ภาพจาก wikipedia.org
พระนางตาราเป็นพระโพธิสัตว์ฝ่ายหญิงในพระพุทธศาสนาแบบทิเบต คำว่าตารามาจากภาษาสันสกฤตหมายถึงข้าม การบูชาพระนางเริ่มเมื่อพุทธศตวรรษที่ 8 - 11 ในอินเดียเหนือและแพร่หลายที่สุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 - 17 โดยถือว่าเป็นชายาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ปัจจุบันมีนับถือในทิเบต ส่วนชาวพุทธในจีนจะนับถือเจ้าแม่กวนอิมที่เป็นภาคหญิงของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์แทน
คาดว่าแนวคิดการนับถือพระนางตาราเริ่มเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 8 และกลายเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีผู้นับถือแพร่หลายในพุทธศตวรรษที่ 13-17 มีผู้นับถือมากในทิเบต เนปาล และมองโกเลีย เชื่อกันว่าแนวคิดการบูชาพระนางตาราเริ่มขึ้นในอินเดียเพื่อต่อต้านพิธีกรรมสตีพระนางตาราได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในด้านของกรุณา ภาพลักษณ์ของพระนางส่วนหนึ่งจินตนาการมาจากพระนางสิริมหามายาเทวี มารดาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (อ้างอิงจาก wikipedia.org)
มหาโพธิสัตว์อารยาตารา ภาษาทิเบต: เจซูน เตรอมา ภาษาสันสกฤตคือ ตารา (มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า ดารา) ถึง "ผู้นำทางไปสู่การหลุดพ้น" เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา ทรงกำเนิดจากน้ำพระเนตรของพระอวโลกิเตศวร เมื่อครั้งที่ทรงพระกรรแสงเนื่องจากทรงไม่สามารถช่วยเหลือสัตว์ทั้งโลกทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ได้ พระโพธิสัตว์ตาราทรงเป็นที่รักและกราบบูชาของชาวพุทธในทิเบต หิมาลัยและมองโกเลีย พวกเขามักสวดคาถาหัวใจ "โอม ตาเร ตุตาเร ตุเร โซฮา" และสวดบทสรรเสริญตารา ๒๑ องค์
แม้เราจะเรียก พระแม่ตารา ว่าเป็น พระโพธิสัตว์ แต่เพราะทรงหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายและเข้าถึงการรู้แจ้งอย่างสมบูรณ์ เราจึงสามารถเรียกพระองค์อีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธเจ้า แต่สาเหตุที่พระองค์ยังได้รับการขนานนามว่า "พระโพธิสัตว์" ก็เพราะทรงตั้งมหาปณิธานที่จะไม่จากสังสารวัฏไปเพื่อการนิพพานจนกว่าสัตว์โลกไม่เว้นแม้แต่หนึ่งเดียวจะหลุดพ้นจากความทุกข์และเข้าถึงการตรัสรู้
ในหมู่ชาวทิเบตและผู้ปฏิบัติในวิถีแห่งพุทธวัชรยาน ไม่มีใครไม่รู้จักพระแม่ตารา รูปบูชาของพระองค์ในปางต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในวัดเกือบทุกวัด และตามบ้านเรือนของพุทธศาสนิกชน พระโพธิสัตว์ตาราทรงมี ๒๑ ปาง แต่ปางที่รู้จักกันแพร่หลายคือ ตาราเขียว (ขทิรวนีตารา) และตาราขาว (จินดามณีจักรตารา) ตาราเขียวเป็นปางคุ้มครองนักเดินทางจากภัยอันตราย ทรงประทานพรให้พ้นจากความทุกข์ ความกลัว และดลบันดาลให้การงานสำเร็จโดยเร็ว
ตาราขาวเป็นปางประทานอายุยืนยาวและการบำบัดรักษาโรค ผู้เจ็บป่วยจึงมักสวดบูชาพระองค์เป็นพิเศษ พระแม่ตาราขาวทรงเป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งมูลนิธิพันดารา ลักษณะพระแม่ตาราขาว ทรงมีเจ็ดพระเนตร (หนึ่งเนตรที่พระนลาฏ สองเนตรปกติ สองเนตรที่ฝ่าพระหัตถ์ และสองเนตรที่ฝ่าพระบาท) อยู่ในลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายถือก้านดอกบัวที่พระอุระ พระหัตถ์ขวาวางอยู่บนพระเพลาในมุทราประทานสิทธิสมประสงค์ สีขาวหมายถึงการปลอดจากอารมณ์บ่อนทำลายและการยึดติดในความคิดปรุงแต่ง นั่นคือทรงปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง และการคิดประเมินค่าเช่น ดี ไม่ดี เป็นต้น
การปฏิบัติบูชาพระพระแม่ตารา หรือพระโพธิสัตว์ตาราก่อนที่เราจะปฏิบัติบูชาพระแม่ตารา อย่างจริงจัง ถามตัวเองก่อนว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิบัติบูชาพระองค์ เพราะเราอยากหนีความทุกข์ เพราะเราอยากได้ที่พึ่ง เพราะเราสนใจพุทธทิเบต จึงสนใจการปฏิบัตินี้ด้วย หรือเพราะเราอยากบ่มเพาะความรักความกรุณา ทัศนคติในการปฏิบัติธรรมสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนตร์ มนตราภาวนา กราบพระ นั่งสมาธิ อ่านพระคัมภีร์ หัวใจหลักเราต้องมีโพธิจิต จิตที่ปราถนาจะบรรลุธรรม เพื่อประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย
การปฏิบัติบูชาพระแม่ตาราก็เช่นกันต้องมีโพธิจิตเป็นรากฐาน หากปราศจากโพธิจิต การปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ต่างจากการกระทำในชีวิตของเรา ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของเราเท่านั้น แล้วถามว่าทำไมการคิดถึงความสุขของเราไม่ดี ไม่ผิดที่เราจะคิดถึงตัวเรา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าผู้อื่นก็มีความทุกข์เช่นกัน พวกเขาก็ล้วนต้องการความสุขเหมือนกันเพราะฉะนั้นเราและเขาไม่ต่างกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมเราถึงจะคิดหรือทำเพียงเพื่อตัวเราเท่านั้น
เมื่อมีทัศนคติที่ถูกต้องและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติบูชาพระแม่ตาราเป็นยีตัม (พระพุทธเจ้า/พระโพธิสัตว์ที่ยึดเป็นหลักในการดำรงชีวิตและการปฏิบัติธรรม) แล้วเราหาครูที่จะช่วยชี้นำหนทางในการปฏิบัติธรรม เราขอมนตราภิเษกจากครูเพื่อให้เราปฏิบัติบูชาพระแม่ตาราได้ดี เมื่อได้มนตราภิเษกก็เท่ากับว่าเราได้รับอนุญาตให้สวดบูชาพระองค์ ให้นั่งสมาธิถึงพระองค์โดยมีครูเป็นผู้นำทาง ไม่ใช่การปฏิบัติบูชาแบบสะเปะสะปะ ไม่ใช่การเดินหลงอยู่ในป่า หรือการปิดตาเดินโดยไม่รู้ว่าทำอย่างไรจะไปให้ถึงที่หมายอย่างรวดเร็วและปลอดภัย บางคนปฏิบัติเอง ลองผิดลองถูกซึ่งเป็นการเสียเวลามากๆ พยายามเก็บเวลาอันมีค่าของเราเพื่อการปฏิบัติที่มีพื้นฐานที่ถูกต้องอันนำไปสู่การตรัสรู้ธรรม (อ้างอิงจาก มูลนิธิพันดารา The Thousand Stars Foundation) ----- > facebook.
สาธุครับ
ตอบลบ