อยู่นี่แล้ว


วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

จังหวะของเพลงไทย โดย สงบศึก ธรรมวิหาร

ทับ+ บร้า

โทน + ทับไปไหน? = ทับ บร้าาาาาาา


เกริ่นนำ เนื่องจากเด็กสมัยนี้หาตำราดนตรีไทยอ่านยาก ใครก็ตามอยู่ไกลห้องสมุดอยากมาค้นข้อมูล เนื้อหาทางด้านดนตรีไทยทางระบบอินเตอร์เนต บ้างก็มีข้อมูลดีดี บ้างก็ได้ไม่ดีไป ใครที่ไม่มีพื้นฐานความรู้มาเลยอาจต้อง Copy ข้อมูลผิดไปส่งอาจารย์อย่างน่าเศร้า  อย่างไรก็ตามที่ข้าพเจ้านำเอาข้อมูลบางอย่างลง ใช่ว่าจะให้ Copy อย่างเพริศแพร้ว บางอย่างยอมรับว่าผิด และไม่ถูกต้องเสมอไป รอแต่การถกเถียงทางสติปัญญา และอย่างดูถูกสติปัญญาตัวเองโดยการคัดลอก 

ในที่นี้ขอเสนอเรื่องจังหวะของเพลงไทยโดยอาจารย์ สงบศึก ธรรมวิหาร จากเท่าที่อ่านหนังสือว่าด้วยเรื่องทฤษฏีเพลงไทยมา จะเข้าท่าเข้าที อ่านดูรู้เรื่องกับเขาบ้างก็เล่มนี้แหละ ไหนลองเอามาแบ่งปัน เผื่อเป็นประโยชน์แก่นักเรียนบ้าง ไม่มากก็น้อย ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านดนตรีไทย เพื่อมิให้สูญหายไปแล้วกัน

จังหวะของเพลงไทย 

จังหวะหมายถึงการแบ่งส่วนของทำนองเพลง ซึ่งดำเนินไปโดยเวลาอันสม่ำเสมอ ทุกระยะของส่วนที่แบ่งนี้คือจังหวะ  จังหวะที่ใช้ในเพลงไทยมี ๓ ประเภท ดังนี้

๑. จังหวะสามัญ  หมายถึง  จังหวะทั่วไปที่จะต้องยึดถือเป็นหลักสำคัญของการขับร้องและบรรเลง  จังหวะสามัญนี้แบ่งย่อยเป็นชั้นๆ ซึ่งบอกถึงอัตราความเร็วของเพลง เป็นต้น

๒. จัวหวะฉิ่ง  เป็นการแบ่งจังหวะด้วยฉิ่ง  เพื่อให้รู้จักจังหวะเบาและจังหวะหนัก โดยปรกติฉิ่งจะตีสลับกันเป็น "ฉิ่ง" จังหวะเบา และ "ฉับ" ซึ่งเป็นจังหวะหนัก

๓. จังหวะหน้าทับ  คือการถือหน้าทับเป็นเกณฑ์นับจังหวะ หน้าทับ หมายถึงทำนองของเครื่องหนัง หรือวิธีตีเครื่องหนัง จำพวกที่เลียนเสียงจากทับซึ่งใช้เป็นเครื่องกำกับจังหวะเป็นระยะๆ ไป ส่วน "ทับ" เป็นชื่อเครื่องดนตรีที่ขึงด้วยหนังหน้าเดียว ใช้ตีประกอบจังหวะทำนองดนตรีมาแต่โบราณ สมัยปัจจุบันเรียกว่า "โทน" (ตีคู่กับรำมะนาในวงมโหรี) หน้าที่อันสำคัญของทับคือการตีประกอบจังหวะ ให้ถูกต้องตามประโยคเพลงและกลมกลืนกับทำนองเพลงร้องหรือดนตรี  ทับเป็นเหมือนผู้กำกับอันสำคัญ เป็นหัวหน้าของบทเพลงอย่างหนึ่ง วิธีตีหรือเพลงของทับนี้จึงเรียกว่า "หน้าทับ" หน้าทับมีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ 

ก. ปรบไก่

เป็นชื่อของหน้าทับประเภทหนึ่ง ซึ่งมีส่วนสัดค่อนข้างยาว (ทุกๆ อัตรามีความยาวเป็น ๒ เท่าของหน้าทับสองไม้) ใช้สำหรับตีประกอบเพลงที่มีทำนองดำเนิน ประโยควรรคตอนเป็นระเบียบหน้าทับประเภทที่เรียกว่าปรบไก่นี้ ปราชญ์ทางด้านดนตรีโบราณได้คิดอัตรา ๒ ชั้น ขึ้นมาก่อน โดยแปลงจากเสียงร้องลูกคู่ในการร้องเพลง ปรบไก่ (เพลงพื้นเมืองโบราณเพลงหนึ่ง) มาเป็นวิธีตะโพนคำรับและทำนองร้องของลูกคู่ เพลงปรบไก่นั้นร้องว่า "ฉ่า ฉ่า ฉ่า  ช้า-ชะ ฉ่า ไฮ้" และปลี่ยนออกมาเป็นเสียงตะโพนดังนี้ "พรึง ป๊ะ ตุ๊บ พรึง พรึง ตุ๊บ พรึง" หน้าทับนี้จึงเรียกว่า "ปรบไก่" แต่เมื่อขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น หรือตัดลงเหลือชั้นเดียว ก็คงเรียกกว่าหน้าทับ ปรบไก่ เช่นเดิม หน้าทับปรบไก่อันนี้เป็นพื้นฐานในการ ประดิษฐ์หน้าทับอืนๆ เช่น หน้าทับเขมร หน้าทับสดายงค์ (เพลงที่มีสำเนียงแขก) เป็นต้น

ข. สองไม้

หน้าทับสองไม้ เป็นหน้าทับที่มีจังหวะค่อนข้างสั้นเพื่อใช้กับทำนองเพลงที่มีประโยคสั้นๆ เพลงที่มีทำนองหรือทางร้องพลิกแพลง มีความยาวไม่แน่นอน เช่น "ด้นสองไม้" - ละครนอก เพลงฉ่อย แอ่ว และลิเก เป็นต้น เมื่อเป็นเพลงสามชั้น หน้าทับสองไม้ก็ขยายขึ้น ถ้าเป็นเพลงชั้นเดียวหน้าทับก็ลดลง แต่ยังคงเรียกหน้าทับสองไม้อยู่เช่นเดิม หน้าทับสองไม้เป็นพื้นฐานของหน้าทับอื่นๆ เช่น หน้าทับลาว หน้าทับเจ้าเซ็น เป็นต้น เสียงของตะโพน หน้าทับสองไม้จะเป็น "ป๊ะ ตุ๊บ ติง ป๊ะ ตุ๊บ พรึง" หรือ "ตุ๊บ พรึง พรึง พรึง"

หน้าทับปรบไก่ และหน้าทับสองไม้ที่กล่าวมาแล้ว เป็นหลักของการขับร้องและบรรเลงเพลงไทย เพราะหน้าทับจะตีวงเวียนช้าๆ อย่างนั้นตลอดไป จนกว่าจะจบเพลง เมื่อตีหมดไปชุดหนึ่งจะเรียกว่า ๑ จังหวะ จำนวนของจังหวะเพลงก็นับจากการตีหน้าทับนี่เอง

หน้าทับตรบไก่ และหน้าทับสองไม้นี้ ใช้เแพร่หลายในวงการดนตรี เพลงที่เดินเป็นจังหวะธรรมดาไม่มีลูกล้อ ลูกขัด หรือเพลงที่มีลูกล้อลูกขัดอยู่ในเนื้อเพลงของมันเองนั้นมักใช้หน้าทับปรบไก่ทั้งสิ้น เช่นเพลงจระเข้หางยาว เพลงสารถี เพลงไอยเรศ เพลงราตรีประดับดาว ฯลฯ ส่วนเพลงที่มีสำเนียงลาว เช่นเพลงลาวดวงเดือน ลาวคำหอม ลาวเสี่ยงเทียน ฯลฯ หรือเพลงที่มีทำนองด้น เช่น เพลงกระบอก ฯลฯ หรือเพลงลูกโยน อันประกอบด้วยลูกล้อลูกขัดต่างๆ เช่น เพลงแขกลพบุรี เพลงเขมรราชบุรี ทยอยใน ทยอยกลาง ทยอยนอก คลื่นกระทบฝั่ง ทะเลบ้า ฯลฯ เหล่านี้มักใช้หน้าทับสองไม้ เพลงที่ดำเนินเรื่อยๆ บางชนิด เช่น พราหมณ์ดีดน้ำเต้า แขกต่อยหม้อ ก็ใช้หน้าทับสองไม้เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะวรรคของเพลงนั้นเหมาะที่จะใช้หน้าทับสองไม้มากกว่าหน้าทับปรบไก่

ค. พิเศษ

หน้าทับพิเศษ คือหน้าทับที่ประกอบเพลงที่ไม่สามารถใช้หน้าทับปรบไก่ หรือสองไม้ได้ เพราะบางเพลงมีจังหวะติด บางทีก็ผสมจังหวะ เช่น เพลงชมตลาด เพลงโอ้ ต่างๆ หรือเพลงที่มีจังหวะไม่สม่ำเสมอ เช่นเพลงรัว ต่างๆ หรือเพลงที่มีประโยคสั้นบ้าง ยาวบ้าง เช่นเพลงฉิ่งบางเพลง เพลงบางประเภท สามารถตีหน้าทับปรบไก่ และหน้าทับสองไม้ได้ แต่ไม่นิยมตี เช่นเพลงภาษา ซึ่งนอกจากจะแต่งทำนองและเนื้อร้องเลียนแบบของชาติต่างๆ แล้ว ยังต้องใช้หน้าทับกำกับจังหวะให้ฟังเป็นเพลงของชาตินั้นจริงๆ เช่น เพลงแขกก็ใช้หน้าทับแขก เพลงมอญก้ใช้หน้าทับมอญเป็นต้น

บรรณานุกรม 

สงบศึก ธรรมวิหาร, ดุริยางค์ไทย, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒ หน้า ๕๗-๕๙.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น