนางหงส์, เพลงเสภา, เพลงเดี่ยว, และเพลงลา
พ.ศ.๒๕๓๙
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประกวดแสงทิพย์ประลองปี่พาทย์ ครั้งที่๒ โดย ดร.สุกรี เจริญสุข เพื่อแต่งเพลงขึ้นมาใหม่สำหรับบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ วงที่ชนะเลิศ คือ วงศิษย์สุพจน์ โตสง่า บรรเลงเพลงแผ่นดินทอง เถา ควบคุมวงโดย ณรงค์ฤทธิ์ โตง่า
พ.ศ.๒๕๔๒
การประชันดนตรี “ปี่พาทย์ชาติสยาม” วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน โดยหนังสือพิมพ์มติชนร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ หอประชุมมานุษยวิทยาสิรินธร ประชันระหว่าง
๑.วงบ้านบางกะปิ (นายดนัย มุ่งเยียวยา ระนาดเอก)
๒.วงบ้านบางใหญ่ (นายชัยชนะ เต๊ะอ้วน ระนาดเอก)
พ.ศ.๒๕๔๖
ประชันปี่พาทย์เชิงวิชาการ ๑๖ มิถุนายน ในงาน ครบรอบ ๑ ปีโครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังปัญญาของสังคมร่วมสมัย” ของ ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ ณหอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ประชันวงระหว่าง
๑.วงพาทยรัตน์ (ครูสำราญ เกิดผล ควบคุม, พรชัย ผลนิโคธ ระนาดเอก)
๒.วงบ้านบางกะปิ (ครูพิจ ฉายสุวรรณ ควบคุม, ชัยชนะ เต๊ะอ้วน ระนาดเอก)
โดยมีครูอุดม อรุณรัตน์ วิจารณ์ และบรรยาย
พ.ศ.๒๕๔๗
รายการคุณพระช่วย ออกเผยแพร่ทางโทรทัศน์ วันที่ ๔ เมษายน ทามช่อง ๙ อสมท เวลา ๒๐.๔๕น. ถึง ๒๑.๓๐น. มีช่วงหนึ่งชื่อว่า ช่วงคุณพระประชัน ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสามารถด้าดนตรีไทย มาประชันในรูปแบบของดนตรีไทยร่วมกับวงดนตรีสมกล เช่นการประชัน ขลุ่น ขิม เปิงมางคอก ซอด้วง ซออู้ ระนาดเอก และฆ้องวงใหญ่เป็นต้น
พ.ศ.๒๕๔๗
กรมประชาสัมพันธ์จัดปี่พาทย์ประชันวงงาน ๗๕ ปีวันวิทยากระจายเสียงไทย วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ บริเวณสนามด้านหน้า สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย การประชันปี่พาทย์ระหว่างวง
๑.ศิษย์ขุนอิน กรุงเทพฯ (นายเสือ วงษ์สมิง ระนาดเอก)
๒.วงศิษย์ขุนอิน สุพรรณบุรี (นายเหน่ง ปั้นบุญ ระนาดเอก)
พ.ศ.๒๕๔๘
ประชันปี่พาทย์ฉลองกฐินสามัคคี ที่วัดกลางทุ่ง จ.อยุธยา วันที่ ๔ พฤศจิกายน โดยครู พินิจ ฉายสุวรรณ มีปี่พาทย์ร่วมประชัน ๓ วงได้แก่
๑.วงกรุงเทพมหานคร (สกล บุญสิริ ระนาดเอก)
๒.วงศิลปวัฒนธรรม (บัญชาศักดิ์ พงษ์พรหม ระนาดเอก)
๓.วงวัดไก่จ้น (ทวีศักดิ์ อัครวงศ์ ระนาดเอก)
พ.ศ.๒๕๔๙
การประกวดเสรีปี่พาทย์ ครั้งที่ ๑ จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ โดยใช้กติกาให้บรรเลงเพลงใหม่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวาระเฉลิมฉลอง ๖๐ ปีแห่งการครองราชย์ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพลงระบำโบราณคดีของครูมนตรี ตราโมท และเพลงที่ถนัด ผลการประกวด วงกาสะลอง มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครได้รับรางวัลชนะเลิศ จากเพลง ใต้ร่มพระบารมี และเพลงร่มโพธิสมภาร
ในปีเดียวกันนี้ ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ และสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อนโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ ได้จัดการประกวดดนตรีไทยประลองเพลงมโหรี ครั้งที่ ๒๑ ชิงถ้วนรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนฯ วงที่ได้รับรางวัลชื่อวง ณัฐพลชัย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ รองชนะเลิศได้แก่วงโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
** เอกสารอ้างอิง คัดลอกมาจากหนังสือ ดนตรีไทย ๕ รัชกาล โดย พูนพิศ อมาตยกุล และคณะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น