บทวิจารณ์ : เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ
“ผู้คน ดนตรี ชีวิต
By Amelie Chance
By Amelie Chance
“ดนตรี” มีความสัมพันธ์กับหลายสิ่งบนโลกใบนี้ และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรม สังคม วิถีชีวิต ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การศึกษาเกี่ยวกับดนตรีในมิติต่างๆ ได้แสดงให้เราเห็นว่ามนุษย์เรานั้นสามารถหยิบยืมเสียง จังหวะ และเนื้อร้อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัว ต่อรอง หรือแสดงความเป็นตัวตนของแต่ละคนในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ผู้เปิดพรมแดนความรู้ใหม่เกี่ยวกับดนตรี เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงสาขาวิชามานุษยวิทยาไปสู่การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ทางวัฒนธรรมร่วมสมัย ผ่านการศึกษาทางดนตรีซึ่งมิได้มีเพียงนักดนตรี เครื่องดนตรี ตัวโน๊ต และผู้ชม เท่านั้น หากยังมี “เสียง” ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราว ความหมาย ความทรงจำและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)
“เสียง ความทรงจำ ยาพิษ หรือยารักษาขนานเอก” วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมอันก่อตัวขึ้นด้วยเสียง ภาพบรรยากาศด้านเสียงในที่นี้ครอบคลุมไปถึงเสียงที่เป็น “โทษ” มลภาวะ และเสียงที่เป็น “คุณ” การบำบัด สังคมอุดมคติจำต้องมีสภาพแวดล้อมทางเสียงที่ดี? อีกนัยหนึ่งเสียงก็เป็นตัวจารึกเรื่องราวความทรงจำของมนุษย์ อาทิ เสียงพูดคุย เสียงดนตรี รวมถึงเสียงในสภาพแวดล้อมมีทั้งดีและเลว เพราะมันเป็นตัวย้ำการระลึกทราบของมนุษย์ ในวาระ โอกาส เวลา หน้าที่ ในที่นี้รวมไปถึงบทบาทในชีวิตด้วย
“เสียงที่ปราศจากสุนทรียศาสตร์ เปรียบเหมือนเสียงที่เป็นดั่งเช่นประสบการณ์” ตรงข้ามหากมีความซาบซึ้งในเสียงผู้คนอาจเรียกมันว่า “ดนตรี” ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบท ขอบเขตของวัฒนธรรม ประสบการณ์ บรรทัดฐานรายบุคคล ต่างกลุ่มต่างสังคมความเป็นวัฒนธรรมของเสียงย่อมมีค่าไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ถือรวมคุณค่าทางด้านอำนาจของเสียงนั้นๆ ด้วย
“เสียงดนตรี” เป็นอันตรายต่อระเบียบสังคม!!! วิวัฒนาการที่ต่อเนื่องของวัฒนธรรมเสียงดนตรีจาก “ภาษาสากล” สู่อาวุธซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิด วัฒนธรรม ประเพณีตลอดจนการเมือง การปกครอง ในสมัยกรีก เพลโต(427-347 ก่อน ค.ศ.) และอริสโตเติล (384-322 ก่อน ค.ศ.) เห็นว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง เขาเห็นพ้องว่าลักษณะของดนตรีบางประการมีส่วนกระตุ้นให้ประชาคมสร้างความวุ่นวายต่อระเบียบสังคมการเมืองได้ ตรงกันข้ามเพลโตก็ให้ความสำคัญของเสียงดนตรีว่ามีประโยชน์ต่อการศึกษาว่าทรงพลังที่สุด เพราะดนตรีมีศักยภาพเข้าสู่จิตวิญญาณภายในเหนือผัสสะใดใด
“ดนตรีที่ไหลเวียนอยู่ในรัฐ มีความสัมพันธ์กับสภาวะทางศีลธรรมของคนในรัฐ” พูดอีกอย่างดนตรีคือกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนการเคลื่อนไหวประชาคมภาครัฐ ซึ่งนั่นก็หมายความว่ารัฐต้องใช้อำนาจในการควบคุมแนวความคิดที่แฝงเร้นมากับพลังเสียงดนตรี โดยยึดหลักบรรทัดฐานทางจริยธรรม ศีลธรรม ที่มีทางสายใหญ่อยู่ที่ศาสนามาเป็นตัวกำหนด นอกจากมันจะเป็นยาพิษแล้ว ดนตรียังเป็นยารักษาเยียวยาชั้นยอดของสังคม เมื่อคานอำนาจถูกถ่วงไว้ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย บรรทัดฐานทางด้านเสียงจึงจำต้องควบคุมโดย “ส่วนกลาง” หน้าที่ของรัฐจะดำเนินไปโดยควบคุมทุกอย่างอยู่ศูนย์กลาง แล้วกระจายเสียงดนตรีซึ่งแฝงด้วยอำนาจนี้สู่ภูมิภาค
“ดนตรี ไม่สามารถจะสกัดออกจากวิถีชีวิตมนุษย์” โดยเฉพาะ พิธีกรรม ความเชื่อ และสุนทรียภาพ ทั้งหมดแฝงเร้นอยู่ในสำเนียง จิตวิญญาณชาติพันธุ์ ที่สุดแล้วการปะทุผลักจากแรงกดดันทางภาครัฐก็ถูกปลดปล่อยออกด้วยกระแสทุนนิยมอย่างท่วมท้น ในรูปแบบของดนตรีกับการต่อต้าน และดนตรีกับการยืนยันตัวตน-ตนเองในรัฐเสรีนิยม พ่วงท้ายมาด้วยลัทธิความหลากหลาย ภายหลังยุคสงครามเย็น(ค.ศ. 1947-1991)แนวโน้มความเป็นเสรีนิยมมีมากขึ้น ช่วงนี้นี่เองการศึกษาดนตรีต่างวัฒนธรรม-ข้ามชาติ ได้กลายเป็นประเด็นใหม่ในสาขาดนตรีชาติพันธุ์วิทยาของยุคโลกาภิวัตน์(อธิป จิตตฤกษ์, การปะทะต่อต้าน, การควบคุมครอบงำ และวัฒนธรรมเสียง : ว่าด้วยวัฒนธรรมดนตรีในรัฐ, ในโลก และสิ่งเกี่ยวเนื่อง, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)
“เพราะดนตรีไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว” การแสดงอันสื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึก สารนั้นเรียกว่าบทระบำทางอารมณ์ ดนตรีคืออากาศ การแสดงคือแหล่งกำเนิดของภาพที่สอดคล้องต้องกันกับท่วงทำนอง
“ภาพวาดภาพหนึ่งหรือดนตรีบทหนึ่ง อาจมีผู้ไม่เข้าใจในตอนแรก และไม่เป็นที่ซาบซึ้งเข้าถึงได้อยู่เป็นเวลานาน บางทีอาจจะนานถึงร้อยปี แต่การแสดงบัลเลต์นั้นต้องได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมในวันนี้และวันพรุ่ง มิเช่นนั้นก็จะถูกลืมเลือนสูญสิ้น”
-แชร์เกย์ เดียกีเลฟมีการแสดง มีดนตรีบางอย่าง น่าเสียดายที่มันค่อยๆ ถูกลบเลือนออกจากหน้าประวัติศาสตร์ หากไม่มีนักวิชาการช่วยสืบต่อองค์ความรู้นั้น ชนรุ่นหลังคงจะไม่มีแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานเชิงสร้างสรรค์ การแสดงบัลเลต์ก็เหมือนกัน เมื่อถึงทางตันต่างก็ต้องรับนำเอาวัฒนธรรมต่างถิ่น(ต่างชาติพันธุ์) เข้ามาผสมผสานให้เกิดความแปลกใหม่ ดังที่นาฏศิลป์สยามได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย เมื่อสถาบันกษัตริย์ได้ลดบทบาทลง การแสดงอันสืบเนื่องมาจากชนชั้นสูงก็ขาดการอุปถัมภ์ ขาดช่วงระบบการสืบต่อ ตลอดไปจนถึงเจตนารมณ์ อำนาจ และเมื่อเสาหลักเปลี่ยนแปลงโยกย้ายมายังระบอบประชาธิปไตย ภาพวาดนี้ยังจะรอถึงได้ร้อยปีให้ผู้ได้หวัง คอยซาบซึ้งหรือไม่?(บัญชา สุวรรณานนท์, อิทธิพลบางประการของนาฏศิลป์สยามที่มีต่อบัลเลต์สมัยใหม่, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)
“ที่สุดก็เกิดสภาวะการโหยหาอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์” ท้องถิ่นนิยม สินค้าโอทอป นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 ชนบทเชียงใหม่ได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว จากรากฐานท้องถิ่นนิยมที่ตั้งเค้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าดารารัศมีนุ่งผ้าซิ่น ทรงผมแบบสไตล์ญี่ปุ่น กับชุดล้านนาประยุกต์ในรูปแบบของกิโมโน อัตลักษณ์ดนตรีล้านนาได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นหลังสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากชนชั้น “กฎุมพี” เริ่มมีบทบาทต่อรองกับรสนิยมของชาวเชียงใหม่อย่างชัดเจน กลุ่มดังกล่าวได้สร้างนิยามความเป็นสมัยใหม่ เพื่อใช้เป็นจุดยืนต่อสู้ ช่วงชิงกับชุดความหมายที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นปกครอง ตลอดจนจารีต ประเพณีทางพระพุทธศาสนา ขณะที่ดนตรีราชสำนักเดิมถูกยกระดับเพิ่มขึ้นสู่สถาบันสูงกว่าพวกชนชั้นกลาง คือ สถาบันเจ้า พระพุทธศาสนา ตลอดจนถึงผี และพิธีกรรมต่างๆ ที่ต้องการความขลัง และศักดิ์สิทธิ์(เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช, เพลงลูกทุ่งคำเมืองกับอัตลักษณ์พันทางของคน “ชนบทใหม่” ของเชียงใหม่, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)
การแย่งชิงอัตลักษณ์จึงเป็นตัวแบ่งดนตรีออกไปตามหน้าที่การใช้สอยอย่างชัดเจน ขณะที่วัฒนธรรมชาวบ้าน(คนเมือง)กำลังเปลี่ยนแปลงคู่ขนานกับความเป็นท้องถิ่นนิยม-ลูกทุ่ง-อีสาน เกิดการผลิตซ้ำเชิงสร้างสรรค์โดยศิลปินพื้นบ้านอย่างรวดเร็ว ซึ่งแบบเรียนกระทรวงจากส่วนกลางยังกระทำไปในทิศตรงกันข้ามกับสัญชาติญาณประวัติศาสตร์ความทรงจำชุมชน ที่สุดความแปลกและแตกต่างก็ดึงดันความเป็นท้องถิ่นนิยมสู่คานอำนาจใหม่ต่อรองกับระบบศูนย์กลางอำนาจ
“ดนตรีเป็นอันตรายต่อระเบียบสังคม?” ใครจะตอบได้ชัดเจนเท่าพี่น้องชาวอีสาน ใช่ไหมพี่น้อง? นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2510 เป็นต้นมาวัฒนธรรมดนตรีอีสานได้กลายมาเป็นตัวอย่างสำคัญ พอๆกับ “วัฒนธรรมส้มตำ” หรือ“วัฒนธรรมสัญจร” รูปแบบวัฒนธรรมที่ก่อรูป ผูกพัน และหลอมรวมตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการเดินทาง เคลื่อนย้ายผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ(พลัดถิ่น) ดนตรีสมัยนิยมเริ่มก่อตัวขึ้นในระบอบความเชื่อท้องถิ่นนิยม และในที่สุดก็ผ่านกระบวนการเคลือบฉาบความหอมหวานของลัทธิทุนนิยมได้อย่างน่าอร่อย
“เราต้องมั่นใจว่าคนนั้นต้องร้องเพลงได้ เสียงดี และรูปร่างหน้าตาท่าทางให้ การที่เราจะลงทุนปั้นนักร้องแต่ละคน เราต้องพิจารณากันมากพอสมควร เราต้องดูหลายอย่างประกอบกัน เช่น มิวสิควิดีโอ บางคนหน้าตาดีมาก แต่พอถ่ายรูปออกมาไม่ได้เรื่องก็มี บางคนร้องก็ดี เต้นก็ดี หรืออะไรก็ดีไปหมด แต่พอยิ้มออกมาหน้าตาเหมือนกับฆาตกรโรคจิต... ไอ้เราก็ไม่เอา” -กริช ทอมัส นายใหญ่แห่งค่ายแกรมมี่โกลด์
ทั้งนี้การศึกษาวัฒนธรรมดนตรี-ดนตรีชาติพันธุ์ ในสังคมไทยยังเกิดขึ้น และคงอยู่ภายใต้กรอบประเพณีของ “งานวิชาการเพื่อการสรรเสริญเยินยอ” – Herbert Phillips ซึ่งนักวิชาการทั้งไทยและเทศมักจะติดกับดักลักษณะพิเศษบางประการของสังคมไทย เช่น ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก, สังคมที่มีรากฐานจากการเกษตร, พระพุทธศาสนา ตลอดไปจนถึงสถาบันกษัตริย์ สิ่งดังกล่าวมีผลให้นักวิชาการได้ผลิตผลงานในลักษณะที่ยกย่องชื่นชมสังคมที่ตนศึกษา และมีส่วนให้งานวิชาการขาดพลังในการวิพากษ์-วิจารณ์ถึงความเป็นจริงความขัดแย้งทางสังคม ตลอดจนลืมช่องว่างที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเมืองอย่างชัดเจน
เนื่องด้วยการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาที่มีรากฐานภายใต้กรอบประวัติความเป็นมาจารีตประเพณีเพื่อ “บูชาครู” หรือไม่ก็ถูกครอบงำด้วยมายาคติแบบอนุรักษ์นิยม หรืออำนาจนิยมในระบบราชการ ส่งผลให้งานวิชาการขาดซึ่งพลังในการให้คำอธิบาย จินตนาการที่สร้างสรรค์ในการคิดวิเคราะห์และตีความหมายในที่สุด (พัฒนา กิติอาษา, ดนตรีอีสาน แรงงานอารมณ์ และคนพลัดถิ่น, บทคัดย่อ, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)
“กระแสโลกาภิวัตน์แบบอำนาจนำ(Hegemonic Globalization)” อำนาจอันมุ่งนำหลอมรวมให้เป็นไปในทิศทาง หรือแบบเดียวกัน ผสานลงตัวกับรสชาติของทุนนิยมผ่านสื่อ สู่นวัตกรรมสมัยใหม่ ที่สุดโทรทัศน์ก็กลายเป็นสถาบันสำคัญ วัฒนธรรมหน้าจอ ที่มีอำนาจชักจูง อบรมบ่มเพาะบุคคลในสังคมที่มีอิทธิพลเหนือกว่าสถาบันอื่นใด
ดังที่ได้กล่าวมา ท้ายที่สุดแล้ว “อำนาจ” ทำงานอย่างไรในโลกแห่งความบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการโทรทัศน์ประเภท “เรียลลิตี้โชว์” ซึ่งพื้นที่ความบันเทิงดังกล่าวล้วนถูกเคลือบไว้ด้วยความสนุกสนาน เฮฮาจนดูราวกับว่าไม่ได้มีการทำงานของ “อำนาจ” นั้นๆ ที่สำคัญผลผลิตเชิงสร้างสรรค์ของวัฒนธรรมดนตรีอันตกผลึก กำลังถูกทยอยมาใช้โดยผ่านระบบสายพานทางทุนนิยมอย่างชาญฉลาด(ณัฏฐชา วงษ์วานิช, แนวคิดเรื่อง Simulation กับปรากฏการณ์แฟนคลับ รายการอะคาเดมี แฟนเทเชีย ฤดูกาลที่ 4, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)
“เมื่อผลผลึกทางวัฒนธรรมดนตรีที่ตกเทรนด์ กำลังถูกประเมินค่าโดยเหล่าผู้ล่าฝัน AF” (พอยิ้มออกมาหน้าตาไม่เหมือนกับฆาตกรโรคจิต หล่อโฮก สวยฮากเป็นเกาหลี) ภายใต้กลยุทธทางการตลาดแบบ Convergence Marketing ที่ผนวกสื่อ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ผ่านรายการที่เรียกว่าเรียลลิตี้โชว์ ได้สร้างเอกภาพให้แก่ภาคประชาคม โดยมิต้องหวังพึ่งอำนาจส่วนกลาง หรือราชการอีกต่อไป(On The Wing) ก่อเกิดเป็นชุดวัฒนธรรมใหม่ในบันเทิงคดีหน้าจอฉบับครอบครัว เพียงท่านกดโหวตคนที่ชอบ
เวทีนี้มีทั้ง หมอลำ ลูกทุ่ง สตริง สากล ฟ้อนรำ บัลเลต์ และลิเก! กระทั่งแม่ยกโลกาภิวัตน์ที่อุปถัมภ์ศิลปินในระบอบ “โทรธิปไตย” ผ่านเครื่องมือสื่อสาร แม้จะเปลี่ยนหน้าตาไปบ้างจากระบบอุปถัมภ์แบบลิเก แต่ก็ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของศิลปะในสังคมไทย ใช่เพียงใช้ระบบนี้เป็นเพื่อพัฒนาศิลปะสร้างสุนทรียะให้สังคม หรือเป็นไปเพื่อการปลุกเร้าพฤติกรรมการบริโภคที่มุ่งตอบสนองต่อระบบทุนนิยม?
“อันทุนนิยมที่แฝงมาด้วยประชาธิปไตยนั้นไม่ได้น่าเกลียดน่ากลัว” เพียงเพื่อผลตอบรับเป็นเม็ดเงินโดยมิได้สนใจต่อคุณูปการที่เกิดขึ้นกับสังคม ทั้งหมดเป็นเพียงแรงกระตุ้นสนับสนุนรายการที่ “ฉาบ” เบื้องหน้าด้วย “ศิลปะการแสดง” และ “ฉวย” โอกาสในการสร้างความนิยมในนามคณะผู้ล่าฝันอย่างนั้นหรือ? เมื่อทุนนิยมได้หยิบใช้ความเป็นศิลปะ และบิดประสบการณ์ทางสุนทรียะมุ่งสร้างความอิ่มเอิบใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เบือนผิดรูปไปด้วยกระบวนการที่สอดแทรกค่านิยม ประชานิยมในระบอบโทรธิปไตย ให้กลายเป็นทุนสำหรับการต่อทุนไม่มีวันสิ้นสุด
“ศิลปะไม่จำเป็นต้องกลายเป็น โสเภณี” ที่ยินยอมบริการทุกระดับด้วยความประทับใจ? คำถามที่ตามมาคือ วิธีคิดต่อระบบคุณค่าของสังคมไทยว่ากำลังทำงานผิดปกติอยู่หรือไม่? เมื่อสื่อเข้าถึงมหาชนทุกครัวเรือน ผู้ทรงอิทธิพล และมีอิทธิฤทธิ์สะกดให้ฝูงชนกลายเป็นฝูงแกะได้โดยง่าย สิ่งนี้เปิดโลกทัศน์แห่งการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง หรือทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงแค่ “รสนิยม” ในคราบเสรีชน?(พนิดา ฐปนางกูร, มองสุนทรียะของสังคมไทยผ่านรายการอคาเดมี แฟนตาเชีย, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)
“ดนตรีเป็นอันตรายต่อระเบียบสังคม!!!” ซึ่งนั่นก็หมายความว่ารัฐต้องใช้อำนาจในการควบคุมกระชับพื้นที่แนวความคิดที่แฝงเร้นมากับพลังของเสียงดนตรี โดยยึดถือนำเอาบรรทัดฐานทางจริยธรรม ศีลธรรม ที่มีทางสายใหญ่อยู่ที่ศาสนามาเป็นตัวกำหนด ด้วยสิ่งนั้นจึงบันดาลให้เกิดคำสาป “ทรัพย์สินทางปัญญา” ตัวแทน ผู้ผดุงความยุติธรรมในรูปแบบของกฎหมายจากภาครัฐขึ้นมาปราบปรามความเหิมเกริมของทรราชทุนนิยม
แล้วใครหละที่รวยพี่น้อง?
เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 25-27 มีนาคม 2552 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)
-O’ong Marayono, Pencak Silat : A Brief Introduction.
-Mick Moloney, The Croppies Who Will not lie down : Song of Irish resistance over the past two centuries.
-ปรีดีโดม พิพัฒน์ชูเกียรติ, การศึกษาความคิดเรื่องคาร์นิวัลของมิคาอิล บัคตินในบริบทร่วมสมัย.
-อธิป จิตตฤกษ์, การปะทะต่อต้าน, การควบคุมครอบงำ และวัฒนธรรมเสียง : ว่าด้วยวัฒนธรรมดนตรีในรัฐ, ในโลก และ
สิ่งเกี่ยวเนื่อง.
-บัญชา สุวรรณานนท์, อิทธิพลบางประการของนาฏศิลป์สยามที่มีต่อบัลเลต์สมัยใหม่.-ณัฎฐชา วงษ์วานิช, แนวคิดเรื่อง Simulation กับปรากฏการณ์แฟนคลับรายการอคาเดมี แฟนเทเชีย ฤดูกาลที่ 4.
-พนิดา ฐปนางกูร, มองสุนทรียะของสังคมไทยผ่านรายการอคาเดมี แฟนตาเชีย.
-สมชาย ปรีชาศิลปกุล, Copyright/ Copyleft.
-สกุณี อาชวานันทกุล, ครีเอทีฟคอมมอนส์ : สู่วัฒนธรรมเสรีที่เคารพสิทธิผู้สร้าง และสนองความต้องการของผู้เสพ.
-Komatra Chuengsatiansup, Sense, Symbol and Soma : Illness Experience in The Soundscape of Everyday
Life.
-เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช, เพลงลูกทุ่งคำเมืองกับอัตลักษณ์พันทางของคน “ชนบทใหม่” ของเชียงใหม่.-พัฒนา กิติอาษา, ดนตรีอีสาน แรงงานอารมณ์ และคนพลัดถิ่น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น