อยู่นี่แล้ว


วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

สร้าง ความเป็นอาเซียน ด้วยดนตรี? นพ.อุดม เพชรสังหาร


สร้าง ความเป็นอาเซียน ด้วยดนตรี? 


ต้องยอมรับว่ากระแส “ประชาคมอาเซียน” กำลังมาแรง หลายองค์กรจัดเวทีประชุมสัมมนาอภิปรายเรื่องอาเซียนกันอย่างคึกคัก แต่น่าเสียดายที่มักจะเน้นไปที่ประเด็นทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเป็นหลัก ประเด็นทางสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนการอยู่ร่วมกันของผู้คนกว่า 500 ล้านคน ยังไม่ค่อยพูดถึงกันสักเท่าไรทการรวมตัวของประชาคมอาเซียนไม่ได้มีแค่ประเด็นทางเศรษฐกิจหรือการค้าขายเท่านั้น ยังมีเรื่องการศึกษาและวัฒนธรรม เรื่องความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมอยู่ด้วย แต่ไม่รู้ด้วยเหตุใด เรื่องการค้าขาย เงินๆ ทองๆ จึงเด่นเสียจนกลบเรื่องอื่นๆไปเลย

เราสนใจกันแต่เรื่องเงิน สนใจแต่เรื่องใครจะได้เปรียบเสียเปรียบ สนใจแต่เรื่องจะแข่งขัน จะเอาชนะกันในทางธุรกิจ การค้าการขาย ก็น่าคิดเหมือนกันว่าสุดท้ายสังคมที่มองแต่เรื่องการแข่งขัน การแย่งชิงกัน หน้าตาจะออกมาอย่างไร  ผมว่าเรื่องการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่มีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ หลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายความเชื่อ จำนวนกว่า 500 ล้านคนนี่แหละเรื่องใหญ่ ถ้าจัดการไม่ดีมีโอกาสที่จะเป็นชนวนของปัญหาและนำมาสู่ความขัดแย้งต่างๆได้มากทีเดียว

เราอาจมองว่าประชาคมยุโรปยังเดินหน้าไปได้ (แม้จะเริ่มเซเพราะปัญหาเศรษฐกิจและการเงิน) แต่เราต้องไม่ลืมว่าประชาคมอาเซียนกับประชาคมยุโรปมีความเป็นมาแตกต่างกัน คนยุโรปแม้จะอยู่กันคนละประเทศ แต่ก็มีวัฒนธรรมหลายๆอย่างที่เหมือนกัน หรือมีความยึดมั่นศรัทธาในวัฒนธรรมเดียวกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา ดนตรี วรรณกรรม สถาปัตยกรรม ตลอดจนการเดินทางไปมาหาสู่กันของชนชาติต่างๆในยุโรปเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว คนยุโรปจึงไม่ใช่คนแปลกหน้าของกันและกันแม้จะอยู่กันคนละประเทศก็ตาม ด้วยเหตุนี้การหลอมรวมกันเป็นประชาคมยุโรปจึงไม่ได้ก่อผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านมากมายนัก (ยกเว้นการใช้เงินสกุลเดียวกันที่มารู้ตัวเอาทีหลังว่าส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง) 

ประวัติศาสตร์ของอาเซียนต่างจากประวัติศาสตร์ของประชาคมยุโรปโดยสิ้นเชิง

เราต่างคนต่างอยู่กันมานานแล้ว มีหลายคนบอกว่าก็ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมของบรรดาประเทศจักรวรรดินิยมทั้งหลายนั่นแหละที่ผู้คนในภูมิภาคแถบนี้เริ่มแยกตัวออกจากกัน เริ่มทะเลาะกันเรื่องพรมแดน เริ่มต่างคนต่างอยู่อีกอย่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก

เรามีทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดูเรามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีภาษาพูด ภาษาเขียนเป็นของตนเอง มีชุดความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐานมากมายนับไม่ถ้วน และนานมาแล้วที่เราไม่เคยนำความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ให้มามีปฏิสัมพันธ์กันเลย ตรงกันข้ามเราต่างพยายามใช้ความแตกต่างเหล่านี้สร้าง “อัตลักษณ์” ของตนเองขึ้นมาเพื่อความเป็นชาติของเราเอง

มาคราวนี้เราจะต้องรวมกันโดยที่ “ความแตกต่าง” หรือ “อัตลักษณ์” ที่แต่ละคนมีต้องไม่สูญหายไป เราต้องอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างของแต่ละคน ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับผู้คนที่ถูกปลูกฝังความเชื่อแบบชาตินิยมมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในความต่างนั้นผู้คนในแถบนี้ก็ยังมีอะไรที่เชื่อมโยงกันอยู่ เหมือนกับที่ผู้คนในทวีปยุโรปมีอะไรที่ยึดโยงกัน อย่างเช่นวัฒนธรรมดนตรี เป็นต้น

ผมขอเสนอให้เราใช้ดนตรีเป็นสะพานเชื่อม เพื่อเชื่อมคนในภูมิภาคนี้เข้าหากันเหมือนในอดีต แต่ไม่ใช่การจัดคอนเสิร์ตแล้วเอาร็อกสตาร์ของแต่ละประเทศมาประชันกันอย่างที่หลายๆหน่วยงานทำแล้วประกาศว่าเป็นคอนเสิร์ตเพื่อเชื่อมวัฒนธรรม ก็ไม่รู้ว่าวัฒนธรรมไหนเชื่อมกับวัฒนธรรมไหน เพราะในที่สุดก็คือการ “อวดของ” ของแต่ละฝ่ายแค่นั้นเอง

สิ่งที่ผมอยากเสนอก็คือการศึกษาค้นคว้าว่าวัฒนธรรมดนตรีของแต่ละประเทศ แต่ละชาติพันธุ์ในแถบนี้ มีอะไรบ้างที่มีรากเหง้า มีจุดกำเนิด มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน และมีความเกี่ยวพันกันมาจวบจนปัจจุบัน ดนตรีไทยกับดนตรีลาวมีอะไรบ้างที่เชื่อมกัน คนไทยกับคนลาวมีใครบ้างที่ทำงานด้านดนตรีด้วยกัน ทำไปถึงไหนแล้ว และจะเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างไร

เครื่องดนตรีของไทย ลาว พม่า ชวา มอญ มลายู มีอะไรบ้างที่คล้ายกัน ทำไมถึงคล้ายกัน จุดเริ่มต้นมาจากไหน แล้วเกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทอย่างไรจึงทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนในแถบนี้ การค้นคว้าหรือการสืบค้นแบบนี้คือสิ่งที่จะทำให้เราเห็นรากเหง้าของแต่ละประเทศว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร จากนั้นก็เผยแพร่ให้ทุกๆคนได้รับรู้ว่าเราคนไทย ลาว พม่า เวียดนาม มีรากเหง้าเกี่ยวข้องกัน และผมอยากเห็นว่าความรู้แบบนี้ต้องมีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปเลย เพราะคือหัวใจที่จะทำให้เด็กๆของเรามองเห็นว่าตัวตนของเขานั้นเกี่ยวข้องกับผู้คนชาติอื่นอย่างไร

ที่ผ่านมาวิชาทำนองนี้มีการเรียนการสอนเฉพาะในหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาดนตรีเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องนำความรู้เหล่านี้มาสอนเด็กของเราตั้งแต่เล็กๆ เพื่อหล่อหลอมความเข้าใจในตนเองและผู้อื่นผ่านวัฒนธรรมดนตรี อีกเรื่องที่ผมอยากเห็นก็คือการค้นคว้าวิจัยเรื่องคุณประโยชน์ของดนตรีในแง่มุมอื่นๆ เช่น การแพทย์ การศึกษา การพัฒนาสังคมและมนุษย์ เพราะดนตรีไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความบันเทิงเท่านั้น หากแต่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาโรคได้อีกด้วย

ผมเคยเขียนไปแล้วว่าปัจจุบันวงการแพทย์ในซีกโลกตะวันตกใช้ดนตรีในทางการแพทย์อย่างไรบ้าง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้วิชาดนตรีมีที่ยืนอย่างมั่นคงในทางการแพทย์แล้วอย่างไร ซึ่งบ้านเราหรือแถบเอเชียอาคเนย์นี้ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งวัฒนธรรมดนตรี หากแพทย์ นักวิชาการทางด้านดนตรี ครู นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด นักพัฒนาสังคม ฯลฯ ในภูมิภาคแถบนี้ได้จับมือศึกษาวิจัยร่วมกันเพื่อนำเอาภูมิปัญญาทางดนตรีของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของเรามาใช้เพื่อการพัฒนาภูมิภาคนี้ก็น่าจะสร้างประโยชน์ได้มากทีเดียว

ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2555 สมาคมดนตรีและการแพทย์สากล (International Association for Music and Medicine) จะจัดให้มีการประชุมวิชาการด้านดนตรีและการแพทย์ขึ้นในประเทศไทย นักวิชาการที่สนใจเกี่ยวกับการใช้ดนตรีเพื่อการรักษาโรคและการพัฒนามนุษย์จากทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยของเราจะมาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความรู้กันที่กรุงเทพฯ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเปิดพรมแดนความรู้ว่าด้วยดนตรี การแพทย์ และการพัฒนามนุษย์ การพัฒนาสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา

ท่านที่สนใจรายละเอียดของการประชุม หรืออยากเข้าร่วมประชุม ดูได้ใน www.iammthailand.com และนี่อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างประชาคมอาเซียนของเราให้มีความสมบูรณ์ สามารถที่จะเป็นคำตอบให้กับทุกๆชีวิตในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ได้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 358 วันที่ 5-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 หน้า 52 คอลัมน์ สายใยครอบครัว โดย นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น