กลิ่นดนตรีล้านนาในงานปอยหลวง บนอดีตดินแดนล้านนา
นักดนตรีวงกลองบูชา จากศรัทธาวัดปงชัย
ดนตรีในงานปอยหลวงสันนิษฐานแรกเริ่มปรากฏจารึกเขาสุมนกูฏ ทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์ทางด้านพุทธศาสนาระหว่างอาณาจักรในยุคนั้น การกระจัดกระจายของเมือง ดินแดนชาติพันธุ์ที่ยังเป็นรัฐอิสระได้พยายามเก็บเกี่ยวอารยะธรรม วัฒนธรรม ศาสนา จากรัฐที่เจริญ (คือ สุโขทัย) ฉะนั้นความร่วมสมัยของดนตรีในยุคนี้ถึงมีบทหน้าที่เป็นอย่างมากในการประโคม สรรเสริญให้เกิดศรัทธาแก่พระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับดนตรีประโคมต้อนรับสุมนเถระที่มาจากสุโขทัย ฉะนั้นนโยบายหลักทางการเมืองของพญาลิไทยจึงไม่ใช่เพียงแค่การใช้กำลังไพร่พล ทหาร มายึดครองแดนเพื่อผลประโยชน์ของตน แต่เป็นนโยบายการใช้ศาสนา วัฒนธรรมกระจายไปสู่เมืองต่างๆ ซึ่งหากนับรวมความเป็นดนตรีแล้วสุโขทัยได้ประสบความสำเร็จในการครองงำเมืองต่างๆ ด้วยศาสนาวัฒนธรรมไปแล้ว
วัยรุ่นกำลังแห่ ส่าย ต้นครัวทาน ในเพลงกินตับ อันเปิดแห่ประโคมโดยรถเทค อย่างสนุกสุดเหวี่ยง
เนื้อความดนตรีปรากฏตามจารึก “สาธุการบูชาอีกดุริยาพาทย์พิณฆ้องกลองเสียงดังสิพอดังดินจักหล่มอันไซร้ (เพียงดินจะถล่มนั้น)” ดนตรีมีหน้าที่ประโคมให้เกิดความศรัทธาบูชาในพระศาสนาปรากฏ พาทย์ พิณ ฆ้อง และกลอง ประโคมดังเสมือนฟ้าดินจะถล่ม เนื้อความทำให้ทราบได้ว่าดนตรีก็ถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของศาสนา ในการแผ่กระจายอำนาจซ่อนเร้นเพื่อเข้าสู่ความเชื่อ ศรัทธาที่แรงกล้าจนกระทั่งสามารถลบล้างความเชื่อพื้นถิ่นเดิมเสียจนเกือบหมดสิ้น เพราะฉะนั้นอำนาจทางเสียงจึงมาคู่กับอำนาจทางความเชื่อในศาสนาสู่การศรัทธา ด้วยเครื่องไทยทานฉลองพระพุทธบาทดังนี้
“สองขอก (ข้าง) หนทาง ย่อมตั้งกัลปพฤกษ์ใส่รมยวลดอกไม้” แปลว่า สองข้างทางเรียงรายไปด้วยต้น กัลปพฤกษ์ ประดับประดาด้วยดอกไม้ คล้ายต้นครัวทาน ดังเช่นประเพณีงานปอยหลวงในภาคเหนือปัจจุบัน ต้นครัวทาน หรือไทยทาน คือการจำลองต้นไม้ (กัลปพฤกษ์) ที่ชาวบ้านนำปัจจัยอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ปัจจัย ถวายทานไว้ภายภาคหน้า (ยุคพระศรีอาริยเมตไตรย) และ“ปลูกธงปฎากทั้งสองปลาก (ฟาก) หนทาง ย่อมเรียงขัน” มีธงปลูกเรียงรายไปตามสองฟาก (ปัจจุบันมีตุง) พร้อมด้วยขันหมากพลูบูชาอภิรมย์ คือการต้อนรับโดยยินดีแสดงเรียงรายจนถึงงานเฉลิมฉลองที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ปรากฏซึ่งดนตรีเล่นประโคมอย่างสนั่นหวั่นไหว ประโคมอย่างครื้นเครง เล่าถึงบรรยากาศงานบุญที่ครื้นเครงไปด้วยเสียงดนตรีของเทศกาล ซึ่งโดยปกติแล้วสังคมสมัยนั้นเป็นสังคมแห่งความเงียบ ขาดด้วยมหรสพ รื่นเริง วัฒนธรรมเสียงเครื่องโลหะแห่ประโคมถือว่าศักดิ์สิทธิ์
คนล้านนาสมัยนั้นรับเอาวัฒนธรรมเหล่านี้จากสุโขทัย ดนตรีดังกล่าวคือดนตรีวัด สถานที่รวมศูนย์อำนาจจักรวาลตามคติความเชื่อเดิม งานปอยหลวงนิยมจัดขึ้นเพื่อสมโภชวัดวาอารามในเดือนหก (มีนาคม) เพราะเป็นช่วงเดือนสุดท้ายของปี โดยทั่วไปแล้วหมู่บ้านหรือชุมชนจะมีวัดประจำหมู่บ้านหนึ่งวัดเป็นอย่างน้อย ส่วนใหญ่เป็นวัดขนาดเล็ก เป็นที่สั่งสอนวิชา ศิลปะ ประเพณีและวัฒนธรรมล้านนา ในที่นี้รวมถึงวัฒนธรรมการดนตรีด้วย เมื่อมีการสร้างศาสนสถานหรือบูรณปฏิสังขรณ์อาคารหรือสิ่งก่อสร้าง จึงเกิดเป็นการเฉลิมฉลองซึ่งมักจะจัดเป็นงานมหรสพใหญ่โตนิยมจัด ๓ วัน ๓ คืน จัดโดยชุมชนซึ่งสมัยก่อนอาจมีเจ้าภาพเป็นกษัตริย์ ถวายข้าวัด ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องดนตรีแห่ประโคม ดังปรากฏในตำนานพระธาตุจอมทอง
นักดนตรีวงกลองบูชา จากศรัทธาวัดปงชัย
งานปอยหลวงเป็นมหกรรมของงานมหรสพของชุมชนส่งให้เกิดการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เกิดการว่าจ้างช่างซอ ช่างปี่ นักดนตรีพาทย์ฆ้อง ตามหมู่บ้านใกล้เคียง ช่วงนี้เป็นช่วงเวลางานของเหล่านักดนตรีภายหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว วัฒนธรรมดนตรีล้านนาส่วนใหญ่ถูกสืบทอดตามชุมชน ในแต่ละชุมชนจะมีศิลปินพื้นบ้านถืออาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพรองจากเกษตรกรรม สืบทอดการดนตรีภายในครอบครัวและผู้สนใจ ดนตรีในงานปอยหลวงนั้นนอกจากจะมีดนตรีจากหมู่บ้านใกล้เคียงเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ยังมีวงดนตรีและต่างแสดงจากหัววัดในต่างตำบล อำเภอ ตลอดถึงต่างจังหวัดเข้ามาแสดงดนตรี ฟ้อนรำ เป็นพุทธบูชารวมถึงแห่ประโคมต้นครัวตาน (เครื่องไทยทาน) เพื่อร่วมทำบุญ ซึ่งเครื่องดนตรีส่วนใหญ่สมัยก่อนจะถูกเก็บรักษาไว้ที่วัด เป็นสมบัติส่วนกลางของชุมชน เช่น ฆ้อง กลอง และเครื่องแห่ประโคมต่างๆ ด้วยบทบาทหน้าที่ของดนตรีเหล่านี้มีความใกล้ชิดในพิธีกรรมทางศาสนาและชุมชน สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างสถาบันวัด และชุมชนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
แหล่งมหรสพเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ติดกำแพงวัด ลานหน้าวัดหรือเรียกกว่า “ข่วงวัด” ไม่สามารถเข้าไปบรรเลงในวัด เพราะบางมหรสพมีการหยอกล้อสัปดน บรรเลงแห่ประโคมตลอดทั้งวัน บ้างก็มีการละเล่นต่างๆ อยู่จนดึกดื่นตลอดทั้งคืน บางครั้งทางวัดก็มีการจัดข้าวปลาอาหารและที่หลับนอนให้กับคณะศรัทธาที่เดินทางมาไกลพักอาศัย อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับงานปอยหลวงก็คือ “การขับซอ” ส่วนมากเรื่องราวที่ขับจะเป็นพวกชาดกต่างๆ ในตำนานปกิณกะ มีเนื้อหาอิงธรรมะ สอนจริยธรรม ความกตัญญู ค่านิยมที่ถูกที่ควรในสังคมปัจจุบัน ตลอดจนนิทานสอนใจต่างๆ สอดแทรกไปด้วยมุขตลกไม่น่าเบื่อ เป็นการแสดงที่ชาวบ้านชอบมาก ถึงกับขนเสื่อมาปูรอตั้งแต่เช้ามืด โดยกรรมวิธีการจัดการมหรสพเหล่านี้จะผ่านการตัดสินใจโดยเสียงโหวตของชุมชนและกรรมการวัด ให้หาศิลปินพื้นบ้านมาอย่างเหมาะสมตามความต้องการชองชุมชนมาแสดงบนผามซอ หรือ “ค้างซอ” ที่เป็นจุดเด่นของงานมหรสพเป็นอีกกลไกสำคัญในการสืบทอดวรรณกรรมมุขปาฐะล้านนา ในอดีตบางวัดจะมีผามเปี๊ยะไว้ให้ชายหนุ่มบรรเลง แลกเปลี่ยนเทคนิควิทยาการเล่นเปี๊ยะ ส่วนมากจะจัดบริเวณทุ่งนาหน้าวัดเป็นที่สุมชุมนุมของชายหนุ่มสมัยก่อน ทั้งอวดเปี๊ยะ อวดลายเปี๊ยะ และอวดลายขา (ลายสักบริเวณขา) สูบบุหรี่ กินเหล้า เล่นการพนัน พร้อมแลกเปลี่ยนมิตรภาพกันของชายหนุ่มระหว่างหมู่บ้าน และชุมชนรอบข้าง
วิถี พานิชพันธุ์ กล่าวว่า วันที่สามของงานปอยหลวงเป็นวันแห่ครัวตานเข้าวัดจากต่างหมู่บ้าน ต่างตำบล ต่างอำเภอ หรือแม้แต่ต่างจังหวัด ที่มีความคุ้นเคยหรือความสัมพันธ์กับวัดเจ้าภาพ ชาวบ้านศรัทธาต่างพื้นที่จะเดินทางมาเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อนำครัวทานมาจัดตั้งเป็นขบวนที่ค่อนข้างเป็นทางการก่อนแห่เข้าภายในวัด ขบวนครัวทานหัววัดประกอบด้วย “ขันเชิญ” คือพานใส่ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน มีมัคนายกของวัดนั้นๆ หรือหนาน (ผู้ที่เคยบวชเรียน) ถือนำขบวนตามมาด้วยกลุ่มช่างฟ้อน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเมืองที่มักจะเป็นเด็กสาวสวย พร้อมวงดนตรีปี่แน กลองแอวที่บรรเลงจังหวะเนิบนาบ ส่วนพระสงฆ์จากหัววัดที่มีสัปทน (ร่ม) กั้นเดินนำคณะศรัทธา ปิดท้ายด้วยเครื่องครัวทานหรือต้นครัวทานที่จะถวายไว้กับวัดเจ้าภาพ เป็นริ้วบวนสวยงามวนมากช่วงท้ายของขบวนมักจะเป็นชายหนุ่มน้อยใหญ่เล่นตบมะผาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ ประกอบวงดนตรีกลองซิ่งมอง กลองปู่เจ่ก้นยาวสนุกสนานเฮฮา (วิถี พานิชพันธุ์ ๒๕๔๘) ซึ่งนับวันยิ่งหาดูได้ยากตามชุมชนรอบนอก หรือบางชุมชนที่มีการเข้ามาจัดตั้งชุมชนสมัยใหม่ เช่น บ้านจัดสรร เหล่านี้มีส่วนทำลายความเป็นชุมชนล้านนา สังคมชาวนา ชาวไร่เดิมทั้งสิ้น
อานันท์ กาญจนพันธุ์ ได้กล่าวถึงความเป็นไปของวัฒนธรรมชุมชนล้านนาว่า ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมนั้นโหดร้ายต่อสังคมชาวนา ชาวไร่อย่างเหลือเกินนั้น ช่างเป็นความจริงแม้ในปัจจุบันเพราะพวกเขามักจะไม่ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทในการสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์เสียเลย และนั่นก็หมายรวมถึงว่า ไม่มีบทบาทในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและประเพณีด้วย เพราะสิ่งที่เรียกกันว่าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีของสังคมนั้น ตลอดมามักจะถูกทำให้ดูเหมือนหนึ่งเป็นผลิตผลอยู่ในแวดวงของชนชั้นนำในสังคมเท่านั้น สำหรับสิ่งที่อาจเป็นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีของชาวนาชาวไร่ วีถีชีวิตชุมชนตลอดจนถึงวัดรอบนอกก็มักจะถูกมองเห็นว่าเป็นการตามกระแสวัฒนธรรมหลักหรือลอกเลียนจากวัฒนธรรมใหญ่ในสังคม ดังนั้นอะไรที่เป็นของชาวบ้าน ชุมชน จึงมักจะถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรมใหญ่ และเห็นว่าวัฒนธรรมของชาวบ้านนั้นเป็นเพียงวัฒนธรรมเล็ก (อานันท์ กาญจนพันธุ์ ๒๕๒๗, ๑๙๕)
เพราะฉะนั้นการศึกษาวัฒนธรรมการดนตรีส่วนมากในสถานศึกษาจึงเข้ามาศึกษาวัฒนธรรมใหญ่เป็นหลัก ทอดทิ้งวัฒนธรรมรากหญ้า ชุมชนล้านนาไปเกือบหมดสิ้น พร้อมการศึกษาวิจัยในมุมมองของผู้อยู่ในวัฒนธรรมใหญ่ มองวัฒนธรรมเล็กในบริบทของความแปลกประหลาด และสิ่งเหล่านี้ค่อยๆ ก่อตัวมาเป็นการศึกษาเชิงชาตินิยม ตลอดจนถึงการครอบงำทางด้านวัฒนธรรมจากวัฒนธรรมใหญ่ ส่งผลให้สังคมชุมชนวัฒนธรรมเล็ก ดิ้นรนและปรับตัวให้เป็นเหมือนวัฒนธรรมใหญ่มากขึ้นเพื่อต้องการลดความประหลาดตลอดจนสร้างความเป็นชาตินิยม ทับถมความเป็นท้องถิ่นนิยมตนเสียสิ้น
ส่งผลให้การศึกษาวิจัยภาษา วัฒนธรรม ดนตรี รวมถึงคติชนวิทยา ขาดข้อมูลซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดความรู้ ตลอดไปจนถึงการพัฒนาประเทศอย่างมีแก่นสารต่อไป ถึงแม้บางชุมชนล้านนาจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมากนักเพราะยังห่างจากศูนย์กลางทางวัฒนธรรม ส่งผลให้วัฒนธรรมดนตรีท้องถิ่นดังกล่าวขาดความแข็งแรงสืบเนื่องเพราะสถาบันเจ้านายที่ล่มสลายไปแล้ว และสถาบันปกครองรัฐชาติ ไม่มีจุดยืนที่มั่นคงต่อกัน เกิดวัฒนธรรมดนตรีที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนเดิมระหว่างรั้วโรงเรียนกับชุมชนหมู่บ้าน เป็นวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมจากวัฒนธรรมใหญ่ เกิดนิยามความเป็นไทยตามคติชนชั้นนำสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยการสถาปนาพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์เป็นรัฐชาติสมัยใหม่เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตามมาด้วยการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ร่วมกันในประเทศ คือจะต้องมีภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตเหมือนกัน ในวัฒนธรรมที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ
เพราะฉะนั้นการศึกษาวัฒนธรรมการดนตรีส่วนมากในสถานศึกษาจึงเข้ามาศึกษาวัฒนธรรมใหญ่เป็นหลัก ทอดทิ้งวัฒนธรรมรากหญ้า ชุมชนล้านนาไปเกือบหมดสิ้น พร้อมการศึกษาวิจัยในมุมมองของผู้อยู่ในวัฒนธรรมใหญ่ มองวัฒนธรรมเล็กในบริบทของความแปลกประหลาด และสิ่งเหล่านี้ค่อยๆ ก่อตัวมาเป็นการศึกษาเชิงชาตินิยม ตลอดจนถึงการครอบงำทางด้านวัฒนธรรมจากวัฒนธรรมใหญ่ ส่งผลให้สังคมชุมชนวัฒนธรรมเล็ก ดิ้นรนและปรับตัวให้เป็นเหมือนวัฒนธรรมใหญ่มากขึ้นเพื่อต้องการลดความประหลาดตลอดจนสร้างความเป็นชาตินิยม ทับถมความเป็นท้องถิ่นนิยมตนเสียสิ้น
ส่งผลให้การศึกษาวิจัยภาษา วัฒนธรรม ดนตรี รวมถึงคติชนวิทยา ขาดข้อมูลซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดความรู้ ตลอดไปจนถึงการพัฒนาประเทศอย่างมีแก่นสารต่อไป ถึงแม้บางชุมชนล้านนาจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมากนักเพราะยังห่างจากศูนย์กลางทางวัฒนธรรม ส่งผลให้วัฒนธรรมดนตรีท้องถิ่นดังกล่าวขาดความแข็งแรงสืบเนื่องเพราะสถาบันเจ้านายที่ล่มสลายไปแล้ว และสถาบันปกครองรัฐชาติ ไม่มีจุดยืนที่มั่นคงต่อกัน เกิดวัฒนธรรมดนตรีที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนเดิมระหว่างรั้วโรงเรียนกับชุมชนหมู่บ้าน เป็นวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมจากวัฒนธรรมใหญ่ เกิดนิยามความเป็นไทยตามคติชนชั้นนำสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยการสถาปนาพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์เป็นรัฐชาติสมัยใหม่เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตามมาด้วยการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ร่วมกันในประเทศ คือจะต้องมีภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตเหมือนกัน ในวัฒนธรรมที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ
วงกลองมองเซิงกำลังบรรเลงให้หญิงสาวในหมู่บ้านฟ้อนก๋ายลายอย่างสนุกสนาน
สิ่งเหล่านี้กำลังบ่อนทำลายวัฒนธรรมรากหญ้า ชุมชนไปทีละนิด ทีละน้อย ด้วยเรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องของการผสมผสาน การปรับใช้ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้นวัฒนธรรมประดิษฐกรรมสร้างใหม่ไร้ประโยชน์ ตลอดจนไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตวิถีชุมชนหรือเพื่อการหลอมรวมอำนาจสู่รากฐานการพัฒนาระบอบทุนนิยม อย่างไม่จริงใจ กำลังเข้ามาครอบงำวัฒนธรรมชุนชน ลบเลือนความเป็นท้องถิ่นด้วยความเมินเฉย เพราะรัฐถือว่าวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมเล็ก วัฒนธรรมชายขอบ และด้วยมายาคติที่ต้องเพิกเฉยกับความจริงแบบรวมศูนย์อำนาจที่วัฒนธรรมใหญ่ ส่งผลให้วัฒนธรรมเหล่านี้กลายเป็นภาพเหมารวมของวิถีชุมชนแบบพอเพียงที่ไม่ต้องการสิ่งใดในการดำรงอยู่ ท่ามกลางกระแสรัฐบาลทุนนิยมผลประโยชน์
ในที่นี้ผู้เขียนได้เข้าไปเก็บข้อมูลภาคสนามงานปอยหลวงวัดฉางข้าวน้อยเหนือ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีโอกาสพูดคุยกับสล่าสม หรือนาย ไชยวัฒน์ บุญสม หัวหน้าวงแห่พาทย์ฆ้องพื้นเมือง คณะสวรรค์ชาวยอง เรื่องการดำรงอยู่ สืบทอดและจัดการองค์ความรู้ว่า ปัจจุบันดนตรีพื้นเมืองล้านนากำลังเสื่อมความนิยม ทางวงรับงานเทศกาลในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบลและอำเภอรอบข้างลดน้อยลง เพราะความนิยมของวัยรุ่นสมัยใหม่นิยมชมชอบรถเทคเปิดเพลงดังๆ เต้นบนท้องถนนมากกว่าการฟ้อนร่วมวงแห่พาทย์ฆ้องเหมือนสมัยก่อน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนนักดนตรีพื้นบ้านเดิมที่รับงานแห่เป็นอาชีพรองจากเกษตรกรก็อยู่ไม่ได้ จึงมีการรวมตัวกันขึ้น ตั้งชื่อกลุ่มว่าคณะกลองบูชาบ้านดอนหลวง มีวัดเป็นศูนย์กลางนัดพบคนเฒ่าคนแก่ที่ยังมีองค์ความรู้เรื่องดนตรีล้านนา มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสืบทอดแก่ผู้สนใจ เริ่มแรกสอนให้กับเหล่าเพื่อนพ้องอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน รับงานแถวชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักและรับงานเพิ่มในต่างอำเภอ ตลอดจนถึงต่างจังหวัดเช่นจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นต้น
ปัจจุบัน สล่าสม (นายช่าง, นักดนตรี, ศิลปิน) ยังเป็นครูพิเศษสอนดนตรีพื้นบ้านล้านนาที่โรงเรียนในอำเภอป่าซาง เช่นโรงเรียนนครเจดีย์ เป็นต้น และผลจากการขาดแคลนความอุดมสมบูรณ์ด้านวัฒนธรรมชุมชน ส่งผลให้สล่าสมต้องออกรับงานอีเว้นท์ทางวัฒนธรรมในระบอบทุนนิยมมากขึ้น เช่น งานแสดงทางด้านวัฒนธรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว งานบรรเลงให้แก่ช่างฟ้อนอีเว้นท์ในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ประทินโฉม งานพืชสวนโลก บรรเลงแก่นักท่องเที่ยวบนถนนคนเดิน ประโคมเปิดตัวเครือข่ายโทรศัพท์ภาคเหนือ ตลอดจนถึงเผยแพร่วัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ณ ต่างประเทศเป็นต้น
ถึงแม้ว่าการดนตรีล้านนาในสถานศึกษาและองค์กรจะมีความเจริญเนื่องมาจากการสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงหลัง แต่การดนตรีล้านนารอบนอก ดนตรีที่ยังรับใช้สถาบันชุมชนของสังคมล้านนากลับถูกมองข้าม จะมีเพียงแต่การส่งนักศึกษาเข้าไปสืบทอดองค์ความรู้เพื่อสนององค์กรภาครัฐเท่านั้น เป็นระบบการเรียนรู้แบบ Artificial Intelligence แบบการป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” ไม่ได้เกิดการพัฒนาระยะยาวหรือปลูกฝังค่านิยมรักและหวงแหนในวัฒนธรรมล้านนาแต่เพียงใด หากเป็นการย้ายภูมิปัญญาเข้าสู่ตัวเมืองเพื่อรับใช้องค์กร และระบอบทุนนิยมเพียงเท่านั้น เกิดปัญหาวัฒนธรรมดนตรีเดิมในวิถีชีวิตคนล้านนาขาดดุลอำนาจในการต่อรองกับสังคมใหญ่ ต้องถอนตัวเองออกจากรากวัฒนธรรมเดิมเข้าสู่การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรทางวัฒนธรรมเพื่อแปรรูปเข้าสู่การตลาด ด้วยขาดการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเข้าใจถ่องแท้ และผลจากระบอบการรวมศูนย์อำนาจนี้ส่งผลให้วัฒนธรรมท้องถิ่นอ่อนแอ ขาดผู้นำท้องถิ่นในการจัดการ บริหารวัฒนธรรมอย่างถูกต้อง เพราะปัจจุบันระบบการบริหารจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ยังอยู่ในมือของข้าราชการซึ่งล้วนมาจากการแต่งตั้งบนพื้นฐานของการพัฒนาไร้ทิศทาง
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (๒๕๔๘). ประชุมจารึกภาคที่
๘ สุโขทัย. จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี วันที่ ๑๘ ตุลาคม
พุทธศักราช ๒๕๔๗. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : พิมพ์ที่ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน.
๘ สุโขทัย. จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี วันที่ ๑๘ ตุลาคม
พุทธศักราช ๒๕๔๗. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : พิมพ์ที่ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน.
คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช. (๒๕๔๖). ความเชื่อพื้นบ้านล้านนา : ถ่ายทอดจากประสบการณ์ของท่าน ผู้รู้ในท้องถิ่น.
เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง.
เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง.
ธเนศวร์ เจริญเมือง. (๒๕๔๒). ๑๐๐ ปี สายสัมพันธ์ สยาม – ล้านนา (พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๒๕๔๒). เอกสารชุดท้องถิ่นของ
เราชุดที ๑ ในโครงการการศึกษาการปกครองท้องถิ่น. เชียงใหม่ : สถาบันมังรายและกลุ่มชินวัตร.
เราชุดที ๑ ในโครงการการศึกษาการปกครองท้องถิ่น. เชียงใหม่ : สถาบันมังรายและกลุ่มชินวัตร.
. (๒๕๓๖). มาจากล้านนา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผู้จัดการ.
วิถี พานิชพันธุ์ . (๒๕๔๘). วิถีล้านนา. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม.
อานันท์ กาญจนพันธุ์. (๒๕๒๗). พัฒนาการของชีวิตและวัฒนธรรมล้านนา. พิมพ์ครั้งแรก. เชียงใหม่ : สำนักหอสมุด
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น