อยู่นี่แล้ว


วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

บทแนะนำ และวิจารณ์ หนังสือว่าด้วยเรื่องมานุษยดนตรีวิทยา




หนังสือเล่มนี้ให้ความสนใจไปที่วิธีคิด และการเก็บข้อมูลทางด้านมานุษยดนตรีวิทยาเป็นหลัก โดยผู้เขียน ได้บอกเล่าเรื่องราวบทเรียนผ่านประสบการณ์ตรง และแนวคิดที่ได้รับจากการเก็บข้อมูลภาคสนาม ผ่านหัวข้อ ประเด็นต่างๆ 31 ประเด็น ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโดยมุ่งเน้นไปที่การเก็บข้อมูลภาคสนามด้านมานุษยดนตรีวิทยาเป็นหลัก ซึ่งสามารถนำไปเป็นแนวทางในการศึกษา และเก็บข้อมูลในทุกภาคสนาม วัฒนธรรมดนตรีได้เป็นอย่างดี เนื้อหาเพลงดนตรีเน้นในเรื่องของดนตรีโลก (World Music) ผสานเข้ากับวิธีคิดแบบนักมานุษยวิทยา เป็นสาขาวิชามานุษยดนตรีวิทยา ในหัวข้อสำคัญๆ 4 ภาคตอนใหญ่ ดังนี้ 

ภาคที่ 1 ดนตรีโลก ว่าด้วยเรื่องที่มาของมานุษยดนตรีวิทยา วิธีคิด และระบบเสียง ความแตกต่างระหว่างสาขาวิขา และจุดยืน แบ่งเป็น 9 ประเด็นได้แก่ 1.The Harmless Drudge : Defining Ethnomusicology 2. The Art of Combining Tone : The Music Concept 3. Inspiration and Perspiration : The Creative Process 4. The Universal Languge : Universals of Music 5. The Non-universal Language : Varieties of Music 6. Apples and Oranges : Comparative Study 7. I Can't Say a Thing until I've Seen the Score: Transcription and Notation 8.In the Speech Mode: Contemplating Repertories 9. The Most Indefatigable Tourists of the World: Tunes and Their Relationships 

ภาคที่ 2 ภาคสนาม ว่าด้วยเรื่องดารเก็บข้อมูลภาคสนาม กลวิธีในการเก็บข้อมูล การแฝงตัวเข้าไปเก็บข้อมูลภาคสนาม และแนวคิดในการสัมภาษณ์ต่างๆ 10. Come Back and See Me next Tuesday: essentials of Fieldwork 11.You Will Never Understand this Music: Insiders and Outsiders 12. Hanging on for Dear Life: Preservation and Archives 13. I Am the Greatest: Ordinary and Exceptional Musicians 14. You Call That Fieldwork? Redefining the 'Field' 15. What Do You Think You're Doing? The Host's Perspective 

ภาคที่ 3 มนุษย์และวัฒนธรรม ว่าด้วยเรื่องดนตรี และวัฒนธรรม ผ่านผู้คน แนวคิดของวัฒนธรรมดนตรีผ่านผู้คนการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิด และขอบเขตของข้อมูล การตีความ และข้อจำกัดต่างๆ 16. Music and “That Complex Whole”: Music in Culture 17.The Meat-and-Potatoes Book: Musical Ethnography 18. Music Hath Charms: Uses and Functions of Music 19. In the Beginning: Origins of Music 20. The Continuity of Change: On People Changing Their Music 21. Recorded, Printed, Written, Oral: Traditions 22. The Basic Unit of All Human Behavior and Civilization: Signs and Symbols 23. Location, Location, Location! Interpreting Geographic Distribution 24. The Whys of Musical Style: Determinants 

ภาคที่ 4 หมวดเบ็ดเตล็ด ว่าด้วยเรื่องปลีกย่อยต่างๆ ที่น่าสนใน และน่าติดตาม กล่าวย่อยเป็นบทความดังนี้ 25. I've never heard a Horse Sing: Musical Stratification 26. The Creatures of Jubal: Organology 27. How Do You Get to Carnegie Hall? Teaching and Learning 28. I'm a Stranger here Myself: Women's Music, Women in Music 29. Diversity and Difference: Some Minorities 30. A New Era: The 1990s and Beyond และ 31. The Shape of the Story: Remarks On History

มานุษยดนตรีวิทยา (Ethnomusicology) มีพัฒนาการมาจากดนตรีวิทยา แต่เน้นศึกษาแตกแขนงออกมาเป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนักมานุษยดนตรีวิทยาเริ่มเข้าไปศึกษาดนตรีในทวีปต่างๆ นอกยุโรปมากขึ้น เป็นการเริ่มต้นการศึกษาการดนตรีในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี และมนุษย์ คือ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และสังคม ทำให้การศึกษาของมานุษยดนตรีวิทยา มีวิชาต่างๆ เกี่ยวข้องได้แก่มานุษยวิทยา สังคมวิทยา จิตวิทยา ปรัชญา เข้ามาเพื่ออธิบายความสัมพันธ์นี้อย่างลึกซึ้ง และมีเหตุผลมากยิ่งขึ้น 

จากเนื้อหา Nettl ยังพัฒนาความหลากหลายของแหล่งข้อมูล และวัฒนธรรมดนตรี ตลอดจนถึงวิธีคิดอยู่เสมอจากหนังสือรูปแบบเดิมที่มี 28 ประเด็นในฉบับเดิม มาสู่ 31 ประเด็น เพื่อให้เนื้อหาในหนังสือมีความหลากหลาย และครอบคลุมในสาขาวิชามากที่สุด มีหัวข้อหรือประเด็นตัวอย่างดังนี้ 1. ดนตรีโลก สามารถแตกประเด็นได้เป็นหัวข้อดังนี้ The Harmless Drudge : Defining Ethnomusicology ได้ขยายความถึงที่มาและปัญหาของคำจำกัดความ ว่าอะไรคือมานุษยดนตรีวิทยา รวมไปถึงขอบเขต แนวคิด กล่าวโดยสรุปการศึกษามานุษยดนตรีวิทยาคือ การศึกษาเก็บข้อมูลดนตรีที่ไม่ใช่ดนตรีตะวันตก ตลอดจนถึงดนตรีของชนกลุ่มนอก ชายขอบ หรือต่างวัฒนธรรม จากมุมมองของนักมานุษยดนตรีวิทยายุคเริ่ม มองดนตรีที่ไม่ใช่ดนตรีตะวันตกว่าเป็นดนตรีชายขอบ แปลกประหลาด โดยมุ่งเน้นเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางด้านดนตรีเน้นที่ประวัติทางด้านวัฒนธรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเป็นหลัก The Art of Combining Tones : The Music Concept กล่าวถึงวิธีคิด พิจารณาด้านเสียงในการเก็บข้อมูล ซึ่งไม่สามารถจัดแบ่งหรือใช้บรรทัดฐานของดนตรีตะวันตกเข้ามาเป็นเกณฑ์ ฉะนั้นเกณฑ์การพิจารณาดนตรีในการออกภาคสนามในสาขามานุษยดนตรีวิทยา ตัวดนตรีนั้นจึงเป็นวัฒนธรรมมากกว่า Inspiration and Perspiration The Creative Process อันเป็นบริบทของดนตรีตะวันตกเสียส่วนใหญ่ เน้นถึงการสร้างอัตลักษณ์ตัวตนของศิลปินในวัฒนธรรมดนตรีตะวันตก ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมดนตรีอื่น ในการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงผ่านนักประพันธ์ ที่เป็นแรงบันดานใจให้กับผู้เขียนในการศึกษาดนตรีที่หลากหลาย และลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น 

The Universal Language : Universals of Music ผู้เขียนพยายามเปรียบเทียบระหว่างดนตรีวิทยา (Musicology) กับ มานุษยดนตรีวิทยา (Ethnomusicology) ว่าดนตรีวิทยานั้นคือศาสตร์ของดนตรีตะวันตก หรือดนตรีชั้นสูง เน้นศึกษาตัวดนตรี หรือดนตรีที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ตรงกันข้ามกับมานุษยดนตรีวิทยาที่เน้นศึกษาที่ตัวบุคคล การออกภาคสนาม ความเป็นพื้นบ้าน และนอกกรอบของนักดนตรีวิทยาที่ทำไว้ กล่าวคือนักมานุษยดนตรีวิทยาเริ่มที่จะขยายวงการศึกษาดนตรีที่กว้างขวางขึ้น เพราะดนตรีวิทยากำลังจะหมดความสำคัญลง ส่วนหัวข้อต่างๆ ในบทนี้เน้นกล่าวถึงแนวคิดหลักในการศึกษา และทัศนคติต่างๆ ที่ต้องทิ้ง อะไรที่ต้องเหลือก่อนที่จะเป็นนักมานุษยดนตรีวิทยา เช่นในหัวข้อ The Most Indefatigable Tourists of the World : Tune and Their Relationships ความสัมพันธ์ของระบบเสียง และมายาคติทางด้านวัฒนธรรม กล่าวถึงความสัมพันธ์ของรูปแบบตัวดนตรี ความเกี่ยวเนื่องทางระบบประวัติศาสตร์ผ่านสังคม ผู้คน และรูปแบบของดนตรีที่ปรากฏเป็นการจัดประเภทของเครื่องดนตรี วิธีการบรรเลง และวัฒนธรรมดนตรีโลกขึ้นมา 

มานุษยดนตรีวิทยาเป็นการศึกษาดนตรีที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ของสังคมใดสังคมหนึ่ง ผ่านมิติทางประวัติศาสตร์ โดยศึกษาตัวดนตรี สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงแนวคิดทางดนตรีของผู้คน การสร้างเครื่องดนตรี รูปแบบของดนตรี บทเพลง การขับร้อง การบรรเลง บทบาทหน้าที่ และการใช้ดนตรีในโอกาสต่างๆ การดำรงอยู่และการเปลี่ยนแปลงของดนตรีในสังคม การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับสังคม และวัฒนธรรมของมนุษย์ในท้องถิ่นต่างๆ (เน้นที่ดนตรีที่ไม่ใช่ดนตรีตะวันตก) เป็นการศึกษาดนตรีที่ไม่ตายตัว และไม่มีวันจบสิ้น เนื่องจากดนตรีมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมอยู่เสมอ ฉะนั้นการศึกษาของมานุษยดนตรีวิทยา โดยมากเป็นการศึกษาดนตรีที่มีการสืบทอดแบบมุขปาฐะ (oral history) การศึกษาเก็บข้อมูลจึงเป็นการวิจัยภาคสนาม โดยการหาข้อเท็จจริงจากแหล่งต่างๆ ที่ปรากฏในขณะนั้น โดยไม่จำกัดเวลา สถานที่ และประเภทของดนตรี เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงต่างๆ ต่อไป ซึ่งดูเหมือนว่าการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีในการศึกษาต่างๆ จะเพิ่งความสำคัญในการศึกษาวิเคราะห์เป็นอย่างมาก 

In the Field ภาคสนาม มนุษยดนตรีวิทยาเป็นการศึกษาดนตรีพื้นเมือง ศิลปะดนตรีตะวันออก และดนตรีร่วมสมัยในวิธีการสืบทอดแบบมุขปาฐะ (Oral Tradition) โดยมีประเด็นในการศึกษา อาทิเช่น รากฐานการก่อเกิดดนตรี การพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงทางดนตรี สัญลักษณ์และลักษณะดนตรี เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับดนตรีโดยรอบ (บริบท) บทบาทของหน้าที่ของดนตรีต่อสังคม โครงสร้างของดนตรี วิถีการดำรงอยู่ของดนตรี และดนตรีที่เกี่ยวข้องกับการเต้นรำ รวมถึงศิลปะดนตรีประจำท้องถิ่นหรือดนตรีพื้นเมือง (Folk Song) ของตะวันตกด้วย นักมานุษยดนตรีวิทยาจะมุ่งเน้นในการศึกษาดนตรีที่ยังคงอยู่ (Living Music) ของวัฒนธรรมที่ใช้การถ่ายทอดด้วยปากเปล่า ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มุ่งศึกษาดนตรีของผู้ไม่รู้หนังสือ ดนตรีของชนกลุ่มน้อย ดนตรีที่ถ่ายทอดด้วยปากเปล่าของชาติที่มีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ในซีกโลกตะวันออกและดนตรีพื้นเมือง ใช้การรวบรวมข้อมูลในแง่พฤติกรรมของมนุษย์เพื่ออธิบายว่า มนุษย์เล่นดนตรีเพื่ออะไร อย่างไร และวิเคราะห์บทบาทของดนตรีกับพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมนั้นๆ ดำเนินการศึกษาโดยการลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลและการบันทึกดนตรีที่พบเพื่อนำมาจดบันทึก วิเคราะห์ และเก็บเป็นหลักฐาน การจดบันทึกดังกล่าวทำได้ 2 วิธี คือ 1. การบันทึกโน้ตอย่างพอสังเขป (Prescriptive) เป็นการบันทึกโน้ตอย่างคร่าวๆ ใช้เก็บเป็นหลักฐานประกอบมากกว่านำมาวิเคราะห์ทางทฤษฎีดนตรี 2.การบันทึกโน้ตอย่างละเอียด (Descriptive) เป็นการบันทึกเสียงและจังหวะที่ได้ยินอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้

การวิเคราะห์ดนตรีทำได้ 2 แบบ คือ 1. ทำการศึกษาโครงสร้างโดยสังเขปของดนตรีชนิดนั้นๆ ทำการศึกษาโดยลงลึกในแต่ละวัฒนธรรมดนตรี ซึ่งการศึกษาลักษณะลงลึกนี้ ในบางครั้งผู้ศึกษาสามารถรวบรวมเป็นทฤษฎีดนตรีโดยเฉพาะของชนชนาตินั้นๆ ได้เลย การศึกษาดนตรีแล้วลงลึกถึงวัฒนธรรมถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการศึกษามานุษยดนตรีวิทยา เพราะจะทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของประเทศ ประวัติศาสตร์ดนตรี ความเปลี่ยนแปลงของดนตรีที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรม สิ่งที่ยังคงอยู่ ที่กำลังพัฒนา และที่กำลังหมดสิ้นไป และคงไม่มีใครสามารถปฏิเสธถึงอำนาจของทุนนิยม และความเจริญ ทั้งนี้รวมไปถึงวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop - Culture) ที่ย่างกรายเข้าไปในย่านทุกวัฒนธรรม รวมถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงให้บั่นทอนความอุดมสมบูรณ์ของวัฒนธรรมดนตรีให้หมดไป 

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปไม่มีวันสิ้นสุดนี้ อะไรหรือ สำคัญที่สุด ในความเป็นประวัติศาสตร์ดนตรีอันแสนยาวนาน ในมุมมองที่ยังอ่อนด้อยต่อทัศนคติด้านประวัติศาสตร์ เพราะว่าบางส่วนมันคือ สภาพการณ์ยินยอมให้กับGeopolitical(การเมืองซึ่งอาศัยภูมิศาสตร์ เขตแดนเป็นหลัก) ถ้าหนึ่งในนิยามทางประวัติศาสตร์ เป็นดังเช่นการผูกมัดร้อยเรียงซึ่งเหตุการณ์สำคัญในอดีตเท่านั้น นั่นก็คือ ประวัติศาสตร์ดนตรีวิทยาแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าจะเกิดความคาดหวังต่อทัศนะคติในมุมมองทางประวัติศาสตร์นี้ คำตอบก็จะกลายสภาพเป็นข้อสงสัย เคลือบแคลงใจแทน อย่างไรก็ตาม ความเบื่อหน่ายในการลำดับความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของดนตรีวิทยา ผลจึงมีวิวัฒนาการใหม่เป็น Ethnomusicology มานุษยดนตรีวิทยา ซึ่งจากบทความต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ Nettl พยายามทำตัวเป็นนักเก็บข้อมูลเชิงสนามมากกว่าการคิดวิเคราะห์ทางด้านดนตรี ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า Nettl พยายามปฏิเสธองค์ความรู้เดิมทางดนตรีวิทยาอย่างไม่แยแส และหันมาซบอก กับเครื่องมือใหม่ (เทคโนโลยี เครื่องมือวิทยาศาสตร์) แทนซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เพียงตอบคำถามความเป็นไปของวัฒนธรรมไม่ได้แล้ว ข้อมูลที่ได้มายังมีลักษะที่คล้ายกับการทำสารคดีอีกด้วย 

การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ความเป็นเทคโนโลยีที่กว้างไกล ทันสมัย สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยนักมานุษยดนตรีวิทยา กระเด็นออกจากเส้นทางที่ควรจะเป็น จากความช่วยเหลืออันมหาศาลของเทคโนโลยีชั้นสูง ผลให้ปัจจุบันนักมานุษยดนตรีวิทยาเชื่อมั่นว่าไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาจะทำไม่ได้ ในวามเชื่อที่ยังแฝงไปด้วยแนวความคิดแบบจักรวรรดินิยม ปัจจุบันอำนาจทางเลือก ทางเทคโนโลยีก็ยังขยายไปอย่างกว้างขวาง จากม้วนวีดีโอ สู่การวิเคราะห์ ช่วยเหลือของมันสมองกล คอมพิวเตอร์ ไอโฟน และอาจสามารถกล่าวได้ว่า “อะไรหละที่เคยเป็นไปไม่ได้เมื่อวาน วันพรุ่งนี้แหละมันจะเป็นจริง!” ในภาคของมานุษยดนตรีวิทยาสนามอันแสนทันสมัยในปัจจุบันก็เช่นกัน เป็นธรรมชาติ ธรรมดาที่จะเห็น พวกนักมานุษยดนตรีวิทยามาพร้อมกับ ศาสตราวุธ ยุทธโทปกรณ์ทันสมัย หลายสตางค์ แต่ถึงอย่างไรรางวัลที่เป็นผลงาน หรือผลลัพธ์ออกที่มาก็ไม่ได้เป็นไปตามที่วาดฝันไว้? 

นักมานุษยดนตรีวิทยา หรือนักข่าว? ในกรอบความคิดเดิมของนักมานุษยดนตรีวิทยา ที่ยังเน้นเรื่องการศึกษา เก็บข้อมูลทางด้านดนตรีเปรียบดังการทำสารคดี ทั้งนี้เนื้อหาสาระนั้นกลับเป็นมุมมองของคนในวัฒนธรรมใหญ่ เข้าไปสังเกต หรือการดนตรีในวัฒนธรรมเล็ก เช่นผลงานของ Steven Feld ที่ช่วยอธิบายให้เรารู้สึกประทับใจ ตราตรึงใจ ในทฤษฏี หลักการ ท่ามกลางดงคน Kaluli ใน ปาปัวนิวกีนี เรื่องเล่า นิทานปรัมปรา ของชาวT' boli of Mindanao ในฟิลิปปินส์ บรรยายบอกเล่าผ่าน Manoleta Mora หรือ Shimeda Takashi's ศึกษารายงานเรื่องเนื้อร้องเพลง และคำพูดดั้งเดิม ของชาวปีนัง ซาลาวัค ในมาเลเซีย ทั้งหมดนี่อาจเป็นรายงานการสำรวจทางมานุษยดนตรีวิทยา สำรวจโลก ที่น่าตื่นเต้น หรือผจญภัยไปกับชาติพันธุ์ ดุริยางค์ ที่น่าตื่นใจ บางครั้งสิ่งพวกนี้ก็ทำให้หวนคิดระหว่างความคล้ายคลึงที่ว่า ตกลงจะเป็นนักข่าวบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์กันหรือไร? กับการส่งลูกน้องออกไปปฏิบัติงานโดยหัวหน้างานที่รับผิดชอบคิดปฏิบัติการ เพียงเพื่อสำรวจพื้นผิวโลกอย่างนั้นหรือ? ส่วนนักข่าว และผู้รายงานข่าว คอยรายงานสถานการณ์ปัจจุบัน เหมือนเด็กที่คอยจดสมุดบันทึกประจำวัน นี่หรือคือสิ่งที่พวกเขาทำกัน ออกภาคสนามกันเถอะ! นักมานุษยดนตรีวิทยา(เหล่านี้) ได้บรรจงเขียนสิ่งเหล่านี้ ส่งข่าวแก่พวกเขาท่านหัวหน้าหรือผู้ควบคุมอย่างขยันขันแข็ง ไม่ว่าจะอะไรก็ตามบทความที่กลั่นกรองออกมา อาจจะเรียกว่า วิทยานิพนธ์ฉบับรายวันอะไรก็เป็นไปได้

จากวิวัฒนาการมานุษยดนตรีวิทยาก่อนจะมาถึง Nettl พบว่าสาขาวิขานี้ เกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 16 โดยเริ่มมีการศึกษาดนตรีต่างชาติ หรือดนตรีต่างถิ่น พบหลักฐานเมื่อ ค.ศ.1768 และยังพบหลักฐานทางวรรณคดีตะวันตกในศตวรรษที่ 18 โดยเป็นการศึกษาดนตรีพื้นเมืองของชาวจีน แคนนาดา อินเดีย และฟินแลนด์ด้วย ในศตวรรษที่ 19 กลุ่มนักดนตรีวิทยาเริ่มใช้การบันทึกเสียงลงกระบอกเสียงเพื่อเป็นตัวอย่างสั้นๆ และเก็บเป็นข้อมูลทางดนตรีขึ้น เพราะว่าข้อมูลทางด้านดนตรีวิทยานั้น นับวันเริ่มขาดแคลนไปจากสังคมนักดนตรี ในปีค.ศ.1901 คาร์ล สตุมปฟ์ (Carl Stumpf) ร่วมกับ ออตโต อับบราฮัม (Otto Abraham) ได้ศึกษาดนตรีไทยจากการบันทึกกระบอกเสียงที่ประเทศเยอรมัน และได้สรุประบบเสียงดนตรีไทยไว้ในหนังสือชื่อ Tonsystem and Musik der Siamese กล่าวได้ว่าวิวัฒนาการของมานุษยดนตรีวิทยามีจุดเริ่มต้นจุดเดียวกันกับธุรกิจดนตรี หรือ Music Business อย่างใกล้ชิดจนบางครั้งก็แยกไม่ออกเลยว่า หากไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว นักมานุษยดนตรีวิทยาจะดำรงอยู่ได้อย่างไร 

ในปีค.ศ.1955 ได้มีการศึกษาทางมานุษยดนตรีวิทยาอย่างจริงจัง โดยการตั้งเป็นสมาคมด้านมานุษยดนตรีวิทยาขึ้น (Society for Ethnomusicology) มีการจัดประชุมกันของผู้เชี่ยวชาญดนตรีพื้นเมืองและนักมานุษยดนตรีวิทยา โดยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนางานดนตรีของซีกโลกตะวันออกอย่างมาก ปรากฏการณ์ดังกล่าวตอกย้ำปรากฏการณ์ Musical Colony Viewpoint จากการศึกษาโดยนักวิจัยในวัฒนธรรมใหญ่ มองวัฒนธรรมดนตรีเล็ก หรือวัฒนธรรมดนตรีที่ใกล้จะหายไปจากสังคมโลก แต่อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการมองตัวดนตรีโดยเฉพาะเครื่องดนตรีในโลกนี้อย่างเชื่อมโยง และมีเหตุผลมากยิ่งขึ้น 

"The way in which the world of music divided into musics, and the criteria for the divisions," as Bruno Nettl put it, "are major issues that have perhaps not been given sufficient explicit recognition" (Nettl 1983:51).

ในช่วงปี ค.ศ.1970-1980 มีการสร้างทฤษฎีด้านมานุษยดนตรีวิทยาและระเบียบวิธีวิจัยขึ้น ในช่วงนี้ความสนใจในการศึกษาเปลี่ยนจากส่วนต่างๆ ของดนตรีไปยังกรรมวิธีการสร้างดนตรีและการปฏิบัติดนตรี โดยเฉพาะในด้านการประพันธ์และแนวคิดทางดนตรี ทั้งนี้ได้เกิดการเปรียบเทียบองค์ความรู้ระหว่างวัฒนธรรมดนตรี 2 วัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ และมีการใช้หลักการและเหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามรูปแบบของการศึกษามานุษยดนตรีวิทยาดูเหมือนว่าจะแผ่กิ่งก้านสาขาไปไกลกว่ายุคล่าอาณานิคมทางดนตรี กล่าวคือในยุคหลังมานี้เกิดการประยุกต์สาขาวิชานี้เข้ากับการศึกษาเชิงมานุษยวิทยามากยิ่งขึ้น จากชุดคำตอบที่หลากหลาย สามารถอธิบายคำตอบของดนตรีได้มากกว่าเดิม ทั้งขอบเขตการศึกษายังมีความเชื่อมโยงเข้ากับศาสตร์แขนงอื่นๆ ทั้งนี้เรื่องของการศึกษาภาคสนามตามแบบของ Nettl ยังมีความจำเป็นในการจัดกระทำข้อมูล ด้วยเทคนิคต่างๆ กลวิธีซึ่งการเข้าถึงข้อมูลแล้วนับได้ว่า Nettl ผ่านประสบการณ์ของตนเองโดยหลอมเข้ากับองค์ความรู้สมัยใหม่ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งต่างกับหลักวิธีคิดแบบดนตรีวิทยาที่เน้นเรื่องการลำดับเหตุการณ์เป็นหลัก แต่หลักมานุษยดนตรีวิทยาของ Nettl กลับเปิดกว้าง พร้อมรับและปรับเปลี่ยนเข้าสู่สังคมสมัยได้อย่างลงตัว

ในที่นี้ Nettl ได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวในการออกภาคสนามมาพูดได้อย่างน่าสนใจ เช่น ดนตรีโลกตะวันออกกลาง ดนตรีสังคมเมืองตะวันตก และดนตรีอินเดียแดงในภาคพื้นอเมริกาเหนือ รวมถึงการศึกษาเรื่องดนตรีและเพศ การบ่มเพาะนักมานุษยดนตรีวิทยาจากคนในให้เป็นคนเขียนเรื่องราวของตนเองเป็นต้น รูปแบบของงานเขียนถึงแม้ว่าจะไม่อิงเนื้อหาเชิงวิชาการมาก แต่ผู้เขียนก็ได้บรรยายเรื่องราวของตนผ่านประสบการณ์ด้านมานุษยดนตรีวิทยาอย่างดี ตรงไปตรงมา และไม่มีอคติในการบรรยาย ซึ่งภาษาที่ใช้ในการถ่ายทอดนั้นจัดว่าอ่านได้เข้าใจง่าย และตรงไปตรงมาดีไม่เยิ่นเย้อ บรรยายจนมากความเสียกระบวน 

อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลภาคสนามนั้นควรที่จะพกทฤษฎีที่ตนเลือกใช้ติดเข้าไปด้วย ในที่นี้อานันท์ กาญจนพันธุ์ได้เสนอแนวคิดการเก็บข้อมูลภาคสนามตามต้องพกทฤษฎีไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้ามองว่าการทำงานภาคสนามเหมือนกับการด้นแล้ว การสั่งสมความรู้ติดตัวไปก็มีความสำคัญมากเลยทีเดียว และคงไม่มีใครสามารถทิ้งความรู้ทั้งหมดไว้ข้างนอกเพื่อทำใจให้ว่างเปล่าก่อนจะลงภาคสนามได้เช่นกัน ถ้าเช่นนั้นประเด็นก็ไม่น่าจะใช่คำถามที่ว่า จะพกทฤษฎีติดตัวไปทำงานภาคสนามได้ด้วยหรือไม่ แต่อยู่ที่เรามองทฤษฏีอย่างไรมากกว่า ถ้ามองเพียงว่าทฤษฎีจะให้คำตอบแก่ข้อมูลจากภาคสนามแล้ว ทฤษฎีก็อาจกลายเป็นข้อจำกัดของการออกภาคสนามเลยก็เป็นไปได้ ดังนั้นทฤษฎีจึงเปรียบเสมือนคำถามตั้งในการออกเก็บข้อมูลมากกว่ากฎที่จำต้องยึดถือจนเป็นกรอบความคิดขึ้นมา ดังนั้นผู้วิจัยยิ่งมีคำถามมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ยิ่งได้ข้อมูลมากเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่มีคำถามก็มองไม่เห็นข้อมูลเช่นกัน

ยกตัวอย่างของทฤษฎีซึ่ง Nettl ไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสืออย่างชัดเจนทฤษฎีสำนักโครงสร้าง หน้าที่นิยม อาทิ ทฤษฎีของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันชื่อคลิฟฟอร์ด เกียตซ์ (Clifford Geertz) เกี่ยวกับการตีความวัฒนธรรมจากความหมายของคนในวัฒนธรรม และทฤษฎีโครงสร้างนิยมของนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศษ โกล๊ด เลวี สเตราส์ (Glaude Levi-Strauss) เป็นต้น (อานันท์ กาญจนพันธ์, 2548,147.) อย่างไรก็ตามดูเหมือนหลักการเก็บข้อมูลของ Nettl ยังขาดซึ่งกระบวนการวิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์ที่นิยมในปัจจุบัน ตามหลักของเหตุผล จึงส่งผลให้หนังสือเล่มนี้เป็นเพียงวรรณกรรมพรรณนาเรื่องของประสบการณ์ส่วนตนมากกว่าขบวนการศึกษามานุษยดนตรีวิทยาอย่างมีระบบแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแบบแผนในการวิจัยได้อย่างมีระบบ ทั้งนี้การเก็บข้อมูลบางอย่างทางด้านมานุษยดนตรีวิทยานั้น ยังคงวัดกันในเชิงปริมาณด้วย ดังนั้นจากประสบการและมุมมองของ Nettl ในหนังสือเล่มนี้กำลังจะบอกถึงรูปแบบของการศึกษาของดนตรีวิทยา และมานุษยดนตรีวิทยาที่ปรากฏอยู่ในวารสารนานาชาติในปัจจุบัน อันว่าด้วยเรื่องการศึกษาดนตรีวิทยา หรือมานุษยดนตรีวิทยานั้นไม่มีคำถามวิจัย และระเบียบวิธีการวิจัยชัดเจน ไม่เหมือนภาคสนามของดนตรีศึกษาที่ปรากฏเบียบวิธีการวิจัย ตลอดจนคำถามการวิจัยได้อย่างมีระบบ และเป็นระบบวิธีคิดเชิงเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ ไม่ล้นออกนอกกรอบ หรือมีตัวแปลที่ไม่สามารถควบคุมได้จนมากเกินไปเหมือนสาขามานุษยดนตรีวิทยาที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อน่ากังขาระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิม กับวัฒนธรรมของนักมานุษยดนตรีวิทยาที่ศึกษานั้นเป็นอันเดียวกันหรือไม่ หรือว่าถูกหล่อหลอมสร้างขึ้นมาจากตัวนักมานุษยดนตรีวิทยาเอง ก่อเกิดเป็นงานวิจัยประเภท (reflexivuty) หรือวิพากษ์ตนเองขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมดนตรีเชิงสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นกลไกแห่งการต่อรองของสังคม


Bruno Nettl ศาสตราจารย์ด้านดนตรี และมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เริ่มเป็นนักดนตรีวิทยาที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ อดีตประธานสมาคมนักมานุษยดนตรีวิทยา และเป็นนักเขียน นักวิชาการเกี่ยวกับดนตรีหลายเล่ม


เอกสารอ้างอิง
Nettl Bruno. (2005). The Study of Ethnomusicology Thirty-
                one Issues and Concepts.
Illinois. University of  
                Illinois.
อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2548). ทฤษฎี และวิธีวิทยา การวิจัยของ
            วัฒนธรรม การทะลุกรอบและกับดักของความคิดแบบ
            คู่ตรงกันข้าม
. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์อมรินทร์.

2 ความคิดเห็น:

  1. ดีมากเลย ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ
  2. ให้ความรู้ทางวัฒนธรรมดนตรีครับ ไม่เคยรู้มาก่อน

    ตอบลบ