อยู่นี่แล้ว


วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

บทวิจารณ์ : เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ “ผู้คน ดนตรี ชีวิต

บทวิจารณ์ : เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ
 “ผู้คน ดนตรี ชีวิต

By Amelie Chance



“ดนตรีมีความสัมพันธ์กับหลายสิ่งบนโลกใบนี้ และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรม สังคม วิถีชีวิต ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การศึกษาเกี่ยวกับดนตรีในมิติต่างๆ ได้แสดงให้เราเห็นว่ามนุษย์เรานั้นสามารถหยิบยืมเสียง จังหวะ และเนื้อร้อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัว ต่อรอง หรือแสดงความเป็นตัวตนของแต่ละคนในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ผู้เปิดพรมแดนความรู้ใหม่เกี่ยวกับดนตรี เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงสาขาวิชามานุษยวิทยาไปสู่การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ทางวัฒนธรรมร่วมสมัย ผ่านการศึกษาทางดนตรีซึ่งมิได้มีเพียงนักดนตรี เครื่องดนตรี ตัวโน๊ต และผู้ชม เท่านั้น หากยังมี เสียงที่สามารถบอกเล่าเรื่องราว ความหมาย ความทรงจำและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ(ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“เสียง ความทรงจำ ยาพิษ หรือยารักษาขนานเอก” วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมอันก่อตัวขึ้นด้วยเสียง ภาพบรรยากาศด้านเสียงในที่นี้ครอบคลุมไปถึงเสียงที่เป็น “โทษ” มลภาวะ และเสียงที่เป็น “คุณ” การบำบัด สังคมอุดมคติจำต้องมีสภาพแวดล้อมทางเสียงที่ดี? อีกนัยหนึ่งเสียงก็เป็นตัวจารึกเรื่องราวความทรงจำของมนุษย์ อาทิ เสียงพูดคุย เสียงดนตรี รวมถึงเสียงในสภาพแวดล้อมมีทั้งดีและเลว เพราะมันเป็นตัวย้ำการระลึกทราบของมนุษย์ ในวาระ โอกาส เวลา หน้าที่ ในที่นี้รวมไปถึงบทบาทในชีวิตด้วย

“เสียงที่ปราศจากสุนทรียศาสตร์ เปรียบเหมือนเสียงที่เป็นดั่งเช่นประสบการณ์” ตรงข้ามหากมีความซาบซึ้งในเสียงผู้คนอาจเรียกมันว่า “ดนตรี” ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบท ขอบเขตของวัฒนธรรม ประสบการณ์ บรรทัดฐานรายบุคคล ต่างกลุ่มต่างสังคมความเป็นวัฒนธรรมของเสียงย่อมมีค่าไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ถือรวมคุณค่าทางด้านอำนาจของเสียงนั้นๆ ด้วย
“เสียงดนตรี” เป็นอันตรายต่อระเบียบสังคม!!! วิวัฒนาการที่ต่อเนื่องของวัฒนธรรมเสียงดนตรีจาก “ภาษาสากล” สู่อาวุธซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิด วัฒนธรรม ประเพณีตลอดจนการเมือง การปกครอง ในสมัยกรีก เพลโต(427-347 ก่อน ค.ศ.) และอริสโตเติล (384-322 ก่อน ค.ศ.) เห็นว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง เขาเห็นพ้องว่าลักษณะของดนตรีบางประการมีส่วนกระตุ้นให้ประชาคมสร้างความวุ่นวายต่อระเบียบสังคมการเมืองได้ ตรงกันข้ามเพลโตก็ให้ความสำคัญของเสียงดนตรีว่ามีประโยชน์ต่อการศึกษาว่าทรงพลังที่สุด เพราะดนตรีมีศักยภาพเข้าสู่จิตวิญญาณภายในเหนือผัสสะใดใด

“ดนตรีที่ไหลเวียนอยู่ในรัฐ มีความสัมพันธ์กับสภาวะทางศีลธรรมของคนในรัฐ” พูดอีกอย่างดนตรีคือกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนการเคลื่อนไหวประชาคมภาครัฐ ซึ่งนั่นก็หมายความว่ารัฐต้องใช้อำนาจในการควบคุมแนวความคิดที่แฝงเร้นมากับพลังเสียงดนตรี โดยยึดหลักบรรทัดฐานทางจริยธรรม ศีลธรรม ที่มีทางสายใหญ่อยู่ที่ศาสนามาเป็นตัวกำหนด นอกจากมันจะเป็นยาพิษแล้ว ดนตรียังเป็นยารักษาเยียวยาชั้นยอดของสังคม เมื่อคานอำนาจถูกถ่วงไว้ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย บรรทัดฐานทางด้านเสียงจึงจำต้องควบคุมโดย “ส่วนกลาง” หน้าที่ของรัฐจะดำเนินไปโดยควบคุมทุกอย่างอยู่ศูนย์กลาง แล้วกระจายเสียงดนตรีซึ่งแฝงด้วยอำนาจนี้สู่ภูมิภาค

“ดนตรี ไม่สามารถจะสกัดออกจากวิถีชีวิตมนุษย์” โดยเฉพาะ พิธีกรรม ความเชื่อ และสุนทรียภาพ ทั้งหมดแฝงเร้นอยู่ในสำเนียง จิตวิญญาณชาติพันธุ์ ที่สุดแล้วการปะทุผลักจากแรงกดดันทางภาครัฐก็ถูกปลดปล่อยออกด้วยกระแสทุนนิยมอย่างท่วมท้น ในรูปแบบของดนตรีกับการต่อต้าน และดนตรีกับการยืนยันตัวตน-ตนเองในรัฐเสรีนิยม พ่วงท้ายมาด้วยลัทธิความหลากหลาย ภายหลังยุคสงครามเย็น(ค.ศ. 1947-1991)แนวโน้มความเป็นเสรีนิยมมีมากขึ้น ช่วงนี้นี่เองการศึกษาดนตรีต่างวัฒนธรรม-ข้ามชาติ ได้กลายเป็นประเด็นใหม่ในสาขาดนตรีชาติพันธุ์วิทยาของยุคโลกาภิวัตน์(อธิป จิตตฤกษ์, การปะทะต่อต้าน, การควบคุมครอบงำ และวัฒนธรรมเสียง : ว่าด้วยวัฒนธรรมดนตรีในรัฐ, ในโลก และสิ่งเกี่ยวเนื่อง, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“เพราะดนตรีไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว” การแสดงอันสื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึก สารนั้นเรียกว่าบทระบำทางอารมณ์ ดนตรีคืออากาศ การแสดงคือแหล่งกำเนิดของภาพที่สอดคล้องต้องกันกับท่วงทำนอง

 “ภาพวาดภาพหนึ่งหรือดนตรีบทหนึ่ง อาจมีผู้ไม่เข้าใจในตอนแรก และไม่เป็นที่ซาบซึ้งเข้าถึงได้อยู่เป็นเวลานาน บางทีอาจจะนานถึงร้อยปี แต่การแสดงบัลเลต์นั้นต้องได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมในวันนี้และวันพรุ่ง มิเช่นนั้นก็จะถูกลืมเลือนสูญสิ้น”
                                                                             -แชร์เกย์ เดียกีเลฟ

มีการแสดง มีดนตรีบางอย่าง น่าเสียดายที่มันค่อยๆ ถูกลบเลือนออกจากหน้าประวัติศาสตร์ หากไม่มีนักวิชาการช่วยสืบต่อองค์ความรู้นั้น ชนรุ่นหลังคงจะไม่มีแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานเชิงสร้างสรรค์ การแสดงบัลเลต์ก็เหมือนกัน เมื่อถึงทางตันต่างก็ต้องรับนำเอาวัฒนธรรมต่างถิ่น(ต่างชาติพันธุ์) เข้ามาผสมผสานให้เกิดความแปลกใหม่ ดังที่นาฏศิลป์สยามได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย เมื่อสถาบันกษัตริย์ได้ลดบทบาทลง การแสดงอันสืบเนื่องมาจากชนชั้นสูงก็ขาดการอุปถัมภ์ ขาดช่วงระบบการสืบต่อ ตลอดไปจนถึงเจตนารมณ์ อำนาจ และเมื่อเสาหลักเปลี่ยนแปลงโยกย้ายมายังระบอบประชาธิปไตย ภาพวาดนี้ยังจะรอถึงได้ร้อยปีให้ผู้ได้หวัง คอยซาบซึ้งหรือไม่?(บัญชา สุวรรณานนท์, อิทธิพลบางประการของนาฏศิลป์สยามที่มีต่อบัลเลต์สมัยใหม่, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“ที่สุดก็เกิดสภาวะการโหยหาอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์” ท้องถิ่นนิยม สินค้าโอทอป นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 ชนบทเชียงใหม่ได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว จากรากฐานท้องถิ่นนิยมที่ตั้งเค้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าดารารัศมีนุ่งผ้าซิ่น ทรงผมแบบสไตล์ญี่ปุ่น กับชุดล้านนาประยุกต์ในรูปแบบของกิโมโน  อัตลักษณ์ดนตรีล้านนาได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นหลังสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากชนชั้น “กฎุมพี” เริ่มมีบทบาทต่อรองกับรสนิยมของชาวเชียงใหม่อย่างชัดเจน กลุ่มดังกล่าวได้สร้างนิยามความเป็นสมัยใหม่ เพื่อใช้เป็นจุดยืนต่อสู้ ช่วงชิงกับชุดความหมายที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นปกครอง ตลอดจนจารีต ประเพณีทางพระพุทธศาสนา ขณะที่ดนตรีราชสำนักเดิมถูกยกระดับเพิ่มขึ้นสู่สถาบันสูงกว่าพวกชนชั้นกลาง คือ สถาบันเจ้า พระพุทธศาสนา ตลอดจนถึงผี และพิธีกรรมต่างๆ ที่ต้องการความขลัง และศักดิ์สิทธิ์(เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช, เพลงลูกทุ่งคำเมืองกับอัตลักษณ์พันทางของคน “ชนบทใหม่” ของเชียงใหม่, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)
การแย่งชิงอัตลักษณ์จึงเป็นตัวแบ่งดนตรีออกไปตามหน้าที่การใช้สอยอย่างชัดเจน ขณะที่วัฒนธรรมชาวบ้าน(คนเมือง)กำลังเปลี่ยนแปลงคู่ขนานกับความเป็นท้องถิ่นนิยม-ลูกทุ่ง-อีสาน เกิดการผลิตซ้ำเชิงสร้างสรรค์โดยศิลปินพื้นบ้านอย่างรวดเร็ว ซึ่งแบบเรียนกระทรวงจากส่วนกลางยังกระทำไปในทิศตรงกันข้ามกับสัญชาติญาณประวัติศาสตร์ความทรงจำชุมชน ที่สุดความแปลกและแตกต่างก็ดึงดันความเป็นท้องถิ่นนิยมสู่คานอำนาจใหม่ต่อรองกับระบบศูนย์กลางอำนาจ

“ดนตรีเป็นอันตรายต่อระเบียบสังคม?” ใครจะตอบได้ชัดเจนเท่าพี่น้องชาวอีสาน ใช่ไหมพี่น้อง? นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2510 เป็นต้นมาวัฒนธรรมดนตรีอีสานได้กลายมาเป็นตัวอย่างสำคัญ พอๆกับ “วัฒนธรรมส้มตำ” หรือ“วัฒนธรรมสัญจร” รูปแบบวัฒนธรรมที่ก่อรูป ผูกพัน และหลอมรวมตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการเดินทาง เคลื่อนย้ายผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ(พลัดถิ่น) ดนตรีสมัยนิยมเริ่มก่อตัวขึ้นในระบอบความเชื่อท้องถิ่นนิยม และในที่สุดก็ผ่านกระบวนการเคลือบฉาบความหอมหวานของลัทธิทุนนิยมได้อย่างน่าอร่อย

“เราต้องมั่นใจว่าคนนั้นต้องร้องเพลงได้ เสียงดี และรูปร่างหน้าตาท่าทางให้ การที่เราจะลงทุนปั้นนักร้องแต่ละคน เราต้องพิจารณากันมากพอสมควร เราต้องดูหลายอย่างประกอบกัน เช่น มิวสิควิดีโอ บางคนหน้าตาดีมาก แต่พอถ่ายรูปออกมาไม่ได้เรื่องก็มี บางคนร้องก็ดี เต้นก็ดี หรืออะไรก็ดีไปหมด แต่พอยิ้มออกมาหน้าตาเหมือนกับฆาตกรโรคจิต... ไอ้เราก็ไม่เอา”                                                                 -กริช ทอมัส นายใหญ่แห่งค่ายแกรมมี่โกลด์

ทั้งนี้การศึกษาวัฒนธรรมดนตรี-ดนตรีชาติพันธุ์ ในสังคมไทยยังเกิดขึ้น และคงอยู่ภายใต้กรอบประเพณีของ “งานวิชาการเพื่อการสรรเสริญเยินยอ” – Herbert Phillips ซึ่งนักวิชาการทั้งไทยและเทศมักจะติดกับดักลักษณะพิเศษบางประการของสังคมไทย เช่น ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก, สังคมที่มีรากฐานจากการเกษตร, พระพุทธศาสนา ตลอดไปจนถึงสถาบันกษัตริย์ สิ่งดังกล่าวมีผลให้นักวิชาการได้ผลิตผลงานในลักษณะที่ยกย่องชื่นชมสังคมที่ตนศึกษา และมีส่วนให้งานวิชาการขาดพลังในการวิพากษ์-วิจารณ์ถึงความเป็นจริงความขัดแย้งทางสังคม ตลอดจนลืมช่องว่างที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเมืองอย่างชัดเจน
เนื่องด้วยการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาที่มีรากฐานภายใต้กรอบประวัติความเป็นมาจารีตประเพณีเพื่อ “บูชาครู” หรือไม่ก็ถูกครอบงำด้วยมายาคติแบบอนุรักษ์นิยม หรืออำนาจนิยมในระบบราชการ ส่งผลให้งานวิชาการขาดซึ่งพลังในการให้คำอธิบาย จินตนาการที่สร้างสรรค์ในการคิดวิเคราะห์และตีความหมายในที่สุด (พัฒนา กิติอาษา, ดนตรีอีสาน แรงงานอารมณ์ และคนพลัดถิ่น, บทคัดย่อ, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“กระแสโลกาภิวัตน์แบบอำนาจนำ(Hegemonic Globalization)” อำนาจอันมุ่งนำหลอมรวมให้เป็นไปในทิศทาง หรือแบบเดียวกัน ผสานลงตัวกับรสชาติของทุนนิยมผ่านสื่อ สู่นวัตกรรมสมัยใหม่ ที่สุดโทรทัศน์ก็กลายเป็นสถาบันสำคัญ วัฒนธรรมหน้าจอ ที่มีอำนาจชักจูง อบรมบ่มเพาะบุคคลในสังคมที่มีอิทธิพลเหนือกว่าสถาบันอื่นใด
ดังที่ได้กล่าวมา ท้ายที่สุดแล้ว “อำนาจ” ทำงานอย่างไรในโลกแห่งความบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการโทรทัศน์ประเภท “เรียลลิตี้โชว์” ซึ่งพื้นที่ความบันเทิงดังกล่าวล้วนถูกเคลือบไว้ด้วยความสนุกสนาน เฮฮาจนดูราวกับว่าไม่ได้มีการทำงานของ “อำนาจ” นั้นๆ ที่สำคัญผลผลิตเชิงสร้างสรรค์ของวัฒนธรรมดนตรีอันตกผลึก กำลังถูกทยอยมาใช้โดยผ่านระบบสายพานทางทุนนิยมอย่างชาญฉลาด(ณัฏฐชา วงษ์วานิช, แนวคิดเรื่อง Simulation กับปรากฏการณ์แฟนคลับ รายการอะคาเดมี แฟนเทเชีย ฤดูกาลที่ 4, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“เมื่อผลผลึกทางวัฒนธรรมดนตรีที่ตกเทรนด์ กำลังถูกประเมินค่าโดยเหล่าผู้ล่าฝัน AF(พอยิ้มออกมาหน้าตาไม่เหมือนกับฆาตกรโรคจิต หล่อโฮก สวยฮากเป็นเกาหลี) ภายใต้กลยุทธทางการตลาดแบบ Convergence Marketing ที่ผนวกสื่อ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ผ่านรายการที่เรียกว่าเรียลลิตี้โชว์ ได้สร้างเอกภาพให้แก่ภาคประชาคม โดยมิต้องหวังพึ่งอำนาจส่วนกลาง หรือราชการอีกต่อไป(On The Wing) ก่อเกิดเป็นชุดวัฒนธรรมใหม่ในบันเทิงคดีหน้าจอฉบับครอบครัว เพียงท่านกดโหวตคนที่ชอบ
เวทีนี้มีทั้ง หมอลำ ลูกทุ่ง สตริง สากล ฟ้อนรำ บัลเลต์ และลิเก! กระทั่งแม่ยกโลกาภิวัตน์ที่อุปถัมภ์ศิลปินในระบอบ “โทรธิปไตย” ผ่านเครื่องมือสื่อสาร แม้จะเปลี่ยนหน้าตาไปบ้างจากระบบอุปถัมภ์แบบลิเก แต่ก็ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของศิลปะในสังคมไทย ใช่เพียงใช้ระบบนี้เป็นเพื่อพัฒนาศิลปะสร้างสุนทรียะให้สังคม หรือเป็นไปเพื่อการปลุกเร้าพฤติกรรมการบริโภคที่มุ่งตอบสนองต่อระบบทุนนิยม?

“อันทุนนิยมที่แฝงมาด้วยประชาธิปไตยนั้นไม่ได้น่าเกลียดน่ากลัว” เพียงเพื่อผลตอบรับเป็นเม็ดเงินโดยมิได้สนใจต่อคุณูปการที่เกิดขึ้นกับสังคม ทั้งหมดเป็นเพียงแรงกระตุ้นสนับสนุนรายการที่ “ฉาบ” เบื้องหน้าด้วย “ศิลปะการแสดง” และ “ฉวย” โอกาสในการสร้างความนิยมในนามคณะผู้ล่าฝันอย่างนั้นหรือ? เมื่อทุนนิยมได้หยิบใช้ความเป็นศิลปะ และบิดประสบการณ์ทางสุนทรียะมุ่งสร้างความอิ่มเอิบใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เบือนผิดรูปไปด้วยกระบวนการที่สอดแทรกค่านิยม ประชานิยมในระบอบโทรธิปไตย ให้กลายเป็นทุนสำหรับการต่อทุนไม่มีวันสิ้นสุด

“ศิลปะไม่จำเป็นต้องกลายเป็น โสเภณี” ที่ยินยอมบริการทุกระดับด้วยความประทับใจ? คำถามที่ตามมาคือ วิธีคิดต่อระบบคุณค่าของสังคมไทยว่ากำลังทำงานผิดปกติอยู่หรือไม่? เมื่อสื่อเข้าถึงมหาชนทุกครัวเรือน ผู้ทรงอิทธิพล และมีอิทธิฤทธิ์สะกดให้ฝูงชนกลายเป็นฝูงแกะได้โดยง่าย สิ่งนี้เปิดโลกทัศน์แห่งการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง หรือทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงแค่ “รสนิยม” ในคราบเสรีชน?(พนิดา ฐปนางกูร, มองสุนทรียะของสังคมไทยผ่านรายการอคาเดมี แฟนตาเชีย, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 2552.)

“ดนตรีเป็นอันตรายต่อระเบียบสังคม!!!” ซึ่งนั่นก็หมายความว่ารัฐต้องใช้อำนาจในการควบคุมกระชับพื้นที่แนวความคิดที่แฝงเร้นมากับพลังของเสียงดนตรี โดยยึดถือนำเอาบรรทัดฐานทางจริยธรรม ศีลธรรม ที่มีทางสายใหญ่อยู่ที่ศาสนามาเป็นตัวกำหนด ด้วยสิ่งนั้นจึงบันดาลให้เกิดคำสาป “ทรัพย์สินทางปัญญา” ตัวแทน ผู้ผดุงความยุติธรรมในรูปแบบของกฎหมายจากภาครัฐขึ้นมาปราบปรามความเหิมเกริมของทรราชทุนนิยม



แล้วใครหละที่รวยพี่น้อง?
 
เอกสารอ้างอิง
เอกสารประกอบการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8, 25-27 มีนาคม 2552 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)
-O’ong  Marayono, Pencak Silat : A Brief Introduction.
-Mick Moloney, The Croppies Who Will not lie down : Song of Irish resistance over the past two centuries.
-ปรีดีโดม พิพัฒน์ชูเกียรติ, การศึกษาความคิดเรื่องคาร์นิวัลของมิคาอิล บัคตินในบริบทร่วมสมัย.
-อธิป จิตตฤกษ์, การปะทะต่อต้าน, การควบคุมครอบงำ และวัฒนธรรมเสียง : ว่าด้วยวัฒนธรรมดนตรีในรัฐ, ในโลก และ
สิ่งเกี่ยวเนื่อง.
-บัญชา สุวรรณานนท์, อิทธิพลบางประการของนาฏศิลป์สยามที่มีต่อบัลเลต์สมัยใหม่.
-ณัฎฐชา วงษ์วานิช, แนวคิดเรื่อง Simulation กับปรากฏการณ์แฟนคลับรายการอคาเดมี แฟนเทเชีย ฤดูกาลที่ 4.
-พนิดา ฐปนางกูร, มองสุนทรียะของสังคมไทยผ่านรายการอคาเดมี แฟนตาเชีย.
-สมชาย ปรีชาศิลปกุล, Copyright/ Copyleft.
-สกุณี อาชวานันทกุล, ครีเอทีฟคอมมอนส์ : สู่วัฒนธรรมเสรีที่เคารพสิทธิผู้สร้าง และสนองความต้องการของผู้เสพ.
-Komatra Chuengsatiansup, Sense, Symbol and Soma : Illness Experience in The Soundscape of Everyday
Life.
-เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช, เพลงลูกทุ่งคำเมืองกับอัตลักษณ์พันทางของคน “ชนบทใหม่” ของเชียงใหม่.
-พัฒนา กิติอาษา, ดนตรีอีสาน แรงงานอารมณ์ และคนพลัดถิ่น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น