อยู่นี่แล้ว


วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Cockroach and Tussy Musician

Cockroach and Tussy Musician
Amelie ขาย แต่ขายไม่ออก

ชุดแมลงสาบน่ารัก จากกรุงเทพประกันภัย

                เหล่าแมลงสาบสยายปีก สลับเลื่อมมันเต้นโหย๋งเหย๋ง ยุบยับละลานตา คล้าย คล้ายประกายลิปกลอสออกใหม่ของเมย์เบลอลีนที่เหล่ากระเทยน้อยกรีดทา มือสองข้างทำท่าละม้ายไวทยากรณ์ ขยับขาหนีบ แวป แวป คลับคลาผู้ควบคุมกฎ ผิด ถูกเหมือนไวยกรณ์ภาษา บลา บลา กรอบเหล่านี้เป็นกรอบกั้นพวกกระเทย แลแมลงสาบให้ออกห่างจากแหล่งอาหารอันอุดม(หวาน มัน กรอบ ชอบ จริงจริง)

พวกชอบด่า กรีดร้องเมื่อผู้คนทำผิด พวกร้อนตัว รองเท้าแตะตราปูประทับฝ่าตีนยูไล กระเทยกรีดร้องเต้นส่ายเต้าแห้งท่าบียองเซ่ เพลงคลาสสิคในท่วงท่าลีลาของพวกหล่อน ทำให้แมงสาบคิดถึงบ้านแจ๊สศวรเสเฮฮาหลังอาหาร ก่อนเวลาจะวางไข่ นางแมงสาบสาวเบ่งไข่พร้อมฟังเพลงคลาสสิค ลูกเธอคงฉลาดเมื่อฟังเพลงโมสาร์ท กระเทยน้อยหัดเสพย์ยาไวทยากรณ์(ยาคุม) หล่อนมึนเมาพร้อมเต้นเพลงติดชาร์ตเลดี้กาก้า pus pus!

เหล่าเพื่อนสาบ ตั๊กกะแตนปาตังก้า มันชอบมักหลาย กับท่าเต้นตักแตน จังหวะโจ๊ะ ตึม ตึม ช่วยลดเวลาการเบ่งไข่ของเธอ พวกแมงสาบกำลังฮิตชุดขายประกัน นักดนตรีชุดแมงสาบมันก็ชอบ มันบอกว่าทางการโก๋ เก๋ โลกโหว๋งเหว๋ง เสียงหัวใจเต้นระรัว แขนขาแกว่งไปมาไร้ทิศทางใคร รือ รือ ที่จะนั่งสำรวม นางกระเทยบอกว่าเธอนั่งสมาธิพอแล้ว โลกนี้ไม่ได้ขุดจอบเสียม ทำสวน กรรมกร ชั้นต่ำ นี่แหละไฮโซมันแสยะยิ้มเลียหนวดแล้วนั่งฟังดนตรีอย่างสำรวมด้วยอาการแขม่วพุง ยานพลุ้ย แม่บ้านแมลงสาบชอบเต้นแอโรบิกก่อนผัวจะกลับบ้าน ท่าเดิม เดิม ตอนเซิ้งบั้งไฟ เมื่อผัวหล่อนกลับจากปล่อยจรวด เหล่ากระเทยต่างกรีดร้องด้วยเสียงแตกพร่า หล่อนไม่กล้าปล่อยจรวด

                ร่าน ร่าว ร้อน ลมหายใจ กระหาย ระรัว รวยริน พุ่งพวยออกมาจากขอบรองเท้าแตะ ลูกสาวนางสาบเพิ่งจบการศึกษามาจาก มหาวิทยาลัย ดนตรีชั้นสูง ถูกรองเท้าแตะนางกระเทย กดส้นตีน หนีบ ขี้สด กระจาย ในงานรับปริญญาบัตรแมงสาบ อนิจจังคืนนี้มีสวดอภิธรรมด้วยพระกระเทย เป็นทำนองเสียงแหบสูงขึ้นจมูกคล้ายบริทนีย์ ลาทีสาธุโยม อาตมาขอไปเติมลิปกลอส ก่อนแล









 

ดินแดนในอุดมคติ พลังของเสียง ในรั้วแห่งจิตนาการ

ดินแดนในอุดมคติ พลังของเสียง ในรั้วแห่งจิตนาการ

By Amelie Chane



            จากหลักฐาน จารึก ปรากฏการณ์หนึ่งทางมิติประวัติศาสตร์ มุมมองอันมีหลักและฐาน ยังคงเศษซากสามารถคงอยู่อย่างไร้เทียมทาน แม้จะเป็นเพียงตัวอักขระ เศษสิ่ง ผงสีจางจาง ฉาบปูนผุกร่อน แต่เมื่อสามารถถอด เชื่อมโยงถ้อยคำ ออกมาอย่างมีสาระถ้อยความ สวยงาม นำไปสู่การหลอมสร้างอำนาจเนื้อหา กลายเป็นขุมวิชาอันมีค่ามหาศาล สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องบ่งชี้ถึง ราก ของตน อย่างมีฐาน และหลักได้อย่างวิเศษพิสดารยิ่ง จากจุดหนึ่งของมุมมองความร่วมสมัยมิติเวลา วัฒนธรรมรายทาง มวลมนุษย์ สู่การสรรค์สร้างงานสุนทรียศิลปกรรมอันหลายหลาก แบ่งแยกออกเป็นต่างแขนง อันก่อเกิดจากบ่อระบบความคิดในแต่ละช่วงขุมเวลาอายุขัย พัฒนาแปรเปลี่ยนอยู่บนพื้นที่ ดินแดนแห่งจินตนคติตน บนเขตแดนผ่านเส้นแบ่งที่แตกต่างกัน ได้ก่อเกิด นำระบบความเชื่อ ศรัทธา ผสานมาซึ่งศูนย์รวมอำนาจทางจิต วิญญาณ ผสานย้ำลงบนจุดยืน ดินแดนแห่งจินตนาการ กลายเป็นรัฐชาติในอุดมคติ ของมวลมนุษย์ให้สัมผัสจับต้องหลอมรวมด้านจิตใจ
            มนุษย์ในวิสัยของความเป็นธรรมชาติ จำต้องอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม(Social Group) เพื่อความอยู่รอด ทางจิตวิญญาณ และชีวิต กลุ่มเล็กที่สุดเห็นจะเป็นครอบครัวและเครือญาติ(ครัวเรือนการถนอม ดำรงซึ่งเผ่าพันธุ์) ถัดไปเป็นชุมชนที่แลเห็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นรูปธรรมชัดขึ้น(Social Reality) ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้าน เหนือชุมชนบ้านขึ้นไป เป็นชุมชนทางจินตนาการ(Imagined Community) ใช้พื้นที่ ดินแดนหรือแผ่นดินวัตถุดิบอันมีคนอยู่ข้างต้น ร่วมกันบูรณาการให้เกิดสำนึกร่วม ก่อสร้างชุมชนทางจินตนาการ หรือชุมชนสมมติให้เกิดขึ้นเป็นเขตดินแดนสองระดับ คือดินแดนอันเป็นแผ่นดินเกิด หรือมาตุภูมิ กับดินแดนอันเป็นประเทศชาติ หรือชาติภูมิ (ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม, ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ช่อม ฉบับเก่า สร้างฉบับใหม่, ๒๕๔๙:๑๗-๑๘) การเกิดความเป็นชุมชนสมมติทั้ง ๒ ระดับนี้ใช้พลังมิติของเวลาหรือประวัติศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์ศิลปกรรม, ประวัติศาสตร์ราชวงศ์, ประวัติศาสตร์คติความเชื่อ ศาสนา หรือประวัติศาสตร์มุขปาฐะ เรื่องเล่า เสมือนเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนสังคมภายใต้ดินแดนในจิตนาคติของตน
            ดนตรีก็ไม่ถือเว้นจากความเป็นอุดมคติ ในโลกของนามธรรม วัฒนธรรมด้านเสียงอันทรงพลังในการยึดเหนี่ยว สรรเสริญสถาบันบริหารดินแดน บรรยากาศด้านเสียงที่ช่วยพัฒนาจิต ความเข้าใจ โน้มน้าวความเป็นอุดมคติ จินตนาการ สู่ความเป็นจริงของเขตแดนด้านจินตนาการที่จับต้องได้ หน้าที่ของเสียงนำมาซึ่งเขตแดนแห่งอำนาจ ปริมณฑลทางจิต ความศรัทธา พัฒนาความเชื่อมั่นเพื่อสนองความมั่นคงแก่รัฐชาติ อาทิ การถือครองธรรมราชา กษัตริย์ผู้ทรงธรรม แห่งสุโขทัย ปริมณฑลด้านเสียงมีส่วนเสริมสร้างความเป็นกษัตริย์อย่างแท้จริงดังปรากฏในจารึก เขาสุมนกูฏ(พ.ศ. ๑๙๑๒) เรื่องราวกล่าวถึงการย้ำซึ่งอำนาจ แห่งรอยพระพุทธบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธอำนาจอันหลอมรวมฐานอำนาจเดิมเข้าสู่พุทธปาทลักขณะ ประดิษฐานบนยอดเขาสุมนกูฏโดยพรญาฦาไทย ธรรมราชาที่ ๑(พระยาลือไทย) ดังจารึกว่า

ศิลาจารึกด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑-๒๙
ดับหนทางแต่ เมืองสุโขทัย มาเถิงจอมเขานี่งามหนักหนาแก่กม(ที่สุด) สองขอก(ข้าง) หนทาง ย่อมตั้งกัลปพฤกษ์ใส่รมยวลดอกไม้ ตามไต้เทียนประทีป เผาธูปหอมตระหลบทุกแห่ง ปลูกธงปฎากทั้งสองปลาก(ฟาก) หนทาง ย่อมเรียงขัน หมากขันพลูบูชาพิลม(อภิรมย์) ระบำเต้น เล่นทุกฉัน(ทุกอย่าง)
           .. ด้วยเสียงอันสาธุการบูชา อีกดุริยาพาทย์พิณฆ้องกลองเสียงดังสิพอดังดินจักหล่มอันไซร้(เพียงดินจะถล่มนั้น) ศักราช ๑๒๘๑ ปีกุน เมื่อพระศรีบาหลักษณ ขึ้นประดิษฐานไว้ในเขาสุมนกูฏบรรพต  ………..นั้น…………. (ยอร์ช เซเดส์, ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑ : ศิลาจารึกวัดเขาสุมนกูฏ, ๒๕๒๑ : ๑๑๑-๑๑๘)

            หมายถึงการถือครองโดยอ้างสิทธิผ่านรอยพระพุทธบาท อันประทับบนยอดเขาที่สถาปนาเป็นสุมนกูฏ ตามมาด้วยบรรยากาศแห่งจินตนาการ แสง สี เสียง อารมณ์ อันประโคมซึ่งเสียงบูชาสาธุการ ดุริยาพาทย์พิณฆ้องกลอง เสมือนแผ่นดินจะถล่มทลาย ฉายภาพดินแดนแห่งกษัตริย์ผู้ยึดมั่นในธรรมราชายังปรากฏในการอัญเชิญพระศาสนานิกายเถรวาท ลังกาวงศ์ จากสุโขทัยมาสู่ล้านนา สมัยพญากือนา(พ.ศ. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘) ดังจารึกวัดพระยืน(พ.ศ. ๑๙๑๓) โดยพญากือนาทรงส่งราชทูตลงไปนิมนต์พระสุมนเถระจากพระยาลิไทย(พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๑๙ แห่งกรุงสุโขทัย) ได้นำความชอบธรรม อำนาจแห่งธรรมราชา(ยึดครองซึ่งพระบรมธาตุ เป็นข้อเสนอแสนวิเศษ)ไปสู่ล้านนา ในกาลนั้นปรากฏการประโคมดนตรี เสียงสาธุการ เพื่อสร้างปริมณฑลแห่งฐานอำนาจใหม่ในการหลอมรวมเหล่าอำนาจเดิม(ผี) หลากชาติพันธุ์ ท้องถิ่น เข้าสู่ฐานอำนาจทางพระศาสนา ในอาณัติ สุโขทัย ดังนี้

ศิลาจารึกด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๐-๒๗
             เมื่อท่านเป็นเจ้ามานั้น ในปีระกา เดือนเจียง(คือเดือนอ้ายของไทยฝ่ายเหนือ หรือ เดือน ๑๑ ของไทยฝ่ายใต้) วันศุกร์ วันท่านเป็นเจ้าจักเถิง(ถึง)วันนั้น ตนท่านพญาธรรมิกราช บริพาร(แวดล้อม) ด้วยฝูงราชโยธามหาชนพลลูก เจ้าขุนมนตรีทั้งหลาย ยายกัน(เรียงรายกัน) ให้ถือกระทงข้างตอกดอกไม้ไต้เทียน ตีพาทย์ ดังพิณ ฆ้อง กลองปี่สรไน พิสเนญชัย ทะเทียด กาหล แตรสังข์มาน กังสดาล มรทงค์ ดงเดือด เสียงเลิศ เสียงก้อง อีกทั้งคนร้องโห่อื้อดา สะท้านทั่วทั้งนครหริภุญไชยแล (ฉ่ำ ทองคำวรรณ, ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๓ ศิลาจารึกวัดพระยืน, ๒๕๐๘ : ๑๓๓-๑๔๓ )

            ทั้งนี้พลังอำนาจด้านเสียง ได้ถือกลายเป็นเครื่องมือประโคม โน้มน้าว ของพระศาสนา เพื่อนำมาซึ่งการ สรรเสริญ เสริมสร้างซึ่งฐานอำนาจ กรรมสิทธิ์ใหม่ที่ถือครองโดยธรรมราชา กษัตริย์อันทรงเป็นศาสนอุปถัมภก หากลองมองย้อนในมิติการรวมศูนย์อำนาจเดิม เข้าสู่ฐานอำนาจใหม่ภายใต้เบื้องบาทแห่งพระศาสดา ดนตรีถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของกลไกภายใต้อำนาจพุทธปาทลักขณะ มหายานในดินแดนจินตนคติจักรวาลสามารถแบ่งได้เป็นคติรูปธรรม ในแบบตารางภาพ มงคล ๑๐๘ ประการ และคตินามธรรม ในแบบแผนผังจักรวาล ทั้งสองต่างสร้างปริมณฑลด้านเสียงที่แตกต่างกัน ในชั้นจินตนคติ ๑๒ มิติ วางเรียงกันล่างสู่บน ๗, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙, ๙  และ ๒(มหาปุริสลักษณะ และเบื้องพระบาทแห่งความชอบธรรม, ลิขสิทธิ์แห่งพระศาสดา) ในคติรูปธรรมปรากฏการยึดซึ่งฐานอำนาจเดิมความเชื่อลัทธิ ฮินดู และความเชื่อลัทธิท้องถิ่น ดนตรีถือเป็นทั้งเครื่องประโคม และขับกล่อม ของเหล่าเทพ รับใช้ฐานอำนาจดังปรากฏในจินตนคติสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามคตินามธรรม ไตรภูมิ ที่สามารถแบ่งเป็นประเภททั้งใน และนอกรั้ว ดังนี้

วัด, เทวสถาน
อกมฺ
(ความรัก)
ปุรมฺ
(วีรกรรม)
ลาสยฺ
(พิณ)
ตาณฺฑว
(ปี่)
ดนตรีวงเล็ก
ดนตรีวงใหญ่
งานปรนนิบัติ ขับกล่อม
การแห่ประโคม
ภายใน(รั้ว)
ภายนอก(รั้ว)
นางเทพทาสี
ครอบครัว(นางเทพทาสี) ผู้คนในหมู่บ้าน
                                                                                             
วัง
อกมฺ
ปุรมฺ
ลาสยฺ
(พิณ)
ตาณฺฑว
(ปี่)
ดนตรีวงเล็ก
ดนตรีวงใหญ่
งานปรนนิบัติ ขับกล่อม
การแห่ประโคม
ภายใน(รั้ว)
ภายนอก(รั้ว)
มเหสี นางใน
ทหาร ข้าหลวงที่รับราชการ
                                                                                                 
            จากตาราง ในเมื่อวัฒนธรรมดนตรีพระราชหลักจากพิธีอินเดียได้ลดความสำคัญลง พระราชพิธีเดิมในรั้วราชวังก็เสื่อมถอยจนสาบสูญไปตั้งแต่พระมหากษัตริย์ฮินดูเดิมเริ่ม มีพระราชนิยมชมชอบในพระราชพิธีแบบอิสลาม(ราชวงศ์โมกุล) ในทางตรงกันข้ามสยามได้รักษาพระราชพิธีในรั้วอย่างฮินดูไว้หลายพิธีจนถึงปัจจุบัน เสียแต่ว่าภายหลังสยามปรับใช้พระราชพิธีในศาสนาฮินดู มาช้านานและมากเกินกว่าที่จะเข้าใจในรากของพระราชพิธี(ความสมบูรณ์) ดังภาพสตรีในเทวสถาน ปรนนิบัติบุรุษเทพ(พระอินทร์, เทพบุรุษต่างๆ) ทั้งนี้เพราะตามหลักศาสนาฮินดู การปรนนิบัติต่อเทพเจ้าเยี่ยงพระมหาหากษัตริย์(หรือการปรนนิบัติต่อพระมหากษัตริย์เยี่ยงเทพเจ้า, สุมมติเทพ) เช่น การปลุกพระบรรทม การสรงน้ำ การถวายพระกระยาหาร การประโคมดนตรี การออกขุนนาง การเบิกเสภากล่อมพระบรรทม ฯลฯ ในวังมีเช่นไรในเทวสถานก็มีเช่นนั้น
            ประเภทของวงดนตรี มี จินฺนเมฬมฺ หรือ ทาสอาฏฏม  ดนตรีวงเล็ก หรือการร่ายรำของเทพทาสี โดยทั่วไปเทพทาสีอาจจะเป็นหญิงผู้ใดที่มีศรัทธาถวายตัวเป็น สนม ของเทพ(สนมเมืองประเทศราชเพื่อเพิ่มฐานอำนาจให้แก่กษัตริย์) อาจจะเป็นหญิงเชลยศึกที่ถูกถวายโดยเลือกไม่ได้ แต่โดยส่วนมากจะเป็นหญิงในวรรณะ เมฬกฺการนฺ (นักดนตรี) ที่สมัครเลือกอาชีพเป็นเทพทาสี ในเรื่องของอาชีพนักดนตรี เมฬกฺการนฺนั้นสามารถแบ่งออกเป็น ๒ สาขา นอก ใน รั้ว คือ
๑.     เปริยเมฬ ดนตรีวงใหญ่ มีปี่เป็นเครื่องหลัก มีชายเป็นนักรำ และใช้ในการแห่นอกประการัม(กำแพงเทวสถาน)
๒.     จินฺนเมฬมฺ ดนตรีลงเล็ก มีพิณเป็นเครื่องหลัก มีหญิงเป็นนักรำ และใช้แสดงกันหน้าพระประธานภานในประการัม(ไมเคิล ไรท, ฝรั่งคลั่งผี, ๒๕๕๐.)

 พลังอำนาจด้านเสียง การรับใช้สถาบันหลักแห่งดินแดนจินคติ ในสรวงสวรรค์อันรื่นรมย์ สู่โลกแห่งความจริง ดนตรีมีหน้าที่ ทั้งขับกล่อม สรรเสริญ และประโคม เพื่อสรรค์สร้างให้ภาพฝันนั้น กลายเป็นบรรยากาศ ของสภาวะอารมณ์อันเปรียบประดุจดั่งอุดมคติ ความจริง ภายใต้กลไกรัฐชาติ ในมุมมองการเสนอความเป็นรัฐชาติที่อุดมสมบูรณ์ เปี่ยมล้นด้วยบรรยากาศทั้งในและนอก(รั้ว)อิ่มเอมไปด้วยอารมณ์อันน่าอยู่ ประชากรหน้าใส ชื่นบาน ด้วยกษัตริย์ที่เปี่ยมล้นด้วยธรรมราชาดังปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหงต่อไปนี้

ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๕-๒๐
            พนมดอกไม้ มีหมอนนั่ง หมอนโนน(หมอนนอน) บริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน(ปีละสองล้าน) ไปสูด(สวด) ญัติ กฐินเถืงอรัญญิกพู้น(นู้น) เมื่อจักเข้ามา เวียง(เมือง) เรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน(ถึงสนามใหญ่) ดํบงคํกลอง(ตีประโคมกลอง) ด้วยเสียงพาดเสียนงพิณ เสียงเลื้อน(เสียงร้อง หรืออ่านเป็นทำนองเสนาะ) เสียงขับ ใครจัก มักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจัก มักเลื้อน เลื้อน (ยอร์ช เซเดส์, ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงใน จารึกสมัยสุโขทัย, ๒๕๒๖:-๒๐)

            หลักฐานดนตรีปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง กล่าวสรุปใจความสำคัญได้ว่า ดนตรี อันได้แก่การตีประโคมกลอง เสียงพาทย์ เสียงพิณ รวมทั้งเสียงร้อง ทำนองเสนาะ นั้นได้ประโคมเพื่อการพิธีกฐิน งานเฉลิมฉลองเพื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นงานมหรสพรื่นเริงสมโภชในพิธีการถวายกฐิน ทานถวายแก่พระศาสนา ดังภาพฝันในสมัยสุโขทัยข้างต้น อำนาจอักขระชี้ทาง เสียงเป็นตัวสร้างบรรยากาศให้จินตนาการไปถึงความมีอิสระ เสรีภาพของชาวเมืองสุโขทัยที่สามารถ ใครจัก มักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจัก มักเลื้อน เลื้อน  สังเกตขบวนแห่กฐิน มีเจ้าภาพ นำโดยกษัตริย์ เมื่อเข้ามาสู่เวียง(เมือง) สู่สนามใหญ่ ดนตรีก็จะเริ่มประโคมกลองเพื่อรับทราบถึงการมาของขบวนแห่อันยิ่งใหญ่มากมาย ตามด้วยเสียงพาด เสียงพิณ เสียงคนร้องหรืออ่านทำนองเสนาะ(อาจเป็นภิกษุ, หรือผู้ทำพิธี) แต่ไม่มีปรากฏเครื่องดนตรีในพระราชพิธี เช่น แตร สังข์(พระราชพิธีพราหมณ์ ฮินดู) ตามหลักและฐานดั่งปรากฏในหลักศิลาจารึก หากลองมองย้อนวิเคราะห์ถึงอักษรลักษณ์ ดนตรีที่ปรากฏในจารึกด้านที่ ๒ ดังที่กล่าวอ้างกันว่า เป็นชาวสุโขทัยเองที่แต่งขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อยังมีพระชนมายุอยู่(สังเกตได้จาก ตอนที่ ๒ ของจารึก) ซึ่งลักษณะดนตรีก็เป็นรูปแบบของดนตรี ของคนในเมืองสุโขทัย เล่นบรรเลงประโคมงานกฐิน เนื่องในศรัทธาที่มีต่อพระศาสนาอันมีส่วนร่วมกันระหว่างทั้งราษฎร์ และหลวง เพราะไม่ได้บอกถึงการเฉลิมฉลองประโคมเพื่อกษัตริย์ในการเสด็จร่วมพิธีครั้งนั้นแต่อย่างใด เพียงบรรยายความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเมืองสุโขทัยที่มีศรัทธาในพระศาสนา เน้นบอกถึงการมีส่วนร่วม สิทธิของชาวเมืองโดย ใครจัก มักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจัก มักเลื้อน เลื้อน
เมื่อระบบความเชื่อระหว่างใน และนอก พังทลายลง ความเชื่อในลัทธิพระพุทธศาสนาได้เข้ามาแทนที่ เทพเจ้า พราหมณ์ ฮินดู เมื่อสตรีเพศ เหล่าสนมคนเป็นของเทพเจ้า ได้ถูกกีดกันออกจากราชฐานชั้นในจึงเป็นหน้าที่ของเทพกษัตริย์(พระอินทร์) พระโพธิสัตว์(จากพุทธปาทลักขณะ) เท่านั้นที่จะบรรเลงกล่อมพระพุทธเจ้าในฐานอำนาจใหม่ให้รู้ซึ้งถึงสัจธรรมชีวิต โดยการดีดพิณ ๓ สายของเหล่านาง มัชฌิมาปฏิปทา หน้าที่ของเหล่าสนมนางใน นางเทพทาสีจึงเป็นได้แค่ความสนุกรื่นเริงของทางโลกเฉกเช่นนางยโสธรา มเหสีเจ้าชายสิทธัตถะ ถวายการรับใช้อาณาบริเวณพระราชฐานชั้นในรั้วของกษัตริย์เพียงเท่านั้น

ชื่อมเหสี เทพธิดา และนางฟ้า
ชื่อเครื่องดนตรี
บริวาร
เครื่องดนตรี
คิครา
มหาวีณา
๖๐,๐๐๐
พิณ
สาธุ
สุภัทรา
๖๐,๐๐๐
ปี่(เป่าปี่คู่หนึ่ง)
หสัจนารี
มุธตระ
-
พิณ
มณีเมขลา
พิชัยสังขะ
๖๐,๐๐๐
สังข์
มหาตุมุทิงคสังขะ
ปุถุพิมพนะ
๖๐,๐๐๐
ตะโพน
ตปนัคคี
อานันทเภรี
๖๐,๐๐๐
กลอง
ปนัคคิ
รณมุขเภรี
๖๐,๐๐๐
กลองหน้าเดียว
นันทา
โกฬมธุรสสุรเภรี
๖๐,๐๐๐
กลองใหญ่
ยามา
โบกขรบัณเฑาะว์
๖๐,๐๐๐
บัณเฑาะว์
สรโฆสสุร
นันทไฉน
๖๐,๐๐๐
ปี่ไฉน
สรพางคณา
ทัสสโกฏส
๖๐,๐๐๐
กลองใหญ่
*ตารางจัดแสดงเหล่านางในรั้ว มเหสี เทพธิดา สนม นางใน ในปราสาทราชวังของพระอินทร์ ความเชื่อตามคติไตรภูมิ ในพระพุทธศาสนา(คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน, ไตรภูมิกถา ฉบับถอดความ, ๒๕๒๘)

 เมื่อระบบความเชื่อทางพระพุทธศาสนาได้กีดกันเหล่าพวกนางทาสีให้ออกจากขอบรั้วซึ่งเขตขัณฑสีมา หน้าที่ของฝ่ายนอกจึงเฟื่องฟู และได้มีบทบาท อิทธิพลเข้ามาอย่างมากต่อระบบความเชื่อในพุทธศาสนา ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกวัดพระยืน ทางตรงกันข้ามเหล่านางในยังคงขับกล่อมสรรเสริญความเป็นสมมุติเทพของกษัตริย์ในรั้ว ฐานอำนาจหลัก สถาบันปกครองเฉกเช่นจิตนคติดินแดน ก่อนจะพังทลายลงไปเมื่อฐานอำนาจนั้นได้เคลื่อนออกไปเป็นพลังมวลชน การประโคมจึงเข้ามามีบทบาทหลักปลุกใจให้เชื่อมั่นในพลัง ฐานะรัฐอุดมคติใหม่ ส่วนเหล่านางก็กระเด็นกระดอนออกไปรับใช้พลังความเชื่อในลัทธิอื่น อาทิ ผี เหล่าครอบครัวผี(เทพเจ้า) ที่เร้นลับอยู่ภายนอกเขตขัณฑสีมา นอกเหนือเกินโควตาที่พระศาสนาอันบริสุทธิ์จะพึงกระทำต่อเพศสภาพของพวกนางได้
            เมื่อดินแดน นอกในถูกล่วงละเมิด รั้วกำแพงสึกกร่อน พุพังง่ายต่อการข้ามผ่าน การครองซึ่งอำนาจทางเสียง ยังคงประโคม ขับกล่อม สรรเสริญในปริมณฑล ดินแดนจินตน อุดมคติ โลกแห่งการสื่อสาร ไซเบอร์ หยิบยื่นข้อเสนอแสนวิเศษ(นวัตกรรมโพรไฟล์อิเล็กทรอนิกส์) ธาตุแท้แห่งอำนาจเงินตรา ทุนเดิมพลังงานเสียงดนตรีได้สร้างพลังอำนาจแห่งการโน้มน้าวใจในลัทธิใหม่ ถือคติในฐานอำนาจแห่งลัทธิทุนนิยม เครื่องเฟอร์นิเจอร์หรูหรา นวัตกรรมบนฐานอำนาจใหม่ ต่างเรียงรายกระโดดข้ามรั้ว รายเรียงกันออกมาโลดเต้น สู่การยกย่อง ประโคม สรรเสริญอัตลักษณ์อันมีจะได้ของสิทธิส่วนบุคคล
ในทางตรงกันข้ามความเป็นสถาบันยังได้รับการผูกมัดด้วยเป็นฐานอำนาจหลักของชาติภูมิ เสียงประโคม สรรเสริญ จากมาตุภูมิยังมีส่วนช่วยสร้างพลังผลักดันในการรวบรวมซึ่งจิต วิญญาณ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เพื่อขับเคลื่อนรัฐในอุดมคติตนได้อย่างมีแก่นสาร ภายใต้ดินแดนชาติภูมิ มาตุภูมิ พลังอำนาจของเสียงดนตรี ยังมิได้เสื่อมคลายไปจากเดิม เพียงแค่รั้วที่กั้นไว้ซึ่งใน และนอก ได้พุกร่อนลงไปเท่านั้น หากวันใดรั้วนั้นได้พังทลายลง คติจักรวาล ไตรภูมิคงเสียสมดุลเพราะใครก็สามารถมีนางเทพทาสีขับกล่อมพร้อมเหล่าเทวดาแห่ประโคมได้ทั้งสิ้น 

 iPod-รุ่นอัขระ พ่อขุนราม 
อีกมิติมุมมอง เมื่อสถานภาพความเป็นรั้วถูกย้าย และยกระดับออกไปเป็นอัตวิสัย มายาคติ ใน และนอกจอ(Screen) เหล่าเครื่องเล่นอิเล็กทรอนิกส์ ต่างสรรเสริญ แห่ประโคมผ่านกรรมวิธีในระบบดิจิตอล สู่ความเป็นสาธารณะ หยิบใช้ในปริมณฑล ภายใต้เอกอัตลักษณ์ของตน ภายใต้ศูนย์รวมอุดมคติวิญญาณ Mind Idol แห่ง Popularity World เรามี อัขระสากล(Internationalism : Language and Culture)ใช้กันถ้วนหน้า จุดนี้ คงเป็นจุดยืนใหม่ของเครื่องมือจักรกลในการสร้างพลังเสียงแห่งนวัตกรรมใหม่ แห่งโลกทันสมัย ฉะนั้นการศึกษาหาย้ำซึ่งเขตแดน ฐาน และรากของตน การศึกษาประวัติศาสตร์รายทางในราก และฐานอย่างจริงจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจในแง่มุมของความเลวร้ายทางประวัติศาสตร์ที่ควรแบกรับ แต่เป็นการศึกษาหาซึ่งขุมพลังอันมหาศาลทางปัญญาที่จะสามารถยอมรับ และนำไปขับเคลื่อน ชี้นำ ทิศทางให้แก่สังคมได้อย่างมีแก่นสาร   

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร,ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๑, พิมพ์เป็นงานอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสมาน ทะเบียนกิจ           (น้อม สัจจะเวทะ), วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕, โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ กรุงเทพฯ, ๒๕๑๕.
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ประชุมจารึกภาคที่ ๘    สุโขทัย, จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี วันที่ ๑๘ ตุลาคม       พุทธศักราช ๒๕๔๗, พิมพ์ครั้งแรก, กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่,พิมพ์ที่อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิช             ชิ่ง จำกัด มหาชน, ๒๕๔๘.
คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน, ไตรถูมิกถา ฉบับถอดความ, คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรม    และสารสนเทศ พ.ศ. ๒๕๒๘, พิมพ์ครั้งแรก, อมรินทร์การพิมพ์, กรุงเทพฯ, ๒๕๒๘.
จันทร์จิรายุ รัชนี, หม่อมเจ้า, ใครปลอมศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง?, ศิลปวัฒรธรรมฉบับพิเศษ, จัดพิมพ์เป็น   ที่ระลึก เนื่องในศุภวาระที่ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ทรงมีพระชันษาครบ ๘๐ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม                ๒๕๓๓, พิมพ์ที่โรงพิมพ์พิฆเณศ, กรุงเทพฯ, ๒๕๓๓.
ดี. จี. อี. ฮอลล์, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร เล่ม ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๓,        จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๙.
ไมเคิล ไรท, ฝรั่งคลั่งผี, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ,  พิมพ์ครั้งแรก, สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพฯ, ๒๕๕๐.
สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงสุโขทัยมาจากไหน?, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ, พิมพ์ครั้งแรก, สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพฯ ๒๕๔๘.
สุจิตต์ วงษ์เทศ, ร้องรำทำเพลง:ดนตรีและนาฎศิลป์ชาวสยาม, พิมพ์ครั้งที่ ๒, บริษัทพิฆเณศ พริ้นติ้ง เซนเตอร์         จำกัด, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๒.


วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

JAZZ MUSIC แบบเบลอ เบลอ วัยรุ่นแซป....

JAZZ MUSIC 
And America Music introduction



                แจ๊สคือการ ผสมผสานกับ วัฒนธรรมของคนผิวดำ ที่เมือง นิวออร์ลีน ทางใต้ของอเมริกา หลุยเซียอะน่ามาตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งเศษ เช่นนิวออร์ลีน ก็อาจเอามาจาก ออลีออง หรือนิวออร์เลียน พัฒนาการของดนตรีแจ๊ส อาจมีก่อนหน้ามาจากดนตรีบลูด้วยซ้ำไป

                สไตส์ดนตรีแบบต่างๆ นั้น อาจพูดถึงในแง่ที่ว่า เสียง สไตส์ ปัจจัย สังคม ผู้คน เช่นสภาพแวดล้อมของบลู เช่น เล่นเพื่ออะไร และดับความสามารถเทคโนโลยีต่างๆ ถ้ามองมาทางดนตรีคลาสสิค ที่มีรากเหง้ามายาวนาน เสียงที่สัมพันธ์กับยุคทางดนตรี อาจเกิดจากความหวาดกลัว เช่นกลัวผี มาผสานกับองค์ความรู้ที่เข้ามาผสานอยู่ เช่นในยุคของบาโรค เช่นเสียงที่ง่ายๆ จนผู้คนพัฒนามากกว่าหนึ่งเสียง เกิดการพัฒนาทางด้านองค์ความรู้ 

                เกิดเสียงที่ผสานใหม่ๆ เช่น I- VI- V เป็นต้น Monophonic สองเสียง Chord เริ่มต้นด้วยง่ายๆ แล้วไปยากๆ ทางใต้ของอเมริกา คนงานทำงานเป็นทาส และอยากจะมีวัฒนธรรมความบันเทิง เพื่อร้องรำทำเพลงให้ผ่อนคลาย เริ่มด้วยบลู เพื่อการผ่อนคลายความเครียด ในการเล่นดนตรีมีความรู้ขนาดไหนก็เอามาเล่นดนตรี  กำเนิด ปลาย ศ. 18 ต้น ศ. 19 เครื่องเคาะจะเข้ามามากกว่าของเดิม เน้นทางด้านจังหวะจักโคนที่สนุกสนาน ในรูปแบบจังหวะที่แปลกและต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นพื้นฐานก็ยังเหมือนเดิม แต่เกิดการนำไปใช้ที่ต่างกัน ในการวิเคราะห์เชิงดนตรีมีเรื่องที่จะทำการวิเคราะห์ คือ 1.Harmony   2.Rhythm  3.Melody

                เพราะฉะนั้น Chord จึงมีความสำคัญมากในการแสดงสำเนียงของ ประเภทของดนตรี ที่แสดงออกมาทางจังหวะ และการประสานเสียง บนทำนองที่นำมาทามเป็นวัตถุดิบในการผลิตดนตรี ดนตรีมีมาเพื่อตอบสนองความบันเทิงของคน เพราะฉะนั้นก็สบายๆๆๆๆ ซิวๆ เน้นฝีมือของความสด มากกว่า Composition เพราะฉะนั้นดนตรีของบลู เพื่อตอบสนองในเรื่องของการแสดง สดๆ สนุกๆ รูปแบบก็ค่อนข้างจำกัด รูปแบบท่วงทำนองก็ เกิดการ Revolution จากเดิม มากกว่าการจะคิดทำนองขึ้นมาใหม่ 

                Improvisation คือ การด้นสด หรือ การแต่งทำนองขึ้นมาสดๆ แล้วพัฒนามาถึงตอนต้นของดนตรี แจ๊ส Dixieland Jazz คือพวกดินแดนทางใต้ของอเมริกา อาจเกิดจากความเบื่อทางดนตรี ระหว่าง Blue Jazz แตกต่างกันที่? คนในยุคของ แจ๊สในยุคเริ่มแรกมีองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นมาจากเดิม เริ่มมีตัวเลข คอร์ดที่ มากกว่าเดิม Many Chord ฉากหลังที่เพิ่มขึ้นมาตระการตา เกิดการหาความรู้ใหม่ที่จะใช้ในการด้นของดนตรีแจ๊ส  ในเรื่องของเสียงประสาน และทำนอง  จังหวะที่เข้ามาในเรื่องของกลองที่เข้ามา เช่นกลองที่เพิ่มขึ้นมา จากกลองเดิม การเล่นส่วนใหญ่ เล่นเพื่อเดิน จึงไม่มีอะไรที่แบกไม่ไหว แต่กลองชิ้นๆๆ เริ่มเข้ามามีบทบาท เพื่อการเดิน (อ.แอบปากคอเราะร้าย)  Sousaphone งูเหลือม อาจใช้สลับกับ ทูบ้า ลักษณะดนตรีเพื่อการเดิน Marching ที่แปลกๆ ไปจากเดิม

                    เพราะฉะนั้นสิ่งที่เสียงส่วนใหญ่ ก็คือพวกกลอง  พอเริ่มเข้ามาสู่ช่วงของกลองชุดแล้ว ยังมีกลิ่นไอของสะแนร์ เบาบาง เดิมคงเลียนแบบมาจากทูบ้า ในเรื่องของเบสที่ต้องใช้คนเป่าได้  พอหลังจากกลองชุดเข้ามา เกิดการเรียนรู้ที่จะใช้วัตถุดิบ เช่นฉาบ และเกิดการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ Chord Tone เสียงใน Chord  Collective Improvisation (ส่วนใหญ่อยู่ตรงท้ายเพลง)คือการเล่น Solo ในยุคแรกๆ ทุกคนก็นินทากันว่าตอนแรกก็เล่นไม่เหมือนกัน และสุดท้ายก็ลงจบพร้อมกัน ดูคล้ายลักษณะของดนตรีไทยเชนกัน มีเดี่ยวเรื่องดนตรี เช่น เดียวกลอง ดังเช่นงานของครูบุญยงค์ เกตุคง ในช่วงหลังของ ร.๗ การโยนคือ การเล่นใส่ทำนองของเพลงพม่าห้าท่อน คือการเอาอะไรยัดใส่ข้างใน เช่นเพลงทะยอยนอกเช่นกัน แล้วอาจเอาชวามาใส่ ระบบห้าเสียงที่แตกต่างกันออกไป เช่น ไทย ชวา(ชุนดร้า) ญี่ปุ่น และจีน เพราะฉะนั้นเพลงจีนที่ร้องมาโดนบีบคีย์ เลยต้องเปลี่ยนเสียงลงออกมาจากเดิม 

                การ Improvisation เกิดการเริ่มต้นของ Structure – Intro- ฯลฯ  Chord อาจเหมือนกัน แต่ทำนองแตกต่างกันไป เล่นตามรอบที่แตกต่างกัน โดยการมาตามรอบ และปิดท้ายด้วยทำนองออก และท่อนจบ ลูกจบ การเล่นทำนองขอเข้าเรียกว่า Head ออก และเข้า In and Out ตรงกลางจะเป็น Solo ก็แล้วแต่ 

                Dixieland  1.Melody 2.Improvisation 3.Collectative Improvisation คือ การเล่นไปคนละทางสองทาง 4.Drump Solo มีเพลงตัวอย่างคือ Them “Fate” Waller ทำนองได้รับการแต่งมา เดี่ยวได้ตามใจคิด และมี Ending ท่อนจบ มีตัวลง เช่น Piano แล้วค่อยจบพร้อมกัน ต้องนับจังหวะให้ได้นะคร้าไม่อย่างนั้นจะ จบไม่ได้ นับเป็นจังหวะที่เป็นชุด

                หลังจากนั้นก็เกิดความเบื่อ คือ การมั่วขึ้นมา Collective คือการเล่นพร้อมกันโดยไม่มีอะไรเตรียมมาเลย ก็เลยมีคนที่พยายามที่จะจัดระเบียบมันขึ้นมา 1937-1943 เกิดดนตรี Swing Big Band ลดการมั่วลงไป และเปลี่ยนการต่างคนต่างคิด แต่คิดมา โดยมีคนๆหนึ่งเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน ที่ได้เสียงที่กลมกลืนออกมา และยุคนี้อาจจะบ้าความคิดขึ้นมาหน่อย เพิ่ม Composition ลด Impovisation ลง เกิดการจัดระเบียบขึ้น เกิดการนัวเนีย แต่น้อยลงกว่าเดิมส่วนอันที่เหลือก็คือ ท่อน Solo ที่แต่งขึ้นมาล่วงหน้า เพราะฉะนั้นทุกคนเล่นมาจากโน้ตไม่ใช่หัว ตอนจบก้มีท่อนที่แต่งขึ้นมาแต่มาทั้งวง กำหนดไปเลย เรียกว่า Interlude หรือ Tutti อิอิ อาจแทรกการแต่งขึ้นมาใหม่ ที่เก๋ นิดๆ 

                จากนั้นก็ออกมาจาก นิวออร์ลีน ไปต่างบ้านต่างเมือง เพราะฉะนั้นดนตรีเข้ามาในกลุ่มของคนมีสะตางค์ เพราะการจะเอาดนตรีเข้ามาเล่น ต้องมีนักดนตรี และคนแต่ง เอามาเต้นรำกัน สนุกสนาน เริด เช่นงานบอลลูม งานหรู ใส่สูตรมางาน เพราะฉะนั้นก็จะกำเนิดขึ้นมาเพื่อความไฮโซ มาสู่ดนตรี Big Band เกิดพัฒนาการของ Harmony เพราะฉะนั้นโน้ต จะออกมาเป็นสี ขาว สีดำ BB ยุคของปัญญชนเข้ามามีบทบาทในดนตรี Jazz สีดำเริ่มเยอะขึ้น เกิดความยุ่ง All of me อิอิ ยุ่งวุ่นวาย แต่ไม่เละเทะ เป็นดนตรีสีเทา ทั้งดำ และขาว 

·       Advard Kennedy Ellington ยกย่องกันท่าน Duke เป็นนักเปียโน นักประพันธ์เพลง ยิ่งหญ่ายยย Count Basie เกิดจากการยกย่องของกลุ่มนักฟัง

                เกิดการเริ่มต้นที่อะไรๆๆ มานออกมาพร้อมกัน เขียนมาอย่างเห็นได้ชัดเจน  เกิดการโซโล ของเพลงการแทรกของทำนอง แล้วจบโดย ไม่บอกล่าว มีโน้ต  การเล่นของวงดนตรี จากใต้ถุนบ้าน มาเป็นห้องหรู เพราะฉะนั้นต้องนั่งอยู่กับที่และมีโน้ตกาง อย่างเป็นทางการ

                ส่วนการร้องเพลงแจ๊ส บลู นี่จะเข้าข่ายดนตรี คือ ไม่ได้คิดอะไรในเชิงเสียงประสาน และสามารถร้องออกมาสดๆ เนื้อเพลงคิดออกมาได้เรื่อยๆ และดนตรีก็อยู่ในขอบข่ายของ ดนตรีที่กำหนดมา Lick คือเลีย แบล๊บ ๆๆๆ  ทำนองที่ออกมาเป็นลูก คิดออกมาเป็นลูก มาต่อกันเรื่อยๆ 

                หลังจากนั้นยุคของแจ๊ส Louis Armstrong แล้วค่อยมาถึงการดัดแปลงทำนอง Melodic Embricment เกิดการดัดแปลงทำนอง เช่นยัย Billie Holiday การดัดแปลงที่มากและน้อย ของเพลงไปในแบบที่แตกต่างกัน  คือลักษณะที่โดดเด่นของ แจ๊ส  Scat คือการร้องที่ไม่มีเนื้อ ซุ ปิ ดู ปับ ปา ฯลฯ คือการตัดเนื้อร้องแล้วเอามาเป็นทำนอง คือการตัด เนื้อออกเหลือแต่ทำนอง ดนตรีที่ไม่มีประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ ที่ยิ่งใหญ่ ดนตรีนั้นก็ไม่น่าเชิดชู นับถือ ? 

                หลังจากยุคของ Big  Band (เยอะ อุ้ยอ้าย เยอะ ชักช้า) คือ Be Bop เกิดออกมาจากวามเบื่อ ระเบียบเยอะเกิน และไม่ได้โชว์ ปัจจัยเรื่องของเงิน โดยเฉพาะในช่วงของสงครามโลกที่ เงินหายาก จึงมีนักดนตรีกลุ่มหนึ่งออกมาปฏิวัติ ในย่านนิวยอค ถนน 52nd Street พับ บาร์ แจ๊ส อยู่แถวนั้นเยอะ Broadway ตัดแบ่งถนนออกไปตั้งแต่หัวเกาะไป ท้ายเกาะ ถนน 52 มีชื่อเสียงมากในด้านดนตรี ดนตรี 50-58 ดนตรี เงื่อนไข ของมนุษย์ 1.คนชอบโชว์  2.คนเบื่อแบบแผน 3.หัวปฏิวัติ อยากได้อะไรแปลก เกิดอะไรที่เร็วขึ้นกว่าเดิม 4.ชอบ Coppy นิดหนึ่ง คือการ Coppy ทางเดิน Chord  แล้วมาแต่งทำนองเข้าไปใหม่ เช่น เพลง Indiana, I got rhythm, All the thing you are. ทำนองทีเร็วขึ้นเยอะกว่าเดิม คือ  ร้องไม่ทัน ฮ่าๆ

                Share Parker อิอิ แย่งงานคนอื่นมาคือเพลงของ Mind David เพลง Donna Houn  เพลงจะต้องประกอบด้วย ฉากหลัง และคนที่เล่นทำนองเร็วๆ สองคน เหมือนว่าจัดเตรียมกันมาก Horn เล่นทำนองที่ ยูนิซันเรียบร้อยแล้ว คล้ายดนตรีไทย ที่มีทางฆ้องแล้วเอาระนาดมาบรรเลง โครงสร้างของเพลงก็กลับมาง่ายๆของเดิม เน้นการโชว์โดยเฉพาะ  Trad Bar คือปรากฏบ่อย และยังมี In and Out เหมือนเดิม 

                ดนตรี แจ๊สปัจจุบัน ก็มีรากฐานมาจาก Bebop คือ Jazz คือ สิ่งเดียวกัน โดยไม่คิดถึงอดีตที่ยาวนาน และวิวัฒนาการของมัน มุมมองก็ถูกปรับเปลี่ยนออกไปจากเดิม มีความสำคัญคือการ Improvisation ที่พัฒนาขึ้นมาก เกิดการพัฒนา ในเรื่องของ Scale คือการใช้ เพือการเล่น และโน้ตโครมาติกให้ไปได้เสียงที่ต้องการ โน้ตที่เยอะขึ้น ประโยคที่สั้น ไม่ยาวเฟื้อยยยยยยยยยยยยย

                ผลลัพธ์ ของดนตรี Bebop เข้ามาใช้ในปัจจุบัน อะไร เรามอง จากมุมของใคร? อะไร? เช่นในนักประวัติศาสตร์ นักดนตรี ให้ผลที่ออกมาไม่เหมือนกัน ทางดนตรีก็ให้ภาษาทางดนตรี ที่แตกต่าง 1.Scale 2. Arpecio 3.Chromatic 4.Lick และแล้วก็เกิดความเบื่อ จึงเกิดยุค Post box เกิดความแบ่งแยกทั้งความเร็ว และความแรง ความยาก และกรอบของ Solo ที่จะเล่นได้อะไรบ้าง เกิดการเบื่อ

1.เร็ว  แก้โดย เล่นช้าๆๆๆ  2.แรง  แก้โดยเบา  3. Solo ที่มีกรอบ

                หลังจากนั้นก็เกิดดนตรีมั่วๆๆขึ้นมา เพราะเดิมมีกรอบที่ชัดเจน ช้าๆแรง เกิด Hard bopมันส์ แต่ไม่จำเป็นที่ต้องมีทำนองที่เร็ว  เบาๆๆความดังเบา ของดนตรี มากกว่า ฟังดูอาจมีเสียงสามเสียง ผสานกัน แต่เด่นที่ Dinamic ที่เล่นกัน(การสร้างเสียงประสานจำพวก Horn ทำนองที่แปลกๆ รุนแรงกว่าเน้นความคึกคัก จำนวนเครื่องเป่าน้อยกว่า ) ก็เกิด Cool jazz  มันคือกึ่งๆๆ ระหว่าง Big band(มาตราฐาน 17 คนเป็นอย่างต่ำ ไม่ค่อยมีเปียโน) ความโหดร้ายไม่มี และพวกที่เล่นโดยอิสระ Three jazz อิสระ 

                Post bop ที่ออกมามั่วๆๆ แต่เรียกว่า Free Jazz ไม่มีกรอบอยู่เลย Ornette Coleman เอามาแบบแปลกๆ ฟังไม่ค่อยไหว บางครั้งก็มี Structure เหมือนกัน  เกิดการนัวเนียพันธ์ุแท้  ต่อมาสิ่งที่เหลือมาก Chord ที่เปลี่ยนแปลง จากยุค Dixieland, Bid Band ก็พัฒนาเข้ามามาก แบบกึ่งแจ๊ส และคลาสสิค พัฒนามาเป็นการฟังมากยิ่งขึ้น เช่นยัย Maria Schneider มีการปรับเปลี่ยน เช่นการเอาแบบโรแมนต์ เข้ามายุ่งด้วย โดยเอาเสียงคนมาร้องเข้ากับวงใหญ่ การค่อยๆๆปรากฏ ของวงใหญ่ บิ๊กแบรนด์ มากยิ่งขึ้น นี่คือทิศทางของเพลงสมัยใหม่  Odd meter เกิดจังหวะที่แปลกๆ หนีจาก ¾ , 4/4  ที่แปลกๆๆไป คือจังหวะ 7 สลับกับ 6และในที่สุดก็มั่วอย่างงดงาม


โอ๊ะๆๆๆๆๆๆ ขอทูลลา
                              

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศิลปกรรม จิตรกรรม บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับดนตรี วัดโปวินต่าวน์(Po Win Taung) ณ ดินแดนสหภาพพม่า

ศิลปกรรม จิตรกรรม บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับดนตรี วัดโปวินต่าวน์(Po Win Taung)
ณ ดินแดนสหภาพพม่า 
By Amelie Chance

(รูปที่ ๑ ภาพตราแผ่นดินประเทศพม่า)
            วัดโปวินต่าวน์ เป็นวัดที่มีลักษณะพุทธศิลป์ในความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่พัฒนาควบคู่เติมเต็มกับความเชื่อเรื่องผี เป็นลักษณะงานศิลปกรรมแบบเจาะสกัดถ้ำหินทรายกว่า ๘๐๐ คูหา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดพันถ้ำ(Thousand Temple-Shrines Carve) ในจำนวนชื่อที่บ่งบอกถึงจำนวนถ้ำอันมากมายนี้ มิได้อ้างอิงถึงเพียงจำนวนคูหาเพียงวัดอย่างเดียว ยังมีความหมายแสดงถึงงานศิลปกรรมต่างๆ รวมถึงสิ่งของมหัศจรรย์ต่างๆ มากมายนับพันด้วย 

 (รูปที่ ๒ ภาพด้านหน้าวัดโปวันต่าวน์)

วัดโปวินตาวน์ ตั้งอยู่บนสภาพภูมิศาสตร์ภูเขาไฟที่สงบจากการประทุ มานานหลายพันปี ตั้งอยู่ทางด้านทิศเยื้องตะวันตกเฉียงเหนือ ใจกลางของเมืองพม่า(อ้างอิงจากเมืองมัณฑะเลย์) หน้าที่การใช้สอยของถ้ำจำนวนมากมายนี้ ส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าใช้ในการปฏิบัติกรรมฐาน เช่นเดียวกับถ้ำตุ้นหวง สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือแม้กระทั่งถ้ำที่วัดอุโมงค์(อุโมงค์เถรจันทร์) จังหวัดเชียงใหม่ ภายถ้ำปรากฏเป็นงานศิลปกรรมร่วมสมัยเริ่มระบุอายุชัดเจนในช่วงระหว่างยุคสมัยของพระเจ้าอังวะ คือปลายศตวรรษที่ ๑๙ ถึงกลางศตวรรษที่ ๒๑ ลากผ่านช่วงล่าอาณานิคม ๒๕ ปีหลังของศตวรรษที่ ๒๓ ถึงกลางศตวรรษที่ ๒๔ จวบจนถึงปัจจุบัน

(รูปที่ ๓ ภายในถ้ำวัดโปวันต่าวน์)

            สืบเค้าประวัติศาสตร์ของวัดเริ่มต้นปรากฏหลักฐานจากประวัติศาสตร์บ้านเมืองสมัยอาณาจักรอังวะ ช่วงคู่ขนานสืบต่อเปลี่ยนอำนาจจากสมัยอาณาจักรพุกาม(ศตวรรษที่ ๑๙) หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม พม่าก็ได้แตกแยกออกจากกันอีกครั้ง ราชวงศ์อังวะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองจากอาณาจักรพุกามตอนปลาย กรุงอังวะ(นามบาลีว่า รัตนปุระ) สถาปนาโดยพระเจ้าทาโดมินพญา ในปีพุทธศักราช ๑๙๐๗ รับช่วงต่องานศิลปกรรมวรรณกรรมจากพุกาม และได้รับการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการจนถึงขีดสุด จนยุคนี้กลายเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรมของพม่า และด้วยพระประสงค์ของพระองค์ที่จะทำให้เมืองอังวะยิ่งใหญ่สืบต่อจากกรุงพุกามให้จงได้

พระองค์ทรงกำหนดตัวบทและข้อบังคับใช้ พร้อมทั้งพยายามปรับปรุงคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์ แต่เนื่องด้วยอาณาเขตที่ยากจะป้องกันการรุกรานของศัตรู เมืองอังวะจึงถูกชาวไทใหญ่ หรือไทยเมา อันมี สอพวา แห่งแคว้นโยนมิน นำทัพเริ่มเข้ายึดป้อมชายแดน และล่องเรือขึ้นลงลุ่มแม่น้ำอิระวดีตามใจชอบก่อนที่จะเข้ามาปล้นอังวะอีกเสียยับเยิน ครั้งนั้นเกิดการสู้รบใหญ่จนพระเจ้ากรุงอังวะสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช ๒๐๗๐ จากนั้นเจ้าไทยใหญ่ โสหันพวา ผู้เป็นโอรสของสอพวาแห่งแคว้นโยมินก็ขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้ากรุงอังวะต่อมา และแต่งตั้งเมืองนี้ให้เป็นเมืองหลวงของไทยใหญ่แทน

เริ่มรัชสมัยแห่งการปราบปรามพม่า พระองค์ทรงเริ่มทำลายวัด และยึดเอาทรัพย์สินมีค่าต่างๆ มาเป็นของส่วนพระองค์ ทรงมีรับสั่งให้พระสงฆ์พม่าเข้ามาในพระราชวัง แล้วจับพระสงฆ์พวกนั้นเผาเสียทั้งเป็น พร้อมทำลายห้องสมุด ตำรา คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเสียจนสิ้น เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ชาวเมืองอพยพหลบหนีมาอยู่ที่เมืองตองอู  เมื่อกรุงอังวะเสื่อมลง กรุงยะไข่ กับกรุงพะโคก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นแทน แต่ที่เมืองพะโคพระราชวงศ์กลับรุ่งเรืองขึ้น จากการที่พระนางเชงสอบู ขึ้นมาเป็นราชินี ภายหลังจากที่พระสวามีพระเจ้ากรุงอังวะถูกปลงพระชนม์สิ้น จากการที่พระนางเป็นสตรีที่ไม่ได้งดงามดั่งราชินีไทยใหญ่ทั้งหลาย กษัตริย์อังวะพระองค์ต่อๆ มาจึงหาได้โปรดปรานปรารถนาจะอภิเษกกับพระนาง ซึ่งก็เป็นจุดเปลี่ยนให้พระนางหันมาสนใจศึกษาพระไตรปิฎกแทน จนต่อมาได้รับอนุญาตให้พระภิกษุมอญสองรูปมาถวายพระอักษร จากหลักฐานปรากฏว่าพระภิกษุสองรูปนั้นมาศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งหนึ่งในกรุงอังวะ(บริเวณพื้นที่วัดโปวินต่าวน์) 

 (รูปที่ ๔ ถ้ำภายในวัดโปวันต่าวน์)

ต่อมาพระทั้งสองรูปนี้ได้ร่วมมือกันขโมยเรือ พร้อมลักพาตัว พระเชงสอบู ล่องติดตามคณะผู้ลี้ภัยจนถึงเมืองพะโคอย่างปลอดภัย จากความที่เป็นคนพระทัยเย็น เฉลียวฉลาด สามารถไกล่เกลี่ยเรื่องราวระหว่างพระเชษฐาและภาคิไนยของตนได้ ซึ่งก็ส่งผลให้พระนางครองอำนาจอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ตลอด ต่อมาพระนางก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เสียเอง ด้วยความทะเยอะทะยานส่วนพระองค์ที่ต้องการให้เมืองพะโคเป็นศูนย์กลางทางการค้า และพระพุทธศาสนาดั่งเช่นพุกามในอดีต และยังทรงเป็นใจกับปัญหากรุงอังวะที่กำลังอ่อนแอลงทุกช่วงขณะ จึงทรงหยิบยื่นความช่วยเหลือสนับสนุนพระเจ้าอังวะให้พยายามที่จะชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ และภารกิจดังกล่าวก็ไม่ง่ายเลยเพราะอิทธิพลของพระสงฆ์นิกายอรัญวาสียังมีมาก ภิกษุเที่ยวเร่ไม่ประจำที่วัดเป็นกิจถาวร ส่วนพวกไทยใหญ่ก็นิยมความเชื่อเรื่องผี และไสยศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ใน พ.ศ. ๒๐๑๑ พระเจ้าแผ่นดินไทย(สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงส่งพระสงฆ์พม่าในนิกายอรัญวาสีไปแก้แค้นพระเจ้ากรุงเชียงใหม่(พระเจ้าติโลกราช) ด้วยก่อการจลด้วยวิธีจลาจลวุ่นวายด้วยพิธีทางไสยศาสตร์ สุดท้ายเมื่อความแตกพระสงฆ์คณะนั้นก็ถูกพระเจ้าเชียงใหม่จับถ่วงน้ำตายตามกันไป

เมื่อข่าวลือการชู้รักพายเรือหนี ระหว่างพระนางกับพระสองรูป ข่าวกอสซิปในลักษณะชู้รักพายเรือก็เกิดพร้อมแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ต่อมาพระนางจึงจัดให้มีการใส่บิณฑบาตรพระอาจารย์ทั้งสองรูปสยบข่าวลือ คือ พระธรรมเจดีย์ และพระธรรมปาละ พระธรรมเจดีย์เผอิญเลือกได้บาตรที่ใส่เครื่องราชอิสริยยศ ได้รับเลือกแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ จึงต้องสึกเพื่ออภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระราชินีเชงสอบู และรับราชบัลลังก์(พระทั้งสองจึงเป็นตัวละครที่มีชีวิตชีวาในนิยาย และนิทานประวัติศาสตร์พื้นเมืองต่อมาจนถึงปัจจุบัน)
สำหรับดินแดนทางใต้นี้ชาวมอญได้สถาปนาอาณาจักรของพวกตนขึ้นใหม่อีกครั้งที่เมืองพะโค โดยกษัตริย์ธรรมเจดีย์ผู้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา(ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๑๕๒๐๓๕) เป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของมอญ(ไม่นาน) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาท ดังจะเห็นได้จากการสมทบทุนสร้างมหาเจดีย์ชเวดากอง รวมถึงการใช้พุทธอำนาจในการรวบรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้สำเร็จ พร้อมทั้งทรงส่งทูตไปพุทธคยาดังเช่นพระเจ้าครรชิตเคยทรงปฏิบัติมาก่อน และกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ใน เวลาต่อมา(หม่องทินอ่อง, ประวัติศาสตร์พม่า, ๒๕๔๘ : ๘๕-๑๐๑.)

 จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่ปรากฏในเขตพื้นที่เดียวกับโบราณสถาน วัดโปวินต่าวน์ พบระฆังทองเหลืองที่ถูกหล่อขึ้นตามจารึกในปีจุลศักราชที่ ๖๖๖ คือพุทธศักราชที่ ๑๘๔๗ แล้วก็ผ่านการจารึกอีกครั้งในอีก ๑๕ บรรทัดต่อมา เมื่อปีพุทธศักราชที่ ๒๒๗๑ และหลักฐานศิลาจารึกวัด Kunzindain จารึกในปีพุทธศักราช ๒๒๗๗ เป็นต้น(Anne-MayChew, The Cave-temple of Po Win Taung, Central Burma Architecture, Scupture and Murals, ๒๐๐๕) สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นมิติทางประวัติศาสตร์ว่าวัดโปวินต่าวน์ยังเป็นที่สังสรรค์ของพุทธศาสนิกชน และผู้เลื่อมใสในผีนัตตลอดมา ตั้งแต่ยุคสมัยของกรุงอังวะ ถึงมัณฑะเลย์ 

                          (รูปที่ ๕ ภาพลายเส้น วัดโปวันต่าวน์ที่แสดงถึงคติจักรวาล)
จากคติความเชื่อในการสร้างวัด สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลแนวคิดเรื่องคติจักรวาลเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยจะเห็นได้จากการสกัดหน้าผาเป็นรูปเขาพระสุเมรุทั้ง ๗ ถัดขึ้นไปเป็นต้นศรีมหาโพธิ์ ปราสาทพระอินทร์(ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นปราสาทของเจ้าผีนัต ที่ดูแลรักษาโบราณสถานแห่งนี้) และพระธาตุจุฬามณี ซึ่งข้างหลังภาพที่ได้สมมุติให้ช่องคูหารายเรียงนั้น เปรียบเสมือนที่อยู่ของพรหม(ปัจเจกพุทธ) และอดีตพุทธรายเรียงตามคติไตรภูมิ ซึ่งทั้งหมดก็ประทับอยู่ในเบื้องล่างของพุทธอำนาจอีกที ผสานผสมลงตัวกับความเชื่อเรื่องผีนัต(ผีพระโพธิสัตว์ มีทั้งหมด ๓๗ ตน) ซึ่งจะเห็นได้จากสัญลักษณ์รูปปั้นรวมถึงแท่นบูชาภายในบริเวณวัด(ขิ่น เมี้ยว ชิด, หลากรสเรื่อง เมืองพม่า, ๒๕๔๕:๙๓.)

 (ภาพที่ ๖ ธรรมมิกราช ผู้ทรงเป็นอุปถัมภ์ และอดีตพุทธทั้ง ๒๘ พระองค์)

วัดโปวินต่าวน์ ถือว่าเป็นวัดที่ถูกลืมในหน้าประวัติศาสตร์พม่า เนื่องจากนักวิชาการพากันคิดว่าสถานที่นี้เป็นแค่ค่ายพักแรมอาศัยของพระสงฆ์ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน โดยมิได้เหลือบแล มิติมุมมองทางด้านพุทธศิลป์อันทรงคุณค่า จนกระทั่งเมื่อสิบปีที่ผ่านมานี้ ปรากฏนักวิชาการได้เล็งเห็นความสำคัญอันสามารถนำองค์ความรู้นั้นมาต่อเติมเต็มแด่หน้าประวัติศาสตร์พม่า และอุษาอาคเนย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบลึกล้ำ ภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าถึงพุทธประวัติ โดยมีคำบรรยายบอกเล่าเรื่องราวของภาพอย่างย่อด้านล่างของภาพจิตรกรรม โดยเฉพาะปรากฏเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ในหน้าที่รับใช้พระพุทธศาสนา บริบทที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ และวิถีชีวิตในราชสำนัก ของชนชั้นสูง 

 (รูปที่ ๗ พระนางยโสธรา และโอรส ในราชฐานชั้นใน มีนางในขับกล่อมบรรเลงดนตรี)
ภาพพุทธศิลป์ปรากฏหลักฐานชิ้นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับดนตรีในราชสำนักพม่า โดยเฉพาะวงดนตรีที่บรรเลงอยู่ฝ่ายใน จินฺนเมฬมฺ หรือ ทาสอาฏฏม  ดนตรีวงเล็ก หรือการบรรเลงร่ายรำของนางทาสี เพราะเรื่องราวพุทธประวัติสันนิษฐานว่าได้แผ่ขยายเข้ามาจากจีน และอินเดีย โดยทั่วไปแล้วนางทาสีอาจจะเป็นหญิงผู้ใดที่ถวายตัวเป็น สนม ของกษัตริย์ หรืออาจจะเป็นหญิงเชลยศึกที่ถูกถวายโดยเลือกไม่ได้ แต่โดยส่วนมากจะเป็นหญิงในวรรณะ เมฬกฺการนฺ (นักดนตรี) ที่สมัครเลือกอาชีพเป็นเทพทาสี ในเรื่องของอาชีพนักดนตรี เมฬกฺการนฺนั้นสามารถแบ่งออกเป็น ๒ สาขา คือ
๑.     เปริยเมฬ ดนตรีวงใหญ่ มีปี่ แตร เป็นเครื่องหลัก มีชาย(เทวดา) หรือ ชาวบ้าน เป็นนักรำ และใช้ในการแห่นอกประการัม(กำแพงเทวสถาน)
๒.     จินฺนเมฬมฺ ดนตรีวงเล็ก มีพิณเป็นเครื่องหลัก มีหญิง(นางฟ้า)เป็นนักรำ และใช้แสดงกันหน้ากษัตริย์ภายในพระราชฐานชั้นใน

 (รูปที่ ๘ ชาวบ้านบรรเลงปี่พาทย์ ประโคมในงานเฉลิมฉลอง ในทศชาติชาดก)

            เกี่ยวกับศิลปะดนตรี การแสดง ที่ปรากฏภายในถ้ำได้แยกออกเป็นประเภทของการบรรเลง ใน กับ นอก โดยกำหนดวัง หรือเขตแดนรั้ว เป็นหลัก แต่ก่อนที่จะมีหลักฐานเกี่ยวกับเทพทาสี(ประมาณต้นๆ คริสตกาล) ทั้งนี้ได้อ้างอิงกวีนิพนธ์ทมิฬที่ได้แยกเรื่องในและนอกกำแพงออกเป็น ๒ ประเภท คือ   
๑. อกมฺ(ภายใน) หมายถึงความรู้สึกเช่น ความรักที่เกิดขึ้นในหัวใจ(และในวัง) ดังที่ปรากฏบนงานจิตรกรรม ในรูปแบบของเครื่องมือ พิณ ซอ และแคน บรรเลงในเขตราชฐาน ราชวังของเจ้าชายสิทธัตถะ การแสดงความรักที่พระเจ้า
สุทโธทนะ แสดงความรัก ความไม่ประสงค์ให้
เจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวช และปริวิตกต่อคำทำนายของพราหมณ์ จึงสร้างโลกแห่งความรัก การเสพย์ เสวยสุข อันมีปราสาท ๓ ฤดู ที่เพียบพร้อมด้วยนางใน เสียงดนตรี และความรื่นเริง ด้วยเป็นต้น

 (ภาพที่ ๙ เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเสวยสุขในปราสาท ๓ ฤดู)

๒. ปุรมฺ(ภายนอก) หมายถึงวีรกรรมที่เกิดนอกตัว(นอกวัง) เช่นในสมรภูมิ ดังที่ปรากฏภาพจิตรกรรม ในรูปแบบการเป่าสังข์ ที่เป่าโดยเทวดาอันแสดงถึงการมีชัยชนะเหนือกิเลสทั้งปวงของพระพุทธเจ้า ภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่ช่วงหลังจากทรงตรัสรู้แล้วจะเป็นหน้าที่ของเทวดา และนัต บรรเลงดนตรีเพื่อประโคมในพระพุทธคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า(ไมเคิล ไรท, ฝรั่งคลั่งผี, ๒๕๕๐)

จากหลักฐาน ความหมายดังกล่าวเราอาจจะกำหนดได้ว่านางเทพทาสี มีหน้าที่ปรนนิบัติพระมหากษัตริย์ อันมี พิณพม่า เครื่องสี ลักษณะคล้ายซอ และเครื่องเป่าที่มีลักษณะคล้ายแคน บรรเลงในปราสาทของเจ้าชายสิทธัตถะ ฉะนั้น ศาสนา ดนตรี และการแสดง จึงเป็นอีกพันธนาการที่ผูกมัดชาวพม่าให้เข้าถึงศูนย์รวมแห่งพระพุทธศาสนาที่ยังคงสืบกต่อมาแต่ครั้งยุคสมัยของพระธรรมเจดีย์ ถึงแม้ว่าวัดนี้จะผ่านการบูรณะอยู่เรื่อยมา แต่หลักฐานที่ปรากฏก็ยังถือเป็นอีกข้อมูลชิ้นสำคัญที่แสดงถึงมิติของเวลา ความร่วมสมัยของงานศิลปกรรม ซึ่งในจำนวนถ้ำทั้งหมดนี้ แสดงงานพุทธศิลป์ในช่วงต่างๆ ที่เป็นรอยต่อของประวัติศาสตร์ โดยสามารถจำแนกออกเป็นศิลปะแบบอังวะ ร้อยละ ๒๐ มัณฑะเลย์ ร้อยละ ๖๐ และศิลปะร่วมสมัยในยุคอาณานิคมอีกร้อยละ ๒๐ ส่วนงานพุทธศิลป์ที่ปรากฏบนเสาค้ำยันถ้ำ ปรากฏเป็นศิลปะแบบอังวะเกือบร้อยละ ๙๕ และอีก ร้อยละ ๕ เป็นศิลปะแบบมัณฑะเลย์(Anne-MayChew, The Cave-temple of Po Win Taung, Central Burma Architecture, Scupture and Murals, ๒๐๐๕) 

 (ภาพที่ ๑๐ ทรงเสวยวิมุตติสุข ๗ วัน)
(ภาพที่ ๑๑ เทวดาแห่ประโคม เป่าสังข์ กินรีฟ้อนรำ)

เรื่องราวดังกล่าวยังปรากฏตกทอด บอกเล่า ในรูปแบบของการแสดง ซะ-ปวย ตอนพระโพธิสัตว์จุติลงมาเกิด เป็นเรื่องราวบอกเล่าถึงเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในศากยวงศ์ รวมถึงเรื่องราวของทศชาติชาดก การแสดง ซะ-ปวย เป็นการแสดงที่สนุกสนาน และยังได้รับความนิยมจนมาถึงปัจจุบัน  ต่อมาทางการพม่าถือว่า ซะ-ปวย เป็นสถาบันแห่งชาติสถาบันหนึ่ง เป็นการศึกษาของปวงชน และเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรม
การแสดง ซะ-ปวย นี้ได้รวบรวมเกล็ดประวัติศาสตร์อันมีนิทานพื้นบ้าน เรื่องราวในชาดก ข้อคิดต่างๆ ของชาวพุทธ และคุณธรรมในสังคมอุดมคติ ที่ผสมผสานผ่านดนตรี เสียงเพลง การขับร้อง เล่าลำนำ และการร่ายรำ ซึ่งกฎได้สื่อสารอย่างมีพลัง และอำนาจไปยังประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด(ขิ่น เมี้ยว ชิด, หลากรสเรื่อง เมืองพม่า, ๒๕๔๕:๒๖๘.) จากหลักธรรมคำสอนที่ซ่อนในรูปแบบการแสดงยังเป็นเสมือนหยาดทิพย์ที่หล่อเลี้ยงชีวิต จิตใจของชาวพม่า ซึ่งถ้าขาดสิ่งนี้เสียแล้ว ชาวพม่าคงจะไม่สามารถมีชีวิตยืนยง รอดผ่านการทะเลาะเบาะแว้งของชนเผ่าต่างๆ ภายในประเทศ การเมือง ศึกสงครามหลายครั้งหลายครา รวมทั้งการบุกยึดครองของชาติประเทศ จนลืมไปเลยเลยว่าตนก็มีโบราณสถานอันทรงคุณค่ายิ่งอย่างวัดโปวินต่าวน์ ได้ก็เป็นแน่แท้



เอกสารอ้างอิง
กรมพระนราธิปพระพันธ์พงศ์, พระนิพนธ์, พระราชพงศาวดารพม่า, พิมพ์ครั้งที่ ๒, จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ศรีปัญญา,    
            ๒๕๕๐
: นนทบุรี.
ขิ่น เมี้ยว ชิด, หลากรสเรื่อง เมืองพม่า, แปลโดย กอม คลายานนท์, พิมพ์ครั้งแรก โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 
            ดำเนินการผลิตโดย บริษัท ดรีม แคชเชอร์ กราฟฟิค จำกัด, ๒๕๔๕
: กรุงเทพฯ.
ดี.จี.อี. ฮอลล์, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร เล่ม ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๓, จัดพิมพ์
            โดย มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมและมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๙
: กรุงเทพฯ.
หม่องทินอ่อง, ประวัติศาสตร์พม่า, แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร, พิมพ์ครั้งที่ ๒ แก้ไขปรับปรุง, จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโตโยต้าประเทศ
            ไทย, พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘
: กรุงเทพฯ.

เอกสารอ้างอิงต่างประเทศ
Anne-May Chew, The Cave-temple of Po Win Taung, Central Burma Architecture, Scupture and Murals,
           
White Lotus Co., Ltd, ๒๐๐๕ : Bangkok Thailand.