อยู่นี่แล้ว


วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

โลกนี้มืดบอด แต่หูฉันไม่บอด


โลกนี้มืดบอด แต่หูฉันไม่บอด
By Amelie Chance



เสียงแว่ว วังเวงหวีดหวิว แผ่วแผ่วพลิ้ว เสียงลมเสียงซึง
นิ้วกรีด ดีดดัง ตังตึง ติงตึง ติงตัง ตึงติง....
เสียง..โอด ทำนอง ขับขาน สอดประสาน สำเนียง เวียงพิงค์
คล้าย..ล่อง ลอยตาม น้ำปิง มาสู่สิงอิงในภวังค์..
..นั่นคือเสียงซึงจากลุงต๋าคำ จากโลก อันมืดดำ แต่มี พลัง
หวาน..เศร้า บอกเรื่องราวปางหลัง ที่ ถูกฝัง ด้วยกาล เวลา..
..ไม่ อาจ มองเห็น ผู้คน ด้วย อับจน พิการ สองตา
ก็ อยู่ อย่างคน แสวงหา ด้วย ศรัทธา ในคีต-กาล..
..แข็ง กร้าว ไม่งอน ง้อใคร แต่ แจ่มใส เหมือนดอก ไม้บาน
แม้น ให้ ด้วยใจ สงสาร ก็ ขับขาน เสียงเพลง ตอบแทน..
..นั่นคือ เสียงซึง จากลุง ต๋าคำ จากโลก อันมืดดำ จากใจ ให้แฟน
หวาน เศร้า เจ็บปวด ร้าวสุดแสน ด้วย อ้อมแขน โอบซึง ตรึงใจคน..
..สอง ข้าง ทางอัน แสนไกล ที่ เดินไป ด้วยความ ขัดสน
ไม่ ขาด คนเคียง ข้างตน คู่ กุศล คู่กรรม คู่ครอง..
..ถึง..ตราบ จนวัน สุดท้าย ชีพ วางวาย ผู้คน หม่นหมอง
สอง แก้ม อาบน้ำ ตานอง สิ้น ทำนอง สิ้นเสียง ซึงดัง
..ไม่มี เสียงซึง จากลุง ต๋าคำ จากโลก อันมืดดำ แต่มี พลัง
แม้น..ร่างถูกดิน ทรายกลบฝัง แต่ มนต์ขลัง ยังตรึง ซึ้งใจ
..ไม่มี เสียงซึง จากลุง ต๋าคำ จากโลก อันมืดดำ จากใจ ให้แฟน
หวาน เศร้าเจ็บปวด ร้าวสุดแสน ด้วย..อ้อมแขน
โอบซึ้ง ตรึงใจคน
(มานิต อัชวงษ์, จรัล มโนเพ็ชร ราชาโฟล์คซองคำเมือง, ๒๕๔๔ : ๑๘๒ )

          จากบทเพลงหนึ่ง ของจรัล มโนเพ็ชร ย้อนรำลึกรอยอดีต ผู้เขียนสู่วัยเยาว์ ๘ ขวบ(๑๗ ปีก่อน) จำความได้ภาพเลือนราง แว่ววาง เมื่อมีคุณลุงตาบอด เล่นซึงทำนองหวาน ชวนสะกดคนฟังที่เดินผ่านไปมาบนถนนลูกรังหน้าบ้านให้หยุดยืนฟังซึงทำนองหวาน ในช่วงฤดูหนาวเลียบลำน้ำแม่กวง ฉงนเสียงซึงลุงคำแห่งบ้านศรีเมืองยู้ ดังแว่วผ่านละอองหมอกม่านเหมยบางๆบนผืนน้ำ ที่ยังคงก้องสะท้อนผ่านอากาศไอหนาวเดือน ๓ เหนือ (เดือนอ้ายใต้, ธันวาคม) สู่การสั่นสะเทิ้มตามหาล่าร่องรอย ตัว และเรื่องราวความทรงจำของลุงคำ(ไม่ใช่ลุงต๋าคำในเพลง) อีกครั้ง

          เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเหมือนดั่งโชคชะตา เมื่อได้เข้าร่วมงานคอนเสิร์ต ม่านไหมใยหมอก โดย จรัล มโนเพ็ชร ณ ศูนย์วัฒนธรรม พร้อมลุงคำอีกครั้ง(พ.ศ. ๒๕๔๒) ครั้งนั้นลุงคำยังยิ้มหลับตาหยี พร้อมกับการลองเสียงปี่ เสียงเป่าลิ้น ปี่แน แป๊ด แป๊ด ปี๊ด แป๊ด เสมือนเป็นคำทักทายสะกิดให้ทุกคนหันมามอง มือสองข้างบรรจงบีบ พรางล้วงกรรไกรเล็ก เล็ก(บนด้ามจับที่ขึ้นราสีดำ) ในกระเป๋าเสื้อม่อฮ่อมขาดรุ่ย ค่อย ค่อยตัดมุมลิ้นปี่ที่ทำมาจากใบลานอย่างประณีต ทุกคนพอมารู้ตัวอีกทีก็รู้จักลุงคำ ช่างปี่แน ผู้ตาบอด แห่งบ้านศรีเมืองยู้ เรียบร้อยแล้ว

          เรื่องราวของลุงคำ ก็คงจะเป็นเหมือนเรื่องราวของมนุษย์ผู้เกิดมาเสมือนคนทั่วไป แต่หากตาทั้งสองข้างไม่มืดบอด ชีวิตนี้ก็คงไม่ต้องเวียนมารู้จักกับ ดนตรี ลุงคำ ชายชราคนเคยเป่า ปี่แนฝีมือดี ปัจจุบันอายุได้ ๗๗ ปี เป็นคนลำพูนตั้งแต่กำเนิด เกิดที่บ้านศรีเมืองยู้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง และจำเลขที่บ้านตัวเองไม่ได้ ปัจจุบันอยู่ตัวคนเดียว ในบ้านหลังเล็กๆ ไม่มีครอบครัว ลุงคำเล่าว่าตัวเองตาบอดมาตั้งแต่อายุ ๓ ขวบ ด้วยโรค มะเร็งคุด(บ่เฮงคุ๊ด) พ่อชื่อ พ่อเสาร์ ทำงานก่อสร้าง  แม่ชื่อ แม่ดี ทำขนมขายที่ตลาดเช้าในตัวเมือง(กาดหนองดอก)  ลุงคำ ลูกชายคนเดียวที่ชอบดมกลิ่นขนม อบของแม่ตอนเช้า 

          พอเป็นหนุ่มอายุ ย่าง ๑๖ ปี ไม่รู้ไปไหนเนื่องจากความพิการบกพร่องของตน แว่วมองผองเพื่อนรุ่นเดียวกันก็ต่างเอาดีเรื่องการงานและครอบครัวไปแล้ว การไม่มีที่ไป เพราะดวงตามืดบอดสนิทจนมองเห็นทางในชีวิตไม่เจอ แต่หูก็ยังสัมผัสเห็นเส้นทางหนึ่งของชีวิต เส้นทางสายเสียงเพลง นำทางหนุ่มน้อยไปหาตาแก้ว นักดนตรีมีชื่อเสียงช่างป๊าดก้อง(พาทย์ฆ้อง) แห่งบ้านหนองเส้ง(ขณะนั้นอายุ ๗๐ กว่าปีแล้ว) ตำบลบ้านแป้น จังหวัดลำพูน ตาแก้วนักดนตรีผู้เฒ่า เป็นนักดนตรีตั้งแต่กำเนิด ทางบ้านพ่อรับอาชีพดนตรี มีลูกชายเล่นดนตรี มีวงป๊าดก้อง และเครื่องดนตรีเป็นของตัวเอง เมื่อรุ่นนักดนตรีตาแก้ว เพื่อนพ้องค่อยๆ ล้มหายตายจากไปทีละคน จึงจำเป็นต้องหาคนรุ่นใหม่มาแทนที่เครื่องดนตรีวงเดิม ตอนนั้นได้ ลุงคำ(อายุ ๑๖ ปี), ลุงแสน, ลุงสม, ลุงบุญ และลุงยืน เข้าสู่สายเลือดใหม่วงป๊าดก้อง นักดนตรีรุ่นใหม่ไฟแรง แห่งบ้านหนองเส้ง รับงานอิสระ ไม่ว่างานบ้าน งานวัด มงคล อวมงคล เช่น ปอยหลวง, งานแห่ แห่ศพ, แห่ฟ้อน(เล่นให้หญิงสาวในหมู่บ้านฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน) จนถึงวง สะล้อ ซอ ซึง ที่ฝึกสอนโดยตาแก้ว เช่นกัน

          ลุงคำ เลือกเล่นปี่แน และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีสืบต่อ จากตาแก้ว เพราะเป็นคนดื่มเหล้าน้อย มีสติมากกว่าคนอื่น รับเงินมาไม่ถูกโกง และที่สำคัญจูงคนตาดีเดินกลับบ้านได้ ลุงคำเล่าว่า สมัยก่อนไม่มีการเรียนการสอนดนตรีใช้โน้ตแบบปัจจุบัน จะบอก จะต่อ ก็ค่อยๆ ออกงานแล้วเรียนรู้กันไปเอาสนุก สนาน รื่นเริงเข้าว่า ลุงคำเล่าอีกว่า ตอนที่ตาแก้วตั้งวงคนรุ่นใหม่นั้นได้ถามลุงคำว่า จะเล่นอะไร? ลุงคำบอกว่า ปี่แน ตาแก้วก็พยักหน้าพร้อมกับบอกว่า เอาแต้ๆ นา เอาจ๋นเล่นได้เน้อ แปลว่า ต้องตั้งใจเรียน ตั้งใจเล่น และฝึกจนเล่นหากินได้นะ ลุงคำผู้ตาบอดจึงได้แต่ฟังทางปี่แนของลุงแก้ว แล้วจำจนขึ้นใจไม่กี่อาทิตย์ก็สามารถเล่นออกงาน หาเงินมาเลี้ยงพ่อ แม่ ผู้ชราได้ ย้อนกลับมาตอนที่ผู้เขียนเคยร่วมงานกับลุงคำ ณ ศูนย์วัฒนธรรม ตอนนั้นพวกเราเล่นเพลง ฮ่มฟ้าปารมีทุกคนต่างฝึกซ้อมกันเป็นเดือน เล่นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางคนก็ดูโน้ต จำได้ว่าลุงคำเข้ามาเล่นและจำเพลงได้ เพียงแค่ฟังจากพวกเราซ้อม แค่ ๓ เที่ยว เท่านั้น

          จากการชักชวนเข้าสู่วงการดนตรีของ จรัล มโนเพ็ชร (พ.ศ. ๒๕๔๑) ลุงคำเริ่มมีรายได้พอหาเลี้ยงตัวเอง ตัวคนเดียว จากงานต่างๆ ที่เข้ามาตลอดทั้งปี จนเมื่อจรัล ได้เสียชีวิตไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ ลุงคำจึงหาเลี้ยงตัวเองโดยการสอนฝึกซ้อม สอนดนตรีพื้นเมืองให้แก่กลุ่มคนตาบอด ออกเล่น บรรเลงดนตรีตามแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่างๆ ในตัวเมืองจังหวัดลำพูน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ผู้เขียนยังได้พบปะ ถามสารทุกข์สุกดิบ ลุงคำ และกลุ่มดนตรีคนตาบอด(คณะดาวไร้แสง) จังหวัดลำพูน ขณะเล่นอยู่ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี ภาพเหล่านั้นยังคงติดตาชาวลำพูน ภาพกลุ่มคนดนตรีตาบอด สวมใส่ชุดม่อฮ่อม ถือเครื่องดนตรี สะล้อ ซึง ขลุ่ย กลอง ฉิ่ง กรับ เดินจับเอวลงมาจากรถกระบะ ผุกร่อน ช่วยกันบอกทางว่า หละวังหลุมเน้อ! เล่นกันสนุกสนานทั้งวัน ทานข้าวกันอร่อย แฟนเพลงเยอะ และเดินจับเอวถือเครื่องทำมาหากินของตนกลับบ้านเมื่อตะวันตกดิน

          ผู้เขียนได้ถามลุงคำอีกครั้งตอนนี้ว่า แล้ววงดนตรีลุงคำหายไปไหน? คำตอบที่ออกมาจากปากที่สั่น พอจะถอดคำพูดออกมาจากเทปได้ว่า ไปหมดแล้วนั่นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งของตัวตนลุงคำในปัจจุบัน ปัจจุบันลุงคำ เล่นเพียงซึงตัวเดียว วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ บรรเลง ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย เล่นเช้าจรดเย็นตะวันตกดิน นั่งเล่นที่ศาลาบาตร ใกล้ประตูทางออก มุมของหอฆ้องใบใหญ่ๆ(เพราะได้ยินคนชอบมาตี) แกจะดีใจมากที่ยังมีคนรู้จักและจำได้ วันเสาร์รับจ๊อบที่ถนนวัวลาย ออกาไนซ์โดยหัวหน้าสมาคม(เข้าใจว่าหัวหน้าสมาคมคนตาบอด) จ๊อบละ ๓๐๐ บาท พร้อมตู้บริจาค(แต่เอาป้ายคณะมาเอง) บริจาคเยอะน้อย ไม่ว่าจะกร่อย หรือเต็มตู้ ก็ ๓๐๐บาท วันอาทิตย์ รับจ๊อบโดยออกาไนซ์เจ้าเดิมเล่นที่ถนนคนเดิน หน้าวัดพันเตา ทั้งสองวันหยุด เริ่มเล่นตั้งแต่ ๑๖.๐๐น. ถึง ๒๔.๐๐น. ตก ชั่วโมงละ ๕๐ บาท 

              
          ส่วนปี่แนของลุงคำ ในตอนนั้น ขณะนี้ ได้มอบให้กับคนอื่นเรียบร้อยไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่า ไม่ได้ใช้ เลย ลุงบ่ได้เป่ามัน เอาฮื้อคนตี้เปิ้นได้เป่าเห มอบให้คนที่เขาได้ใช้ คือ นักเป่าปี่แนผู้ไม่ทราบชื่อ วงดนตรีมิตรรวมใจ แห่งหมู่บ้านหนองช้างคืน ทั้งที่เป็นปี่แนตัวโปรดเป่าบรรเลงคู่อยู่เคียงข้างลุงคำมาตลอด แต่เครื่องดนตรีมันคงเสียใจที่คนเล่นไม่ค่อยได้เล่นมัน เพื่อนๆ ก็ไม่มีมันคงจะเหงา เลยยกให้กับคนที่เขายังเห็นคุณค่าของมัน และมีความสุขที่มันยังเสียงเพราะเหมือนเดิม ลุงคำกล่าว พร้อมกับเล่าว่าเพื่อนที่อยู่ร่วมวงกันมาสมัยหนุ่มๆ ได้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ประวัติความเป็นมาปี่แนเลานั้น ลุงคำได้ซื้อมานานแล้ว จากช่างชื่อทา แห่งบ้านแจ๋ม ตำบลมะเขือแจ้ จังหวัดลำพูน ในราคาที่แสนแพง ชุดละ ๑๕๐ บาท เมื่อเทียบกับราคาค่าจ้างของวง เล่นแห่ทั้งวัน วันละ ๓๐๐ บาท แบ่งกัน ๕ คน คนละ ๕๐ บาท อีก ๕๐ บาท เป็นค่าน้ำเมาเพิ่มอรรถรสในการบรรเลง เหลือเก็บกองกลางไว้เป็นค่าซ่อมแซมเครื่องดนตรี ส่วนซึงคู่ใจซื้อมาในราคาเหมารวมเครื่องดนตรี สะล้อ ๒ ตัว ๑,๕๐๐ บาท ปัจจุบันลุงคำมีซึงทั้งหมด ๒ ตัว ใช้ดีดอยู่ทุกวัน สายขาดก็ขอเปลี่ยนสายเบรกที่ร้านซ่อมมอเตอร์ไซด์ข้างบ้าน ชีวิตวนเวียนอยู่กับดนตรีตลอด
          เรื่องราวชีวิตชายชรา ผู้ตาบอด มืดมนตั้งแต่จำความได้ หากแต่หูลุงคำ ยังไม่บอด หูที่ช่วยเป็นเสมือนดวงตา แม้จะไม่มีโอกาสได้เห็นใบหน้าผู้ให้กำเนิด เลี้ยงดู แต่เสียงนั้นยังก้องสะท้านอยู่ในหัวใจ คอยบอกให้อยู่สู้ต่อไป ถึงไม่มีพวกเขา หูที่ให้โอกาสมองเห็นเส้นทาง ถนนสายดนตรี แม้ว่าพวกเขา พ่อ แม่ และเพื่อนผู้เป็นที่รักจะจากโลกนี้ไป บนถนนแห่งซุ่มเสียงก้าวเดินที่เคยคึกคัก ปลายจมูก ลิ้มกลิ่นที่คุ้นเคย เสียงที่ยังรู้จัก หวนห้วงรำลึกจำได้ กลับค่อยๆ ลับหายไปเหลือแต่ความโดดเดี่ยว อ้างว้าง แต่ไม่วังเวง อย่างน้อยก็ยังมีเพื่อนเป็นเสียงดนตรี

..นั่นคือเสียงซึงจากลุงต๋าคำ จากโลก อันมืดดำ แต่มี พลัง
หวาน..เศร้า บอกเรื่องราวปางหลัง ที่ ถูกฝัง ด้วยกาล เวลา..

           ในโลกที่มืดมิดแต่ก็ไม่น่ากลัวและจะไม่โดดเดี่ยวตลอดไป เป็นเวลาวันแล้ววันเล่า ลุงคำยังคงนั่งดีดซึง รอ รอคอย ใครสักคน ที่ยังรู้จัก เรียกชื่อ คอยทักทายบีบจับ สัมผัสปลายนิ้วที่กรากด้าน ด้วยลูบไล้สายซึงมานานชูปชีวิต ลุงคำยังหลับตาหยี ลุงคำ! จำกั๋นได้บ่?  จำได้กะคำตอบพร้อมรอยยิ้มพร่าวพราย และอาการเอียงหูเยี่ยงฟัง  คงจะไม่มีใครจำคนรู้จักได้ ทั้งๆ ที่หลับตา?  นี่คือการทักทายที่ไม่เคยหายประหลาดใจ 

           ก่อนจากลา เมื่อรวบรวมพลัง ขับเคลื่อนปัจจัยจากมือละลาบเข้าไปไว้ในกระเป๋าเสื้อม่อฮ่อม(ครานี้ไม่ขาด) เอาไว้ซื้อยากิ๋น ของกิ๋นลำลำ กิ๋นเน้อสิ้นเสียง เราต่างตกอยู่ในอาการพูดไม่ออก ความปลื้มปิติในรสของชีวิต ลิ้มรินหยาดน้ำตา ชะตากรรม กำลังขับเคลื่อนชีวิตใครบางคนที่ไม่สามารถกำหนดได้  ตื่นสะดุ้ง วั๊บ! หลังมือก็เผลอปาดน้ำตา บนหนังตาหยี หยี – บนรอยยิ้ม เยิ้ม เยิ้ม ของคนเหี่ยว และไม่เหี่ยว พลันรู้ตัว ตาเราไม่ได้บอดสนิท เพราะอะไรหรือ?      


              ไม่รู้สิ เพราะดาวดวงนี้ไม่เคยไร้แสงมั้ง......................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น