เพลงดนตรีในประเพณี ปีใหม่เมือง ล้านนา
ประเพณีสงกรานต์ หรือปีใหม่เมือง นับแต่พระอาทิตย์ย่างออกจากราศีมีนเข้าสู่ราสีเมษ เป็นช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เป็นช่วงเวลาของการสิ้นสุดของปี เป็นช่วงเวลาที่ดอกลำไยบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอม ดอกลมแล้ง(ราชพฤกษ์)แข่งกันบานอวดดอกเหลืองอร่าม ใบไม้ใหญ่ต่างร่วงโรยรอการผลิใบอีกครั้งในฝนแรกเดือนพฤษภาคม และมักจะถือเอาวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวัน “สังขารล่อง” วันนี้ตั้งแต่เช้ามืด ฝ่ายชายจะตื่นมาจุดประทัด ตีฆ้อง ร้องป่าวขับไล่สังขาร(อายุ) ซึ่งเป็นตัวแทนของความเศร้าหมอง อับโชค จะล่องเลยผ่านไปประมาณเที่ยงคืนของวันที่ ๑๓ ชาวบ้านนิยมจุดประทัด ยิงปืน ตีฆ้อง ตีกลอง เพื่อขับไล่ปู่สังขารให้ล่องเลยผ่านไป ส่วนมากนิยมทำพิธีที่แม่น้ำ(ช่วงหน้าแล้งน้ำแห้ง) หรือคลอง เพื่อให้ปู่สังขารไหลล่องไปตามน้ำ เป็นพิธีการขับไล่สิ่งอัปมงคล ในอดีตมีฆ้อง เป็นเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ โลหะ เครื่องมือหลักในการส่งสังขาร กระทำโดยชายหนุ่ม และผู้นำครอบครัวซึ่งเป็นผู้ชาย ช่วงบ่ายมีการสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัดคนเฒ่าคนแก่ น้อย หนาน(ผู้ที่เคยบวชเรียนมาแล้ว) ต่างเข้าวัดอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน เล่นดนตรี ตีกลองบูชา กลองมองเซิง หรือกลองซิงมอง สร้างบรรยากาศ ความรื่นเริงในวัด อย่างสนุกสนาน
ในความร้อนของหน้าร้อนเดือนเมษายนยามบ่ายชาวบ้านก็จะนิยมรดน้ำกันอย่างสนุกสนานหลังกลับจากสรงน้ำพระพุทธรูป และพระสงฆ์ที่วัด ในสมัยหลังๆ ตามตัวเมืองใหญ่ทางภาครัฐจะจัดให้มีการนำเอาพระพุทธรูปองค์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองออกแห่รอบบ้านรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำ เพื่อเป็นสิริมงคล มีวงดนตรีแห่ประโคมพาทย์ฆ้อง ฟ้อนเล็บ รอบเมือง เช่นขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ในพิธีกรรมวันสงกรานต์ล้านนาเชียงใหม่
วันที่ ๑๔ เมษายน วันเน่า วันเนาว์ หรือวันจ่าย เป็นวันที่อยู่ระหว่างปีเก่าและปีใหม่ ถือว่าเป็นวันเตรียมตัวสำหรับพิธีตรุษสงกรานต์ในวันต่อไป ซึ่งตลาดต่างๆ จะหยุดในวันพรุ่งนี้ ในเวลาช่วงบ่ายของวันเนาว์ทุกคนจะไปที่แม่น้ำ หรือลำห้วย หาทรายสะอาดตามท้องน้ำที่เริ่มแห้งขอด เพื่อนำไปก่อเจดีย์ตามตามวัดประจำหมู่บ้าน ศรัทธาข้าวัดทุกคนในหมู่บ้านสนุกสนานกับการเล่นสาดน้ำเคล้าเพลงเสียงสามสายในหมู่บ้านซึ่งส่วนมากนิยมเปิดเพลงทางเทศกาลปีใหม่เมืองของ อบเชย เวียงพิงค์ หรืออบเชย ร้องคู่กับวีรศักดิ์ ประกอบการขนทรายเข้าวัดเพราะต้องขนหลายเที่ยว ผู้เฒ่าผู้แก่ก็บรรเลงดนตรีตีกลองบูชาสร้างบรรยากาศที่ครึกครื้นยิ่ง ปัจจุบันผู้เขียนพบว่าชาวบ้าน แก่วัด และพ่อหลวงบ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน)ต่างชอบเพลงของคำหล้า ธัญยพร เพราะมีระบบการบันเสียงที่ดีกว่า เปิดดังได้ไพเราะในพิธีกรรมของบ้านในวันนี้ และวันนี้ชาวบ้านถือว่าถ้าใครด่าทอหรือพูดจาส่อไปในทางอัปมงคลในวันนี้จะทำให้ปากเหม็นเน่าทั้งปี จึงเป็นสาเหตุให้หลายคนหันมาเปิดเพลงเพราะๆ บรรเลงดนตรีพื้นเมือง บ้างก็จัดต้นครัวทาน(เครื่องไทยทาน)เพื่อถวายปัจจัยแก่พระสงฆ์ และวัดในพื้นที่ตน
ในเชียงใหม่คนมักนิยมไปขนทรายกันที่แม่น้ำปิง ใกล้ๆ สะพานนวรัฐ เพราะในช่วงนี้น้ำปิงจะลดลงจนสามารถลงไปขนทรายได้ ฉะนั้นจะเห็นว่าในวันนี้จะเห็นผู้คนต่างพากันถือขันเงิน (สมัยก่อน) หรือถังน้ำลงไปขนทรายในน้ำปิง และเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน การขนทรายเข้าวัดในวันเนาว์นี้ ถือว่าเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มากเท่ากับเม็ดทราย หรือบางคนกล่าวว่า เป็นการทำบุญเพื่อชดใช้กรรมที่เกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งมากมายเหมือนเม็ดทรายที่เหยียบติดเท้าออกมาจากวัด ส่วนทรายที่ได้นั้นทางวัดจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
วันพญาวัน ๑๕ เมษายน เป็นวันเถลิงศก ขึ้นปีใหม่ วันนี้เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช ปัจจุบันถือเอาวันที่ ๑๕ เมษายน ประจำทุกปี เช้าตรู่ชาวบ้านจะพากันเข้าวัดฟังธรรม ทำบุญ เรียกว่า “ตานขันข้าวปีใหม่” มีการถวายตุงผ้า และตุงช่อกระดาษ นักษัตร ๑๒ ราศี อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ช่วงบ่ายจะมีการออกไปดำหัวของชาวล้านนาไทย ซึ่งมักจะเริ่มตั้งแต่วันพญาวัน ปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ซึ่งอำมาตย์เอก พระยาอนุบาลพายัพกิจ ปลัดมณฑลและข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่(พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๘๑) ได้กล่าวถึงเทศกาลประเพณีรดน้ำดำหัวของชาวเหนือยามสงกรานต์ ไว้ในหนังสือ อนุบาลรำลึก มีดนตรี ขบวนแห่ ฆ้องกลอง เฉลิมฉลองดังนี้
“สำหรับพิธีรดน้ำดำหัวของชาวเชียงใหม่โดยเฉพาะนั้นผู้เขียน ได้สอบถามจากผู้สูงอายุที่เชียงใหม่ คือจากคุณพระทวีประศาสน์ข้าราชการบำนาญ ท่านเล่าว่าบิดาของท่าน พระราชนายกเสนี เป็นข้าราชบริพารในพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระบิดาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ขณะที่พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ยังครองนครเชียงใหม่อยู่ เมื่อถึงยามสงกรานต์วันสังขารล่อง พระเจ้าอินทรวิชยานนท์แต่งองค์เสร็จแต่เช้าลงจากคุ้มกลางเวียง ซึ่งมีบริเวณประมาณหน้าศาลากลางจังหวัดเดี๋ยวนี้ ประทับแคร่หาม มีขบวนแห่ มีฆ้องกลอง พร้อมด้วยเจ้านาย พระญาติพระวงศ์ และข้าราชบริพารตามเสด็จ ออกทางประตูช้างเผือกเลียบคูเวียงลงไปจนถึงเจดีย์งาม(เจดีย์กิ่ว)(นงเยาว์ กาญจนจารี ๒๕๓๓, ๒๙-๓๒)
และในสมัยเจ้าอินทรวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าเมืองผู้เริ่มการดนตรีมหรสพเพื่อประชาชน ผู้จ้างครูแตรวงเข้ามาทำการสอนชื่อ ครูนาค เป็นชาวกรุงเทพฯ มีวงแตรวงเป็นของคุ้มให้แห่ในเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะสงกรานต์เป็นประจำ พอตกเย็นเวลาประมาณ ๕ โมงเย็น ก็จะเปิดเวทีที่กลางสนามหน้าคุ้ม(ปัจจุบันคือโรงเรียนยุพราช) มีการบรรเลงแตรวงเป็นที่ครื้นเครง(หน้าคุ้มจึงเป็นที่ชุมนุมของผู้คนสมัยนั้น) เมื่อแตรวงบรรเลงจบ ถึงกลางคืนผู้คนก็พากันไปดูละคร เป็นโรงละครใหญ่ มีผู้แสดงประมาณ ๕๐ คน เจ้าอินทรวโรรสสุริยวงษ์ เป็นเจ้าที่มีอารมณ์ศิลปิน รักเทศกาลสนุกสนาน พอถึงวันสงกรานต์ ก็จะคิดสิ่งแปลกใหม่สนุกๆ แทบทุกปี โดยจัดขบวนแห่หาบเจ้าเจ้าอินทรวโรรสสุริยวงษ์ นั่งบนแคร่ มีฆ้อง กลองครบชุด กางสัปทน ขบวนแห่ไปทางถนนท่าแพ เปิดโอกาสให้ประชาชนรดน้ำและทำพิธีดำหัว ขบวนแห่จะเดินไปตามถนนสายต่างๆ พอตกกลางคืนก็จะมีละคร เช่นนี้ประชาชน ข้าราชการ ตลอดจนพระญาติจึงมีความรัก และเคารพเจ้าอินทรวโรรสสุริยวงษ์ เป็นพิเศษ(ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ๒๕๓๘, ๑๐๘-๑๐๙) นอกจากการดำหัวเจ้าเมือง ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ยังมีการรดน้ำดำหัวพระสงฆ์โดนคณะศรัทธาหัววัด มีการแห่แหนดนตรีฆ้องกลองปี่ คล้ายแตรวงแต่ใช้ปี่แนแทน บรรเลงเพลงสมัยใหม่ ลูกทุ่ง รำวงสนุกสนาน บ้างก็ประกอบการฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนครัวทานเป็นที่สนุกสนานของชาวบ้าน
ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์เชียงใหม่ถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงไปมาก ตามระบบทุนนิยม และระบอบไทยเที่ยวไทย เกิดวัฒนธรรมใหม่ทำให้ประเพณีระดับบ้าน และวัดค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมล้านนา แต่ก็สามารถบทเห็นไปตามหมู่บ้านรอบนอก มีการประกวดวงดนตรีพื้นเมืองล้านนา มีการจัดริ้วขบวนโดยภาครัฐซึ่งเข้ามาแทนสถาบันเจ้าเมืองในอดีต ประเพณีการรดน้ำดำหัวผู้ว่าราชการ นายกเทศบาล ตลอดจนถึง อบต. ประเพณีนี้ถูกรักษาไว้อย่างเหนียวแน่นภายใต้ระบบการปกครองแบบอุปถัมภ์ ตลอดจนการเมืองท้องถิ่น ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมนี้ดนตรียังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการประโคมแห่ เฉลิมฉลอง ในสถาบันหลักสังคมล้านนา ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปบ้าง แต่ก็ยังมีเพลงหนึ่งที่ชาวล้านนานิยมร้องเปิดเล่นเต้นรำกันในเทศกาลปี๋ใหม่เมืองไม่แพ้เพลง โอลด์แลงค์ซาย์ ในวันขึ้นปีใหม่สากล นั่นก็คือเพลง “หมู่เฮาจาวเหนือ” เพลงเนื้อสื่อความเป็นชาติพันธุ์นิยม อันหนึ่งอันเดียวกันของชาวเหนือ ดังนี้
เพลง หมู่เฮาจาวเหนือ
ร้องโดย วีรศักดิ์ และ อบเชย เวียงพิงค์
(พร้อม)หมู่เฮา หมู่เฮาจาวเหนือ เฮาต่างฮักเครือเชื้อชาติหมู่เฮา
ถึงจะอยู่ถิ่นแดนแคว้นใด ถึงจะอยู่ถิ่นแดนแคว้นใด
เฮาฮักกั๋น เฮาหันใจ เฮาฮู้ใจในหมู่เฮา (ช)จากปิงวังทั้งยมและน่านห่างกัน
แต่ใจนั้นแน่นแฟ้นในหมู่เฮา อู้กำเมืองฮู้เรื่องฟังม่วน
ฮ้องเอิ้นเจินจวนล้วนมีใจฮ่วมหมู่เฮา แอ่วหาจ๋าเติงเปิ้งปา
คุ้นเคยเจยหน้า หาสู่หมู่เฮา
(พร้อม)หมู่เฮา หมู่เฮาจาวเหนือ เฮาต่างฮักเครือเชื้อชาติหมู่เฮา
ถึงจะอยู่ถิ่นแดนแคว้นใด ถึงจะอยู่ถิ่นแดนแคว้นใด
เฮาฮักกั๋น เฮาหันใจ เฮาฮู้ใจในหมู่เฮา ฮ่วมงานบุญสุนทานทุกบ้านงานปอย
ฮ่วมฮีตฮอยฮักษาฮื้อหมู่เฮา ประเพณีทุกปี๋ดีเด่น
วัดวาฮ่มเย็นถือเป็นตี้เปิ่งหมู่เฮา บ้านเมืองของเฮางามดี
ถือเป็นเมืองตี้ฮักแห่งหมู่เฮา
(พร้อม)หมู่เฮา หมู่เฮาจาวเหนือ เฮาต่างฮักเครือเชื้อชาติหมู่เฮา
ถึงจะอยู่ถิ่นแดนแคว้นใด ถึงจะอยู่ถิ่นแดนแคว้นใด
เฮาฮักกั๋น เฮาหันใจ เฮาฮู้ใจในหมู่เฮา (ญ)ลูกจาวเหนือเจื้อเฮาข้าวนึ่งแน่นเหนียว
ต่างกลมเกลียวกันไว้ในหมู่เฮา ฮื้อคนชม นิยมลือเลื่อง
สมเป็นคนเมือง ฮักเมืองฮักเกียรติ์หมู่เฮา แจ่มใสน้ำใจไมตรี
เหมือนน้องเหมือนปี้ นี่แหละหมู่เฮา
(พร้อม)หมู่เฮา หมู่เฮาจาวเหนือ เฮาต่างฮักเครือเชื้อชาติหมู่เฮา
ถึงจะอยู่ถิ่นแดนแคว้นใด ถึงจะอยู่ถิ่นแดนแคว้นใด
เฮาฮักกั๋น เฮาหันใจ เฮาฮู้ใจในหมู่เฮา (ช)ลูกจาวเหนือเจื้อเฮาข้าวนึ่งแน่นเหนียว
ต่างกลมเกลียวกันไว้ในหมู่เฮา ฮื้อคนชม นิยมลือเลื่อง
สมเป็นคนเมือง ฮักเมืองฮักเกียรติ์หมู่เฮา แจ่มใสน้ำใจไมตรี
เหมือนน้องเหมือนปี้ นี่แหละหมู่เฮา
(พร้อม)หมู่เฮา หมู่เฮาจาวเหนือ เฮาต่างฮักเครือเชื้อชาติหมู่เฮา
ถึงจะอยู่ถิ่นแดนแคว้นใด ถึงจะอยู่ถิ่นแดนแคว้นใด
เฮาฮักกั๋น เฮาหันใจ เฮาฮู้ใจในหมู่เฮา จบ
นงเยาว์ กาญจนจารี. ๒๕๓๙. ดารารัศมี. เชียงใหม่ : สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ พิมพ์.
ปราณี ศิริธร ณ พิทลุง. ๒๕๓๘. เพ็ชร์ลานนา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. เชียงใหม่ : พิมพ์ที่ บริษัท นอร์ทเทิร์น พริ้นติ้ง จำกัด.
วิถี พานิชพันธ์. ๒๕๔๘. วิถีล้านนา. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม.
สงวน สุขโชติรัตน์. ๒๕๕๓. ประเพณีไทยภาคเหนือ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.
++ขอขอบคุณภาพสวยๆ จากล้านนาโฟโต้คลับ . คอม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น