อยู่นี่แล้ว


วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

ส่งสการ คีตการ : ดนตรีในพิธีศพล้านนา

         

วัฒนธรรมดนตรีล้านนาที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่โบราณกำลังจางหายไปจากสังคมคนเมือง วัฒนธรรมส่งสการล้านนา โดยความหมายคำว่า “ส่งสการ” มีความหมายเดียวกับคำว่า “ส่งสักการะ” ในพจนานุกรมฉบับแม่ฟ้าหลวงเล่มที่ ๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า ส่งสการ ไว้ว่า ส่ง หมายถึงทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเคลื่อนพ้นจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพื่อให้ถึงผู้รับหรือหมายด้วยอาการต่างๆ เช่น การบวงสรวง, มอบให้, มอบให้ตามพิธีกรรม ส่งสการ หมายถึง พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลงศพ มักใช้ควบคู่กับคำว่า “ตานคาบ” หมายถึงการทำบุญแก่ผู้ตายในขณะที่มีศพตั้งอยู่ในบ้าน(อุดม รุ่งเรืองศรี, พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง เล่ม ๑-, ๒๕๓๓) พิธีกรรมส่งสการนั้นมีมาแต่โบราณ ปรากฏในตำนานวรรณกรรมหลายแห่ง เช่น มหาเวสสันดรชาดก ปริวรรตโดย สิงฆะ วรรณสัย ตัวอย่างจากฉบับไม้ไผ่แจ้เรียวแดง ในช่วงที่พรรณนาตอนที่พระเวสสันดรเห็นนางมัทรีสลบ ทรงคิดว่านางสิ้นพระชนม์ และหากนางสิ้นพระชนม์แล้วจะทรงจัดเมรุและงานศพอย่างไร ดังนี้

“ดูรานางมัทรีสรีสะอาด                        ปองว่ารายังได้เสวิยราชเปนพระญา(หากแม้นว่า เรา, พี่)
แลนางมามรณาตายจาก                                     คูพี่นี้หากจักหื้อเพิ่นมาส้างปราสาทหลังคราน(ท่านผู้อื่น), (งดงาม)
บิดเปนสานงามซะแล่ม                                        คูพี่จักหาช่างแต้มขีดเขียนเงา(ทำเป็นทรงปราสาท), (แฉล้ม), (ช่างวาด)
เสาหรอนั้นพี่จักพันไพด้วยผ้า                                              ใส่ช่อฟ้าแลดวงปลี(เสาปราสาท)
พี่จักแต้มรูปกินนารีนารอรแอ่นฟ้อน                   ถือดอกล้อนเพิงพาว”(กินรี, กินนร), (ล้วนเหมาะสม)
                “บางพร่องพี่จักหื้อถือจาวมอรไกวแกว่งพัด  บางฅนพี่จักหื้อถือเครื่องกั้งหางนกยูงยอยื่น(บางคน), (จามร)
ยะยาบตื่นด้วยจามรีแฅวนยิ่ง                                              ใต้ฟ้าขริ่งดูคราน(มาก), (คิด, ครุ่นคิด)
เพื่อจักส่งสการนางแก้วพี่                                    ทุกด้าวที่แจจน” (คนเบียดเสียดกันทุกที่)



ปัจจุบันบางจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนยังใช้คำว่า “ส่งสการ” อยู่บ้างถึงแม้ว่าจะมีคำอื่นๆ มาแทน เช่นคำว่า ปลงศพ, เสียศพ, เผาศพ นอกจากนี้การส่งสการยังเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้ตาย โดยจัดพิธีกรรมและเครื่องสักการให้สมแก่ฐานะผู้ตาย ได้แก่ ปราสาทศพ, เหล่าสัตว์หิมพานต์, ดอกไม้, ดอกไม้จัน และเครื่องไทยทานต่างๆ เครื่องสักการะเหล่านี้สามารถมอบให้โดยตรงหรือผ่านตัวแทน เช่น พระสงฆ์ สามเณร(อุดม รุ่งเรืองศรี, พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง เล่ม ๑-, ๒๕๓๓) นอกเหนือจากนี้ส่วนสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ในการจัดพิธีส่งสการก็คือดนตรี ในที่นี้ขอกล่าวถึงดนตรีพาทย์ฆ้องดังปรากฏในพิธีส่งสการของนางมัทรี ในมหาเวสสันดรชาดกว่า

“ฝูงฅนถงพี่จักหื้อถือพาทย์ค้อง           เสียงตื่นต้องสระพวนไพ(นักเลง), (ปี่พาทย์), (เสียงดัง)
สรไนเสียงสั่น                                                         สระหนั่นด้วยเบงทรา(ปี่ไฉน, ปี่ชวา), (ปี่พาทย์)
จากับด้วยเสียงปลี่                                                                นันทุกที่อือทือ(ส่งเสียงประสานกับเสียงปี่กึกก้อง)
บางฅนพี่จักหื้อตบมือตางแฉ่ง                             พี่จักแต่งเครื่องเหล้นทุกประการ(แทนฉาบขนาดเล็ก)
                                                                                (อุดม รุ่งเรืองศรี, วรรณกรรมล้านนา, ๒๕๔๖)




จากวรรณกรรมมหาเวสสันดรชาดก การจากโลกนี้ไปของผู้อันเป็นที่รักในมุมมองของคนล้านนา ไม่ได้ปรากฏถึงอิฏฐารมณ์ความเศร้าโศกเสียใจมากมายเหมือนคนปัจจุบัน ทุกอย่างอยู่วนเวียนอยู่ในวัฏฏะตามคติความเชื่อในพระศาสนา ซึ่งนิยามความตายเปรียบเสมือนการเดินทางไปสู่ภพใหม่ซึ่งมิได้โหดร้ายเสมอไป ดนตรีที่ปรากฏในพิธีส่งสการส่วนใหญ่ในอดีตหรือตามตำนาน วรรณกรรมต่างๆ จะเล่นเพื่อแห่ ประโคม เฉพาะบุคคลที่มีศักดินา ชนชั้นสูง เช่น กษัตริย์ เจ้านาย และพระสงฆ์เป็นต้น
วงดนตรีพาทย์ หรือ พาทย์ฆ้อง ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีได้แก่ ระนาด ฆ้องวง ปี่แน(หน้อย และหลวง) กลองเต่งถิ้ง และฉาบ(บางพื้นที่เรียกว่าวงเต่งถิ้ง) จัดเป็นเครื่องแห่ประโคมถึงการประกาศชัยชนะของมนุษย์ที่ก้าวไปสู่ปรโลก ทั้งนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวถึงวงปี่พาทย์ฆ้องวงไว้ว่ามีเครื่องดนตรีหลัก คือ ปี่, ฆ้อง และกลอง สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมฆ้อง(ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว) บางทีอาจเหมารวมเรียกเป็น “เบญจดุริยางค์” เป็นวงประโคมของหลวง หรือมิฉะนั้นก็เป็นสมบัติส่วนรวมของชุมชนที่มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดวาอาราม เพราะเอกชนคนหนึ่งคนใดไม่มีอำนาจจะสร้างสิ่งนี้ได้ โดยเฉพาะ ฆ้องวง ที่ทำด้วยโลหะผสมสัมฤทธิ์ ต้องผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งมีอยู่กับ “หลวง” เท่านั้น(สุจิตต์ วงษ์เทศ, ดนตรีไทยมาจากไหน?, ๒๕๕๓:๘๖.) วงพาทย์ฆ้องนี้ส่วนใหญ่ใช้บรรเลงในพิธีกรรม แห่ประโคมเพื่อคุณค่าทางจิตวิญญาณมากกว่าสุนทรียรส บ้างก็สร้างบรรยากาศที่สนุกสนานครื้นเครงดังปรากฏจินตภาพ ผู้คนตบมือ เล่นดูมหรสพ ชุมนุมสังสรรค์(บ้างเล่นการพนัน) และปิดท้ายด้วยการแสดงดอกไม้ไฟประกอบดนตรีปี่พาทย์ในขั้นตอนการเผาปราสาทศพ ดังปรากฏในเวสสันดรชาดกในตอนที่พระเวสสันดรทำดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง อย่างพิสดารตระการตาว่า

                “เปนไฟงามย้อมดอก          บานข้าวตอกกำผาย(ดอกไม้ไฟสีต่างๆ), (พร่างพรายดั่งหว่านข้าวตอก)
ไฟนางสวายดอกน้อย                         ขวีดอกส้อยแจจน(ประกายดอกไม้ไฟนั้นละเอียด และกระจายไปทั่ว)
ชะโพกลนล่วนแตก                                               ไฟมล้าแก้วแยกเปนเปลียว(กระบอกไม้ไผ่แตกปะทุดังกึกก้อง)
ฅวันไฟเขียวติดช่อฟ้า                           มานกาบอ้าดั่งจักบินบน(รวดเร็ว), (ขยายออก)
ลมบิดกิวปั่นเคล้า                                 ปานดั่งจักยกเอาปราสาทเจ้าแม่เมือบน(เกิดลมหมุ่นที่ด้านล่างปราสาท)
กะทำฉันนี้แล้วจิ่งเปนบัวราณ              ส่งสการนางพญามาแต่ก่อน แลนา...”
                                                                                (เวสสันตรชาดก ฉบับไม้ไผ่แจ้เรียวแดง, สิงฆะ วรรณสัย, ปริวรรต)



จากบันทึกของ ลิเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส มิชชันนารีชาวอเมริกัน คณะเพรสไบทีเรียนที่เดินทางไปเผยแพร่คริสตศาสนาที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๔๔๒ สมัยรัชกาลที่ ๕ ว่า “ไม่มีพิธีใดจะได้รับการรอคอยด้วยความสนใจ และพึงพอใจอย่างยิ่งเท่ากับพิธีเผาศพ ดังนั้นฝูงชนจำนวนมากมายจึงมักมารวมกันหนาแน่นและเพลิดเพลินไปกับการแข่งขันชกมวย ชนไก่ ฟังพระสวดมนต์ ชมการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ การเล่นกล การแสดงเบ็ดเตล็ด ตลอดจนชมการแสดงต่างๆ ที่มีลักษณะเหมาะแก่งานศพ ซึ่งสลับกันไปมาจัดให้ชมกันตลอดเวลา” (ลิเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส, ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ตอนที่ ๑, ๒๕๔๓:๑๗๒) หรือเรียกว่า “เฮือนเย็น” อันหมายถึงบ้านที่มีการตั้งศพ สวดศพโดยพระสงฆ์ในเวลากลางคืน ส่วนใหญ่ในช่วงยามวิกาลอาจมีการพนัน การละเล่นต่างๆ มหรสพ ดนตรี ปี่พาทย์ ประโคมเป็นช่วงๆ มิให้เงียบเหงาวังเวง บางคนแสดงความสนิทสนมกับผู้ตายโดยการนอนค้างคืนช่วยเฝ้าศพด้วย การตั้งศพนี้นิยมทำกัน ๓-๕ วัน
วัฒนธรรมพาทย์ฆ้องในพิธีส่งสการล้านนาเริ่มต้นมาจากชนชั้นสูง ก่อนที่จะกระจายตัวมาสู่วัฒนธรรมชุมชน เพราะสำหรับบุคคลสำคัญเช่น เจ้านาย หรือพระภิกษุ งานศพจะเรียกว่า “พิธีส่งสการ” ในที่นี้อดีตไม่นิยมเรียกงานศพชาวบ้านด้วยคำดังกล่าว พิธีส่งสการ เผาศพจริงๆ ของเจ้านาย หรือพระสงฆ์นั้นมักกำหนดวันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ซึ่งเป็นฤดูแล้งสะดวกสำหรับการจัดงานใหญ่ที่จะมีคนจำนวนมากเดินทางมาร่วมพิธี อีกทั้งเป็นช่วงที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนาและการเกษตร อานันท์ กาญจนพันธุ์ ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์วัฒนธรรมเจ้านายกระจายตัวเข้าผสานวัฒนธรรมชุมชนว่า หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎร์มีความรู้สึกต่อต้านระบบกษัตริย์มาก จึงเปลี่ยนระบบการปกครองมณฑลลดฐานะลงเป็นเพียงจังหวัด ทำให้ตำแหน่งเจ้าครองนครฝ่ายเหนือถูกยกเลิก ก่อนที่จะหักเหทางเดินมาเล่นการเมืองท้องถิ่น และฝังฐานอำนาจไว้ในระดับย่อย เช่น อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เมื่อบทบาทการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีจากชนชั้นนำตกทอดมาสู่ชุมชนชาวนา ชาวไร่ ก็อาจถูกมองว่าเป็นการตามอย่างหรือลอกเลียนจาก “วัฒนธรรมใหญ่” และวัฒนธรรมเหล่านั้นเข้าสู่ระบบทุนนิยมโดยชนชั้นกลางอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา(อานันท์ กาญจนพันธุ์, พัฒนาการของชีวิต และวัฒนธรรมล้านนา, ๒๕๒๗)
                บทบาทหน้าที่ของดนตรีในพิธีส่งสการในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นวงพาทย์ฆ้องบรรเลงประโคม ณ สถานที่จัดตั้งพิธีศพ “เฮือนเย็น” ชาวล้านนานิยมเก็บศพชนชั้นสูงหรือพระเถระเพื่อไว้ประกอบพิธีนานเป็นแรมปี บางทีเป็นหลายปีเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะจัดงานส่งสการที่ถูกต้องตามประเพณี การทำบุญและประโคมดนตรีหลังจากการตั้งศพแล้วอาจจัดขึ้นเป็นระยะๆ เช่นทุก ๗ วัน, ๑๕ วัน หรือทุกเดือนแล้วแต่กรณีตามความเหมาะสมของฐานะลูกหลานหรือโยมอุปถัมภ์ ส่วนพิธีเผาจริงๆ นั้นในอดีตมีการจัดเตรียมปราสาทบุษบกเทินบนหลังนกหัสดีลิงค์ขนาดใหญ่อันแสดงถึงเกียรติยศของผู้ตาย การตั้งปราสาทศพของเจ้านายแต่โบราณเคยใช้พื้นที่หน้าหอหลวงหรือคุ้มของเจ้านาย หากเป็นพระเถระจะใช้พื้นที่โล่งหน้าวัดหรือข่วงหน้าวัดจัดกิจกรรมทำบุญทำทานเป็นเวลาหลายวัน ๕-๗ วัน สำหรับการ “นอนขอน” หรือการเชิญศพตั้งบนปราสาท ไม่ได้มีเฉพาะพิธีทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีมหรสพดนตรี ระเม็งละคร ฟ้อนรำ และการจุดดอกไม้ไฟ งานออกร้านขายของ และการพนันสารพัดรูปแบบ
                ขบวนแห่ศพโดยการลากจูงบางทีเรียกว่า “ปอยล้อ” ประกอบด้วยกังสดาลใบใหญ่สอดคานหามใช้ตีนำหัวขบวน บางทีมีคนตีปานหรือฆ้องแบนๆ คล้ายผ่างของคนจีนเดินไปมายาวตลอดขบวน ชาวล้านนาเชื่อว่าการได้ชักลากปราสาทศพของครูบาอาจารย์ที่เคารพหรือเจ้านายผู้เป็นที่นับถือของชุมชนนั้น จะได้บุญและอานิสงส์มาก โดยเชือกนั้นจะผูกกับสะดึงของตัวปราสาทเพื่อชักลาก มีวงดนตรีปี่พาทย์หามแห่ปราสาท ประโคมตามท้ายปราสาทไปตลอดทาง(ส่วนมากนิยมแห่เพลงปราสาทไหว) บางทีก็มีการโปรยข้าวตอกดอกไม้ จุดประทัดดอกไม้ไฟ จนถึงจุดหมายสำหรับฌาปนกิจ
                เมื่อการเตรียมดอกไม้ไฟเรียบร้อย และความวุ่นวายของการหุงมะนาวสงบลง(การโปรยทานโดยการโยนมะนาวหรือมะกรูดยัดใส่ด้วยเหรียญหรือเศษเงิน) นักดนตรีจัดวางตำแหน่งเพื่อนั่งบรรเลงในผามเปียง(ที่ร่มกันแดดส่วนใหญ่ทำด้วยไม่ไผ่มุงด้วยใบตองตึง) หลังจากพิธีทางศาสนา และคำขออโหสิกรรม ประธานในพิธีจุดสายมะผาบ คือชนวนที่วิ่งไปสู่ดอกไม้ไฟต่างๆ ส่งเสียงหวีดหวิว น่าตื่นเต้น ขณะเดียวกันดนตรีปี่พาทย์จะประโคมด้วยจังหวะเร้าใจ สอดคล้องกับการลุกไหม้ของไฟที่ลุกลามทั่วปราสาท เพลงที่นิยมบรรเลงมากที่สุดคือ “เพลงมวย” ที่สุดระทึกใจเห็นจะเป็นช่วงที่ยอดปราสาทไหม้แล้วหักยุบลงมา ผสานด้วยเสียงปี่พาทย์เร้าใจต่อเนื่องประกอบกับการทรุดตัวของโลงศพลงบนกองไฟที่ทั้งร้อนทั้งแรงในตอนบ่ายของหน้าแล้งปลายหนาว ท่วงทำนองดนตรีโหมกระพือเร็วเปลวไฟลุกโชนโหมกระหน่ำในบทการแสดงเสพมหรสพสุดท้ายของชีวิต



เวลานี้จะเป็นช่วงที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่เด็กหนุ่มเป็นพิเศษเมื่อเปลวไฟลุกเลียไหม้ถึงผ้าจีวรเพดานอันเสมือนเพดานจักรวาลที่ขึงบนปราสาท ถ้าเกิดไฟไหม้ผ้าทะลุเป็นรูเชื่อว่าดวงวิญญาณจะขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์โดยตรง ถ้าไฟไหม้ผ้าจีวรเพดานหมด แสดงว่าผู้วายชนม์นำเอาความรู้ความสามารถไปกับดวงวิญญาณหมด แต่ถ้าไหม้ไม่หมดแสดงว่าจงใจทิ้งคาถาอาคมไว้ให้ลูกศิษย์ จึงมีการแย่งเอาเศษผ้าจีวรเพดานนี้กันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อนำเอาไปทำเครื่องรางของขลังบ้างก็ชกต่อยเข้ากับอารมณ์จังหวะฮึกเหิมของเพลงมวยพิลึก
หลังการฌาปนกิจแล้วสองถึงสามวัน ต้องนำอัฐิไปประกอบพิธีบังสุกุลแล้วเก็บไว้ในกู่หรือเจดีย์ เพื่อการทำบุญอุทิศส่วนกุศลและสักการะ บูชา ในโอกาสต่อๆไป การรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้วายชนม์หรือบรรพบุรุษนั้น ชาวล้านนาถึงเป็นคุณธรรมที่สังคมสรรเสริญ ดังจะจัดประเพณีสรงน้ำพระธาตุหรือกู่ในช่วงหลังปี๋ใหม่เมือง(สงกรานต์) หลังจากงานฌาปนกิจสักระยะหนึ่งจะมีพิธี ปอยข้าวสังฆ์ ส่วนใหญ่จัดโดยครอบครัวผู้ตาย หรือศรัทธาวัดจัดถวายเฮือนตาน(คล้ายพิธีกงเต๊กของชาวจีน) มีการสมโภชมหรสพ ดนตรี ขับซอ ค่อนข้างมีบรรยากาศของความรื่นเริงมากกว่าโศกเศร้า  เจ้าภาพจะทำพิธี “บูชาคืน” คือ การถวายเงินซื้อหรือไถ่เอาของที่ถวายไปเก็บไว้ที่บ้าน เป็นพิธีถวายของให้แก่ผู้วายชนม์ไปใช้ในปรโลก หรือภพหน้า โดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นบ้านผสมพุทธศาสนา(วิถี พานิชพันธ์, วิถีล้านนา, ๒๕๔๘)
ปัจจุบันพิธีกรรมและดนตรีในพิธีส่งสการค่อยๆ จางหายไปจากสังคมล้านนา ด้วยวัฒนธรรมเมืองได้ค่อยๆ ทำลายความเป็นชุมชนอันเป็นหัวใจหลักของประเพณีพิธีกรรม รวมถึงวิถีชีวิตอาชีพนักดนตรีไปเสียสิ้น เมรุสมัยใหม่ฌาปนกิจด้วยระบบไฟฟ้าที่ทันสมัยประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยลดโลกร้อน และระบบทุนนิยมอันเป็นเครื่องต่อรองกับฐานะกิจวัตรประเพณีในชุมชน ห้างสะดวกซื้อสมัยใหม่ เทคโนโลยีซีดี เอ็มพีสาม กำลังทำลายความอุดมสมบูรณ์ทางวัฒนธรรมชุมชนที่หลงเหลือเป็นวัฒนธรรมบริสุทธิ์สุดท้ายให้หายไปจากสังคมล้านนา ท้ายสุดผืนผ้าจีวรเพดานคงปลิวพลิ้วลอยไปอย่างไร้ความหมาย สักแห่ง จนหลงลืมไปซึ่งความหมาย และความสำคัญในรากวัฒนธรรมตน

เอกสารอ้างอิง
ลิเลียน จอห์นสัน เคอร์ติส, ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ตอนที่ ๑, กรมศิลปากร จัดพิมพ์, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๓.
วิถี พานิชพันธ์, วิถีล้านนา, สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม, เชียงใหม่, ๒๕๔๘.
สิงฆะ วรรณสัย, ปริทัศน์วรรณคดีลานนาไทย, โครงการตำรา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๒๓.
อานันท์ กาญจนพันธุ์, พัฒนาการของชีวิต และวัฒนธรรมล้านนา, พิมพ์ครั้งแรกที่ มิตรนราการพิมพ์, กรุงเทพฯ, ๒๕๒๗.
อุดม รุ่งเรืองศรี, พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง เล่ม ๑-, จัดทำขึ้นในวโรกาสที่ แม่ฟ้าหลวงเจริญ   พระชนมายุ ๙๐ พรรษา ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๓, พิมพ์ครั้งแรก, อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด, กรุงเทพฯ, ๒๕๓๓.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น