ดินแดนในอุดมคติ พลังของเสียง ในรั้วแห่งจิตนาการ
By Amelie Chane
By Amelie Chane
จากหลักฐาน จารึก ปรากฏการณ์หนึ่งทางมิติประวัติศาสตร์ มุมมองอันมีหลักและฐาน ยังคงเศษซากสามารถคงอยู่อย่างไร้เทียมทาน แม้จะเป็นเพียงตัวอักขระ เศษสิ่ง ผงสีจางจาง ฉาบปูนผุกร่อน แต่เมื่อสามารถถอด เชื่อมโยงถ้อยคำ ออกมาอย่างมีสาระถ้อยความ สวยงาม นำไปสู่การหลอมสร้างอำนาจเนื้อหา กลายเป็นขุมวิชาอันมีค่ามหาศาล สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องบ่งชี้ถึง ราก ของตน อย่างมีฐาน และหลักได้อย่างวิเศษพิสดารยิ่ง จากจุดหนึ่งของมุมมองความร่วมสมัยมิติเวลา วัฒนธรรมรายทาง มวลมนุษย์ สู่การสรรค์สร้างงานสุนทรียศิลปกรรมอันหลายหลาก แบ่งแยกออกเป็นต่างแขนง อันก่อเกิดจากบ่อระบบความคิดในแต่ละช่วงขุมเวลาอายุขัย พัฒนาแปรเปลี่ยนอยู่บนพื้นที่ ดินแดนแห่งจินตนคติตน บนเขตแดนผ่านเส้นแบ่งที่แตกต่างกัน ได้ก่อเกิด นำระบบความเชื่อ ศรัทธา ผสานมาซึ่งศูนย์รวมอำนาจทางจิต วิญญาณ ผสานย้ำลงบนจุดยืน ดินแดนแห่งจินตนาการ กลายเป็นรัฐชาติในอุดมคติ ของมวลมนุษย์ให้สัมผัสจับต้องหลอมรวมด้านจิตใจ
มนุษย์ในวิสัยของความเป็นธรรมชาติ จำต้องอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม(Social Group) เพื่อความอยู่รอด ทางจิตวิญญาณ และชีวิต กลุ่มเล็กที่สุดเห็นจะเป็นครอบครัวและเครือญาติ(ครัวเรือนการถนอม ดำรงซึ่งเผ่าพันธุ์) ถัดไปเป็นชุมชนที่แลเห็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นรูปธรรมชัดขึ้น(Social Reality) ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้าน เหนือชุมชนบ้านขึ้นไป เป็นชุมชนทางจินตนาการ(Imagined Community) ใช้พื้นที่ ดินแดนหรือแผ่นดินวัตถุดิบอันมีคนอยู่ข้างต้น ร่วมกันบูรณาการให้เกิดสำนึกร่วม ก่อสร้างชุมชนทางจินตนาการ หรือชุมชนสมมติให้เกิดขึ้นเป็นเขตดินแดนสองระดับ คือดินแดนอันเป็นแผ่นดินเกิด หรือมาตุภูมิ กับดินแดนอันเป็นประเทศชาติ หรือชาติภูมิ (ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม, ประวัติศาสตร์แห่งชาติ “ช่อม” ฉบับเก่า “สร้าง” ฉบับใหม่, ๒๕๔๙:๑๗-๑๘) การเกิดความเป็นชุมชนสมมติทั้ง ๒ ระดับนี้ใช้พลังมิติของเวลาหรือประวัติศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์ศิลปกรรม, ประวัติศาสตร์ราชวงศ์, ประวัติศาสตร์คติความเชื่อ ศาสนา หรือประวัติศาสตร์มุขปาฐะ เรื่องเล่า เสมือนเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนสังคมภายใต้ดินแดนในจิตนาคติของตน
ดนตรีก็ไม่ถือเว้นจากความเป็นอุดมคติ ในโลกของนามธรรม วัฒนธรรมด้านเสียงอันทรงพลังในการยึดเหนี่ยว สรรเสริญสถาบันบริหารดินแดน บรรยากาศด้านเสียงที่ช่วยพัฒนาจิต ความเข้าใจ โน้มน้าวความเป็นอุดมคติ จินตนาการ สู่ความเป็นจริงของเขตแดนด้านจินตนาการที่จับต้องได้ หน้าที่ของเสียงนำมาซึ่งเขตแดนแห่งอำนาจ ปริมณฑลทางจิต ความศรัทธา พัฒนาความเชื่อมั่นเพื่อสนองความมั่นคงแก่รัฐชาติ อาทิ การถือครองธรรมราชา กษัตริย์ผู้ทรงธรรม แห่งสุโขทัย ปริมณฑลด้านเสียงมีส่วนเสริมสร้างความเป็นกษัตริย์อย่างแท้จริงดังปรากฏในจารึก เขาสุมนกูฏ(พ.ศ. ๑๙๑๒) เรื่องราวกล่าวถึงการย้ำซึ่งอำนาจ แห่งรอยพระพุทธบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธอำนาจอันหลอมรวมฐานอำนาจเดิมเข้าสู่พุทธปาทลักขณะ ประดิษฐานบนยอดเขาสุมนกูฏโดยพรญาฦาไทย ธรรมราชาที่ ๑(พระยาลือไทย) ดังจารึกว่า
ศิลาจารึกด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑-๒๙
“ดับหนทางแต่ เมืองสุโขทัย มาเถิงจอมเขานี่งามหนักหนาแก่กม(ที่สุด) สองขอก(ข้าง) หนทาง ย่อมตั้งกัลปพฤกษ์ใส่รมยวลดอกไม้ ตามไต้เทียนประทีป เผาธูปหอมตระหลบทุกแห่ง ปลูกธงปฎากทั้งสองปลาก(ฟาก) หนทาง ย่อมเรียงขัน หมากขันพลูบูชาพิลม(อภิรมย์) ระบำเต้น เล่นทุกฉัน(ทุกอย่าง)
.. ด้วยเสียงอันสาธุการบูชา อีกดุริยาพาทย์พิณฆ้องกลองเสียงดังสิพอดังดินจักหล่มอันไซร้(เพียงดินจะถล่มนั้น) ศักราช ๑๒๘๑ ปีกุน เมื่อพระศรีบาหลักษณ ขึ้นประดิษฐานไว้ในเขาสุมนกูฏบรรพต ………..นั้น………….” (ยอร์ช เซเดส์, ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑ : ศิลาจารึกวัดเขาสุมนกูฏ, ๒๕๒๑ : ๑๑๑-๑๑๘)
หมายถึงการถือครองโดยอ้างสิทธิผ่านรอยพระพุทธบาท อันประทับบนยอดเขาที่สถาปนาเป็นสุมนกูฏ ตามมาด้วยบรรยากาศแห่งจินตนาการ แสง สี เสียง อารมณ์ อันประโคมซึ่งเสียงบูชาสาธุการ ดุริยาพาทย์พิณฆ้องกลอง เสมือนแผ่นดินจะถล่มทลาย ฉายภาพดินแดนแห่งกษัตริย์ผู้ยึดมั่นในธรรมราชายังปรากฏในการอัญเชิญพระศาสนานิกายเถรวาท ลังกาวงศ์ จากสุโขทัยมาสู่ล้านนา สมัยพญากือนา(พ.ศ. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘) ดังจารึกวัดพระยืน(พ.ศ. ๑๙๑๓) โดยพญากือนาทรงส่งราชทูตลงไปนิมนต์พระสุมนเถระจากพระยาลิไทย(พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๑๙ แห่งกรุงสุโขทัย) ได้นำความชอบธรรม อำนาจแห่งธรรมราชา(ยึดครองซึ่งพระบรมธาตุ เป็นข้อเสนอแสนวิเศษ)ไปสู่ล้านนา ในกาลนั้นปรากฏการประโคมดนตรี เสียงสาธุการ เพื่อสร้างปริมณฑลแห่งฐานอำนาจใหม่ในการหลอมรวมเหล่าอำนาจเดิม(ผี) หลากชาติพันธุ์ ท้องถิ่น เข้าสู่ฐานอำนาจทางพระศาสนา ในอาณัติ สุโขทัย ดังนี้
ศิลาจารึกด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๐-๒๗
“เมื่อท่านเป็นเจ้ามานั้น ในปีระกา เดือนเจียง(คือเดือนอ้ายของไทยฝ่ายเหนือ หรือ เดือน ๑๑ ของไทยฝ่ายใต้) วันศุกร์ วันท่านเป็นเจ้าจักเถิง(ถึง)วันนั้น ตนท่านพญาธรรมิกราช บริพาร(แวดล้อม) ด้วยฝูงราชโยธามหาชนพลลูก เจ้าขุนมนตรีทั้งหลาย ยายกัน(เรียงรายกัน) ให้ถือกระทงข้างตอกดอกไม้ไต้เทียน ตีพาทย์ ดังพิณ ฆ้อง กลองปี่สรไน พิสเนญชัย ทะเทียด กาหล แตรสังข์มาน กังสดาล มรทงค์ ดงเดือด เสียงเลิศ เสียงก้อง อีกทั้งคนร้องโห่อื้อดา สะท้านทั่วทั้งนครหริภุญไชยแล” (ฉ่ำ ทองคำวรรณ, ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๓ ศิลาจารึกวัดพระยืน, ๒๕๐๘ : ๑๓๓-๑๔๓ )
ทั้งนี้พลังอำนาจด้านเสียง ได้ถือกลายเป็นเครื่องมือประโคม โน้มน้าว ของพระศาสนา เพื่อนำมาซึ่งการ สรรเสริญ เสริมสร้างซึ่งฐานอำนาจ กรรมสิทธิ์ใหม่ที่ถือครองโดยธรรมราชา กษัตริย์อันทรงเป็นศาสนอุปถัมภก หากลองมองย้อนในมิติการรวมศูนย์อำนาจเดิม เข้าสู่ฐานอำนาจใหม่ภายใต้เบื้องบาทแห่งพระศาสดา ดนตรีถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของกลไกภายใต้อำนาจพุทธปาทลักขณะ มหายานในดินแดนจินตนคติจักรวาลสามารถแบ่งได้เป็นคติรูปธรรม ในแบบตารางภาพ มงคล ๑๐๘ ประการ และคตินามธรรม ในแบบแผนผังจักรวาล ทั้งสองต่างสร้างปริมณฑลด้านเสียงที่แตกต่างกัน ในชั้นจินตนคติ ๑๒ มิติ วางเรียงกันล่างสู่บน ๗, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙ และ ๒(มหาปุริสลักษณะ และเบื้องพระบาทแห่งความชอบธรรม, ลิขสิทธิ์แห่งพระศาสดา) ในคติรูปธรรมปรากฏการยึดซึ่งฐานอำนาจเดิมความเชื่อลัทธิ ฮินดู และความเชื่อลัทธิท้องถิ่น ดนตรีถือเป็นทั้งเครื่องประโคม และขับกล่อม ของเหล่าเทพ รับใช้ฐานอำนาจดังปรากฏในจินตนคติสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามคตินามธรรม ไตรภูมิ ที่สามารถแบ่งเป็นประเภททั้งใน และนอกรั้ว ดังนี้
วัด, เทวสถาน | |
อกมฺ (ความรัก) | ปุรมฺ (วีรกรรม) |
ลาสยฺ (พิณ) | ตาณฺฑว (ปี่) |
ดนตรีวงเล็ก | ดนตรีวงใหญ่ |
งานปรนนิบัติ ขับกล่อม | การแห่ประโคม |
ภายใน(รั้ว) | ภายนอก(รั้ว) |
นางเทพทาสี | ครอบครัว(นางเทพทาสี) ผู้คนในหมู่บ้าน |
วัง | |
อกมฺ | ปุรมฺ |
ลาสยฺ (พิณ) | ตาณฺฑว (ปี่) |
ดนตรีวงเล็ก | ดนตรีวงใหญ่ |
งานปรนนิบัติ ขับกล่อม | การแห่ประโคม |
ภายใน(รั้ว) | ภายนอก(รั้ว) |
มเหสี นางใน | ทหาร ข้าหลวงที่รับราชการ |
จากตาราง ในเมื่อวัฒนธรรมดนตรีพระราชหลักจากพิธีอินเดียได้ลดความสำคัญลง พระราชพิธีเดิมในรั้วราชวังก็เสื่อมถอยจนสาบสูญไปตั้งแต่พระมหากษัตริย์ฮินดูเดิมเริ่ม มีพระราชนิยมชมชอบในพระราชพิธีแบบอิสลาม(ราชวงศ์โมกุล) ในทางตรงกันข้ามสยามได้รักษาพระราชพิธีในรั้วอย่างฮินดูไว้หลายพิธีจนถึงปัจจุบัน เสียแต่ว่าภายหลังสยามปรับใช้พระราชพิธีในศาสนาฮินดู มาช้านานและมากเกินกว่าที่จะเข้าใจในรากของพระราชพิธี(ความสมบูรณ์) ดังภาพสตรีในเทวสถาน ปรนนิบัติบุรุษเทพ(พระอินทร์, เทพบุรุษต่างๆ) ทั้งนี้เพราะตามหลักศาสนาฮินดู การปรนนิบัติต่อเทพเจ้าเยี่ยงพระมหาหากษัตริย์(หรือการปรนนิบัติต่อพระมหากษัตริย์เยี่ยงเทพเจ้า, สุมมติเทพ) เช่น การปลุกพระบรรทม การสรงน้ำ การถวายพระกระยาหาร การประโคมดนตรี การออกขุนนาง การเบิกเสภากล่อมพระบรรทม ฯลฯ ในวังมีเช่นไรในเทวสถานก็มีเช่นนั้น
ประเภทของวงดนตรี มี จินฺนเมฬมฺ หรือ ทาสอาฏฏม ดนตรีวงเล็ก หรือการร่ายรำของเทพทาสี โดยทั่วไปเทพทาสีอาจจะเป็นหญิงผู้ใดที่มีศรัทธาถวายตัวเป็น “สนม” ของเทพ(สนมเมืองประเทศราชเพื่อเพิ่มฐานอำนาจให้แก่กษัตริย์) อาจจะเป็นหญิงเชลยศึกที่ถูกถวายโดยเลือกไม่ได้ แต่โดยส่วนมากจะเป็นหญิงในวรรณะ “เมฬกฺการนฺ” (นักดนตรี) ที่สมัครเลือกอาชีพเป็นเทพทาสี ในเรื่องของอาชีพนักดนตรี “เมฬกฺการนฺ”นั้นสามารถแบ่งออกเป็น ๒ สาขา นอก ใน รั้ว คือ
๑. “เปริยเมฬ” ดนตรีวงใหญ่ มีปี่เป็นเครื่องหลัก มีชายเป็นนักรำ และใช้ในการแห่นอกประการัม(กำแพงเทวสถาน)
๒. “จินฺนเมฬมฺ” ดนตรีลงเล็ก มีพิณเป็นเครื่องหลัก มีหญิงเป็นนักรำ และใช้แสดงกันหน้าพระประธานภานในประการัม(ไมเคิล ไรท, ฝรั่งคลั่งผี, ๒๕๕๐.)
พลังอำนาจด้านเสียง การรับใช้สถาบันหลักแห่งดินแดนจินคติ ในสรวงสวรรค์อันรื่นรมย์ สู่โลกแห่งความจริง ดนตรีมีหน้าที่ ทั้งขับกล่อม สรรเสริญ และประโคม เพื่อสรรค์สร้างให้ภาพฝันนั้น กลายเป็นบรรยากาศ ของสภาวะอารมณ์อันเปรียบประดุจดั่งอุดมคติ ความจริง ภายใต้กลไกรัฐชาติ ในมุมมองการเสนอความเป็นรัฐชาติที่อุดมสมบูรณ์ เปี่ยมล้นด้วยบรรยากาศทั้งในและนอก(รั้ว)อิ่มเอมไปด้วยอารมณ์อันน่าอยู่ ประชากรหน้าใส ชื่นบาน ด้วยกษัตริย์ที่เปี่ยมล้นด้วยธรรมราชาดังปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหงต่อไปนี้
ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๕-๒๐
“พนมดอกไม้ มีหมอนนั่ง หมอนโนน(หมอนนอน) บริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน(ปีละสองล้าน) ไปสูด(สวด) ญัติ กฐินเถืงอรัญญิกพู้น(นู้น) เมื่อจักเข้ามา เวียง(เมือง) เรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน(ถึงสนามใหญ่) ดํบงคํกลอง(ตีประโคมกลอง) ด้วยเสียงพาดเสียนงพิณ เสียงเลื้อน(เสียงร้อง หรืออ่านเป็นทำนองเสนาะ) เสียงขับ ใครจัก มักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจัก มักเลื้อน เลื้อน” (ยอร์ช เซเดส์, “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง” ใน จารึกสมัยสุโขทัย, ๒๕๒๖:๔-๒๐)
หลักฐานดนตรีปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง กล่าวสรุปใจความสำคัญได้ว่า ดนตรี อันได้แก่การตีประโคมกลอง เสียงพาทย์ เสียงพิณ รวมทั้งเสียงร้อง ทำนองเสนาะ นั้นได้ประโคมเพื่อการพิธีกฐิน งานเฉลิมฉลองเพื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นงานมหรสพรื่นเริงสมโภชในพิธีการถวายกฐิน ทานถวายแก่พระศาสนา ดังภาพฝันในสมัยสุโขทัยข้างต้น อำนาจอักขระชี้ทาง เสียงเป็นตัวสร้างบรรยากาศให้จินตนาการไปถึงความมีอิสระ เสรีภาพของชาวเมืองสุโขทัยที่สามารถ “ใครจัก มักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจัก มักเลื้อน เลื้อน” สังเกตขบวนแห่กฐิน มีเจ้าภาพ นำโดยกษัตริย์ เมื่อเข้ามาสู่เวียง(เมือง) สู่สนามใหญ่ ดนตรีก็จะเริ่มประโคมกลองเพื่อรับทราบถึงการมาของขบวนแห่อันยิ่งใหญ่มากมาย ตามด้วยเสียงพาด เสียงพิณ เสียงคนร้องหรืออ่านทำนองเสนาะ(อาจเป็นภิกษุ, หรือผู้ทำพิธี) แต่ไม่มีปรากฏเครื่องดนตรีในพระราชพิธี เช่น แตร สังข์(พระราชพิธีพราหมณ์ ฮินดู) ตามหลักและฐานดั่งปรากฏในหลักศิลาจารึก หากลองมองย้อนวิเคราะห์ถึงอักษรลักษณ์ ดนตรีที่ปรากฏในจารึกด้านที่ ๒ ดังที่กล่าวอ้างกันว่า เป็นชาวสุโขทัยเองที่แต่งขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อยังมีพระชนมายุอยู่(สังเกตได้จาก ตอนที่ ๒ ของจารึก) ซึ่งลักษณะดนตรีก็เป็นรูปแบบของดนตรี ของคนในเมืองสุโขทัย เล่นบรรเลงประโคมงานกฐิน เนื่องในศรัทธาที่มีต่อพระศาสนาอันมีส่วนร่วมกันระหว่างทั้งราษฎร์ และหลวง เพราะไม่ได้บอกถึงการเฉลิมฉลองประโคมเพื่อกษัตริย์ในการเสด็จร่วมพิธีครั้งนั้นแต่อย่างใด เพียงบรรยายความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเมืองสุโขทัยที่มีศรัทธาในพระศาสนา เน้นบอกถึงการมีส่วนร่วม สิทธิของชาวเมืองโดย “ใครจัก มักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจัก มักเลื้อน เลื้อน”
เมื่อระบบความเชื่อระหว่างใน และนอก พังทลายลง ความเชื่อในลัทธิพระพุทธศาสนาได้เข้ามาแทนที่ เทพเจ้า พราหมณ์ ฮินดู เมื่อสตรีเพศ เหล่าสนมคนเป็นของเทพเจ้า ได้ถูกกีดกันออกจากราชฐานชั้นในจึงเป็นหน้าที่ของเทพกษัตริย์(พระอินทร์) พระโพธิสัตว์(จากพุทธปาทลักขณะ) เท่านั้นที่จะบรรเลงกล่อมพระพุทธเจ้าในฐานอำนาจใหม่ให้รู้ซึ้งถึงสัจธรรมชีวิต โดยการดีดพิณ ๓ สายของเหล่านาง มัชฌิมาปฏิปทา หน้าที่ของเหล่าสนมนางใน นางเทพทาสีจึงเป็นได้แค่ความสนุกรื่นเริงของทางโลกเฉกเช่นนางยโสธรา มเหสีเจ้าชายสิทธัตถะ ถวายการรับใช้อาณาบริเวณพระราชฐานชั้นในรั้วของกษัตริย์เพียงเท่านั้น
ชื่อมเหสี เทพธิดา และนางฟ้า | ชื่อเครื่องดนตรี | บริวาร | เครื่องดนตรี |
คิครา | มหาวีณา | ๖๐,๐๐๐ | พิณ |
สาธุ | สุภัทรา | ๖๐,๐๐๐ | ปี่(เป่าปี่คู่หนึ่ง) |
หสัจนารี | มุธตระ | - | พิณ |
มณีเมขลา | พิชัยสังขะ | ๖๐,๐๐๐ | สังข์ |
มหาตุมุทิงคสังขะ | ปุถุพิมพนะ | ๖๐,๐๐๐ | ตะโพน |
ตปนัคคี | อานันทเภรี | ๖๐,๐๐๐ | กลอง |
ปนัคคิ | รณมุขเภรี | ๖๐,๐๐๐ | กลองหน้าเดียว |
นันทา | โกฬมธุรสสุรเภรี | ๖๐,๐๐๐ | กลองใหญ่ |
ยามา | โบกขรบัณเฑาะว์ | ๖๐,๐๐๐ | บัณเฑาะว์ |
สรโฆสสุร | นันทไฉน | ๖๐,๐๐๐ | ปี่ไฉน |
สรพางคณา | ทัสสโกฏส | ๖๐,๐๐๐ | กลองใหญ่ |
*ตารางจัดแสดงเหล่านางในรั้ว มเหสี เทพธิดา สนม นางใน ในปราสาทราชวังของพระอินทร์ ความเชื่อตามคติไตรภูมิ ในพระพุทธศาสนา(คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน, ไตรภูมิกถา ฉบับถอดความ, ๒๕๒๘)
เมื่อระบบความเชื่อทางพระพุทธศาสนาได้กีดกันเหล่าพวกนางทาสีให้ออกจากขอบรั้วซึ่งเขตขัณฑสีมา หน้าที่ของฝ่ายนอกจึงเฟื่องฟู และได้มีบทบาท อิทธิพลเข้ามาอย่างมากต่อระบบความเชื่อในพุทธศาสนา ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกวัดพระยืน ทางตรงกันข้ามเหล่านางในยังคงขับกล่อมสรรเสริญความเป็นสมมุติเทพของกษัตริย์ในรั้ว ฐานอำนาจหลัก สถาบันปกครองเฉกเช่นจิตนคติดินแดน ก่อนจะพังทลายลงไปเมื่อฐานอำนาจนั้นได้เคลื่อนออกไปเป็นพลังมวลชน การประโคมจึงเข้ามามีบทบาทหลักปลุกใจให้เชื่อมั่นในพลัง ฐานะรัฐอุดมคติใหม่ ส่วนเหล่านางก็กระเด็นกระดอนออกไปรับใช้พลังความเชื่อในลัทธิอื่น อาทิ ผี เหล่าครอบครัวผี(เทพเจ้า) ที่เร้นลับอยู่ภายนอกเขตขัณฑสีมา นอกเหนือเกินโควตาที่พระศาสนาอันบริสุทธิ์จะพึงกระทำต่อเพศสภาพของพวกนางได้
เมื่อดินแดน นอกในถูกล่วงละเมิด รั้วกำแพงสึกกร่อน พุพังง่ายต่อการข้ามผ่าน การครองซึ่งอำนาจทางเสียง ยังคงประโคม ขับกล่อม สรรเสริญในปริมณฑล ดินแดนจินตน อุดมคติ โลกแห่งการสื่อสาร ไซเบอร์ หยิบยื่นข้อเสนอแสนวิเศษ(นวัตกรรมโพรไฟล์อิเล็กทรอนิกส์) ธาตุแท้แห่งอำนาจเงินตรา ทุนเดิมพลังงานเสียงดนตรีได้สร้างพลังอำนาจแห่งการโน้มน้าวใจในลัทธิใหม่ ถือคติในฐานอำนาจแห่งลัทธิทุนนิยม เครื่องเฟอร์นิเจอร์หรูหรา นวัตกรรมบนฐานอำนาจใหม่ ต่างเรียงรายกระโดดข้ามรั้ว รายเรียงกันออกมาโลดเต้น สู่การยกย่อง ประโคม สรรเสริญอัตลักษณ์อันมีจะได้ของสิทธิส่วนบุคคล
ในทางตรงกันข้ามความเป็นสถาบันยังได้รับการผูกมัดด้วยเป็นฐานอำนาจหลักของชาติภูมิ เสียงประโคม สรรเสริญ จากมาตุภูมิยังมีส่วนช่วยสร้างพลังผลักดันในการรวบรวมซึ่งจิต วิญญาณ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เพื่อขับเคลื่อนรัฐในอุดมคติตนได้อย่างมีแก่นสาร ภายใต้ดินแดนชาติภูมิ มาตุภูมิ พลังอำนาจของเสียงดนตรี ยังมิได้เสื่อมคลายไปจากเดิม เพียงแค่รั้วที่กั้นไว้ซึ่งใน และนอก ได้พุกร่อนลงไปเท่านั้น หากวันใดรั้วนั้นได้พังทลายลง คติจักรวาล ไตรภูมิคงเสียสมดุลเพราะใครก็สามารถมีนางเทพทาสีขับกล่อมพร้อมเหล่าเทวดาแห่ประโคมได้ทั้งสิ้น
iPod-รุ่นอัขระ พ่อขุนราม
อีกมิติมุมมอง เมื่อสถานภาพความเป็นรั้วถูกย้าย และยกระดับออกไปเป็นอัตวิสัย มายาคติ ใน และนอกจอ(Screen) เหล่าเครื่องเล่นอิเล็กทรอนิกส์ ต่างสรรเสริญ แห่ประโคมผ่านกรรมวิธีในระบบดิจิตอล สู่ความเป็นสาธารณะ หยิบใช้ในปริมณฑล ภายใต้เอกอัตลักษณ์ของตน ภายใต้ศูนย์รวมอุดมคติวิญญาณ Mind Idol แห่ง Popularity World เรามี อัขระสากล(Internationalism : Language and Culture)ใช้กันถ้วนหน้า จุดนี้ คงเป็นจุดยืนใหม่ของเครื่องมือจักรกลในการสร้างพลังเสียงแห่งนวัตกรรมใหม่ แห่งโลกทันสมัย ฉะนั้นการศึกษาหาย้ำซึ่งเขตแดน ฐาน และรากของตน การศึกษาประวัติศาสตร์รายทางในราก และฐานอย่างจริงจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจในแง่มุมของความเลวร้ายทางประวัติศาสตร์ที่ควรแบกรับ แต่เป็นการศึกษาหาซึ่งขุมพลังอันมหาศาลทางปัญญาที่จะสามารถยอมรับ และนำไปขับเคลื่อน ชี้นำ ทิศทางให้แก่สังคมได้อย่างมีแก่นสาร
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร,ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๑, พิมพ์เป็นงานอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสมาน ทะเบียนกิจ (น้อม สัจจะเวทะ), วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕, โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ กรุงเทพฯ, ๒๕๑๕.
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ประชุมจารึกภาคที่ ๘ สุโขทัย, จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี วันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗, พิมพ์ครั้งแรก, กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่,พิมพ์ที่อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิช ชิ่ง จำกัด มหาชน, ๒๕๔๘.
คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน, ไตรถูมิกถา ฉบับถอดความ, คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรม และสารสนเทศ พ.ศ. ๒๕๒๘, พิมพ์ครั้งแรก, อมรินทร์การพิมพ์, กรุงเทพฯ, ๒๕๒๘.
จันทร์จิรายุ รัชนี, หม่อมเจ้า, ใครปลอมศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง?, ศิลปวัฒรธรรมฉบับพิเศษ, จัดพิมพ์เป็น ที่ระลึก เนื่องในศุภวาระที่ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ทรงมีพระชันษาครบ ๘๐ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๓, พิมพ์ที่โรงพิมพ์พิฆเณศ, กรุงเทพฯ, ๒๕๓๓.
ดี. จี. อี. ฮอลล์, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร เล่ม ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๓, จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๙.
ไมเคิล ไรท, ฝรั่งคลั่งผี, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, พิมพ์ครั้งแรก, สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพฯ, ๒๕๕๐.
สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงสุโขทัยมาจากไหน?, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ, พิมพ์ครั้งแรก, สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพฯ ๒๕๔๘.
สุจิตต์ วงษ์เทศ, ร้องรำทำเพลง:ดนตรีและนาฎศิลป์ชาวสยาม, พิมพ์ครั้งที่ ๒, บริษัทพิฆเณศ พริ้นติ้ง เซนเตอร์ จำกัด, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๒.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น