วัฒนธรรมดนตรีในประเพณีฟ้อนผีล้านนา
ภาพ ฟ้อนผี ณ ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง จังหวัดลำพูน วันที่ 15 เมษายน 2554
ความเชื่อในวัฒนธรรมล้านนามีรากฐานมาจากความเชื่อเรื่องผี เรื่องวิญญาณที่สิงสถิตย์ในธรรมชาติ ชาวล้านนากราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างที่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาได้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางโลก ไม่ใช่ทางธรรม สันนิษฐานว่าความเชื่อเรื่องผีน่าจะมีมาก่อนการนับถือพระศาสนา ในที่นี้ “ผี” ของชาวล้านนาสามารถแบ่งตามคุณและโทษได้คือ ผีดี และผีร้าย โดย ผีดี คือ ผีที่มีคุณต้องนับถือ แบ่งตามฐานันดรได้ดังนี้ ผีแถน ผีชั้นสูงสุดเทียบได้กับเทพเจ้า ชาวลาวเชื่อกันว่าผีแถนเป็นผู้สร้างโลก ให้น้ำ ให้ข้าว ให้ชีวิต เป็นเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ ผีปู่ย่า เป็นผีบรรพบุรุษฝ่ายหญิง หรือผีบรรพบุรุษครอบครัว สามารถจำแนกได้เป็น ผีมด เป็นบรรพบุรุษของสามัญชน หรือไพร่ของชาวล้านนา หรือชาวไทยวน และ ผีเม็ง คือผีนักรบ ชนชั้นปกครองที่สร้างคุณงามความดีแก่บ้านเมือง ส่วนใหญ่เชื้อสายมอญ หรือไตจากรัฐฉาน ผีอารักษ์ ผีเจ้านาย ผีเสื้อบ้าน เป็นผีผู้ปกปักษ์รักษา สถานที่สำคัญ แหล่งน้ำ ป่าเขา หรือฝายกั้นน้ำ ตลอดจนถึง ผีเสื้อเมือง ที่ปกป้องบ้านเมือง เป็นวิญญาณของกษัตริย์ เจ้านาย เป็นต้น ในที่นี้ผีดีสามารถเปลี่ยนเป็น “ผีร้าย” ได้ถ้าหากไม่มีการเคารพ ปรนนิบัติ หรือไม่เซ่นไหว้ ตลอดจนถึงการเลี้ยงดูที่ไม่ดี ส่งผลให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นหิวโหยจนต้องออกไปหาอาหารกินเอง เป็นผลให้เป็นที่เดือดร้อนของชุมชนต่างๆ นาๆ
ฤดูสำหรับการเลี้ยงผีนั้นคือช่วงหน้าแล้งก่อนเทศกาลเข้าพรรษานับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป โดยมักจะเป็นช่วงที่เอื้องผึ้งผลิดอกบาน ส่งกลิ่นหอมระรวย ชาวล้านนานิยมใช้ดอกเอื้องผึ้งนี้ประกอบพิธีเลี้ยงผี ส่วนการประทับทรงผีบรรพบุรุษจะอาศัยร่างของลูกหลานฝ่ายหญิง โดยถือว่าเป็นหน้าที่ต้องรับผิดชอบ อีกทั้งเป็นบทบาทหนึ่งของฝ่ายหญิงที่จะแสดงความทัดเทียมฝ่ายชายในการถือครองพระศาสนา นิยมเรียกร่างประทับทรงว่า “ม้าขี่” ผู้นำความชอบธรรมโดยการถือครองวิญญาณของผู้ล่วงลับ กลับมาใช้สิทธิและหน้าที่ในร่างของผู้อื่น เช่นในกรณีการปฏิรูปหัวเมืองลาวเฉียง ที่นับเป็นการเข้ามาควบคุมเชียงใหม่ของข้าหลวง คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ครั้งนั้นส่งผลให้เจ้านายทางเหนือเสียอำนาจ ผลประโยชน์ จึงได้มีการเรียกร้องความชอบธรรมผ่านม้าขี่ “ผีเจ้านาย” ให้ยกเลิกภาษีอากรและการปฏิรูป เหล่าผีดีทั้งหลายต่างลงมติเห็นชอบว่าการกระทำจากส่วนกลางดังกล่าวมิถูกต้องมิสมควร ภายหลังจากกำราบบรรดาม้าขี่ให้สงบลงแล้ว (ประมาณปีเศษ) จึงดำเนินนโยบายเพื่อขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประเพณีฟ้อนผีของชาวล้านนา มีรูปแบบการจัดพิธีต่างกันตามชนิด ประเภทของผีได้แก่ ๑. ผีมด หรือผีบรรพบุรุษ ๒. ผีเม็ง ผีชนชั้นปกครอง นักรบ ใช้ผ้าเป็นตัวสื่อวิญญาณลงสู่ม้าขี่ และ ๓. ผีเจ้านาย ส่วนพิธีกรรมเลี้ยงผีนั้น ปกติใช้เวลาอย่างน้อยสามวัน แยกเป็น วันดา วันเตรียมตัว หรือวันข่าว มีการสร้างผาม(คล้ายศาลามุงจาก หรือใบตองตึง) หรือปะรำพิธีที่บ้านของเจ้าภาพ โดยแม่งานหรือหญิงอาวุโส “เก๊าผี” ทำหน้าที่ติดต่อส่งข่าวบอกวิญญาณผีบรรพบุรุษ ให้เตรียมตัวมาประทับทรงในวันงาน เรียกวันนี้ว่า “ข่าวผี” วันนี้นี่เองที่ฝ่ายหญิงได้ทำการติดต่อวงดนตรี ส่งข่าวบอกเรื่องเพลง และรูปแบบของวงดนตรี ส่วนใหญ่เป็นวงพาทย์ฆ้องประยุกต์ อันมีเครื่องดนตรีสากลร่วมด้วยเช่น กลองชุด กีตาร์ไฟฟ้า กีตาร์เบส ตามรสนิยมของเก๊าผีที่เป็นเจ้าภาพ บ้างก็ชอบวงเครื่องสายสะล้อ - ซึงประยุกต์ บ้างก็มีสองวงผลัดกันบรรเลงแล้วแต่กำลังทรัพย์ของบ้านเก๊าผี ส่วนมากนักดนตรีจะเป็นฝ่ายชาย เพราะถือว่าพิธีเลี้ยงผีนั้นเป็นวันสตรีล้านนา ฝ่ายชายต้องดูแลสร้างผาม ปรนนิบัติ พัดวี บรรเลงดนตรี ในวันที่เหล่าสตรีปล่อยผี
วันฟ้อน เป็นวันงานเริ่มตั้งแต่เช้าถึงพลบค่ำ เริ่มตั้งแต่การบรรเลงเพลงพื้นบ้าน สะล้อ - ซึ่ง ขับกล่อมบรรเลง กินอาหารเครื่องดื่มที่เตรียมไว้ เก๊าผีจะเป็นผู้เชิญผีบรรพบุรุษมาประทับร่างตน ตามด้วยผู้หญิงที่นับถือผีสายเดียวกัน ส่วนฝ่ายชายมีหน้าที่คอยช่วยเหลือ และบริการด้านต่างๆ เช่น เตรียมอาหาร เหล้า บรรเลงดนตรี คุยโต้ตอบรับโอวาทจากเก๊าผีบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน การรักษาโรคที่หมอรักษาไม่หาย การทำนายทายทัก ให้เลขหวย และแนะนำวิธีแก้ปัญหาทางโลก ในระหว่างนั้นผีตนอื่นก็จะพากันฟ้อนรำสนุกสนาน วันนี้ผู้หญิงที่เป็นม้าขี่ สามารถดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ตลอดจนถึงตี หรือบอกตักเตือนฝ่ายชายได้ โดยใช้จารีตประเพณีเรื่องการถือครองสายตระกูลที่สืบทอดมาจากฝ่ายหญิงต่อรองอำนาจ
ภาพ วงดนตรีคณะสืบสายลายเมือง ในพิธีฟ้อนผี ณ ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง จังหวัดลำพูน
วันที่ 15 เมษายน 2554
เครื่องดนตรีในพิธีฟ้อนผีเป็นดนตรีปี่พาทย์แบบพื้นเมือง วงกลองเต่งถิ้ง หรือวงกลองเต่งถิ้ง มีชื่อเรียกอีกหลายอย่างเช่น “เครื่องป้าด” หรือ “วงป้าดก๊อง” (วงพาทย์ฆ้อง) เป็นวงดนตรีพิธีกรรม บ้างก็ใช้เครื่องดนตรีของภาคกลางเข้ามาประสมเล่นกับเครื่องดนตรีพื้นเมืองเหนือ มีเครื่องดนตรีโดยเฉพาะปี่แน ลักษณะคล้ายกับวงปี่พาทย์มอญ เพลงที่ใช้บรรเลง แต่ถ้าใช้การประสมวงในการฟ้อนผีมด จะเล่นเพลงที่ใช้กำกับพิธีฟ้อนผีมดตามขั้นตอนพิธีกรรม และเน้นความสนุกสนานเป็นหลักได้แก่ เพลงฉัตรผี (ตอนเชิญผีและเลี้ยงผี) เพลงโหมโรง (ตอนผีเข้าทรงและแต่งตัว) เพลงแหย่งลูกหลวง (ตอนผีแจกดอกไม้ให้กับผู้มาร่วมพิธี) เพลงผีมดกินน้ำมะพร้าว (ตอนผีดื่มและแจกน้ำมะพร้าวให้กับผู้มาร่วมพิธี) เพลงผีกุลา เมื่อบรรเลงเพลงเหล่านี้แล้วก็จะบรรเลงเพลงพื้นเมืองอื่นๆ ต่อไปผีมดก็จะฟ้อนประกอบไปด้วย ถ้าผีมดมีการฟ้อนดาบฟ้อนเจิงด้วยก็จะเล่นเพลงโหมโรงซึ่งเป็นเพลงที่มีจังหวะเร็วเพื่อให้เกิดความคึกคักเข้มแข็งและสนุกเร้าใจ เช่นเพลงมวยเป็นต้น ปัจจุบันมีการนำเพลงไทยสากล ลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพลงสมัยนิยมมาเล่นด้วย โดยบรรเลงเฉพาะทำนองดนตรีไม่มีการขับร้อง
เครื่องดนตรีที่ใช้ประสมวงในประเพณีฟ้อนผีมีดังนี้ ๑. ระนาดเอก ๒. ระนาดทุ้ม (มีบางแห่ง) ๓. ระนาดเหล็ก ๔. ฆ้องวงใหญ่ ๕. กลองม่าน หรือตะโพน ๖. กลองเต่งถิ้ง ๗. ปี่แนหลวง (ใหญ่) ๘. ปี่แนหน้อย (น้อย) ๙. ฉิ่ง ๑๐. ฉาบใหญ่ ๑๑. ฉาบเล็ก ๑๒.กีตาร์ไฟฟ้า ๑๓. กีตาร์เบส ๑๔ อิเล็กโทน ๑๕ กลองชุด และ ๑๖ ไม้เหิก เป็นต้น การดำรงอยู่ของวงดนตรีพาทย์ฆ้องในพิธีฟ้อนผีนี้ ส่วนใหญ่ทำเป็นอาชีพเสริมรองจากเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ดังเช่น วงสืบสายลายเมือง วังทอง จังหวัดลำพูน เป็นวงดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ รับเล่นหลายเทศกาล เช่น งานปอยหลวง งานฟ้อนผี และแห่ศพเป็นต้น สำหรับการว่าจ้างให้เล่นในพิธีฟ้อนผีนี้ นิยมบรรเลงสลับกันระกว่างวงพาทย์ฆ้อง กับวงสะล้อ - ซึง เนื่องจากการบรรเลงดนตรีจำต้องเล่นเพื่อสร้างบรรยากาศอยู่เรื่อยๆ ตอบโต้กับบรรดาม้าขี่ด้วยการขอเพลงที่ประทับใจ โดยเฉพาะที่เป็นของเพลงเจ้าภาพ เหล่าบรรดาม้าขี่จะฟ้อนกันตลอดทั้งวัน จนกระทั่งนักดนตรีพักกินข้าว ช่วงนี้อาจมีการบรรเลง สะล้อ - ซึง บ้างก็มีการ “จ๊อยซอ” แทรกเพื่อไม่ให้งานเงียบเหงา
วันล้างผาม วันสุดท้ายของงาน เป็นวันขอบคุณผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือ มีการเก็บข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ คืนเจ้าของ ส่วนมากจะเช่ายืมมาจากวัดประจำหมู่บ้าน มีการจัดเลี้ยงอาหาร พิธีกรรมเกี่ยวกับผีของชาวล้านนามีความเชื่อว่า การเลี้ยงผีเป็นการเชิญบรรพบุรุษมารับรู้ความเป็นไปของลูกหลาน คนในสายตระกูล นอกจากนี้ยังแสดงถึงความกลมเกลียวในบทบาทของเพศสภาพในชุมชนที่มีความแตกต่างแต่กลมกลืนระหว่างผีกับพุทธ พร้อมตอกย้ำบทปฏิบัติตามยุคสมัย ข้อห้ามค่านิยมของชุมชน (วิถี พานิชพันธุ์ ๒๕๔๘) สิ่งเหล่านี้พัฒนาเป็นจารีตประเพณีเรื่อยมา ตรงกันข้ามสิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นกับดักทางด้านวัฒนธรรมที่ขัดขวางการพัฒนาการเปิดกว้างกับโลกทัศน์แบบตะวันตก ดังเช่นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรส ล้านนายุคประเทศราชสยาม เมื่อคณะมิชชันนารี นำโดย ดร.แดเนียว แม็คกิลวารี หมอสอนศาสนานิกายเพรสไบธีเรียน และภรรยาชื่อโซเฟีย (ลูกสาวหมอบลัดเลย์) การเข้ามาของชาวต่างชาติครั้งนั้นถูกต่อต้านจากจารีตท้องถิ่นว่าด้วยเรื่องผี และ แถน ซึ่งดลบันดาลให้เกิดฝนแล้ง เนื่องด้วยฝรั่งดั้งขอเข้ามาแบ่งแยกดุลอำนาจออกจากสถาบันเจ้า นับเป็นวัฒนธรรมมือที่สาม จากพุทธ และผี ที่มีมาแต่เดิมของชาวลาวพุงขาว สิ่งเหล่านี้ถูกตีความว่าผิดจารีต “ขึดบ้านขึดเมือง” ด้วยความไม่พอใจของผีเป็นต้น
ฉะนั้น ประเพณีการฟ้อนผี จึงไม่ใช่การแสดงนัยยะทางด้านครอบครัว สายเลือดที่สืบมาจากฝ่ายหญิงอย่างเดียว ประเพณีนี้ยังเปรียบเสมือนการฉายภาพโฆษณาชวนเชื่อ อันมีหลักก่ออยู่ที่ผีบรรพบุรุษ เข้าทรงบรรดาเหล่าม้าขี่ เพื่อกุศโลบายทางการเมือง หรือแม้แต่การเรียกร้องสิทธิ์ผลประโยชน์อันมิสามารถอธิบายได้ รัฐจารีตนี้ถูกแบ่งอำนาจออกเป็น๓ สถาบันใหญ่ คือเจ้านาย กษัตริย์ และผี ทั้งสามเกื้อกูลกันโดยระบบอุปถัมภ์ที่กลมกลืน สร้างจารีตประเพณีอันเป็นผลผลิตของบุคคลชั้นนำของสังคม เพื่ออธิบายชุดคำตอบในการถือครองความชอบธรรมในดินแดนต่างวัตถุประสงค์กันไป เพราะฉะนั้นการดนตรีทั้ง ๓ สถาบันจึงมีความสอดคล้องต้องกันด้านจุดประสงค์คือ เพื่อแห่ประโคมให้เกิดความศรัทธา ความเลื่อมใส ทั้งในศาสนา ความเชื่อ และตัวบุคคล ดนตรีที่ถูกส่งออกไปเพื่อเป็นสื่อจึงเป็นดนตรีชนชั้นสูง พาทย์ฆ้อง แห่ประโคม อันเป็นการสร้างพิธีกรรม กรรมวิธี (เพลงบรรเลงกริยา พิธีกรรม) เพื่อความขลังตลอดจนโน้มน้าวจิตใจเหล่าชาวบ้านให้หลง และเชื่อตามข่าวสารจากผีนั้น
สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีผู้พิสูจน์ว่าจริงเท็จประการใด แต่สังคมล้านนาดูเหมือนจะยอมรับประเพณีฟ้อนผี ความเชื่อเรื่องผีตกทอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน เพราะสามารถอธิบายชุดความคิดที่ไม่สามารถแก้ไขโดยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ อีกทั้งนิสัยพื้นฐานของชาวล้านนายังเว้นช่องว่างให้สิ่งเหล่านี้เติมเต็มเข้าสู่ระบบสังคมโดยง่าย ด้วยไม่นิยมหาข้อเท็จจริงจากเหตุผลตามกรรมวิธี บ่อยครั้งที่เหล่าบรรดาม้าขี่สร้างกรรมวิธีเติมเต็มความเป็นชายขอบของตนด้วยสิทธิความชอบธรรมของเหล่าวิญญาณบรรพบุรุษ เช่น เหล่าสตรี หรือผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลาย อยากมีบทบาทและได้รับการยอมรับจากชุมชน ด้วยยอมรับและแต่งตั้งตนเป็นม้าขี่เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ตนว่าได้รับการยอมรับจากวิญญาณบรรพบุรุษแล้ว ใยลูกหลานผู้ยังมีชีวิตไม่ยอมรับเล่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวาทกรรมการผลิตซ้ำและถูกนำมาใช้โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ บนพื้นฐานของความเชื่อเก่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังต้องการดนตรีเพื่อแห่ประโคมในความชอบธรรมบางประการ ถึงแม้สถาบันสังคมล้านนาจะพังทลาย ก่อเกิดเป็นความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมมากขึ้น แต่ส่วนลึกๆ ในก้นบึ้งของจิตวิญญาณ ชาวล้านนายังโหยหาอัตลักษณ์ตน ความชอบธรรมเร้นลับต่างๆ ตลอดจนถึงวัฒนธรรมเดิมๆ ภายใต้การผลิตซ้ำของชุมชนจารีตจากรุ่นสู่รุ่นไม่เสื่อมคลาย
สุดท้ายนี้ จากหลักฐานความเชื่อเรื่องการเข้าทรงและฟ้อนผี โดยนาย คาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ ผู้เข้ามาสำรวจดินแดนไทยด้านภูมิศาสตร์ในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ นับเป็นชาวยุโรปคนที่สองที่ได้เดินทางขึ้นไปจนถึงภาคเหนือสุดของประเทศไทยในสมัยที่ยังทุรกันดารอยู่ งานเขียนของเขาเป็นสำนวนที่สื่อตรงผ่านความจริง และบทวิจารณ์อันจัดจ้าน ได้กล่าวถึงเรื่องคนทรงในคุ้มเจ้านายเชียงใหม่ คือเจ้าอุบวรรณา น้องสาวของชายา (เจ้าแม่เทพไกรสร) ของเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ (พระเจ้าอินทรวิชยานนท์) ว่า เจ้าอุบลวรรณาเป็นสตรีที่เรียบร้อย แต่ค่อนข้างจะมีจิตใจวิปริตอยู่ ในระหว่างที่อยู่เชียงใหม่ ข้าพเจ้ามีโอกาสทำความคุ้นเคยด้วย ได้ลองถามเจ้าอุบลวรรณาถึงเรื่องราวการติดต่อเป็นคนทรงผีกันบ่อยๆ แต่ก็เป็นการยากที่จะล้วงเอารายละเอียดอะไรออกมาได้ ดร. ชีค ผู้คอยพยายามช่วยเหลือข้าพเจ้าอยู่เสมอก็ยังพยายามล้วงความลับจากเจ้าอุบลวรรณาได้ไม่สำเร็จ
แต่ถึงอย่างไรๆ เจ้านางก็ยังยอมรับว่า ตัวเจ้านางมักจะโดนเรียกตัวไปเข้าทรงถามปัญหาต่างๆ เมื่อเกิดเรื่องยุ่งยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนรวม หรือเรื่องส่วนตัวบ่อยๆ และเมื่อถึงเวลานั้นเจ้าอุบลวรรณาจะทำงานอย่างน่าตื่นเต้นเป็นที่สุด บางทีในขณะที่เข้าทรงอยู่ รอบตัวเจ้านางก็มีพวกช่างฟ้อน ฟ้อนรำ ซึ่งบางคราวเจ้านางเองก็ร่วมการฟ้อนรำอันแปลกประหลาดนั้นด้วย และบางครั้งบางคราวก็มีคำพูดแปลกๆ ซึ่งถือว่าเป็นคำพูดของผีออกมา ตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าเชื่อว่าในเวลานั้นคนทรงอยู่ใต้อำนาจของผีจริงๆ แต่เป็นคนละชนิดกับผีที่คนทรงบอกว่ามาเข้าทรง ผีชนิดนี้เป็นผีที่มีตัวตนจริงๆ แต่ไม่มีใครเห็น มักชอบกินเหล้ามึนเมาแต่ไม่ชีผีที่อยู่บนสวรรค์ ซึ่งถ้าความจริงเจ้าอุบลวรรณาไม่กินเหล้าพื้นเมืองเข้าไปจนเมามายแล้ว พวกช่างฟ้อนที่จัดมาช่วยเหลือก็มักจะช่วยกันกินเหล้าแทนจนเมามายกลับไปทุกที
ข้าพเจ้าเคยดูการฟ้อนรำเข้าทรงหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อข้าเจ้าอยู่ที่เชียงใหม่ ชายาของเจ้าหลวงป่วยเป็นไข้ เจ้าอุบลวรรณาถูกเรียกเข้าไปเข้าทรงเกี่ยวกับเรื่องผีมารบกวนชายาของเจ้าหลวง (เพราะผีกระทำเหมือนกัน) หลังจากฟ้อนรำกัน และรินเหล้าอันเป็นสิ่งจำเป็นกินกันอยู่มากมายแล้วก็ตาม ผีก็พูดผ่านร่างเจ้าหญิงผู้เป็นคนทรงด้วยคำตักเตือนที่มีความหมายประหลาดว่า “ข้อห้ามการผูกขาดค้าเหล้า” ซึ่งไม่น่าสงสัยเลยว่าผีพูดออกมาจริงๆ ถึงแม้ว่าเรื่องที่เกี่ยวกับการเจ็บไข้ของชายาเจ้าหลวงนั้นจะไม่กระจ่างชัดก็ตาม
อีกครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้ชมการฟ้อนผีที่มีคนชมมากมายในถนนแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินเตร่ชมเมืองเล่น ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงตะโกน พร้อมเสียงดนตรีเอ็ดตะโรดังลั่นมาจากตรอกแคบๆ และได้เห็นคนกลุ่มหนึ่งตีกลองเป่าปี่เป็นจังหวะให้หญิงสูงวัยสองคนฟ้อนรำอย่างบ้าคลั่ง หญิงทั้งสองนั้นทึ้งผมตัวเองและกรีดร้องอย่างสุดเสียง พวกนี้เป็นพวกฟ้อนมืออาชีพที่เขาจ้างมาให้ทำการขับไล่ผีออกจากบ้านใกล้ๆ นั่นเอง อย่างไรก็ตามความเชื่อทางไสยศาสตร์อย่างผิดปรกติของผู้คนทางนี้ ส่งผลให้เป็นการยากที่ชาวต่างประเทศจะได้ติดต่อด้วยได้ ทั้งๆ ที่คนพวกนี้มีท่าทางเป็นมิตรก็ตาม แต่ถ้ามีอะไรผิดธรรมดา เช่นฝนตกมาก หรือน้อยเกินไป ถ้ามีใครตาย หรือป่วยไข้ หรือถ้าเสือเข้ามาอาละวาดตอนกลางคืน วัวควาย หรือช้างของใครหนีหายไป ก็หาว่าฝรั่งเป็นต้นเหตุ เพราะการที่ฝรั่งเข้ามาส่งผลให้ผีรังเกียจ และแสดงความโกรธด้วยดลให้เกิดหายนะต่างๆ นาๆ พวกชาวเมืองก็คอยที่จะถือเรื่องมาปรับปรำแพะรับบาป นั่นก็คือฝรั่งผู้เคราะห์ร้าย ด้วยประการฉะนี้แล้วนั้นก็ไม่ประหลาดใจเลยว่าทำไมพวกชาวลาวจึงเกลียด และกลัวผีกันนัก(คาร์ล บ็อค ๒๕๕๐, ๓๐๖ - ๓๐๘)
ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ วัฒนธรรมผี ม้าขี่ และร่างทรงยังแฝงเร้นเข้าสู่ความเชื่อวัฒนธรรมไทยหลายด้าน อีกทั้งยังเป็นวัฒนธรรมสายแม่ที่ถือครองอำนาจผีบรรพบุรุษ ว่าอย่างง่าย ในสังคมระบบผีเดียวกันนั้นสังคมมีความขัดแย้งน้อย ด้วยการไม่มีชนชั้น เพราะผูกพันทางสายผีของฝ่ายหญิง ปกครองกันโดยฟังเสียงทั้งคนที่อยู่และจากไป แต่ในสังคมระดับรัฐชาติปัจจุบันนั้นตรงกันข้าม ระบบสังคมสยามไม่สามารถแยกคำว่าชนชั้นออกไปได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งหมดย่อมเป็นอุปสรรคต่อระบบประชาธิปไตย ทั้งจุลภาค และมหภาค หรือนี่คือวัฒนธรรมแบบหมุนเวียนนวัตกรรมแบบจารีตประเพณีที่ต้องให้สตรีเป็นม้าขี่ในสภา เพราะได้รับบัญชาความชอบธรรมนี้จากผีบรรพบุรุษ
เอกสารอ้างอิง
คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช. (๒๕๔๖). ความเชื่อพื้นบ้านล้านนา : ถ่ายทอดจากประสบการณ์ของท่าน ผู้รู้ในท้องถิ่น.
เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง.
เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง.
ธเนศวร์ เจริญเมือง. (๒๕๔๒). ๑๐๐ ปี สายสัมพันธ์ สยาม – ล้านนา (พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๒๕๔๒). เอกสารชุดท้องถิ่นของ
เราชุดที ๑ ในโครงการการศึกษาการปกครองท้องถิ่น. เชียงใหม่ : สถาบันมังรายและกลุ่มชินวัตร.
เราชุดที ๑ ในโครงการการศึกษาการปกครองท้องถิ่น. เชียงใหม่ : สถาบันมังรายและกลุ่มชินวัตร.
. (๒๕๓๖). มาจากล้านนา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผู้จัดการ.
บ็อค, คาร์ล (๒๕๕๐). ท้องถิ่นสยาม ยุคพระพุทธเจ้าหลวง. เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ เรียบเรียงจาก Temples
and Elephants : The narrative of a journey of exploration through upper Siam and Lao. กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์มติชน
and Elephants : The narrative of a journey of exploration through upper Siam and Lao. กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์มติชน
วิถี พานิชพันธุ์ . (๒๕๔๘). วิถีล้านนา. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม.
อานันท์ กาญจนพันธุ์. (๒๕๒๗). พัฒนาการของชีวิตและวัฒนธรรมล้านนา. พิมพ์ครั้งแรก. เชียงใหม่ : สำนักหอสมุด
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.