อยู่นี่แล้ว


วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศิลปกรรม จิตรกรรม บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับดนตรี วัดโปวินต่าวน์(Po Win Taung) ณ ดินแดนสหภาพพม่า

ศิลปกรรม จิตรกรรม บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับดนตรี วัดโปวินต่าวน์(Po Win Taung)
ณ ดินแดนสหภาพพม่า 
By Amelie Chance

(รูปที่ ๑ ภาพตราแผ่นดินประเทศพม่า)
            วัดโปวินต่าวน์ เป็นวัดที่มีลักษณะพุทธศิลป์ในความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่พัฒนาควบคู่เติมเต็มกับความเชื่อเรื่องผี เป็นลักษณะงานศิลปกรรมแบบเจาะสกัดถ้ำหินทรายกว่า ๘๐๐ คูหา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดพันถ้ำ(Thousand Temple-Shrines Carve) ในจำนวนชื่อที่บ่งบอกถึงจำนวนถ้ำอันมากมายนี้ มิได้อ้างอิงถึงเพียงจำนวนคูหาเพียงวัดอย่างเดียว ยังมีความหมายแสดงถึงงานศิลปกรรมต่างๆ รวมถึงสิ่งของมหัศจรรย์ต่างๆ มากมายนับพันด้วย 

 (รูปที่ ๒ ภาพด้านหน้าวัดโปวันต่าวน์)

วัดโปวินตาวน์ ตั้งอยู่บนสภาพภูมิศาสตร์ภูเขาไฟที่สงบจากการประทุ มานานหลายพันปี ตั้งอยู่ทางด้านทิศเยื้องตะวันตกเฉียงเหนือ ใจกลางของเมืองพม่า(อ้างอิงจากเมืองมัณฑะเลย์) หน้าที่การใช้สอยของถ้ำจำนวนมากมายนี้ ส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าใช้ในการปฏิบัติกรรมฐาน เช่นเดียวกับถ้ำตุ้นหวง สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือแม้กระทั่งถ้ำที่วัดอุโมงค์(อุโมงค์เถรจันทร์) จังหวัดเชียงใหม่ ภายถ้ำปรากฏเป็นงานศิลปกรรมร่วมสมัยเริ่มระบุอายุชัดเจนในช่วงระหว่างยุคสมัยของพระเจ้าอังวะ คือปลายศตวรรษที่ ๑๙ ถึงกลางศตวรรษที่ ๒๑ ลากผ่านช่วงล่าอาณานิคม ๒๕ ปีหลังของศตวรรษที่ ๒๓ ถึงกลางศตวรรษที่ ๒๔ จวบจนถึงปัจจุบัน

(รูปที่ ๓ ภายในถ้ำวัดโปวันต่าวน์)

            สืบเค้าประวัติศาสตร์ของวัดเริ่มต้นปรากฏหลักฐานจากประวัติศาสตร์บ้านเมืองสมัยอาณาจักรอังวะ ช่วงคู่ขนานสืบต่อเปลี่ยนอำนาจจากสมัยอาณาจักรพุกาม(ศตวรรษที่ ๑๙) หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม พม่าก็ได้แตกแยกออกจากกันอีกครั้ง ราชวงศ์อังวะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองจากอาณาจักรพุกามตอนปลาย กรุงอังวะ(นามบาลีว่า รัตนปุระ) สถาปนาโดยพระเจ้าทาโดมินพญา ในปีพุทธศักราช ๑๙๐๗ รับช่วงต่องานศิลปกรรมวรรณกรรมจากพุกาม และได้รับการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการจนถึงขีดสุด จนยุคนี้กลายเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรมของพม่า และด้วยพระประสงค์ของพระองค์ที่จะทำให้เมืองอังวะยิ่งใหญ่สืบต่อจากกรุงพุกามให้จงได้

พระองค์ทรงกำหนดตัวบทและข้อบังคับใช้ พร้อมทั้งพยายามปรับปรุงคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์ แต่เนื่องด้วยอาณาเขตที่ยากจะป้องกันการรุกรานของศัตรู เมืองอังวะจึงถูกชาวไทใหญ่ หรือไทยเมา อันมี สอพวา แห่งแคว้นโยนมิน นำทัพเริ่มเข้ายึดป้อมชายแดน และล่องเรือขึ้นลงลุ่มแม่น้ำอิระวดีตามใจชอบก่อนที่จะเข้ามาปล้นอังวะอีกเสียยับเยิน ครั้งนั้นเกิดการสู้รบใหญ่จนพระเจ้ากรุงอังวะสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช ๒๐๗๐ จากนั้นเจ้าไทยใหญ่ โสหันพวา ผู้เป็นโอรสของสอพวาแห่งแคว้นโยมินก็ขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้ากรุงอังวะต่อมา และแต่งตั้งเมืองนี้ให้เป็นเมืองหลวงของไทยใหญ่แทน

เริ่มรัชสมัยแห่งการปราบปรามพม่า พระองค์ทรงเริ่มทำลายวัด และยึดเอาทรัพย์สินมีค่าต่างๆ มาเป็นของส่วนพระองค์ ทรงมีรับสั่งให้พระสงฆ์พม่าเข้ามาในพระราชวัง แล้วจับพระสงฆ์พวกนั้นเผาเสียทั้งเป็น พร้อมทำลายห้องสมุด ตำรา คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเสียจนสิ้น เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ชาวเมืองอพยพหลบหนีมาอยู่ที่เมืองตองอู  เมื่อกรุงอังวะเสื่อมลง กรุงยะไข่ กับกรุงพะโคก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นแทน แต่ที่เมืองพะโคพระราชวงศ์กลับรุ่งเรืองขึ้น จากการที่พระนางเชงสอบู ขึ้นมาเป็นราชินี ภายหลังจากที่พระสวามีพระเจ้ากรุงอังวะถูกปลงพระชนม์สิ้น จากการที่พระนางเป็นสตรีที่ไม่ได้งดงามดั่งราชินีไทยใหญ่ทั้งหลาย กษัตริย์อังวะพระองค์ต่อๆ มาจึงหาได้โปรดปรานปรารถนาจะอภิเษกกับพระนาง ซึ่งก็เป็นจุดเปลี่ยนให้พระนางหันมาสนใจศึกษาพระไตรปิฎกแทน จนต่อมาได้รับอนุญาตให้พระภิกษุมอญสองรูปมาถวายพระอักษร จากหลักฐานปรากฏว่าพระภิกษุสองรูปนั้นมาศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งหนึ่งในกรุงอังวะ(บริเวณพื้นที่วัดโปวินต่าวน์) 

 (รูปที่ ๔ ถ้ำภายในวัดโปวันต่าวน์)

ต่อมาพระทั้งสองรูปนี้ได้ร่วมมือกันขโมยเรือ พร้อมลักพาตัว พระเชงสอบู ล่องติดตามคณะผู้ลี้ภัยจนถึงเมืองพะโคอย่างปลอดภัย จากความที่เป็นคนพระทัยเย็น เฉลียวฉลาด สามารถไกล่เกลี่ยเรื่องราวระหว่างพระเชษฐาและภาคิไนยของตนได้ ซึ่งก็ส่งผลให้พระนางครองอำนาจอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ตลอด ต่อมาพระนางก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เสียเอง ด้วยความทะเยอะทะยานส่วนพระองค์ที่ต้องการให้เมืองพะโคเป็นศูนย์กลางทางการค้า และพระพุทธศาสนาดั่งเช่นพุกามในอดีต และยังทรงเป็นใจกับปัญหากรุงอังวะที่กำลังอ่อนแอลงทุกช่วงขณะ จึงทรงหยิบยื่นความช่วยเหลือสนับสนุนพระเจ้าอังวะให้พยายามที่จะชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ และภารกิจดังกล่าวก็ไม่ง่ายเลยเพราะอิทธิพลของพระสงฆ์นิกายอรัญวาสียังมีมาก ภิกษุเที่ยวเร่ไม่ประจำที่วัดเป็นกิจถาวร ส่วนพวกไทยใหญ่ก็นิยมความเชื่อเรื่องผี และไสยศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ใน พ.ศ. ๒๐๑๑ พระเจ้าแผ่นดินไทย(สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงส่งพระสงฆ์พม่าในนิกายอรัญวาสีไปแก้แค้นพระเจ้ากรุงเชียงใหม่(พระเจ้าติโลกราช) ด้วยก่อการจลด้วยวิธีจลาจลวุ่นวายด้วยพิธีทางไสยศาสตร์ สุดท้ายเมื่อความแตกพระสงฆ์คณะนั้นก็ถูกพระเจ้าเชียงใหม่จับถ่วงน้ำตายตามกันไป

เมื่อข่าวลือการชู้รักพายเรือหนี ระหว่างพระนางกับพระสองรูป ข่าวกอสซิปในลักษณะชู้รักพายเรือก็เกิดพร้อมแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ต่อมาพระนางจึงจัดให้มีการใส่บิณฑบาตรพระอาจารย์ทั้งสองรูปสยบข่าวลือ คือ พระธรรมเจดีย์ และพระธรรมปาละ พระธรรมเจดีย์เผอิญเลือกได้บาตรที่ใส่เครื่องราชอิสริยยศ ได้รับเลือกแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ จึงต้องสึกเพื่ออภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระราชินีเชงสอบู และรับราชบัลลังก์(พระทั้งสองจึงเป็นตัวละครที่มีชีวิตชีวาในนิยาย และนิทานประวัติศาสตร์พื้นเมืองต่อมาจนถึงปัจจุบัน)
สำหรับดินแดนทางใต้นี้ชาวมอญได้สถาปนาอาณาจักรของพวกตนขึ้นใหม่อีกครั้งที่เมืองพะโค โดยกษัตริย์ธรรมเจดีย์ผู้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา(ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๑๕๒๐๓๕) เป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของมอญ(ไม่นาน) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาท ดังจะเห็นได้จากการสมทบทุนสร้างมหาเจดีย์ชเวดากอง รวมถึงการใช้พุทธอำนาจในการรวบรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้สำเร็จ พร้อมทั้งทรงส่งทูตไปพุทธคยาดังเช่นพระเจ้าครรชิตเคยทรงปฏิบัติมาก่อน และกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ใน เวลาต่อมา(หม่องทินอ่อง, ประวัติศาสตร์พม่า, ๒๕๔๘ : ๘๕-๑๐๑.)

 จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่ปรากฏในเขตพื้นที่เดียวกับโบราณสถาน วัดโปวินต่าวน์ พบระฆังทองเหลืองที่ถูกหล่อขึ้นตามจารึกในปีจุลศักราชที่ ๖๖๖ คือพุทธศักราชที่ ๑๘๔๗ แล้วก็ผ่านการจารึกอีกครั้งในอีก ๑๕ บรรทัดต่อมา เมื่อปีพุทธศักราชที่ ๒๒๗๑ และหลักฐานศิลาจารึกวัด Kunzindain จารึกในปีพุทธศักราช ๒๒๗๗ เป็นต้น(Anne-MayChew, The Cave-temple of Po Win Taung, Central Burma Architecture, Scupture and Murals, ๒๐๐๕) สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นมิติทางประวัติศาสตร์ว่าวัดโปวินต่าวน์ยังเป็นที่สังสรรค์ของพุทธศาสนิกชน และผู้เลื่อมใสในผีนัตตลอดมา ตั้งแต่ยุคสมัยของกรุงอังวะ ถึงมัณฑะเลย์ 

                          (รูปที่ ๕ ภาพลายเส้น วัดโปวันต่าวน์ที่แสดงถึงคติจักรวาล)
จากคติความเชื่อในการสร้างวัด สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลแนวคิดเรื่องคติจักรวาลเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยจะเห็นได้จากการสกัดหน้าผาเป็นรูปเขาพระสุเมรุทั้ง ๗ ถัดขึ้นไปเป็นต้นศรีมหาโพธิ์ ปราสาทพระอินทร์(ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นปราสาทของเจ้าผีนัต ที่ดูแลรักษาโบราณสถานแห่งนี้) และพระธาตุจุฬามณี ซึ่งข้างหลังภาพที่ได้สมมุติให้ช่องคูหารายเรียงนั้น เปรียบเสมือนที่อยู่ของพรหม(ปัจเจกพุทธ) และอดีตพุทธรายเรียงตามคติไตรภูมิ ซึ่งทั้งหมดก็ประทับอยู่ในเบื้องล่างของพุทธอำนาจอีกที ผสานผสมลงตัวกับความเชื่อเรื่องผีนัต(ผีพระโพธิสัตว์ มีทั้งหมด ๓๗ ตน) ซึ่งจะเห็นได้จากสัญลักษณ์รูปปั้นรวมถึงแท่นบูชาภายในบริเวณวัด(ขิ่น เมี้ยว ชิด, หลากรสเรื่อง เมืองพม่า, ๒๕๔๕:๙๓.)

 (ภาพที่ ๖ ธรรมมิกราช ผู้ทรงเป็นอุปถัมภ์ และอดีตพุทธทั้ง ๒๘ พระองค์)

วัดโปวินต่าวน์ ถือว่าเป็นวัดที่ถูกลืมในหน้าประวัติศาสตร์พม่า เนื่องจากนักวิชาการพากันคิดว่าสถานที่นี้เป็นแค่ค่ายพักแรมอาศัยของพระสงฆ์ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน โดยมิได้เหลือบแล มิติมุมมองทางด้านพุทธศิลป์อันทรงคุณค่า จนกระทั่งเมื่อสิบปีที่ผ่านมานี้ ปรากฏนักวิชาการได้เล็งเห็นความสำคัญอันสามารถนำองค์ความรู้นั้นมาต่อเติมเต็มแด่หน้าประวัติศาสตร์พม่า และอุษาอาคเนย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบลึกล้ำ ภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าถึงพุทธประวัติ โดยมีคำบรรยายบอกเล่าเรื่องราวของภาพอย่างย่อด้านล่างของภาพจิตรกรรม โดยเฉพาะปรากฏเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ในหน้าที่รับใช้พระพุทธศาสนา บริบทที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ และวิถีชีวิตในราชสำนัก ของชนชั้นสูง 

 (รูปที่ ๗ พระนางยโสธรา และโอรส ในราชฐานชั้นใน มีนางในขับกล่อมบรรเลงดนตรี)
ภาพพุทธศิลป์ปรากฏหลักฐานชิ้นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับดนตรีในราชสำนักพม่า โดยเฉพาะวงดนตรีที่บรรเลงอยู่ฝ่ายใน จินฺนเมฬมฺ หรือ ทาสอาฏฏม  ดนตรีวงเล็ก หรือการบรรเลงร่ายรำของนางทาสี เพราะเรื่องราวพุทธประวัติสันนิษฐานว่าได้แผ่ขยายเข้ามาจากจีน และอินเดีย โดยทั่วไปแล้วนางทาสีอาจจะเป็นหญิงผู้ใดที่ถวายตัวเป็น สนม ของกษัตริย์ หรืออาจจะเป็นหญิงเชลยศึกที่ถูกถวายโดยเลือกไม่ได้ แต่โดยส่วนมากจะเป็นหญิงในวรรณะ เมฬกฺการนฺ (นักดนตรี) ที่สมัครเลือกอาชีพเป็นเทพทาสี ในเรื่องของอาชีพนักดนตรี เมฬกฺการนฺนั้นสามารถแบ่งออกเป็น ๒ สาขา คือ
๑.     เปริยเมฬ ดนตรีวงใหญ่ มีปี่ แตร เป็นเครื่องหลัก มีชาย(เทวดา) หรือ ชาวบ้าน เป็นนักรำ และใช้ในการแห่นอกประการัม(กำแพงเทวสถาน)
๒.     จินฺนเมฬมฺ ดนตรีวงเล็ก มีพิณเป็นเครื่องหลัก มีหญิง(นางฟ้า)เป็นนักรำ และใช้แสดงกันหน้ากษัตริย์ภายในพระราชฐานชั้นใน

 (รูปที่ ๘ ชาวบ้านบรรเลงปี่พาทย์ ประโคมในงานเฉลิมฉลอง ในทศชาติชาดก)

            เกี่ยวกับศิลปะดนตรี การแสดง ที่ปรากฏภายในถ้ำได้แยกออกเป็นประเภทของการบรรเลง ใน กับ นอก โดยกำหนดวัง หรือเขตแดนรั้ว เป็นหลัก แต่ก่อนที่จะมีหลักฐานเกี่ยวกับเทพทาสี(ประมาณต้นๆ คริสตกาล) ทั้งนี้ได้อ้างอิงกวีนิพนธ์ทมิฬที่ได้แยกเรื่องในและนอกกำแพงออกเป็น ๒ ประเภท คือ   
๑. อกมฺ(ภายใน) หมายถึงความรู้สึกเช่น ความรักที่เกิดขึ้นในหัวใจ(และในวัง) ดังที่ปรากฏบนงานจิตรกรรม ในรูปแบบของเครื่องมือ พิณ ซอ และแคน บรรเลงในเขตราชฐาน ราชวังของเจ้าชายสิทธัตถะ การแสดงความรักที่พระเจ้า
สุทโธทนะ แสดงความรัก ความไม่ประสงค์ให้
เจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวช และปริวิตกต่อคำทำนายของพราหมณ์ จึงสร้างโลกแห่งความรัก การเสพย์ เสวยสุข อันมีปราสาท ๓ ฤดู ที่เพียบพร้อมด้วยนางใน เสียงดนตรี และความรื่นเริง ด้วยเป็นต้น

 (ภาพที่ ๙ เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเสวยสุขในปราสาท ๓ ฤดู)

๒. ปุรมฺ(ภายนอก) หมายถึงวีรกรรมที่เกิดนอกตัว(นอกวัง) เช่นในสมรภูมิ ดังที่ปรากฏภาพจิตรกรรม ในรูปแบบการเป่าสังข์ ที่เป่าโดยเทวดาอันแสดงถึงการมีชัยชนะเหนือกิเลสทั้งปวงของพระพุทธเจ้า ภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่ช่วงหลังจากทรงตรัสรู้แล้วจะเป็นหน้าที่ของเทวดา และนัต บรรเลงดนตรีเพื่อประโคมในพระพุทธคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า(ไมเคิล ไรท, ฝรั่งคลั่งผี, ๒๕๕๐)

จากหลักฐาน ความหมายดังกล่าวเราอาจจะกำหนดได้ว่านางเทพทาสี มีหน้าที่ปรนนิบัติพระมหากษัตริย์ อันมี พิณพม่า เครื่องสี ลักษณะคล้ายซอ และเครื่องเป่าที่มีลักษณะคล้ายแคน บรรเลงในปราสาทของเจ้าชายสิทธัตถะ ฉะนั้น ศาสนา ดนตรี และการแสดง จึงเป็นอีกพันธนาการที่ผูกมัดชาวพม่าให้เข้าถึงศูนย์รวมแห่งพระพุทธศาสนาที่ยังคงสืบกต่อมาแต่ครั้งยุคสมัยของพระธรรมเจดีย์ ถึงแม้ว่าวัดนี้จะผ่านการบูรณะอยู่เรื่อยมา แต่หลักฐานที่ปรากฏก็ยังถือเป็นอีกข้อมูลชิ้นสำคัญที่แสดงถึงมิติของเวลา ความร่วมสมัยของงานศิลปกรรม ซึ่งในจำนวนถ้ำทั้งหมดนี้ แสดงงานพุทธศิลป์ในช่วงต่างๆ ที่เป็นรอยต่อของประวัติศาสตร์ โดยสามารถจำแนกออกเป็นศิลปะแบบอังวะ ร้อยละ ๒๐ มัณฑะเลย์ ร้อยละ ๖๐ และศิลปะร่วมสมัยในยุคอาณานิคมอีกร้อยละ ๒๐ ส่วนงานพุทธศิลป์ที่ปรากฏบนเสาค้ำยันถ้ำ ปรากฏเป็นศิลปะแบบอังวะเกือบร้อยละ ๙๕ และอีก ร้อยละ ๕ เป็นศิลปะแบบมัณฑะเลย์(Anne-MayChew, The Cave-temple of Po Win Taung, Central Burma Architecture, Scupture and Murals, ๒๐๐๕) 

 (ภาพที่ ๑๐ ทรงเสวยวิมุตติสุข ๗ วัน)
(ภาพที่ ๑๑ เทวดาแห่ประโคม เป่าสังข์ กินรีฟ้อนรำ)

เรื่องราวดังกล่าวยังปรากฏตกทอด บอกเล่า ในรูปแบบของการแสดง ซะ-ปวย ตอนพระโพธิสัตว์จุติลงมาเกิด เป็นเรื่องราวบอกเล่าถึงเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในศากยวงศ์ รวมถึงเรื่องราวของทศชาติชาดก การแสดง ซะ-ปวย เป็นการแสดงที่สนุกสนาน และยังได้รับความนิยมจนมาถึงปัจจุบัน  ต่อมาทางการพม่าถือว่า ซะ-ปวย เป็นสถาบันแห่งชาติสถาบันหนึ่ง เป็นการศึกษาของปวงชน และเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรม
การแสดง ซะ-ปวย นี้ได้รวบรวมเกล็ดประวัติศาสตร์อันมีนิทานพื้นบ้าน เรื่องราวในชาดก ข้อคิดต่างๆ ของชาวพุทธ และคุณธรรมในสังคมอุดมคติ ที่ผสมผสานผ่านดนตรี เสียงเพลง การขับร้อง เล่าลำนำ และการร่ายรำ ซึ่งกฎได้สื่อสารอย่างมีพลัง และอำนาจไปยังประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด(ขิ่น เมี้ยว ชิด, หลากรสเรื่อง เมืองพม่า, ๒๕๔๕:๒๖๘.) จากหลักธรรมคำสอนที่ซ่อนในรูปแบบการแสดงยังเป็นเสมือนหยาดทิพย์ที่หล่อเลี้ยงชีวิต จิตใจของชาวพม่า ซึ่งถ้าขาดสิ่งนี้เสียแล้ว ชาวพม่าคงจะไม่สามารถมีชีวิตยืนยง รอดผ่านการทะเลาะเบาะแว้งของชนเผ่าต่างๆ ภายในประเทศ การเมือง ศึกสงครามหลายครั้งหลายครา รวมทั้งการบุกยึดครองของชาติประเทศ จนลืมไปเลยเลยว่าตนก็มีโบราณสถานอันทรงคุณค่ายิ่งอย่างวัดโปวินต่าวน์ ได้ก็เป็นแน่แท้



เอกสารอ้างอิง
กรมพระนราธิปพระพันธ์พงศ์, พระนิพนธ์, พระราชพงศาวดารพม่า, พิมพ์ครั้งที่ ๒, จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ศรีปัญญา,    
            ๒๕๕๐
: นนทบุรี.
ขิ่น เมี้ยว ชิด, หลากรสเรื่อง เมืองพม่า, แปลโดย กอม คลายานนท์, พิมพ์ครั้งแรก โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 
            ดำเนินการผลิตโดย บริษัท ดรีม แคชเชอร์ กราฟฟิค จำกัด, ๒๕๔๕
: กรุงเทพฯ.
ดี.จี.อี. ฮอลล์, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร เล่ม ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๓, จัดพิมพ์
            โดย มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมและมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๙
: กรุงเทพฯ.
หม่องทินอ่อง, ประวัติศาสตร์พม่า, แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร, พิมพ์ครั้งที่ ๒ แก้ไขปรับปรุง, จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโตโยต้าประเทศ
            ไทย, พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘
: กรุงเทพฯ.

เอกสารอ้างอิงต่างประเทศ
Anne-May Chew, The Cave-temple of Po Win Taung, Central Burma Architecture, Scupture and Murals,
           
White Lotus Co., Ltd, ๒๐๐๕ : Bangkok Thailand.

           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น