อยู่นี่แล้ว


วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

วิวัฒนาการเพศสภาวะในดนตรีไทยกับการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม

วิวัฒนาการเพศสภาวะในดนตรีไทยกับการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม


By Amelie Chance


                มนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการมาจากลิง ลิงที่มีวิวัฒนาการจากสัตว์มีขน ไม่มีอะไรติดไม้ติดมือมาตั้งแต่เกิด ลิงนั้นเริ่มรู้ซึ้งถึงปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค แน่นอน ลิงนั้นคงต้องการปัจจัยที่ ห้า คือการสืบเผ่าพันธ์ตนนั่นเอง ลิงมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ในแต่ละซอกมุมของโลกกลมๆใบนี้  ต่อมาพวกลิงจึงหันมาเรียกตนเองว่า มนุษย์สัตว์ประเสริฐ ฉลาด สัตว์ฉลาดเหล่านี้ได้วางกรอบให้ตัวเองอยู่ โดยแบ่งเป็นกรอบมิติทางบรรทัดฐานสังคมที่วางไว้จากรุ่นสู่รุ่น มนุษย์ถูกจำกัดหน้าที่ทางเพศของตนเพียงสองเพศ คือ เพศ ชาย และเพศหญิง สิ่งเหล่านั้นค่อยๆ หล่อหลอมมาเป็นความเชื่อ พิธีกรรม เทพเจ้า เช่น เทพเจ้าที่เป็นผู้ชาย(เจ้าพ่อ) เทพเจ้าที่เป็นผู้หญิง(เจ้าแม่) หยินและหยาง ต่างๆนาๆ ระบบความเชื่อเรื่องเพศต่างพัฒนามาสู่การกดขี่กันอย่างเงียบๆ เนื่องจากการพยายามมีบทบาทของทั้งสองเพศ บทบาทของทั้งสองเพศยืนหยัดอย่างมั่นคงตามหน้าที่ของเพศที่ธรรมชาติให้มา คือเพศหญิงคือเพศแม่ผู้ให้กำเนิด(ไข่) เพศชายผู้เข้มแข็งผู้ให้จิตวิญญาณ(อสุจิ) ทั้งสองทำหน้าที่เป็น พ่อและแม่ เทพเจ้าต่างๆ ก็พยายามแสดงบทบาทนี้เช่นกัน แต่ในบทบาทที่แอบแฝงซ่อนเร้นนั้นยังมีความรู้สึกลึกๆของความที่กระเดียดออกมาจากเดิม ระหว่างเพศทั้งสองเพราะคำว่าเพศนั้นแสดงตามบทบาทหน้าที่ฉะนั้นจึงมีการรวมร่างของเทพจนเกิดเทพที่ครึ่งชายครึ่งหญิง นี่แหละเป็นความจริงที่ทุกคนควรยอมรับว่า ใครก็มีสิทธิ์รวมร่างกันได้ทั้งสิ้น ดังเช่น Hermaphroditus เทพกรีกที่ร่างเป็นหญิงสวยงามตามวัย แต่ดันมีอวัยวะเพศชาย เห็นไหมว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องของธรรมชาติจริงๆ

 Hermaphroditus

                กลับมาย้อนมองดูบ้านเราบ้าง บ้านเราเมืองไทยเป็นเมืองพุทธความเชื่อ วิถีชีวิตถูกหล่อหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า ภิกษุไม่ควรมีภรรยา สมณะถือเพศพรมจรรย์ จึงถือว่าภิกษุก็ตกอยู่ในสภาวะที่ไร้เพศเช่นเดียวกัน และยังได้มีการกล่าวถึงประเภทของบัณเฑาะก์  นปุงสุกบัณเฑาะก์คือพวกไม่มีเพศหรือเพศที่สามที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด(เปรมปรีดา ปราโมช ณ อยุธยา, 2549) สิ่งเหล่านี้ได้ชี้ทางสว่างมามากแล้วในชีวิตสงฆ์ และปุถุชนธรรมดา ต่างจากเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตามภิกษุสามารถจับต้องผู้ชายได้เพศเดียวเท่านั้นเสมอ เพศชายจึงเป็นเพศที่มีเครดิตติดตัวมาตั้งแต่เกิด  

                   หากจะกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ทางเพศ ไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่บอกว่าตัวเองมีเพศ มนุษย์ยังสมมุติสิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายบทบาทหน้าที่ของตนให้มีเพศอีกด้วย เช่น ผลไม้มีราชาผลไม้ ทุเรียน และราชินีแห่งผลไม้มังคุด กล่าวกันว่าทุเรียนกินแล้วอาจร้อนในเป็นธาตุไฟจะต้องเป็นราชา มังคุดหวานฉ่ำชื่นใจจะต้องเป็นราชินีแน่ๆ ในวงการดนตรีไทยบ้านเราก็เช่นกัน วัฒนธรรมการผลิตซ้ำได้มีบทบาทความเป็นเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง จากสังคมไทย เช่น กลองแขก ถูกเรียกว่ามีสองเพศคือ ตัวผู้ และตัวเมีย เพราะว่าสิ่งที่ใหญ่ๆอวบอั๋นนั้น เพศชายจะชอบเป็นพิเศษแล้วยังตั้งชื่อว่าแม่ ต่างๆ นาๆ เช่น แม่น้ำ แม่โพสพ แม่พระธรณี ส่วนสิ่งที่เหลือซึ่งคู่กับแม่ก็คือพ่อ เพราะฉะนั้นกลองแขกอีกตัวจึงเรียกกันว่ากลองแขกตัวผู้ หากจะกล่าวถึงแวดวง วงการดนตรีไทยเราก็จะมีวงดนตรีที่ผู้หญิงเล่นล้วน ได้แก่วงมโหรีเครื่องสาย(ฝ่ายใน) ส่วนใหญ่เล่นด้วยเครื่องสาย ชม้อยชายตา สวยได้ในทุกกริยาเวลาเล่น  และวงที่ฝ่ายชายนิยมเล่น ได้แก่วงปี่พาทย์ ที่นิยมการประชันแข่งขัน ถือเป็นประเภทเครื่องดนตรีชนิดที่หนัก ในวงการด้านนาฏศิลป์ก็มีการแบ่งเพศเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ละครใน ละครนอก ละครในผู้แสดงจะเป็นผู้หญิง หรือสุภาพสตรีทั้งหมดสามารถบ่งบอกถึงยศฐาบรรดาศักดิ์ของพระมหากษัตริย์ และชนชั้นสูง 

                  เพราะฉะนั้นการแสดงจึงให้อารมณ์ที่หรูหรา อ้อนแอ่น และชม้อยชายตาสวยได้ทุกกริยาเวลาแสดงเช่นกัน ส่วนละครนอกผู้แสดงจะเป็นชายล้วนแต่แฝงวิญญาณการแสดงมากกว่าละครใน เพราะพระเอกและนางเอกได้ตีบทแตกไปแล้วในชีวิตจริง ละครนอกไม่จัดว่าหรูหราเท่าละครในทั้งๆที่เพศชายเล่นเองทั้งหมด สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ นางเอกของละครนอกและพระเอกของละครใน ทั้งสองดำรงเพศสภาวะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือพระเอกละครในใช้ชีวิตเยี่ยงผู้หญิงธรรมดา ชีวิตจริงแสดงบทบาทเป็นเพศแม่(บางครั้งก็อยากเป็นชายแท้จริงๆ) ในละครแสดงบทบาทตามบทที่ได้รับมา ส่วนนางเอกละครนอกนั้น(ส่วนใหญ่)เธอใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตเยี่ยงหญิงธรรมดาทั่วไป เธอจึงชอบที่จะแสดงบทบาทเป็นเพศแม่ตามความใฝ่ฝันของเธอในละคร (กรณีนี้ไม่นับรวมทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนใหญ่) เพราะเหตุการณ์ ชายแต่งหญิง ได้มีปรากฏมาตั้งแต่อดีตไม่ใช่เพิ่งมีมาไม่นาน ไม่เว้นแต่ในรั้วในวัง ก็ยังมีการแสดงละครนอกเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการแต่งหญิงจึงถือเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป ในการแสดงและวงการแฟชั่นสมัยก่อน ภายหลังสังคมได้คลี่คลายจากกระแสแฟชั่นในวังผู้นำเทรนทันสมัยกลายมาเป็นกระแสรักชาติ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ทำให้เพศสภาวะในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมีการแบ่งแยกบทบาททางเพศที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และยิ่งชัดเจนในสมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม พ.ศ.2481 โดยได้จัดแบ่งบทบาทหน้าที่ทางเพศอย่างชัดเจน เริ่มมีการสมมุติว่า ลูกผู้ชายต้องเป็นทหาร ลูกผู้หญิงต้องเป็นพยาบาลตามบทบาทเพศสภาวะของตนที่ได้จัดวางไว้ 

                จากรากฐานการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอดีตจนมาถึงปัจจุบัน การศึกษาได้เข้ามามีอิทธิพลในการจัดการบทบาทอาชีพเป็นอย่างมาก เมื่อมีการศึกษาที่สามารถทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น นโยบายการบริหารประเทศที่เน้นความเท่าเทียม เสียงข้างมาก ประชาธิปไตยก่อให้เกิดการแสดงตัวของน้องลูกเกดมากยิ่งขึ้น ดนตรีไทยในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน เครื่องดนตรีไทยที่น้องลูกเกดนิยมเล่นเห็นจะเป็นจะเข้  วิวัฒนาการของสภาวะทางเพศที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดนตรีมีปรากฏชัดเจนขึ้นมากในยุคหลังเนื่องจาก การยอมรับในสภาพที่มีตัวตนของน้องลูกเกด การพยายามแสดง บุคลิกอันโดเด่น และลักษณะเฉพาะตัวที่ออกจริตไปในทางสตรีเพศ หันเห มาจับเครื่องดนตรี จะเข้มากขึ้น  เพราะหากจะจัดแบ่งเพศของเครื่องดนตรีอย่างหยาบๆ แล้วทุกคนถือว่าจะเข้ เป็นเครื่องดนตรีเพศหญิง(อวบอั๋น) แต่จะออกทางหญิงที่มีพละกำลัง(บึกบึน) และมีอำนาจ(น่ากลัว) ผ่างผ่าง ซึ่งในยุคสมัยก่อนหน้านี้ไม่เคยปรากฏว่าเคยมีทวดลูกเกด ยายลูกเกด ป้าลูกเกด เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้เลย แต่ปัจจุบันชายใดที่หันเหตัวเองมาเล่นจะเข้นั้น เป็นอันต้องโดนไม้ขนุนดูดวิญญาณทุกราย เหตุใดที่จะเข้เป็นที่นิยมเล่นของน้องลูกเกด

                ความใฝ่ฝันอันสูงส่งของน้องลูกเกดนั้น คือการได้เฉิดฉาย เป็นกุลสตรี งามอย่างไทยคู่ควรกับเครื่องดนตรีที่งดงามมากที่สุด ในวง คงมีตัวเลือกสุดท้าย คือ วงเครื่องสาย มโหรีหญิงในหัวคุณเธอเท่านั้น เครื่องดนตรีชนิดแรกซอสามสายดูเหมือนจะสวย แต่ต้องกระมิด กระเมี้ยน ทำเป็นกุลสตรีที่แสดงตัวตนความชัดเจนของเธอไม่ได้ ขิมสาย เครื่องสายเสียงไพเราะเพราะพริ้ง แต่ต้องกำมือคดคู้เธอเลยไม่ค่อยถูกใจซักเท่าไหร่ ซออู้ ซอด้วงความจริงน่าจะตรงกับบุคลิกภาพของเธอแต่เธอบอกว่าฉันขออยู่กลางเวทีเท่านั้น ส่วน ฉิ่ง ฉับ กรับ โหม่งยิ่งไม่ต้องพูดถึงเธอบอกว่าถ้าเธอเล่น เธอขอแอบอยู่หลังผ้าม่านซะจะดีกว่า (เธอไม่นิยมตีฉิ่ง) จะเข้นี่แหละตรงสุดๆ ทั้งยังนั่งตรงกลางเวที จะเข้ เครื่องดนตรี ที่จัดอยู่ในประเภทเครื่องดนตรีสตรีเพศ(อวบอั๋น บึกบึน) ที่มีท่านั่งที่เรียบร้อยสวยงาม ลีลาการกรีดกรายนิ้ว กรอ ยกขยับ รูด สะบัด ขยี้ ที่ถูกตาต้องใจจริตของเธอยิ่งนักทั้งเวลาเล่นยังเหมือนเล่นไปด้วย ร่ายรำไปด้วย สวยงามยิ่งนัก

                สำหรับพวกเธอ พวกเธอชอบที่จะเป็นผู้นำที่สามารถ ชม้อยชายตา และได้นั่งด้านหน้า เฉิดฉายกว่าอิสตรี ทั้งบุคลิกภาพที่มีทั้งอ่อนไหว และเข้มแข็ง เครื่องดนตรีชิ้นนี้จึงถือว่าเป็นคำตอบสุดท้ายในชีวิตของเธอ ด้านความฝันเล็กๆ ในใจน้องลูกเกด ถึงเธอจะเลือกบทบาทเครื่องดนตรีในใจเธอแล้วก็ตาม คุณเธอยังฝักใฝ่ในความรู้ดนตรีการด้านอื่นๆ ทำส่งผลให้ลีลาท่วงท่า ทำนอง และอารมณ์ที่อ่อนไหว เศร้าเคล้า สุขที่ได้ระบายออกทางเสียงจะเข้เส้นสายที่สั่นไหว เสียงที่ดัง ผ่าวๆ ของสายลวด กระทบกันสั่นซ่านไปถึงหัวใจ สายเอกเปรียบดังการเดินทำนองของชีวิด สวยทุ้มขับเปลี่ยนลีลาอารมณ์เศร้า สลับกับสายลวดที่คอยย้ำถึงความห้าวหาญแห่งบุรุษเพศ พวกเธอบรรเลงเส้นสายร้อยเรียงไปตามจิตวิญญาณ หากพวกเธอเล่นด้วยใจแล้ว เครื่องดนตรีชิ้นนี้นับว่าได้ถ่ายทอดความเป็นตัวเธอได้เหมือนยิ่งนัก หากแต่ในใจลึกๆมีอารมณ์ที่โหยหาความรักความสุข เหมือนคนปกติเพศ (บรรทัดฐานของสังคม) จะเข้ เครื่องดนตรีที่บึกบึนและอ่อนไหวถ่ายทอดอารมณ์บุคลิคว่าพวกเธอ คือพวกที่ได้แต่เก็บอารมณ์ความรู้สึกเอาไว้เงียบๆ ไม่กล้าบอกใคร ความเศร้ากับความผิดหวังในเรื่องของความรัก ความไม่สมปรารถนาที่แอบซ่อนไว้ภายในใจ เสียงที่สั่นซ่านของสายที่ขั้นด้วยไม้ไผ่บางๆ ได้ถ่ายทอดความเศร้า เคล้าสนุกออกมาในลีลา และท่วงท่าแห่งความเป็นเธอ ถึงแม้ว่าเธอจะกรีดกรายร่ายรำ ในท่วงท่าแห่งจิตวิญญาณ พวกเธอก็ไม่ลืมที่จะเป็นตัวตนที่เธอเป็น ว่าเธอจะต้องไม่แพ้น้องนี  เสมือนเวลาเล่นแล้วเลิกฉันใด ถึงจะเล่นได้ไพเราะเพราะพริ้ง สวยงามสักเพียงใด เธอเองนั่นแหละที่ต้องยกเครื่องดนตรีชิ้นเบ่อเริ่มไปเก็บไว้ที่เดิม(บึกบึน)

          ในสมัยนี้คงไม่มีใคร ที่จะปฏิเสธได้ว่า น้องลูกเกดคู่ควรกับ จะเข้ จริงๆ จากการยอมรับอย่างเงียบๆ ทำให้สังคม วงการดนตรีทั้งไทยและเทศ เปิดใจยอมรับน้องลูกเกดมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากจะเปรียบเทียบ สมัยก่อนยังมีผู้ชาย ร้องเพลงไทยเดิม ร้องแสดงเป็นตัวนางเอกเลย เสียงนี้ไพเราะเพราะพริ้งใสแจ๋วยิ่งกว่าผู้หญิงอีก ผ่านมาไม่นานก็เริ่มมีตัวนางละคร ชายจริงหญิงแท้ ที่เป็นน้องลูกเกด มาอวดโฉมร่ายรำในบทบาทของนางสีดา ที่สามารถทำให้น้องนี ตายกันเป็นแถบๆ นับประสาอะไรกับเครื่องดนตรี ที่ถูกสร้างมาเพื่อเธอ ความสามารถของพวกเธอนั้นต่างประจักษ์แก่สายตาสาธารณะชน จนเกิดการยอมรับขึ้นมาในวงกว้าง ว่า เธอเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริงๆ ในวงการต่างๆ ต่างก็ชื่นชมยินดีในความสามารถของเธอ ลูกเกดได้มีโอกาสแสดงความสามารถและตัวตนของเธอ โดยเข้าไปยืนหยัด มีบทบาทในสถานศึกษาหลายต่อหลายแห่ง ความบรรเจิดด้านความสามารถของเธอเป็นข้อพิสูจน์ศักยภาพ ที่มีอยู่ในตัวเธอเป็นอย่างดี บรรดาผู้คนต่างยกย่องลูกเกดว่าเธอมีความคิดที่แปลกใหม่ แตกต่างจากคนอื่น สร้างสรรค์  ปัจจุบันวงการดนตรี ทั้งไทยและเทศ ต่างชื่นชมยินดีในตัวของน้องลูกเกดเป็นอย่างมากที่ช่วยเป็นแรงขับเคลื่อน ศิลปะวัฒนธรรมให้เดินก้าวหน้าไปได้อย่างทุกวันนี้ 

จะเข้ รูปภาพจาก 
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89.jpg

                เพศสภาวะกับดนตรีนั้นสามารถบอกบุคลิก และความมีตัวตนของตนเองได้ เปรียบดั่งท่านครูที่ได้จัดให้ลูกศิษย์ที่มี ลักษณะนิสัย แตกต่างกันเล่นเครื่องดนตรี ที่แตกต่างกัน สมมุติบทบาท หน้าที่ บุคลิกไปตาม ตัวตน สื่อผ่านออกมาทางเสียง ลีลาทางด้านดนตรี ดั่งในโลกสังคมยุคปัจจุบันที่เปรียบเสมือนเวทีที่กว้างใหญ่ ไว้คอยให้มนุษย์ลิง ใส่หน้ากาก แสดงบทบาทโลดแล่นไปตามวัฎสงสาร เป็นบ่วงกรรมที่ขับเครื่องกงล้อ ดึงฉากกั้น ตามช่วงชีวิตของลิง 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น